ตรวจสอบความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติ
ขอรบกวนท่านผู้รู้ช่วยตรวจสอบความเข้าใจของดิฉันด้วยค่ะ
๑. หนทางเพื่อการดับทุกข์ คือการเจริญมรรคมีองค์ ๘
๒. ในหัวข้อ สัมมาสติ คือการการเจริญสติปัฏฐาน
๓. สติ เกิดกับกุศลจิต และมีหลายระดับ แต่ทั้งหมดบังคับให้เกิดไม่ได้
๔. การศึกษาธรรมะ เกื้อกูลการเกิดสติ
๕. การศึกษาธรรมะ คือการอ่าน/ฟัง พระธรรมที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน ให้เกิดความเข้าใจ และนำไปพิจารณาในชีวิตประจำวันปกติ
๖. ขณะที่ดิฉันอ่าน/ฟังธรรมะ ได้พิจารณาตาม และเห็นว่า สอดคล้องกับ ความรู้ทางแพทย์ และวิทยาศาสตร์ที่เคยเรียนมา บางอย่างเป็นความรู้ใหม่ เมื่อพิจารณาตาม ก็ "ปิ๊ง" บ้าง แต่ก็มีหลายอย่างที่สติปัญญายังไม่ถึง ก็เก็บไว้ก่อน
คำถามคือ ผู้ที่อ่าน+จำได้แม่น+เข้าใจพระธรรม จากหนังสือหรือจากเทป/CD แต่ก็ยังไม่มีการระลึกสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา เพราะอะไร
ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. หนทางเพื่อการดับทุกข์ คือการเจริญมรรคมีองค์ ๘
- ถูกต้อง ครับ
๒. ในหัวข้อ สัมมาสติ คือการการเจริญสติปัฏฐาน
- ถูกต้อง ครับ
๓. สติ เกิดกับกุศลจิต และมีหลายระดับ แต่ทั้งหมดบังคับให้เกิดไม่ได้
- ถูกต้อง ครับ
๔. การศึกษาธรรมะ เกื้อกูลการเกิดสติ
- ถูกต้อง ครับ
๕. การศึกษาธรรมะ คือการอ่าน/ฟัง พระธรรมที่พระพุทธเจ้าสั่งสอน ให้เกิดความเข้าใจและนำไปพิจารณาในชีวิตประจำวันปกติ
- กุศลธรรมและปัญญาที่เกิดขึ้น จากากรฟังพระธรรม จะปฏิบัติหน้าที่เอง ที่น้อมไป ในการประพฤติในชีวิตประจำวัน
๖. ขณะที่ดิฉันอ่าน/ฟังธรรมะ ได้พิจารณาตาม และเห็นว่าสอดคล้องกับความรู้ทางแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่เคยเรียนมา บางอย่างเป็นความรู้ใหม่ เมื่อพิจารณาตามก็ "ปิ๊ง" บ้าง แต่ก็มีหลายอย่างที่สติปัญญายังไม่ถึง ก็เก็บไว้ก่อน
คำถามคือ ผู้ที่อ่าน+จำได้แม่น+เข้าใจ พระธรรม จากหนังสือ หรือจากเทป/CD แต่ก็ยังไม่มีการระลึกสภาพธรรม ที่เป็นอนัตตา เพราะอะไร ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
- ที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด แม้จะอ่านมาก ฟังมาก จำได้มาก เพราะความเข้าใจขั้นการฟังยังไม่พอ ครับ ยังสะสมปัญญามาน้อย เพราะฉะนั้นเหตุให้เกิดสติปัฏฐาน ไม่ใช่เพียงการจำได้มาก รู้ชื่อมาก แต่จะต้องเป็นสัญญาที่มั่นคง พร้อมๆ กับปัญญา ความเข้าใจในขั้นการฟังอย่างมาก จึงจะทำให้เกิดสติปัฏฐานได้
เพราะฉะนั้น ให้รู้ได้เลยว่า ตราบใดที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็แสดงให้เห็นว่า ปัญญาขั้นการฟังยังไม่เพียงพอ
