พระอุปัชฌาย์ [พระวินัยปิฎก มหาวรรค]

 
khampan.a
วันที่  25 ก.ย. 2555
หมายเลข  21786
อ่าน  4,623

[เล่มที่ 6] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 174

มาณพคนหนึ่ง

[๘๘]  ก็โดยสมัยนั้นแล มาณพคนหนึ่งเข้าไปหาภิกษุทั้งหลาย แล้วขอบรรพชา พวกภิกษุได้บอกนิสัยแก่เธอก่อนบวช เธอจึงพูดอย่างนี้ว่า ถ้าเมื่อกระผมบวชแล้ว พระคุณเจ้าทั้งหลายพึงบอกนิสัยแก่กระผม กระผมก็จะยินดียิ่ง บัดนี้ กระผมจักไม่บวชละ เพราะนิสัยเป็นสิ่งที่น่าเกลียด เป็นปฏิกูลแก่กระผม ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงบอกนิสัยก่อนบวช รูปใดบอก ต้องอาบัติทุกกฏ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พออุปสมบทแล้ว เราอนุญาตให้บอกนิสัย.

อุปสมบทด้วยคณะ

[๘๙]  ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายให้อุปสมบทด้วยคณะ มีพวก ๒ บ้าง มีพวก ๓ บ้าง มีพวก ๔ บ้าง ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบทด้วยคณะ ซึ่งมีพวกหย่อน ๑๐ รูปใดให้อุปสมบทต้องอาบัติทุกกฏ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุปสมบทด้วยคณะมีพวก ๑ . .

พระอุปเสนวังคันตบุตรอุปสมบทสัทธิวิหาริก

[๙๐]  ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายมีพรรษาหนึ่งบ้าง มีพรรษาสองบ้าง อุปสมบทสัทธิวิหาริก แม้ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรมีพรรษาเดียวอุปสมบทสัทธิวิหาริก ท่านออกพรรษาแล้วมีพรรษาสอง ได้พาสัทธิวิหาริกมีพรรษาหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ก็การที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ร่างกายของพวกเธอยังพอทนได้ ยังพอให้เป็นไปได้หรือ พวกเธอเดินทางมามีความลำบากน้อยหรือ

ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกราบทูลว่า ยังพอทนได้ พระพุทธเจ้าข้า ยังพอให้เป็นไปได้ พระพุทธเจ้าข้ และพวกข้าพระพุทธเจ้าเดินทางมาก็มีความลำบากน้อย พระพุทธเจ้าข้า.

พุทธประเพณี

พระตถาคตทั้งหลายทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี ทรงทราบอยู่ย่อมไม่ตรัสถามก็มี ทรงทราบกาลแล้วตรัสถาม ทรงทราบกาลแล้วไม่ตรัสถาม พระตถาคตทั้งหลายย่อมตรัสถามสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ในสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ พระองค์ทรงกำจัดเสียด้วยข้อปฏิบัติ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายด้วยอาการ ๒ อย่าง คือจักทรงแสดงธรรมอย่างหนึ่ง จักทรงบัญญัติสิกขาบทแก่พระสาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรว่า เธอมีพรรษาได้เท่าไร ภิกษุ

อุป. ข้าพระพุทธเจ้ามีพรรษาได้สอง พระพุทธเจ้าข้า

ภ. ภิกษุรูปนี้เล่า มีพรรษาได้เท่าไร

อุป. มีพรรษาเดียว พระพุทธเจ้าข้า

ภ. ภิกษุรูปนี้ เป็นอะไรกับเธอ

อุป. เป็นสัทธิวิหาริกของข้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าข้า

ทรงติเตียน

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ดูก่อนโมฆบุรุษ เธอยังเป็นผู้อันผู้อื่นพึงโอวาทอนุศาสน์อยู่ ไฉนจึงสำคัญคนเพื่อโอวาทอนุศาสน์ผู้อื่นเล่า เธอเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก ซึ่งมีความพัวพันด้วยหมู่เร็วเกินนัก การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยิ่งไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...

ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีพรรษาหย่อน ๑๐ ไม่พึงให้อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบท ต้องอาบัติทุกกฏ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุมีพรรษาได้ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ ให้อุปสมบท

พระอุปัชฌายะและสัทธิวิหาริก

[๙๑]  ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายคิดว่า เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้วดังนี้ แต่ยังเป็นผู้เขลาไม่เฉียบแหลมย่อมให้อุปสมบท ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้เขลา สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาด ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม สัทธิวิหาริกเป็นผู้เฉียบแหลม ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีสุตะมาก ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีปัญญา แม้ภิกษุรูปหนึ่งเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ เมื่อพระอุปัชฌายะว่ากล่าวอยู่โดยชอบธรรมได้ยกวาทะขึ้นโต้เถียงแก่พระอุปัชฌายะ แล้วหลีกไปสู่ลัทธิเดียรถีย์นั้นตามเดิม

บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่าไฉน ภิกษุทั้งหลายจึงได้อ้างว่า เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว ดังนี้ แต่ยังเป็นผู้เขลาไม่เฉียบแหลม ให้อุปสมบท ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้เฉียบแหลม สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาด ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม สัทธิวิหาริกเป็นผู้เฉียบแหลม, ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีสุตะมาก ปรากฏว่าพระอุปัชฌายะเป็นผู้มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีปัญญาเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

ทรงสอบถาม

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุทั้งหลายอ้างว่า เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว ดังนี้ แต่ยังเป็นผู้เขลา ไม่เฉียบแหลมให้อุปสมบท ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้เขลา สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาด ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม สัทธิวิหาริกเป็นผู้เฉียบแหลม ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีสุตะมาก ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีปัญญา จริงหรือ ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

ทรงติเตียน

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไฉนโมฆบุรุษเหล่านั้นจึงได้อ้างว่า เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้ว เรามีพรรษาได้ ๑๐ แล้วดังนี้ แต่ยังเป็นผู้เขลา ไม่เฉียบแหลมให้อุปสมบท ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้เขลา สัทธิวิหาริกเป็นผู้ฉลาด ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้ไม่เฉียบแหลม สัทธิวิหาริกเป็นผู้เฉียบแหลม ปรากฏว่าอุปัชฌายะเป็นผู้มีสุตะน้อย สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีสุตะมาก ปรากฏว่าอุปัชาฌายะเป็นผู้มีปัญญาทราม สัทธิวิหาริกเป็นผู้มีปัญญาเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การกระทำของพวกโมฆบุรุษนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...

ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เขลาไม่เฉียบแหลมไม่พึงให้อุปสมบท รูปใดให้อุปสมบทต้องอาบัติทุกกฏ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุผู้สามารถมีพรรษาได้ ๑๐ หรือมีพรรษาเกิน ๑๐ ให้อุปสมบท


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
playsong_by_golffy
วันที่ 17 ต.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ต.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