พระปรุงอาหาร และปลูกต้นไม้ ไม่ใช่กิจสงฆ์ จริงหรือ?
เคยอ่านเจอว่า มีคนสวนถวายมะม่วงแด่พระพุทธเจ้า แต่เลยเวลาเช้าไปแล้ว พระพุทธเจ้าก็ให้ พระอานนท์ เอามะม่วงนั้นไปคั้นน้ำ (เป็นน้ำปานะ) (แบบนี้เรียกปรุงอาหารไหมครับ)
จากนั้นก็ให้คนสวนเอาเม็ดมะม่วงนั้นไปปลูก แล้วพระพุทธเจ้าก็ล้างมือลงไป เม็ดมะม่วงนั้นก็ขึ้นเป็นต้นมะม่วงทันทีมีลูกดก (แบบนี้เรียกว่าปลูกต้นไม้ไหมครับ)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ได้เรียนถามอาจารย์ประเชิญแล้ว
ได้อธิบายไว้ครับว่า การปรุงอาหาร เช่น การหุงต้มโดยใช้ไฟ เป็นต้น อย่างนี้ ไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่ การทำน้ำปานะ ที่ไม่ใช้ไฟ โดยการคั้น สมควรอยู่
เพราะฉะนั้น การทำน้ำปานะของพระอานนท์ โดยการคั้นมะม่วง ไม่ใช่การผิดพระวินัย และ ไม่ใช่การปรุงหรือทำอาหารที่ผิดพระวินัย ครับ
ส่วนการปลูกต้นไม้ ถ้าปลูก เพื่อตน โดยการประจบคฤหัสถ์ อย่างนี้ผิดพระวินัย ไม่สมควร แต่การปลูก เพื่อคนอื่น เพื่อร่มเงาแด่สงฆ์ กับส่วนรวม หรือ ปลูกเพื่อเคารพบูชา โดยไม่ใช่เพื่อประจบแจง อย่างนี้ ไม่ผิดพระวินัย ครับ
พระธรรมของพระพุทธเจ้าจึงเป็นไปเพื่อละ สละขัดเกลากิเลส ทั้งทางกาย วาจาและใจ แม้แต่เพศพระภิกษุ ก็บัญญัติสิกขาบทให้เหมาะสม สมควรกับเพศพระภิกษุ อันเป็นไปเพื่อละกิเลส ตามระดับต่างๆ และเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม และเป็นไปเพื่อประชุมชนเกิดความเลื่อมใส และเกิดกุศลธรรม
เมื่อเห็นการกระทำของพระภิกษุ ควรอย่างยิ่งที่คฤหัสถ์ ควรศึกษาพระวินัยเท่าที่ทำได้ และ พระภิกษุ ก็ควรน้อมประพฤติ ปฏิบัติตาม ด้วยความเคารพ ก็จะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของ พระศาสนา เพราะเกิดจากความเข้าใจพระธรรมของพุทธบริษัท ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขออนุโมทนาอาจารย์ประเชิญ ที่อธิบายให้เข้าใจในประเด็นนี้ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและอาจารย์ประเชิญครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
บุคคลผู้ที่มีอัธยาศัยจริงๆ ในการที่บวชเป็นบรรพชิต ย่อมสามารถที่จะละอาคาร บ้านเรือน วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติ แล้วบวช ซึ่งเมื่อบวชแล้ว ก็มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย ขัดเกลากิเลสของตนเอง อย่างนี้ คือ ผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปในการบวชจริงๆ และเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน
สิ่งสำคัญ เมื่อได้น้อมศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความละเอียดรอบคอบแล้ว ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลต่อความประพฤติเป็นไปในชีวิตประจำวัน ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร งดเว้นในสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงห้าม และน้อมประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงอนุญาต
จุดประสงค์ของการบวชเป็นบรรพชิต ในพระพุทธศาสนา นั้น คือ เพื่ออบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง เท่านั้น ถ้าไม่ได้บวชเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวนี้แล้ว ย่อมเป็นบุคคลผู้เสื่อมอย่างยิ่ง เสื่อมจากคุณความดีประการต่างๆ ครับ.
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมและอาจารย์ประเชิญ ด้วยครับ
...และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...