มหัคคตขันธ์
จากข้อความ "บุคคลพิจารณาเห็นมหัคคตขันธ์ทั้งหลายที่เป็นปริตตารัมมณธรรม โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ ย่อมยินดี ย่อมเพลิดเพลินยิ่ง เพราะปรารภขันธ์นั้น ..."
เรียนถามว่ามหัคคตขันธ์ คือขันธ์ในรูปภูมิและอรูปภูมิใช่หรือไม่ครับ และปริตตารัมมณธรรม
แปลว่าอะไรครับ
ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มหัคคตะ หมายถึง สภาพธรรมที่ถึงความเป็นใหญ่ ซึ่ง เมื่อพูดถึง มหัคคตะแล้ว จะมุ่งหมายถึง จิตและเจตสิกที่เป็นนามธรรม ซึ่ง จิต เจตสิกที่เป็นมหัคคตะ ถึงความเป็นใหญ่ คือ ฌานจิต ที่เป็นขั้นรูปฌาน และ อรูปฌาน ถึงความเป็นใหญ่ ด้วยเพราะเป็นใหญ่ ที่สามารถระงับกิเลสที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้
เพราะฉะนั้น เมื่อถึงคำถามที่ว่า มหัคคตขันธ์ คืออะไร
ตามที่กล่าวแล้วครับว่า มหัคคตะ หมายถึง จิต เจตสิก ที่ถึงความเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น มหัคคตขันธ์ จึงหมายถึง ขันธ์ที่เป็น วิญญาณขันธ์ และ เวทนา สัญญา สังขารขันธ์ บางประเภท ที่เกิดกับ รูปาวจรจิต ๑๕ ดวง และอรูปาวจรจิต ๑๒ ดวง และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ครับ
ปริตตารัมมณธรรม หมายถึง สภาวธรรมทั้งหลาย ที่กระทำปริตตธรรมให้เป็นอารมณ์มีอยู่ ซึ่ง ปริตตธรรม คือเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับไป แต่จิตก็ยินดีพอใจติดข้องในปริตตธรรมนั้นอยู่เสมอ เพราะการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของปริตตธรรมนั้นๆ จึงดูเสมือนไม่ดับไป ซึ่งปริตตธรรมเป็นชื่อของ กามาวจรธรรม ทั้งหลาย ได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ และ รูป ๒๘ เพราะฉะนั้น ปริตตารัมมณธรรม ที่เป็นธรรมกระทำปริตตธรรมให้เป็นอารมณ์ ก็คือ จิต เจตสิก ที่มีสภาพธรรมที่เล็กน้อย เป็นอารมณ์ในขณะนั้น นั่นเองครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
เรียนถามอาจารย์เพิ่มเติมครับ
แปลได้ว่าขณะที่ฌานจิตที่เกิดขึ้นก็มีปริตตธรรมเป็นอารมณ์ได้
ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่ครับ
เรียนความเห็นที่ 3 ครับ
ปริตตธรรม คือสภาวธรรมทั้งหลาย ที่มีอานุภาพน้อยเป็นชื่อของ กามาวจรธรรมทั้งหลาย ได้แก่ กามาวจรจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ และ รูป ๒๘ เพราะฉะนั้น มุ่งหมายถึงสภาพธรรมที่เป็นกามาวจรธรรม แต่ถ้าเป็นอารมณ์ของรูปาวจรจิต หรือ ตัวรูปาวจรจิตเป็นมหัคคตะ ไม่ใช่ปริตตธรรม เพราะฉะนั้น อารมณ์ของฌานจิต ไม่ใช่ปริตตธรรม ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อกล่าวถึงขันธ์แล้ว ย่อมไม่พ้นไปจาก สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นในขณะที่ฌานจิตเกิดขึ้น ที่สามารถข่มกิเลสไว้ได้ในขณะที่ฌานจิต เกิดขึ้นเป็นไป หรือ ขณะที่ไม่ใช่ฌานจิต แต่เป็นจิตที่เกิดขึ้นเป็นไปกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นขันธ์ทั้งหมด ซึ่งเมื่อกล่าวถึงจิตแล้ว ก็ต้องกล่าวหมายถึงสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต คือ เจตสิกด้วย ตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ
ทั้งหมดนั้น ก็ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้น เพราะ เหตุ ปัจจัย แล้วก็ดับไปเท่านั้น สภาพธรรมที่เกิด เพราะเหตุปัจจัย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
เพราะข่มกิเลสได้ จึงเป็นมหัคคตจิต
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
เรียนเพิ่มเติม ในประเด็นนี้ โดยคุณ สัมภเวสีได้อธิบายให้เข้าใจโดยละเอียดครับ
เชิญอ่านดังนี้
