ขอพระสูตรที่แสดงเรื่องจิตเกิดดับรวดเร็วด้วยครับ
เข้าใจว่าจิต (วิญญาณ) ก็คือสภาพรู้รู้ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง รู้เวทนาบ้าง รู้สัญญาบ้าง รู้สังขารบ้าง สภาพรู้นี้รู้แล้วดับ เกิดๆ ดับๆ ติดกันเป็นกระแส (เหมือนไฟนีออนที่ติดๆ ดับๆ แต่เร็วมากจนเห็นว่าสว่างต่อเนื่อง) รวดเร็วมากจนเข้าใจว่า "ฟังพร้อมกับเห็นได้"
แต่จริงๆ ไม่ใช่ เป็นคนละขณะกันสภาพติดๆ ดับๆ นี้จะต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่นิพพาน แม้เมื่อขันธ์ ๕ เก่าแตกทำลายไป ก็จะมีปัจจัย มีเชื้อเหลือให้เกิดสภาพติดๆ ดับๆ นี้ เกิดขึ้นใน รูป (ร่างใหม่) เวทนา สัญญา สังขาร อันใหม่ต่อไป
ไม่ทราบว่าผมเข้าใจถูกต้องหรือไม่ และขอพระสูตร (พุทธวจนะ) ยืนยันด้วยครับ
ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สภาพธรรม คือ จิต (และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย) เกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ซึ่งเป็นปกติอย่างนี้ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ความจริงเป็นอย่างนี้ และเป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ผ่านไปแล้วชาติแล้วชาติเล่า และถ้ายังไม่มีการอบรมเจริญปัญญาจนถึงขั้นที่จะสามารถดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีเหตุที่ทำให้มีการเกิดในภพต่างๆ มีสภาพธรรมเกิดสืบต่ออีก มีจิตและเจตสิก รวมทั้งรูปด้วยเกิดขึ้นเป็นไป ยังไม่พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง
จิต จะไม่เกิดพร้อมกัน ๒ - ๓ ขณะ แต่เกิดทีละขณะ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ซึ่งข้อความที่แสดงไว้ชัดเจน คือ ชั่วเวลาลัดนิ้วมือเดียว (เอานิ้ว ๒ นิ้วมารวมกันและก็ดีดแยกออก เหมือนการดีดนิ้ว) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สั้นแสนสั้น แม้ช่วงเวลาลัดนิ้วมือเดียวนี้ จิต (และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย) เกิดดับไปแล้วนับแสนโกฏิครั้ง
[เล่มที่ 27] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้าที่ 323
ข้อความบางตอนจาก..
อรรถกถาเผณปิณฑสูตรที่ ๓
อนึ่ง เปรียบเหมือนว่า ต่อมน้ำย่อมเกิดและสลายตัวในเพราะหยดน้ำนั้นๆ อยู่ได้ไม่นาน ฉันใด แม้เวทนาก็ฉันนั้น ย่อมเกิดและสลายตัวไป อยู่ได้ไม่นานในขณะชั่วลัดนิ้วมือเดียว เกิดแล้วดับไปนับได้แสนโกฏิครั้ง.
ประโยชน์จากการฟังพระธรรม คือ เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง จากที่เคยไม่รู้มานานแสนนาน ไม่รู้เลยว่าขณะนี้เป็นธรรม พร้อมทั้งมีการยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น มีความมั่นคงในความเป็นจริงของธรรมว่า ทุกขณะ ไม่ปราศจากธรรมเลย มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอด โดยไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน แต่ที่ควรจะแสวงหา ก็คือ ความเข้าใจ และความเข้าใจจะเจริญขึ้นได้ เกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยการอบรมจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายของสงสาร [ติณกัฏฐสูตรที่ ๑]
ความเข้าใจสภาพธรรมที่ตรงและถูกต้อง เกิดขึ้นได้อย่างไร
