เทศนาสูตร.. ธรรมเทศนา ๒ ประการ

 
pirmsombat
วันที่  1 ต.ค. 2555
หมายเลข  21818
อ่าน  3,258

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 280

. เทศนาสูตร

ว่าด้วยพระธรรมเทศนา ๒ ประการ

[๒๑๗] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับ

มาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเทศนา ๒ ประการ

ของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมมีโดยปริยาย ๒ ประการเป็นไฉน คือ

ธรรมเทศนาประการที่ ๑ นี้ว่า เธอทั้งหลายจงเห็นบาปโดยความเป็นบาป

ธรรมเทศนาประการที่ ๒ แม้นี้ว่า เธอทั้งหลายครั้นเห็นบาปโดยความเป็นบาปแล้ว

จงเบื่อหน่าย จงคลายกำหนัด จงปลดเปลื้องในบาปนั้น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ธรรมเทศนา ๒ ประการนี้ ของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ย่อมมีโดยปริยาย.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

เธอจงเห็นการแสดงโดยปริยายของ

พระตถาคต พระพุทธเจ้าผู้อนุเคราะห์สัตว์ทุกหมู่เหล่า

ก็ธรรม ๒ ประการ พระตถาคต พระพุทธเจ้า

ผู้อนุเคราะห์สัตว์ทุกหมู่เหล่าประกาศแล้ว.

ธอทั้งหลายผู้ฉลาดจงเห็นบาป จงคลายกำหนัดในบาปนั้น

เธอทั้งหลายผู้มีจิตคลายกำหนัดจากบาปนั้นแล้ว

จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.

เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น

ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.

จบเทศนาสูตรที่๒

อรรถกถาเทศนาสูตร

ในเทศนาสูตรที่ ๒ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

ปริยายศัพท์ในบทว่า ปริยาเยน นี้ มาในความว่า เทศนาในบทมี

อาทิว่า มธุปิณฺฑิกปริยาโย เตฺวว นํ ธาเรหิ ท่านจงทรงจำเทศนานั้นไว้ว่า

เป็นมธุปิณฑิกปริยายเทศนา ดังนี้ . มาในความว่า เหตุในบทมีอาทิว่า อตฺถิ

เขฺวส พฺราหฺมณ ปริยาโย เยน มํ ปริยายน สมฺมา วทมาโน วเทยฺย

อกิริยวาโท สมโณ โคตโม ดูก่อนพราหมณ์ เหตุนี้มีอยู่แล เมื่อจะกล่าว

กะเราโดยชอบด้วยเหตุ พึงกล่าวว่า สมณโคดม

เป็นอกิริยวาท (วาทะว่าไม่เป็นอันทำ) ดังนี้.

มาในความว่า วาระในบทมีอาทิว่า

กสฺส นุ โขอานนฺท อชฺช ปริยาโย ภิกฺขุนิโย โอวทิตุํ ดูก่อนอานนท์

วันนี้ถึงวาระของใครจะสอนภิกษุณีทั้งหลาย ดังนี้. ก็ในที่นี้ สมควรทั้งในวาระ

ทั้งในเหตุ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ธรรมเทศนา ๒ อย่าง ของตถาคต

ย่อมมีขึ้นโดยเหตุ และโดยวาระตามสมควร ดังนี้ นี้เป็นอธิบายในบทนี้.

จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้า บางครั้งทรงจำแนกกุศลธรรมและอกุศลธรรม

ตามสมควรแก่อัธยาศัยของเวไนยสัตว์ โดยนัยมีอาทิว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล

ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ

ธรรมเหล่านี้ควรเสพ ธรรมเหล่านี้ไม่ควรเสพ ดังนี้ ทรงแสดงให้รู้โดย

ไม่ปนอกุศลธรรมเข้ากับกุศลธรรม ทรงแสดงธรรมว่า พวกเธอจงเห็นบาป

โดยความเป็นบาป. บางครั้งทรงประกาศโทษ โดยนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ปาณาติบาตที่บุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ให้เป็นไปในนรก

ให้เป็นไปในกำเนิดเดียรัจฉาน ให้เป็นไปในเปรตวิสัย ปาณาติบาตที่เบากว่า

บาปทั้งปวง ทำให้มีอายุน้อย ดังนี้ ทรงให้พรากจากบาปด้วยนิพพิทาเป็นต้น

ทรงแสดงธรรมว่า พวกเธอจงเบื่อหน่าย จงคลายกำหนัด ดังนี้.