แต่ที่สำคัญ ก็จะต้องเริ่มจากเหตุที่ถูก คือ การศึกษาธรรม ด้วยจุดประสงค์ที่ถูกต้อง คือ เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ และเป็นไปเพื่อละคลายกิเลส สักวัน ก็จะต้องเกิด สติปัฏฐานแน่นอน แต่บังคับไม่ได้ และไม่รู้เมื่อไหร่ เหตุปัจจัยพร้อมเมื่อไหร่ ก็เมื่อนั้น ครับ หากเริ่มจากเหตุที่ถูกไปเรื่อยๆ ก็ต้องถึงแน่นอน แต่ต้องใช้ระยะเวลายาวนาน ครับ
ความอดทนที่เป็นขันติที่เป็นตบะอย่างยิ่ง จึงสำคัญมาก คือ อดทนที่จะฟังต่อไป และอดทนที่จะไม่ถูกโลภะ อยากให้สติเกิด แต่รู้ว่า การฟัง ศึกษาเท่านั้น จะเป็นเหตุที่ถูกต้อง และต้องอดทนที่จะอบรมปัญญาต่อไป ครับ
พระอริยเจ้าทั้งหลาย ก่อนเป็นพระอริยเจ้า ท่านก็ไม่รู้ สติไม่เกิดมาก่อน ไม่มีใครสติเกิด โดยไม่อบรมยาวนาน แต่เมื่อเหตุพร้อม สติก็เกิดได้ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ ที่ช่วยตอบข้อสงสัย จับความได้ว่า ให้ฟังและทำความเข้าใจ ขณะฟังไปเรื่อยๆ เท่านั้น ถูกต้องมั้ยคะ
และเนื่องจากเนื้อหามีมาก บางเรื่อง เช่น ภพภูมิ หรือ รูปพรหม อรูปพรหม สมถภาวนา รู้สึกว่าฟัง หรืออ่านผ่านๆ ก็พอ เพราะไม่สำคัญต่อการเจริญวิปัสสนา อย่างนี้เป็นการเข้าใจผิดหรือไม่ บางท่านแนะนำให้ศึกษาเฉพาะส่วนที่เกื้อกูลการปฏิบัติ
ขอรบกวนเท่านี้ค่ะ
ขอบคุณค่ะ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนา ท่านผู้ถามและอาจารย์ผเดิม ครับ
ขออนุญาตแสดงความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับ รูปพรหม อรูปพรหม สมถภาวนา นะครับ
- ผมคิดว่าการศึกษาธรรมไม่ว่าเรื่องใด เพื่อเกื้อกูลให้เข้าใจขึ้นๆ ว่าทุกอย่างเป็นธรรม เป็นอนัตตา เกิดดับตามเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะได้อ่านหรือได้ฟังเรื่องใด ทั้งในพระสูตร พระอภิธรรม เพราะพระธรรมทุกส่วนเกื้อกูลต่อการเจริญขึ้นของปัญญา
เช่น ถ้าอ่านเรื่อง ภพภูมิต่างๆ ก็อาจจะช่วยให้เราเข้าใจและระลึกได้ว่า ไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใด ก็ไม่พ้นจากเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเป็นเทพ เป็นพรหม หรือเป็นผู้ที่เกิดในนรก ก็ต้องมีเห็นเหมือนกัน แม้อรูปพรหม ท่านไม่เห็น ไม่ได้ยิน ฯลฯ แต่ก็ยังมีจิต ไม่ต่างจากเราในขณะนี้ที่เห็น ได้ยิน ... คิดนึก และอีกไม่นาน ชาตินี้จะเป็นชาติก่อนของชาติหน้า แต่ชาติหน้า ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ไม่พ้นจากโลกทั้ง ๖ ทางนี้ ถ้าเป็นผลของกรรมดีก็ได้รับผล เป็นวิบากที่ดีมากหน่อย ถ้าเป็นผลของกรรมไม่ดี ก็ให้ผลเป็นวิบากที่ไม่ดีมากหน่อย
ถ้าพิจารณาเช่นนี้ ก็อาจจะช่วยให้เราค่อยๆ เข้าใจธรรม ที่มีในขณะนี้มากขึ้นได้ แต่คงไม่ใช่เรื่องที่จะไปใคร่ครวญ หรือคิดสงสัยในเรื่องที่เรายังรู้ไม่ได้ ว่าภูมินั้น ลักษณะเป็นอย่างไร เทวดาหรือพรหม หน้าตาเป็นอย่างไร
