กฏอาบัติโภชนวัตร

 
TAMMO
วันที่  11 ก.ย. 2555
หมายเลข  21717
อ่าน  5,006

รบกวนผู้รู้ขยายความในข้อความนี้หน่อยค่ะ เพราะอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจนะคะ

"ห้ามเสีย แล้วลุกจากที่นั่งนั้นแล้ว ฉันของเคี้ยวของฉัน ซึ่งไม่เป็นเดนภิกษุไข้ หรือไม่ได้ทำพินัยกรรม"

ขอบพระคุณค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 12 ก.ย. 2555

คำถามของท่าน เป็นภาษาพระวินัย ถ้าไม่เคยศึกษา จะเข้าใจศัพท์ต่างๆ ยาก

ขอสรุปต้นเรื่อง ที่เป็นเหตุให้บัญญัติพระวินัยข้อนี้ คือ

มีพราหมณ์คนหนึ่ง นิมนต์พระภิกษุมาฉันที่บ้าน พระภิกษุก็ไปฉันที่บ้านพราหมณ์ แต่พระท่านรับ และฉันเพียงเล็กน้อย บอกว่าพอแล้ว (ห้ามภัต) และไปฉันที่บ้านอื่นต่อ

ตามเหตุการณ์ เหมือนกับว่า พราหมณ์เลี้ยงอาหารพระไม่อิ่ม ทั้งที่อาหารยังเหลือมากมาย เป็นเหตุให้พราหมณ์ ไม่พอใจ ... พระพุทธองค์ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ฉันเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว ไปฉันอาหารอื่นไม่ได้ เว้นแต่ของเป็นเดน

ขอเชิญอ่านจากข้อความในพระวินัยที่ยกมาครับ

พระบัญญัติในโภชนวรรค สิกขาบทที่ ๕

๘๔. ๕. ข. อนึ่ง ภิกษุใดฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี อันมิใช่เดน เป็นปาจิตตีย์.

สิกขาบทวิภังค์

[๕๐๑]  ที่ชื่อว่า ฉันเสร็จ คือ ฉันโภชนะ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งโดยที่สุด แม้ด้วยปลายหญ้าคา.

ลักษณะห้ามภัต

ที่ชื่อว่า ห้ามภัตแล้ว คือ กำลังฉันอาหารอยู่ ๑ ทายกนำโภชนะมาถวายอีก ๑ ทายกอยู่ในหัตถบาส ๑ ทายกน้อมถวาย ๑ ภิกษุห้ามเสีย ๑.

ลักษณะของไม่เป็นเดน

ที่ชื่อว่า มิใช่เดน คือ ของที่ยังมิได้ทำให้เป็นกัปปิยะ ๑ ภิกษุมิได้รับประเคน ๑ ภิกษุมิได้ยกขึ้นส่งให้ ๑ ทำนอกหัตถบาส ๑ ภิกษุฉันยังไม่เสร็จทำ ๑ ภิกษุฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้วลุกจากอาสนะแล้วทำ ๑ ภิกษุมิได้พูดว่า ทั้งหมดนั้นพอแล้ว ๑ ของนั้นมิใช่เป็นเดนภิกษุอาพาธ ๑ นี้ชื่อว่า มิใช่เดน.

ลักษณะของเป็นเดน

ที่ชื่อว่า เป็นเดน คือ ของที่ทำให้เป็นกัปปิยะแล้ว ๑ ภิกษุรับประเคนแล้ว ๑ ภิกษุยกขึ้นส่งให้ ๑ ทำในหัตถบาส ๑ ภิกษุฉันแล้วทำ ๑ ฉันเสร็จห้ามภัตแล้ว ยังไม่ลุกจากอาสนะ ทำ ๑ ภิกษุพูดว่า ทั้งหมดนั่นพอแล้ว ๑ เป็นเดนภิกษุอาพาธ ๑ นี้ชื่อว่า เป็นเดน.

ลักษณะของเคี้ยว

ที่ชื่อว่า ต้องเคี้ยว คือ เว้นโภชนะห้า ๑ ของที่เป็นยามกาลิก ๑ สัตตาหกาลิก ๑ ยาวชีวิก ๑ นอกนั้นชื่อว่า ของเคี้ยว.

ลักษณะของฉัน

ที่ชื่อว่า ของฉัน ได้แก่ โภชนะ ๕ คือ ข้าวสุก ๑ ขนมสด ๑ ขนมแห้ง ๑ ปลา ๑ เนื้อ ๑ ภิกษุรับประเคนด้วยตั้งใจว่า จักเคี้ยว จักฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ ขณะกลืน ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ทุกๆ คำกลืน ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เข้าใจ
วันที่ 12 ก.ย. 2555

ขออนุญาตเรียนสอบถามครับ

ในปัจจุบันนี้ครับ พระภิกษุสงฆ์มีเป็นจำนวนมาก ที่ไม่ค่อยรักษาวินัยบัญญัติโดยเคร่งครัด และไม่ค่อยสำรวม ไม่ปฏิบัติอยู่ในสมณะสารูปที่เหมาะควร (แต่พระภิกขุที่ปฏิบัติดีคงมี)

คำเรียนสอบถามมีดังนี้ครับ

อุบาสก อุบาสิกา ที่ได้นำอาหารคาวหวานไปอุปฐาก ภิกขุที่ไม่สำรวม และหย่อนยานในวินัยบัญญัตินั้น แล้วจะสำเร็จประโยชน์ เป็นทักขิณาทานไหมครับ

กราบอนุโมทนาและกราบขอบพระคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 13 ก.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

ทักขิณาทาน คือ ทานที่บุคคลให้ด้วยเชื่อกรรม และผลของกรรม เป็นต้น จึงให้

ดังนั้น การที่บุคคลที่ถวายของกับพระภิกษุด้วยน้อมใจถวายบูชาแด่สงฆ์ ไม่ได้จำเพาะเจาะจง ก็ชื่อว่าเป็นทักขิณาทานได้ เพราะใจของผู้ให้บริสุทธิ์ ด้วยมีความเข้าใจพระธรรม โดยการมุ่งให้ถวายแด่สงฆ์ แม้ผู้ที่รับ จะไม่มีคุณธรรม ประพฤติไม่ดีก็ตาม ครับ

แต่ทานนั้นสำเร็จประโยชน์แล้ว เพราะ ผู้ให้ มีความเข้าใจพระธรรม

[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 395

[๗๑๕] ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกอย่างไร ดูก่อนอานนท์ ในข้อนี้ ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก.

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 251

ไทยธรรมที่บุคคลเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ไม่คำนึงถึงว่า ภิกษุรูปนี้จักทำกิจกรรมเป็นหมอยาหรือกิจกรรมรับใช้อันนี้แก่เรา ดังนี้เป็นต้นแล้วถวาย ชื่อว่าทักษิณา

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เข้าใจ
วันที่ 13 ก.ย. 2555

กราบขอบพระคุณ อาจารย์ผเดิม เป็นอย่างมากครับ

โดยปัจจุบัน ส่วนมาก ผู้ที่อุปสมบทก็ไม่ค่อยบวชแล้วอยู่ครบไตรมาส บวชเพียง ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง ผู้ที่บวชบางท่านก็ลาพักงานมาบวช และบางรูป ครองผ้าจีวรยังไม่ค่อยชำนาญ ก็จะได้เวลา ลาสิกขาแล้ว (มิได้มีเจตนาติเตียนพระคุณเจ้า) เนื่องด้วยวิตกเรื่องพระธรรมวินัย และภัตรติทานที่ถวายดีแล้ว

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