สังโยคะ วิสังโยคะ

 
sutta
วันที่  17 ก.ย. 2555
หมายเลข  21750
อ่าน  3,344

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 136

๘. สังโยคสูตร

[๔๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยายอันเป็น สังโยคะทั้งวิสังโยคะแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจ ให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระผู้มีภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมบรรยาย อันเป็นสังโยคะทั้งวิสังโยคะเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็หญิง ย่อมสนใจสภาพแห่งหญิงในภายใน กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียง และเครื่องประดับของหญิง เขาย่อมยินดี พอใจ ในสภาพของตนนั้นๆ เขายินดี พอใจในสภาพของตนนั้นๆ แล้ว ย่อมสนใจถึงสภาพของชายในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียง และเครื่องประดับของชาย ย่อมยินดี พอใจ ในสภาพของชายนั้นๆ เขายินดี พอใจในสภาพของชายนั้นๆ แล้ว ย่อมมุ่งหวังการสมาคมกับชาย และสุขโสมนัสที่เกิดเพราะการ สมาคมกับชายเป็นเหตุ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้พอใจในภาวะ แห่งหญิงก็ถึงความเกี่ยวข้องในชาย ด้วยอาการอย่างนี้แล หญิง จึงไม่ล่วงพ้นภาวะแห่งหญิงไปได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชายย่อม สนใจสภาพแห่งชายในภายใน กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับของชาย เขาย่อมยินดี พอใจ ในสภาพของตน เขายินดีพอใจในสภาพของตนนั้นๆ แล้ว ย่อมสนใจถึงสภาพของ หญิงในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียง และเครื่องประดับของหญิง ย่อมยินดี พอใจในสภาพของหญิงนั้นๆ แล้วย่อมมุ่งหวังการสมาคมกับหญิง และสุขโสมนัสที่เกิดเพราะ การสมาคมกับหญิงเป็นเหตุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้พอใจใน ภาวะแห่งชายก็ถึงความเกี่ยวข้องในหญิง ด้วยอาการอย่างนี้เล ชายจึงไม่ล่วงพ้นภาวะแห่งชายไปได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความ เกี่ยวข้องย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้แล

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ส่วนความไม่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หญิงย่อมไม่สนใจในสภาพของหญิงในภายใน กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับของ หญิง เขาไม่ยินดี ไม่พอใจในสภาพแห่งหญิง ย่อมไม่สนใจถึงสภาพ แห่งชายในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียง และเครื่องประดับแห่งชาย เขาไม่ยินดี ไม่พอใจในสภาพแห่งชาย นั้นๆ แล้ว ย่อมไม่มุ่งหวังการสมาคมกับชายในภายนอก และสุข โสมนัสที่เกิดเพราะการสมาคมกับชาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ ไม่พอใจในสภาพแห่งหญิง ก็ถึงความไม่เกี่ยวข้องในชาย ด้วย อาการอย่างนี้แล หญิงจึงล่วงพ้นสภาพแห่งหญิงไปได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชายย่อมไม่สนใจในสภาพแห่งชาย กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับ ของชาย เขาไม่ยินดี ไม่พอใจในสภาพแห่งชายนั้นๆ แล้ว ย่อม ไม่สนใจถึงสภาพแห่งหญิงในภายนอก กิริยา ท่าทาง ความไว้ตัว ความพอใจ เสียงและเครื่องประดับของหญิง เขาไม่ยินดี ไม่พอใจ ในสภาพแห่งหญิงนั้นๆ แล้ว ย่อมไม่มุ่งหวังการสมาคมกับหญิง ในภายนอก และสุขโสมนัสที่เกิดเพราะการสมาคมนั้นเป็นเหตุ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้มีพอใจในสภาพแห่งชาย ก็ถึงความ ไม่เกี่ยวข้องในหญิง ด้วยอาการอย่างนี้แล ชายจึงล่วงพ้นภาวะ แห่งชายไปได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไม่เกี่ยวข้องย่อมมีอาการอย่างนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลชื่อว่าธรรมบรรยายอันเป็นทั้งสังโยคะและวิสังโยคะ.

จบ สังโยคสูตรที่ ๘


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chadcha
วันที่ 18 ก.ย. 2555

ธรรมมะข้อนี้สอนเกี่ยวกับ ความเกี่ยวข้อง หรือความไม่เกี่ยวข้องกันระหว่างเพศหญิงกับ เพศชาย ที่ว่าการจะข้ามผ่านความเป็นเพศของตนเองได้นั้น ต้องไม่สนใจในสภาพของ ความเป็นหญิงหรือชาย และต้องไม่มีความสุขใจที่มีสาเหตุมาจากการสนทนากับเพศ ตรงข้าม หมายความว่า หากไม่ได้มีความสุขใจที่มีสาเหตุมาจากการได้สนทนากับ เพศตรงข้าม และสภาพของความเป็นเพศตรงข้ามกับเราแล้ว เราจึงจะสามารถก้าวพ้น จากความเป็นเพศหญิง หรือเพศชายไปได้

ดังนั้น เมื่อเราสามารถข้ามผ่านเพศของตนเองไปได้ เราก็จะได้ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับเพศตรงข้าม ต่างคนต่างอยู่งั้นเหรอคะ หรือถ้าได้ก้าวผ่านความเป็นเพศของตนเองได้แล้ว ก็จะกลายเป็นคนในเพศเดียวกัน หรือถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน หรือเอามารวมกันได้คะ เอ... ธรรมมะข้อนี้ต้องการสอนอะไรกันแน่ค่ะ หรือแค่เป็นเพียงการบรรยายธรรมมะ ไม่มีความหมายโดยนัยอะไร แค่เป็นการยกตัวอย่างคำว่า สังโยคะ และวิสังโยคะ เท่านั้นเอง คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เข้าใจ
วันที่ 19 ก.ย. 2555

ขออนุญาตเรียนสอบถามครับ

คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ผู้ที่เป็นชายใส่ใจในความเป็นชายของตน ย่อยยินดีในภาวะของหญิง แล้วผู้ที่เป็นชายที่ไม่ใส่ใจในความเป็นชายของตน ก็จะไม่ยินดีในภาวะของความเป็นหญิง คือสงสัยว่าจะมนสิการอย่างไรในความชายของตนแล้วไม่ให้ยินดีในความเป็นหญิง คือมนสิการให้เป็นแค่ปุริสภาวะ กับอิตถีสภาวะหรือครับ แล้วพลอยให้นึกถึงผู้ที่เป็นบัณเฑาะก์ กะเทย ประเภทนี้เขาก็ไม่ยินดีในภาวะที่ตนเป็นอยู่แล้วจะจัดเข้ากับประเภทไหนครับ คือผมอาจจะเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อนไปจากธรรมที่เป็นของกรุณาอธิบายให้ได้เข้าใจด้วยนะครับ

กราบขอบพระคุณ และกราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เข้าใจ
วันที่ 19 ก.ย. 2555

กราบขอบพระคุณ อาจารย์ผเดิมมากครับ ที่นำลิงก์นี้มาลงให้ทบทวนครับ ก็เข้าใจแล้วครับ

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
lovedhamma
วันที่ 1 ม.ค. 2557

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