ผมได้อ่านกระทู้ว่าด้วย มหัคคตขันธ์ ที่ตั้งโดยคุณ gboy ได้ตั้งขึ้นพร้อมทั้งคำตอบที่ท่านผู้รู้ได้ชี้แจง ขออนุโมทนาในกุศลเจตนา ที่ได้วิสัชชนาถึงความหมายและความสัมพันธ์ของสภาวธรรมตามที่คุณ gboy ได้เรียนถาม แต่เพื่อความกระจ่างในองค์ธรรม ผมจึงขออนุญาตเรียนชี้แจงเพิ่มเติม พร้อมยก อนาคตังสญาณประกอบโดยมุ่งถึงความชัดเจนในพระธรรมวินัยเป็นประการสำคัญ ครับ
ข้อความที่คุณ gboy ได้ยกมานั้น คัดมาบางส่วนเท่านั้น หากได้เห็นข้อความทั้งหมดจากพระไตรปิฎกแล้ว จะเห็นภาพรวมทั้งหมดอย่างชัดเจนทีเดียวครับ ข้อความดังกล่าว ปรากฏใน พระไตรปิฎกฉบับแปล มหามกุฏฯ คัมภีร์ปัฏฐาน เล่ม ๗ ภาค ๓ - หน้าที่ 451-452 เล่มสีน้ำตาล หมวดปัญหาวาระวิภังค์ ปริตตารัมมณติกะ อนุโลมนัย อารัมมณปัจจัย ดังนี้ครับ
[๑๕๗๑] ๒. ปริตตารัมมณธรรม เป็นปัจจัยแก่มหัคคตารัมมณธรรม ด้วยอำนาจของอารัมมณปัจจัย
คือ บุคคลพิจารณาทิพยจักษุ พิจารณาทิพโสตธาตุ พิจารณาอิทธิวิธญาณที่เป็นปริตตารัมมณธรรม พิจารณาเจโตปริยญาณ ฯลฯ พิจารณาปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ฯลฯ พิจารณายถากัมมูปคญาณ ฯลฯ พิจารณาอนาคตังสญาณ.
บุคคลพิจารณาเห็น มหัคคตขันธ์ทั้งหลาย ที่เป็น ปริตตารัมมณธรรม โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ ย่อมยินดี ย่อมเพลิดเพลินยิ่ง เพราะปรารภขันธ์นั้น ราคะ ที่เป็นมหัคคตารัมมณธรรม ฯลฯ โทมนัส ย่อมเกิดขึ้น.
บุคคลรู้จิตของบุคคล ผู้พร้อมเพรียงด้วยมหัคคตจิต ที่เป็น ปริตตารัมมณธรรม ด้วยเจโตปริยญาณ.
มหัคคตขันธ์ทั้งหลายที่เป็นปริตตารัมมณธรรม เป็นปัจจัยแก่เจโตปริยญาณ แก่ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ แก่อนาคตังสญาณ แก่อาวัชชนะ ด้วยอำนาจของอารัมมณปัจจัย.
ดังนั้น มหัคคตขันธ์ทั้งหลาย ที่เป็นปริตตารัมมณธรรม มุ่งหมายเอา เฉพาะทิพยจักษุ ทิพโสตธาตุ อิทธิวิธญาณ เจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ยถากัมมูปคญาณ อนาคตังสญาณ.
ซึ่งได้สรุปไว้ในย่อหน้าที่สองของอุทาหรณ์ที่มาในพระบาลี โดยแสดงสืบเนื่องจากอุทาหรณ์ในย่อหน้าแรกครับ
เนื่องจากว่าทรงแสดงไว้อย่างชัดเจนในวาระแรก (ข้อ 1570) แล้วเช่นกัน ดังนั้น ในวาระนี้จึงแสดงโดยสรุปสืบเนื่องจากวาระแรกในข้อ 1570 ครับ
ส่วน ปัจจยุบบันของมหัคตตขันธ์ดังกล่าวที่เป็นปริตตารัมมณธรรม คือ วิปัสสนา ของปุถุชน พระเสกขบุคคล และพระอรหันต์
อีกประการหนึ่ง คุณ gboy ได้ยกบางส่วนสืบเนื่องมาว่า ... ย่อมยินดี ย่อมเพลิดเพลินยิ่ง เพราะปรารภขันธ์นั้น ... เป็นข้อความคนละประโยค กับข้อความด้านต้น ที่กล่าวถึงวิปัสสนา ซึ่งเป็นการละข้อความที่ซ้ำโดยเปยยาลนัย
ขออนุโมทนาในกุศลของคุณ สัมภเวสี มา ณ ที่นี้ ที่ช่วยอธิบายให้สหายธรรมทั้งหลายเข้าใจละเอียดขึ้น ครับ
ขอบพระคุณครับ
จากบทความในย่อหน้าที่สี่ ผมเข้าใจว่าเจโตปริยญาณ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ อนาคตังสญาณ เป็นทั้งมหัคคตารัมมณธรรม และปริตตารัมมณธรรม
ไม่ทราบว่าผมเข้าใจถูกต้องหรือไม่ครับ
เรียน ท่านวิทยากรและท่านผู้ดูแลเว็บไซต์บ้านธัมมะที่เคารพ
ผมขออนุญาตยกข้อความจาก สัทธัมมปกาสินี ซึ่งเป็นอรรถกถาขยายเนื้อความแห่งพระบาลี ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เพื่อความชัดเจนให้ยิ่งขึ้นไป ในพระธรรมวินัยอันจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาพระปริยัติสัทธรรมให้ดำรงมั่นอยู่ตลอดกาลนานครับ
ข้อความจาก สัทธัมมปกาสินี ว่าด้วย หมวดปัญจญาณปกิณณกะ - หน้าที่ 1035-1036 ฉบับมหามกุฏฯ เล่มที่ ๖๘ (ปกสีน้ำตาล) ได้แสดงประเภทของอารมณ์แห่งอภิญญาญาณ โดยอาศัยหมวดธรรมแห่งมาติกา ที่ทรงจำแนกไว้ใน พระอภิธรรมปิฏก คัมภีร์ธัมมสังคณี เป็นประการสำคัญ ว่าดังนี้ครับ
ในญาณ ๕ เหล่านี้
อิทธิวิธญาณ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๗ ด้วยสามารถแห่งปริตตารมณ์ ๑ มหัคคตารมณ์ ๑ อตีตารมณ์ ๑ อนาคตารมณ์ ๑ ปัจจุปันนารมณ์ ๑ อัชฌัตตารมณ์ ๑ พหิทธารมณ์ ๑.
