คำว่า รูป และคำว่า นามรูป ต่างกันอย่างไรครับ?

 
ผู้ยังไม่พ้น
วันที่  1 ต.ค. 2555
หมายเลข  21814
อ่าน  8,096

คำว่า รูป และคำว่า นามรูป ต่างกันอย่างไรครับ?

นามรูป = ร่างกายใช่หรือไม่ครับ?

วิญญาณ (สภาพรู้ เช่นรู้ทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง)

ก่อให้เกิดนามรูปได้อย่างไรครับ?


ดูกร อานนท์

เพราะนามรูปเป็นปัจจัยดังนี้แล จึงเกิด วิญญาณ

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยจึงเกิด นามรูป

ฯลฯ


อยากให้ช่วยอธิบายวงจรด้านบนนี้ด้วยครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ผู้ยังไม่พ้น
วันที่ 1 ต.ค. 2555

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ปรากฏ?

พ.  ดูกรภิกษุมหาภูตรูป ๔ แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ปรากฏ.

ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ.

ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ.

ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์ปรากฏ.

นามรูป เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ.


จากพระสูตรด้านบน

ดูเหมือน "รูปขันธ์" จะไม่ใช่อันเดียวกับ "นามรูป" หรือเปล่าครับ???

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

รูป คือ สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร มี ๒๘ รูป ส่วนนามรูป โดยทั่วไป หมายถึง สภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิก นิพพาน (นาม) และ รูป คือ รูปขันธ์ที่มี ๒๘ รูป ซึ่ง เมื่อมีนามรูป ก็บัญญัติว่าเป็นร่างกายได้ ครับ

ดังนั้น รูป โดยทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับปฏิจจสมุปบาท กับ นามรูปโดยทั่วไป ที่ไม่เกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท มีความหมายเหมือนกัน คือ มุ่งหมายถึง รูปทั้งหมด ๒๘ รูปเหมือนกัน ครับ

แต่เมื่อกล่าวถึง นามรูปในปฏิจจสมุปบาท ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป จะมีความหมายอีกนัยหนึ่งและแคบกว่านามรูปที่กล่าวมาข้างต้น ครับ เพราะ ไม่ได้หมายถึง นามทั้งหมดที่เป็น จิต เจตสิก ทั้งหมด และไม่ได้หมายถึงรูปทั้งหมด ที่เป็นรูปขันธ์ที่มี ๒๘ รูป ครับ

นามรูป ในปฏิจจสมุปบาท มุ่งหมายถึง นาม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย กับจิตชาติวิบาก (ปฏิสนธิวิญญาณและ ทวิปัญจวิญญาณ ที่เป็น วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท)

ส่วนรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรม ที่เป็นกัมมชรูป มีหทยรูป จักขุปสาทรูป (ตา) โสตปสาทรูป (หู) ฆานปสาทรูป (จมูก) ชิวหาปสาทรูป (ลิ้น) กายปสาทรูป (กาย)

ดังนั้น วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป คือ เมื่อมีการเกิด ปฏิสนธิวิญญาณ (วิญญาณในปฏิจจสมุปบาท) ย่อมมีเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย กับ ปฏิสนธิจิตนั้น

ดังนั้น เพราะอาศัยปฏิสนธิจิต จึงเกิดเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยที่เกิดพร้อมกัน นั่นคือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ตัวเจตสิกนั้น เป็นนาม อันเป็นผลมาจาก วิญญาณ คือ ปฏิสนธิจิต และ เมื่อปฏิสนธิจิตเกิด ก็ต้องมีรูปที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิตนั้น คือ กัมมชรูป ที่เป็น หทยรูป และ กายปสาทรูป

ดังนั้น วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป จึงหมายถึงวิญญาณ คือ ปฏิสนธิจิต เป็นปัจจัยให้เกิดนาม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับปฏิสนธิจิตนั้น และเกิดรูปในขณะนั้น คือ หทยรูป และ กายปสาทรูป ที่เป็นกัมมชรูปในขณะนั้น

ส่วน วิญญาณ ที่เป็นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้กระทบสัมผัส ที่เรียกว่า ทวิปัญจวิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามเท่านั้น ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป ครับ คือ เป็นปัจจัยให้เกิดนาม คือ เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตเห็น จิตได้ยิน ในขณะนั้น ครับ แต่ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดรูป

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 1 ต.ค. 2555

จากคำถามที่ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ปรากฏ?