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขณะที่ดูหลอดไฟ เมื่อเปิดไฟ เราก็เห็นว่าหลอดไฟนั้นสว่างตลอด คงที่ไม่กระพริบแต่ความเป็นจริงแล้ว หลอดไฟก็มีการเกิดและดับอยู่ตลอดเวลา (ตามความเร็วรอบ) แต่เราไม่เห็นเลยว่า หลอดไฟนั้นกระพริบเกิดดับเลย เพราะเหตุใด เพราะมีการกระพริบเกิดดับเร็วมาก จนเห็นว่าเที่ยงนั่นเอง ฉันใด แม้สภาพธรรม ที่มีในขณะนี้ ก็เกิดดับเร็วมาก แต่ก็ไม่เห็นว่าเกิดดับเลย เพราะสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก สืบต่อจนเห็นว่าเที่ยง และก็ไม่มีปัญญาเห็นความเกิดขึ้น และดับของสภาพธรรมด้วย จึงเห็นว่าเที่ยง และยึดด้วยความเห็นผิดว่าเที่ยง ขณะนี้เห็น ตามความเป็นจริง เห็น (จักขุวิญาณ) เกิดขึ้น และดับไป และก็ได้ยินบ้าง แต่ก็ยังเห็นอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ขณะที่ได้ยิน ขณะนั้นจะต้องไม่เห็น เพราะสภาพธรรมเกิดดับ สืบต่อเร็วมาก และไม่มีปัญญาที่จะไปรู้นั่นเอง เราจึงยึดถือสิ่งต่างๆ ว่าเที่ยง ยั่งยืน มีคน มีสัตว์
เมื่อจุดธูป เห็นไฟจุดเดียวใช่ไหม ลองแกว่งธูป เป็นไงครับ เห็นเป็นวงกลมขึ้นมาแล้ว ทั้งๆ ที่ จริงๆ แล้วก็เป็นเพียงไฟจุดเดียวเท่านั้น แต่เพราะการสืบต่อ ของการหมุนก้านธูป จึงทำให้หลงเข้าใจผิดว่ามี วงกลม ฉันใด แม้สภาพธรรมที่เกิดขึ้น ในขณะนี้ เช่น ขณะที่เห็น ก็เกิดขึ้นและดับไป แต่เพราะความเกิดดับของสภาพธรรมคือ เห็นเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้เห็นว่า เห็นขณะนี้ ไม่ดับไปเลย ยังเห็นว่าเที่ยงอยู่เสมอ เพราะความเกิดขึ้นและดับไปของธรรมอย่างรวดเร็ว สืบต่อกัน ดังเช่น การแกว่งธูปนั่นเอง
เชิญอ่านพระสูตรที่เกี่ยวกับการเกิดดับของสภาพธรรม ครับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 17
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรามองไม่เห็นธรรมแม้แต่อย่างหนึ่งอันอื่น ซึ่งเป็นไปรวดเร็ว เหมือนอย่างจิตนี้เลยนะภิกษุทั้งหลาย และว่าจิตไปได้ไกล ไปดวงเดียว ดังนี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 563
บทว่า ปริตฺตญฺจ ชีวิตทั้งน้อย คือ ชีวิตของมนุษย์เปรียบกับชีวิตของเทวดาทั้งหลายแล้วน้อย เหมือนหยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าน้อยเพราะไม่เป็นอยู่สูงกว่าขณะจิต จริงอยู่ สัตว์แม้มีอายุยืนยาว เป็นอยู่แล้วด้วยจิตอดีต (เคยเกิด) ไม่ใช่กำลังเป็น (ไม่ใช่กำลังเกิด) ไม่ใช่จักเป็น (ไม่ใช่จักเกิด) ในอนาคต จิตไม่ใช่จักเป็น ไม่ใช่กำลังเป็น ไม่ใช่เคยเป็นในปัจจุบัน จิตกำลังเป็น ไม่ใช่เคยเป็น ไม่ใช่จักเป็นอยู่
สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า ชีวิตและอัตภาพ สุขและทุกข์ทั้งสิ้นล้วนเป็นธรรมประกอบร่วมอยู่กับจิตดวงหนึ่งๆ ขณะผ่านไปรวดเร็ว เทวดาเหล่าใดตั้งอยู่ตลอด ๘๔,๐๐๐ กัป แม้เทวดาเหล่านั้นหาดำรงอยู่ด้วยจิต ๒ ดวงไม่.
พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 223
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า ความเร็วของดวงจันทร์และดวงอาทิทย์ เร็วกว่าความเร็วของบุรุษ เทวดาผู้ไปข้างหน้าของพระจันทร์และพระอาทิตย์ เรียกว่าพระจันทร์และพระอาทิตย์ อายุสังขารทั้งหลายย่อมสิ้นไปเร็วกว่านั้น.
เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์ สุจินต์ ที่นี่ ครับ
ซึ่งจากที่ผู้ถามได้กล่าวไว้ ในเรื่องการการเกิดดับ ก็อธิบายได้ถูกต้องครับ ในขั้นคิดเรื่องราวของสภาพธรรมที่เกิดดับ ซึ่งสามารถอธิบายได้โดยเหตุผล แต่ถ้าจะประจักษ์สภาพธรรมที่เกิดดับในขณะนี้จริงๆ จะต้องเป็นปัญญาระดับสูงที่เป็นระดับวิปัสสนาญาณขั้นที่ ๔ ที่ประจักษ์สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะ ซึ่งก็จะทำให้แยกระหว่างสภาพธรรมที่เป็นเพียงเห็น ขณะหนึ่ง ได้ยินก็ขณะหนึ่ง ไม่มีการเห็นและได้ยินพร้อมกันอีก เพราะ ปัญญาประจักษ์ทีละขณะ ครับ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ไกลและต้องอบรมปัญญาอย่างยาวนาน ด้วยการฟังธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ
การพิจารณาแม้ในขั้นเรื่องราวของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไปก็เป็นประโยชน์ หากพิจารณาถูกและเกื้อกูลต่อการเจริญอบรมปัญญา ด้วยเหตุที่ว่าใครได้อะไรจากสิ่งที่ผ่านไปแล้วบ้าง สิ่งที่เพียงเกิดขึ้นปรากฏแล้วหมดไป ซึ่งความจริงในชีวิต มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง จนกว่าจะถึงขณะสุดท้ายที่จากโลกนี้ แสดงให้เห็นถึงความไม่มีอะไรเลย นอกจากการเกิดดับของจิต สาระของชีวิตจึงเป็นผู้อบรมปัญญา เจริญกุศล เพราะ ไม่มีอะไรติดตามไปได้ และ จะเป็นที่พึ่งในโลกหน้า คือ โลกของจิตที่เกิดดับในขณะต่อไป คือ คุณความดี และ ปัญญาที่อบรมต่อไป จนถึงปัญญาที่ดับกิเลส ไม่มีการเกิดขึ้นและดับไปของจิต เจสิก รูป อันเป็นความสุขที่แท้จริง เพราะเป็นความสุขที่ปราศจากการเกิดขึ้นของสิ่งทั้งปวง ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ความรวดเร็วในการเกิดขึ้นและดับไปของจิต
พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสและปรากฏในหลักฐานชั้นพระบาลี ในส่วนของพระสุตตันตปิฏก ๒ นิกาย มีดังนี้ครับ (เพิ่มเติมจากที่ท่านวิทยากรได้ตอบก่อนหน้านี้)
๑. สูตรที่ ๘ มาใน อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ปณิหิตอัจฉวรรค ข้อ ๔๙ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 95 (เล่มที่ ๓๒ ฉบับมหามกุฏฯ) ดังนี้
[๔๙] ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เร็ว เหมือนจิต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตเปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่าใดนั้น แม้จะอุปมาก็กระทำได้มิใช่ง่าย
ข้อความในอรรถกถาของพระสูตรในวรรคนี้ ได้ยกอุปมาของพระนาคเสนจากมิลินทปัญหามาแก้ว่า ... มหาบพิตร ข้าวเปลือกร้อยวาหะ หย่อนครึ่งวาหะ ๗ อัมพนะและ ๒ ตุมพะ ย่อมไม่ถึงแม้การนับ ย่อมไม่ถึงแม้การคำนวณ ย่อมไม่ถึงแม้ส่วนของการคำนวณแห่งจิตที่เป็นไปชั่วขณะลัดนิ้วมือเดียว
และได้เพิ่มเติมอีกว่า ในสูตรนี้ ท่านไม่กระทำอุปมาไว้เพราะไม่มีการถาม (ต่างจากมิลินทปัญหา พระนาคเสนได้กระทำอุปมาด้วยอำนาจคำถามอย่างนี้ว่า ท่านเจ้าข้า ทำอุปมาได้ไหม) และในพระสูตรนี้ ท่านเรียกชื่อว่า จิตตราสี (กองจิต)
๒. อัสสุตวตาสูตร มาใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 292-294 (เล่มที่ ๒๖ ฉบับมหามกุฏฯ) ข้อ ๒๓๒ ดังนี้
[๒๓๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วานรเมื่อเที่ยวไปในป่าใหญ่จับกิ่งไม้ ปล่อยกิ่งนั้น ยึดเอากิ่งอื่น ปล่อยกิ่งที่ยึดเดิม เหนี่ยวกิ่งใหม่ ต่อไป แม้ฉันใด ธรรมชาติที่เรียกว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและกลางวัน ก็ฉันนั้นแล.
นอกจากนี้ ยังปรากฏในชั้นพระบาลี ในส่วนของพระอภิธรรมปิฏก สามารถศึกษาได้ใน
๑. จิตตฐิติกถา มาในพระอภิธรรมปิฎก คัมภีร์กถาวัตถุ เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 522-529 (เล่มที่ ๘๐ ฉบับมหามกุฏฯ)
ขออนุโมทนาทุกท่านครับ