ศิล สมาธิ ปัญญา มรรค

 
nano16233
วันที่  20 ก.ย. 2555
หมายเลข  21761
อ่าน  1,339

มีความสงสัยว่า สมาธิ หมายถึง อะไร ในมรรค หมายถึง มีสมาธิกับอะไรครับ

สาธุ สาธุ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดกับจิตทุกดวง เมื่อจิตฝักใฝ่มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ ลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก ก็ปรากฏเป็นสมาธิ คือ ตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เพียงอารมณ์เดียว เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตเป็นมิจฉาสมาธิ เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตเป็นสัมมาสมาธิ การทำสมาธิ ให้จิตจดจ่อที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ นั้น เมื่อไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะขณะนั้น เป็นความพอใจ ที่จะให้จิต ตั้งตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์เดียว

ส่วน สมาธิในมรรค ก็ต้องเข้าใจคำว่า มรรค ก่อน ครับ

มรรค หมายถึงทาง ซึ่งก็มีทั้งทางที่ถูก เรียกว่า สัมมามรรค อันเป็นทางที่จะนำไปสู่ การดับกิเลส และ ทางที่ผิด ที่เป็น มิจฉามรรค ไม่ใช่ทางที่จะนำไปสู่การดับกิเลส

เพราะฉะนั้น เมือกล่าวถึง สมาธิในมรรค ก็จะต้องมี สมาธิในมรรคทั้งที่ถูก (สัมมามรรค) ที่เป็นสัมมาสมาธิ และ มรรคที่ผิด (มิจฉามรรค) ที่เป็นมิจฉาสมาธิ

ซึ่งจะขอกล่าวถึง สมาธิในมิจฉามรรค ก่อนครับว่า คือ สมาธิ หรือ เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท ซึ่งเอกัคคตาเจตสิก ทำกิจหน้าที่ ตั้งมั่นในอารมณ์ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เกิดอกุศลจิต ขณะนั้นจะต้องมีสมาธิ ที่เป็น สมาธิชั่วขณะ คือ ขณิกสมาธิ แต่เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะ เป็นไปในอกุศล ครับ ซึ่งก็มีสมาธิ อยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ที่เป็น สมาธิที่เป็นไปในอกุศล ครับ

ส่วน สมาธิในองค์มรรค คือ สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิจะเกิดพร้อมกับ องค์อื่นๆ อย่างน้อย ๕ องค์ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ และ สัมมาสติ ซึ่งขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ขณะนั้น มีองค์ ๕ ตามที่กล่าวมา และมีสัมมาสมาธิด้วย เพราะ มีเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทีเป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญา ที่กำลังรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่กำลังมีในขณะนี้ ครับ มีความตั้งมั่นชั่วขณะ ที่ระลึกรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น

ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า เมื่อพูดถึงสัมมาสมาธิ จะต้อง เป็นขั้นฌาน เท่านั้น เพราะในความเป็นจริง ขณะที่ได้ฌาน เป็นสัมมาสมาธิด้วย แต่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสัมมาสมาธิในอริยมรรคที่เป็นหนทางการดับกิเลส เพราะ การเจริญสมถภาวนา จนได้ฌาน แต่ไม่มีปัญญา ที่เป็นการเจริญวิปัสสนา ก็ไม่ใช่ สัมมามรรค คือ หนทางการดับกิเลส ครับ

ดังนั้น สมาธิ ในสัมมามรรค ที่เป็นหนทางการดับกิเลส จึงเป็นสมาธิชั่วขณะ ที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน รวมทั้งสมาธิที่มีกำลัง ที่ได้ฌาน เกิดพร้อมกับปัญญาที่ละ ดับกิเลส เป็นมรรคจิต เป็นสัมมาสมาธิในระดับนั้นได้ ครับ แต่ไม่ได้จำเป็นว่า เมื่อจะเจริญวิปัสสนา สัมมามรรค จะต้องเจริญสมาธิให้ได้ฌาน เพราะผู้ที่ไม่ได้ฌานแล้วบรรลุธรรมก็มี เพราะ สัมมาสมาธิ ก็หมายถึงสมาธิชั่วขณะ (ขณิกสมาธิ) ที่ไมได้ฌาน แต่ เป็น สมาธิ ที่ตั้งมั่นชั่วขณะ ที่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 21 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ต้องฟัง ต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบเท่านั้น ถึงจะเข้าใจ แม้แต่ในเรื่องของสมาธิ ก็เช่นเดียวกัน มีผู้เข้าใจผิดกันมาก ไม่ตรงตามพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

ถ้าไม่ฟังพระธรรมเลยแล้วไปทำอะไร ด้วยความไม่รู้ นั่น ไม่ใช่สัมมาสมาธิ แต่เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นหนทางที่ผิด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญา

เมื่อกล่าวถึงสมาธิแล้ว ความเป็นจริงของธรรมไม่เคยเปลี่ยน เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นในสิ่งที่จิตรู้ เกิดกับกุศลจิตก็ได้ อกุศลจิต ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจิตในขณะนั้นเป็นอะไร แต่ที่จะเป็นสัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นความตั้งมั่นชอบ และเป็นสัมมามรรค นั้น ต้องเป็นไปกับด้วยการอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ในขณะนั้น สมาธิตั้งมั่นในอารมณ์ ที่สติระลึก และปัญญารู้ตามความเป็นจริง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ....

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 21 ก.ย. 2555

มรรคมี ๒ อย่าง สัมมามรรค และ มิจฉามรรค

สมาธิก็มี ๒ อย่างเหมือนกัน คือ สัมมาสมาธิ และ มิจฉาสมาธิ

ถ้าเป็นสัมมาสมาธิก็สัมปยุตกับสัมมาทิฏฐิ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 21 ก.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 21 ก.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