สำหรับสมถภาวนา ก็เป็นกุศล กุศลทุกประการควรเจริญ แต่เราควรรู้ฐานะตัวเองว่า คงไม่มีปัญญาพอจะไปเจริญให้ถึงขั้นฌานจิต แต่ก็เห็นประโยชน์ของจิตที่สงบจากอกุศล เช่น การเจริญเมตตา กับบุคคลต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา เป็นมิตรกับทุกคน จิตขณะนั้นก็เป็นกุศลผ่องใส และถ้ารู้ว่าขณะนั้นเป็นจิตที่เป็นกุศลไม่ใช่เรา ก็เกื้อกูลในการเจริญปัญญาด้วยครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงนั้น มีความละเอียดลึกซึ้ง ยากที่จะตรัสรู้ตามได้ เป็นธรรมอันบัณฑิตเท่านั้นที่จะรู้ได้ ธรรมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ กว่าที่พระผู้มีพระภาคเจ้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ต้องใช้เวลาอันยาวนานในการบำเพ็ญพระบารมี ตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยแสนกัปป์ และ เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ในการประกาศพระศาสนาของพระองค์นั้น ก็เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลกได้เข้าใจความจริง หลุดพ้นจากทุกข์ หมดจดจากกิเลสโดยประการทั้งปวงตามพระองค์
ซึ่งจะเห็นได้ว่า จากการแสดงพระธรรมของพระองค์ในแต่ละครั้งๆ นั้น มีผู้ที่ได้ประโยชน์จากพระธรรม รู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน และ พระอริยบุคคลทั้งหลายเหล่านั้น กว่าที่ท่านจะถึงวันดังกล่าวนั้นได้ ท่านก็ต้องเป็นผู้ได้สะสมการสดับตรับฟังพระธรรม สะสมปัญญามาเป็นเวลาอันยาวนาน ด้วยกันทั้งนั้น
จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดี สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรม โดยเป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม ว่าไม่ควรที่จะท้อถอย ยิ่งยากก็ยิ่งจะต้องศึกษา เพราะ ปัญญาไม่สามารถจะเจริญขึ้นได้ ภายในระยะเวลาอันสั้น ไม่สามารถเจริญขึ้นได้ ในทันทีทันใด ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาไปตามลำดับ เพียงแค่วันนี้ พรุ่งนี้ หรือ ชาตินี้ ยังไม่พอ ต้องสะสมความเข้าใจต่อไปอีก เป็นเวลาอันยาวนาน (จิรกาลภาวนา)
ซึ่งมีข้ออุปมา เหมือนการจับด้ามมีด เมื่อจับบ่อยๆ นานๆ รอยสึกย่อมปรากฏได้ ปัญญาก็เช่นกัน ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนาน ในการสะสม ในการอบรม จึงจะเจริญขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ในแต่ละภพ ในแต่ละชาติ มีชีวิตอยู่ก็เพื่อได้ฟังพระธรรม ได้สะสมอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญ คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาต่อไป
ประโยคที่ควรเก็บไว้ในหทัย โดยไม่ลืม ที่ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าวไว้ เตือนใจดีมาก คือ
... การศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา คือการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปตามลำดับไม่ข้ามขั้น (เช่นกับ อาคารชั้นที่ ๙ จะมีก่อนอาคารชั้นที่ ๑ ไม่ได้) ต้องสะสมไปทีละเล็กละน้อย เหมือนกับหยดน้ำที่ตกลงไปทีละหยด ในที่สุดก็สามารถเต็มตุ่มได้ ดีกว่าไม่มีเสียเลย ...
