โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง

 
one_someone
วันที่  30 ก.ย. 2555
หมายเลข  21813
อ่าน  1,826

เรียนท่านผู้มีความสนใจในการศึกษาธรรมทุกท่านครับ กระผมได้อ่านเจอในอภิธัมมัตถะสังคหะ คำว่า ทิฏฐิคตวิปปยุตตัง หมายถึง ที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด และขยายความไปอีกว่า ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดนี้ไม่ได้หมายความถึงความเห็นถูก จึงเกิดความสงสัยขึ้นว่ายังมีความเห็นอื่นนอกจากความเห็นผิด และความเห็นถูกอีกหรือ ถ้ามีแล้วคืออะไร ครับ

ขอความกรุณาด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจคำว่า ทิฏฐิ คือ ความเห็นอย่างละเอียดว่า คือ อย่างไร ครับ

ความเห็นก็คือ ขณะใดที่มีความเห็นขึ้นมา ขณะนั้น ชื่อว่ามีความเห็น ซึ่งจะเป็นความเห็นถูก หรือ ความเห็นผิด ก็แล้วแต่ว่า มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง หรือ มีความเห็นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เช่น มีความเห็นว่า โลกเที่ยง ตายแล้วไม่เกิด เป็นต้น ก็เป็นความเห็นที่เกิดขึ้นมา แต่เป็นความเห็นผิด หรือ มีความเห็นว่า กรรมมี ผลของกรรมมี ก็เป็นความเห็นที่เกิดขึ้นมา ที่เป็นความเห็นที่ถูก

จะเห็นนะครับว่า มีความเห็นเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มีความเห็นเกิดขึ้น ก็ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยโลภมูลจิตมี ๘ ดวง มีทั้งโลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด และ โลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ซึ่ง โลภะที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ก็คือ มีความเห็นเกิดขึ้น แต่เป็นความเห็นที่ผิด เช่น เห็นว่าตายแล้วไม่เกิดอีกเลย ขณะนั้นก็มีความยินดีพอใจ ติดข้อง ติดข้องในอะไร ไม่ใช่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่พอใจ ติดข้องในความเห็นที่เกิดขึ้น ที่เป็นความเห็นผิดนั่นเอง ครับ

ส่วนโลภมูลจิต ที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ที่เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงเกิดขึ้น เพียงแต่ ทำหน้าที่ติดข้อง พอใจในสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่ติดข้องพอใจในความเห็นที่ผิด ครับ เช่น ติดข้องพอใจ ใน รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ยกตัวอย่าง เช่น เกิดโลภะที่ชอบรสอาหารที่ทาน ขณะนั้น เพียงแค่กำลังพอใจในรสอาหารเท่านั้น ไม่ได้เกิดความเห็นขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่ถูกต้อง ที่เห็นว่า โลกเที่ยง ตายแล้วไม่เกิด กรรมไม่มี เป็นต้น คือ ไม่เกิดความเห็นเหล่านี้ขึ้น จึงชื่อว่าโลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ซึ่งเมื่อเป็นโลภมูลจิตที่เป็นอกุศลจิต ก็ไม่ประกอบด้วยความเห็นถูกแน่นอนครับ เพราะเป็นจิตที่เป็นอกุศลในขณะนั้น เพราะขณะที่ติดข้อง พอใจในดอกไม้ รสอาหารที่เป็นโลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ขณะนั้น ก็ไม่ได้มีความเห็นขึ้นมา ซึ่งจากที่กล่าวไปแล้วครับ ว่าจะต้องมีความเห็นเกิดขึ้นมาอย่างใด อย่างหนึ่ง จึงชื่อว่า เป็นความเห็น ซึ่งขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นว่ากรรมมี ผลของกรรมมี เป็นต้น ที่เป็นความเห็นที่เป็นความเห็นถูก

เพราะฉะนั้น โลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ทำหน้าที่ติดข้องในรูป ในเสียง ในรสอาหาร แต่ไม่ได้มีความเห็นเกิดขึ้นมาที่เป็นความเห็นถูก ครับ

ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า เมื่อเป็นโลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดขึ้นเช่น ติดข้องในรสอาหาร จะต้องมีความเห็นอื่นนอกเหนือไปจาก ความเห็นผิด และความเห็นถูก เพราะ ขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นอะไรขึ้นมา ครับ เพียงติดข้องในสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย

ในความเป็นจริง ความเห็น มี เพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือ ความเห็นถูก และ ความเห็นผิด ซึ่งก็ต้องอยู่คู่กับโลกอย่างนี้เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น กุศล ก็มีทั้งประกอบด้วยความเห็นถูก หรือ ปัญญา และ กุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยความเห็นถูก หรือ ปัญญา และอกุศลที่เป็นโลภะ รวมทั้งอกุศลทุกๆ ประเภท ไม่ประกอบด้วยความเห็นถูก หรือ ปัญญา

เพราะเมื่อไหร่ที่มีความเห็นถูก จะเป็นอกุศลจิตไม่ได้ แต่ แม้อกุศลแต่ละประเภท มีโลภะ เป็นต้น ก็มีทั้งที่ประกอบด้วยความเห็นผิด และ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด

ตามที่กล่าวมา การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 2 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โลภะ ความติดข้องต้องการ กับ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด ทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นอกุศลเจตสิก เป็นธรรมฝ่ายดำ ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับ ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย เวลาเกิดขึ้นก็เกิดร่วมกับอกุศลจิต ประเภทที่มีโลภะเป็นมูลเท่านั้น ไม่เกิดร่วมกับจิตประเภทอื่น

ส่วน ความเห็นถูกต้อง คือ ปัญญา เป็นธรรมฝ่ายดี จะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเลย ต้องเกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม เท่านั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งที่จิตที่ดีงามเกิดขึ้นจะต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยเสมอ กุศลจิตเกิดโดยที่ไม่มีปัญญา ก็ได้ แต่ถ้าปัญญาจะเกิด ก็เกิดกับจิตที่ดีงาม นี้แหละ

ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้ เป็นที่พึ่งได้จริงๆ เป็นเหตุให้กุศลธรรมประการต่างๆ เจริญยิ่งขึ้น เป็นเครื่องนำพาชีวิตไปสู่ความดีทั้งปวง เพราะการทำอกุศล ไม่ใช่หน้าที่ของปัญญา เหตุที่ทำให้ปัญญาเจริญในชีวิตประจำวัน คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
one_someone
วันที่ 2 ต.ค. 2555

ขอขอบพระคุณในความกระจ่างเป็นอย่างยิ่งครับผม

ขออนุโมทนาครับ

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