โสตธาตุวิสุทธิญาณ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๔ ด้วยสามารถแห่งปริตตารมณ์ ๑ ปัจจุปันนารมณ์ ๑ อัชฌัตตารมณ์ ๑ พหิทธารมณ์ ๑.
เจโตปริยญาณ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๘ ด้วยสามารถแห่งปริตตารมณ์ ๑ มหัคคตารมณ์ ๑ อัปปมาณารมณ์ ๑ มัคคารมณ์ ๑ อตีตารมณ์ ๑ อนาคตารมณ์ ๑ ปัจจุปันนารมณ์ ๑ พหิทธารมณ์ ๑
บุพเพนิวาสานุสติญาณ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๘ ด้วยสามารถแห่งปริตตารมณ์ ๑ มหัคคตารมณ์ ๑ อัปปมาณารมณ์ ๑ มัคคารมณ์ ๑ อตีตารมณ์ ๑ อัชฌัตตารมณ์ ๑ พหิทธารมณ์ ๑ นวัตตัพพารมณ์ ๑.
ทิพพจักขุญาณ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๔. ด้วยสามารถแห่งปริตตารมณ์ ๑ ปัจจุปันนารมณ์ ๑ อัชฌัตตารมณ์ ๑ พหิทธารมณ์ ๑.
ยถากัมมูปคญาณ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๕ ด้วยสามารถแห่งปริตตารมณ์ ๑ มหัคคตารมณ์ ๑ อตีตารมณ์ ๑ อัชฌัตตารมณ์ ๑ พหิทธารมณ์ ๑.
อนาคตังสญาณ ย่อมเป็นไปในอารมณ์ ๘ ด้วยสามารถแห่งปริตตารมณ์ ๑ มหัคคตารมณ์ ๑ อัปปมาณารมณ์ ๑ มัคคารมณ์ ๑ อนาคตารมณ์ ๑ อัชฌัตตารมณ์ ๑ พหิทธารมณ์ ๑ นวัตตัพพารมณ์ ๑.
อาจมีข้อสงสัยว่า ในย่อหน้าแรกแสดงญาณ ๕ แต่ในย่อหน้าหลังๆ แสดงไว้ทั้งหมดถึง ๗ ญาณ โดยเพิ่มเติม ๒ หลังเข้ามาคือ ยถากัมมูปคญาณและอนาคตังสญาณ ซึ่งไม่มีปรากฏโดยอุทเทส และนิทเทสในบรรดาญาณ ๗๓ ที่มาในพระบาลี แห่งคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค พระอรรถกถาจารย์ได้ไขความดังกล่าวไว้ใน อรรถกถาทิพพจักขุญาณนิทเทส - หน้าที่ 1029 ว่า
... จริงอยู่ ญาณเหล่านี้มีทิพพจักขุญาณเป็นบาท ย่อมสำเร็จด้วยทิพพจักษุนั่นเอง. ดังนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงแสดงสืบต่อจากทิพพจักขุญาณ รวมเป็นทั้งสิ้น ๗ ญาณ และสอดคล้องกับที่มาในพระบาลีแห่งคัมภีร์ปัฏฐานที่ได้ยกแสดงก่อนหน้านี้ครับ
และนี่ก็แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า พระอรรถกถาจารย์เป็นพุทธมัตตัญญู ผู้รู้ประมาณในพระพุทธภาษิต แตกฉานในเนื้อความแห่งพระบาลีทั้งสามปิฎก ความดีเหล่าใดที่เกิดขึ้นในการร่วมสนทนาครั้งนี้ ขออุทิศบูชาคุณ พระศรีรัตนตรัย และครูอาจารย์ ที่ได้ถ่ายทอดพระธรรมวินัยสืบมาให้จนถึงปัจจุบันครับ
ขอท่านวิทยากรได้โปรดชี้แนะเพิ่มเติมด้วยครับ
อนุโมทนาในกุศลเจตนาของทุกท่านครับ