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เรียนความเห็นที่ 2 ครับ
จากที่ผู้ถามเข้าใจว่า จะต้องฟังไปเรื่อยๆ
- เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วครับ เพราะ อาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรม ปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น จนถึงปฏิบัติ คือ สติและปัญญาเกิด รู้ความจริงของสภาพธรรม ที่มีในขณะนี้ได้ ครับ
ส่วนพระธรรมของพระพุทธเจ้า
- ไม่ว่าคำใด ก็ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ทั้งสิ้นครับ
เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรม จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่จะศึกษา เฉพาะการปฏิบัติ การเจริญวิปัสสนา เท่านั้น เพราะ ในความเป็นจริง กุศล ไม่ได้มีเพียงระดับเดียว คือ การเจริญวิปัสสนา เท่านั้น
กุศลขั้นทาน ศีล สมถภาวนา ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ควรเจริญ ควรเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น พระธรรมส่วนต่างๆ ก็ควรศึกษาตามกำลัง เท่าที่จะศึกษาได้ เพื่อเป็นไปในการเจริญขึ้นของกุศลขั้นทาน ศีล สมถภาวนา ด้วย ครับ
และ แม้แต่เรื่องภพภูมิ ก็ศึกษา ไม่ใช่ว่า จะจำให้ได้ว่ามีภพภูมิอะไรบ้าง เพียงแต่ ศึกษาเพื่อเข้าใจในเรื่องกรรมมี ผลของกรรมมี สถานที่ที่ได้รับผลของกรรม ทั้งกรรมดี และไม่ดีมี เพื่อที่จะเป็นผู้ไม่ประมาทในการทำอกุศล และ เจริญกุศล ซึ่งก็เป็น ดังคุณ daris ได้อธิบายไว้ข้างต้นแล้วครับ
เพราะฉะนั้น พระธรรมทุกคำมีค่า และ สำหรับผู้มีปัญญา ย่อมไม่เลือกที่จะรับฟังเพียงบทเดียว เพราะ พระธรรมทุกคำ ล้วนนำมาซึ่งความเข้าใจและกุศลธรรม หากศึกษาแล้วเข้าใจ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขออนุญาตสนทนาธรรมด้วย
ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ (รวมทั้งผมด้วย) ยังไม่รู้ว่ากำลังอยู่แค่ชั้นอนุบาล ตามความเป็นจริง น่าจะฟังธัมมะ ศึกษาธัมมะ ชั้นอนุบาล แต่ความอยาก (โมหะและโลภะ) สั่งให้ไปเรียนชั้น ป.๑, ป.๒ ... ซี่งบางบทอ่านไม่เข้าใจ งงเหมือนกัน
แต่ก็ศรัทธาธัมมะ เชื่อมั่นว่าไม่มีสิ่งใดเหนือธัมมะของพระพุทธเจ้า กรุณาช่วยแนะนำครับ ข้ามขั้นตอนไปหรือเปล่า ช่วยตอบด้วยครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
เรียนความเห็นที่ 7 ครับ
ท่านอาจารย์สุจินต์ เคยให้คำแนะนำว่า
ฟังเรื่องไหน ก็เข้าใจเรื่องนั้น คือ กำลังฟังเรื่องอะไร ก็ไม่ไปคิดในเรื่องอื่น ก็เข้าใจเรื่องนั้นที่กำลังฟัง โดยไม่มีตัวตน ที่จะเลือกฟังบทไหน อย่างไร เพราะ ไม่มี ใคร เลือกที่จะได้ฟังบทไหนเลย เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้น หากเราเริ่มจากจุดประสงค์ที่ถูกต้อง คือ การฟังที่เป็นไป เพื่อขัดเกลากิเลส และความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ก็จะไม่เลือกหมวด พระธรรมบทไหน เพราะ ศึกษาหมวดใด ก็ไม่ลืมที่จะเข้าใจว่า คือ สภาพธรรมในขณะนี้
และ พระธรรมทุกบท ก็เกื้อกูลต่อการเจริญขึ้นของกุศลธรรม และปัญญา เพียงแต่ว่า จะเป็นผู้ที่ตั้งจิตไว้ชอบหรือไม่ คือ ไม่ใช่เพื่อลาภ สักการะ เพื่อความอยากรู้อยากได้ อยากจำชื่อเป็นวิชาการ แต่หากตั้งจิตไว้ชอบแล้ว คือ ศึกษาแพื่อละคลายก็จะศึกษาด้วยความเข้าใจ เพราะย่อมไม่เดือดร้อน กับความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้น
ในขณะที่ฟังพระธรรมบทใด เพราะรู้ว่า มีกิเลสมาก มีความไม่รู้มาก เป็นธรรมดา จึงทำให้ไม่รู้ ไม่สามารถเข้าใจทุกบทของพระธรรม เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรม สำคัญที่จุดประสงค์ที่ถูกต้อง เริ่มจากการตั้งจิตไว้ชอบ ก็จะไม่เลือกพระธรรมหมวดใด และเมื่อใด ที่ได้ฟังพระธรรมหมวดใด ก็ศึกษาหมวดนั้น ตามกำลังความเข้าใจ โดยที่ไม่ลืมว่า ที่กำลังศึกษา คือ สภาพธรรมในขณะนี้ ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ย่อมไม่เดือดร้อนกับความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้น
กราบขอบพระคุณความเห็นที่ 8 เป็นอย่างยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านด้วยครับ