พ.  ดูกรภิกษุ

มหาภูตรูป ๔ แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้รูปขันธ์ปรากฏ.

ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เวทนาขันธ์ปรากฏ.

ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้สัญญาขันธ์ปรากฏ.

ผัสสะ เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้สังขารขันธ์ปรากฏ.

นามรูป เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้วิญญาณขันธ์ปรากฏ.


จากพระสูตรด้านบน

ดูเหมือน "รูปขันธ์" จะไม่ใช่อันเดียวกับ "นามรูป" หรือเปล่าครับ???


- รูปขันธ์ในพระสูตรนี้ หมายถึง รูปทั้งหมด ที่มี ๒๘ รูป ครับ

เพราะ อาศัย มหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่เป็นรูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน จึงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดรูปอื่นๆ ได้ ครับ ซึ่งหมายรวมรูปทั้งหมด ครับ

ส่วนนามรูป ในปฏิจจสมุปบาท รูป โดยนัย นามรูปในปฏิจจสมุปปบาท จะมุ่งหมายถึง รูปที่เป็น กัมมชรูปเท่านั้นไม่ได้หมายรวมรูปขันธ์ ที่เป็นรูปทั้งหมด ๒๘ รูป

เพราะฉะนั้น นามรูป รูปในปฏิจจสมุปบาทในส่วนของ นามรูป จึงแคบกว่า รูปขันธ์ในสูตรนี้ครับ โดยที่รูปในนามรูป เป็นส่วนหนึ่งของรูปขันธ์ เพราะกัมมชรูป เป็นส่วนหนึ่งของรูปขันธ์ที่มีทั้งหมด ๒๘ รูป ครับ

เพราะฉะนั้น ในแต่ละพระสูตร พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงสภาพธรรมโดยหลากหลายนัย เพื่อให้เข้าใจพระธรรมโดยนัยต่างๆ ก็จะต้องเข้าใจครับว่า พระสูตรนี้ มุ่งหมายคำนี้ว่า หมายถึงอะไร ครับ

ที่สำคัญ ไม่ลืมว่า พระพุทธเจ้าจะแสดงเรื่องอะไร คำอะไร ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 1 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่ความเข้าใจตั้งแต่ต้นว่า ว่า นามธรรม คือ อะไร รูปธรรม คือ อะไร ควรตั้งต้นที่ตรงนี้ก่อน ซึ่งทั้ง ๒ ประการนี้ ก็เป็นธรรมที่มีจริงทั้งหมด,

นามธรรม มี ๒ ประเภท คือ นามธรรมที่เป็นสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ เป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ ได้แก่ จิต กับ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) เช่น ขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะที่เป็นกุศล เป็นอกุศล ล้วนเป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของนามธรรม คือจิตและเจตสิกทั้งสิ้น ส่วนนามธรรมอีกประเภทหนึ่งเป็นนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ได้แก่ พระนิพพาน

รูปธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สภาพธรรมรู้ ไม่รู้อะไรเลยแต่มีจริง และมีจริงในชีวิตประจำวัน รูปธรรม เช่น สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น เป็นธรรมที่เกิดจากสมุฏฐานของตนๆ แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน

ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง หลากหลายนัย ก็ไม่พ้นไปจาก เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม ไม่ว่าจะทรงแสดงโดยนัยขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปฏิจจสมุปบาท ก็คือ สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ระโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งสิ่งที่จะต้องศึกษานั้น ก็ไม่พ้นไปจาก นามธรรม และ รูปธรรมเลย ซึ่งจะต้องศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 1 ต.ค. 2555

อะไรก็ตามที่ไม่ใช่สภาพรู้ ธาตุรู้ ก็เป็นนามธรรมทั้งหมด เช่น ต้นไม้ ภูเขา ดิน เป็นรูป ไม่มีความรู้สึกสุขทุกข์ ตรงข้ามกับนามธรรมที่เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เพราะนามธรรมมีความรู้สึกสุขทุกข์ การระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรม ต้องเริ่มจากการฟังธรรมให้เข้าใจก่อน แล้วปัญญาจะค่อยๆ อบรมเจริญขึ้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ผู้ยังไม่พ้น
วันที่ 3 ต.ค. 2555

ได้คำตอบเหมือนกับที่สงสัยไว้เลยครับขอบคุณมากๆ ครับ__/][\__

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
boonpoj
วันที่ 25 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