บทว่า ภวนฺติ ได้แก่ ย่อมมี คือ ย่อมเป็นไป. บทว่า ปาปํ

ปาปกโต ปสฺสถ ความว่า พวกเธอจงเห็นธรรมอันลามกทั้งปวง โดยเป็น

ธรรมลามก เพราะนำสิ่งไม่เป็นประโยชน์ และทุกข์มาในปัจจุบันและอนาคต.

ในบทเหล่านั้น บทว่า นิพฺพินฺทถ ความว่า พวกเธอเห็นโทษมีอย่างต่างๆ

กัน โดยนัยมีอาทิว่า บาปชื่อว่าเป็นบาป เพราะเป็นของลามก โดยความ

เป็นของเลวส่วนเดียว ชื่อว่า เป็นอกุศล เพราะเป็นความไม่ฉลาด ชื่อว่า

เป็นความเศร้าหมอง เพราะทำจิตที่เคยประภัสสร และผ่องใสให้พินาศจาก

ความประภัสสรเป็นต้น ชื่อว่า ทำให้มีภพใหม่ เพราะทำให้เกิดทุกข์ในภพบ่อยๆ

ชื่อว่ามีความกระวนกระวาย เพราะเป็นไปกับด้วยความกระวนกระวาย คือ

ความเดือดร้อน ชื่อว่า มีทุกข์เป็นวิบาก เพราะให้ผลเป็นทุกข์อย่างเดียว ชื่อว่า

เป็นเหตุให้มีชาติ ชรา และมรณะต่อไป เพราะทำให้มีชาติ ชรา และมรณะ

ในอนาคตตลอดกาลนานไม่มีกำหนด สามารถกำจัดประโยชน์สุขทั้งหมดได้

และเห็นอานิสงส์ในการละบาปนั้นด้วยปัญญาชอบ จงเบื่อหน่าย คือ ถึงความ

เบื่อหน่ายในธรรมอันลามกนั้น เมื่อเบื่อหน่ายพึงเจริญวิปัสสนาแล้วจงคลาย

กำหนัด และจงปลดเปลื้องจากบาปนั้นโดยความเป็นบาป ด้วยบรรลุอริยมรรค

หรือจงคลายกำหนัดด้วยการคลายอย่างเด็ดขาด ด้วยมรรค แต่นั้นจงปลดเปลื้อง

ด้วยปฏิปัสสัทธิวิมุตติด้วยผล.

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า ปาปํ ได้แก่ ชื่อว่า บาป เพราะเป็นของลามก.

ถามว่า ท่านอธิบายไว้อย่างไร. ตอบว่า ชื่อว่า บาป เพราะเป็นสิ่งน่ารังเกียจ

คือ พระอริยะเกลียดโดยความเป็นของไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นต้น ยังสัตว์ให้ถึง

ทุกข์ในวัฏฏะ. ถามว่า ก็บาปนั้นเป็นอย่างไร. ตอบว่า เป็นธรรมชาติทำให้

เกิดในภูมิ ๓ พวกเธอเห็นบาปโดยความเป็นบาป มีเนื้อความตามที่กล่าวแล้ว

เจริญวิปัสสนาโดยนัยมีอาทิว่า โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์

โดยความเป็นโรค โดยความเป็นลูกศร โดยความเป็นของชั่ว โดยความ

เบียดเบียน ดังนี้ จงเบื่อหน่ายในบาปนั้น. บทว่า อยมฺปิ ทุติยา ได้แก่

ธรรมเทศนาประการที่ ๒ นี้ เป็นการเลือกปฏิบัติจากธรรมนั้น อาศัยธรรมเทศนา

ประการที่ ๑ อันแสดงถึงสิ่งไม่เป็นประโยชน์และความฉิบหายโดยความแน่นอน.

พึงทราบอธิบายในคาถาทั้งหลายดังต่อไปนี้. บทว่า พุทฺธสฺส ได้แก่

พระสัพพัญญพุทธเจ้า. บทว่า สพฺพภูตานุกมฺปิโน ได้แก่ พระพุทธเจ้า

ผู้อนุเคราะห์สัตว์ทั้งหมดด้วยมหากรุณา. บทว่า ปริยายวจนํ ได้แก่ การกล่าว

คือ การแสดงโดยปริยาย. บทว่า ปสฺส คือ ทรงร้องเรียกบริษัท. ท่านกล่าว

หมายถึง บริษัทผู้เป็นหัวหน้า. แต่อาจารย์บางพวกกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า

ได้ตรัสว่า ปสฺส หมายถึงพระองค์เท่านั้น. บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในบาปนั้น.

บทว่า วิรชฺชถ ความว่า พวกเธอจงละความกำหนัด. บทที่เหลือมีนัย

ดังได้กล่าวแล้วนั่นแล.

จบอรรถกถาเทศนาสูตรที่๒


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พรรณี
วันที่ 2 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากพระสูตรที่ยกมานั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดง ธรรมเทศนา 52 อย่าง คือ

ธรรมเทศนาประการที่ ๑ นี้ว่า เธอทั้งหลายจงเห็นบาปโดยความเป็นบาป

ธรรมเทศนาประการที่ ๒ แม้นี้ว่า เธอทั้งหลายครั้นเห็นบาปโดยความเป็นบาปแล้ว

จงเบื่อหน่าย จงคลายกำหนัด จงปลดเปลื้องในบาปนั้น

ประการแรกนั้น การเห็นบาปโดยความเป็นบาป ก็ต้องเห็นด้วยปัญญา คือ ปัญญา

เกิดรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลด้วยปัญญาว่า นำมาซึ่งทุกข์โทษ

ภัย และ ทำให้ไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ซึ่งการเห็นโทษก็มีหลายระดับ ตามระดับของ

ปัญญา เพียงขั้นคิดพิจารณาเป็นเรื่องราวของบาป แต่ ปัญญาก็มีการเห็นโทษมากขึ้น

ด้วยการเจริญอบรมวิปัสสนา ที่เป็นสติปัฏฐานที่รู้ถึงตัวลักษณะของบาป อกุศลจริงๆ

ในขณะที่กำลังเกิด รู้ว่าเป็นธรรม และ รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมองมีโทษ เพราะ

ประจักษ์ตัวลักษณะของสภาพธรรม ครับ

ประการที่สอง เมื่อเห็นบาปโดยความเป็นบาปแล้ว ย่อมเบื่อหน่าย คลายกำหนัด

ความหมาย คือ เพราะ มีปัญญาระดับวิปัสสนาญาณ ประจักษ์สภาพะรรมที่เป็นบาป

อกุศลที่เกิดขึ้น โดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ย่อมเบื่อหน่ายด้วย

ปัญญา และ คลายกำหนัด คือ ละกิเลสในขณะนั้น ขณะที่รู้ความจริงในสภาพธรรมที่

เป็นบาปที่กำลังเกิดปรากฎ

จึงกล่าวได้ว่า ธรรมเทศนา 2 ประการที่พระพุทธองค์ทรงแสดง เป็นเรื่องของปัญญา

โดยไม่มีเรา ไม่มีตัวตนที่จะทำให้เห็นโทษ ให้เบื่อหน่าย ให้คลายกำหนัด เพราะ เป็น

ธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ เพียงแต่สะสมเหตุที่จะทำใ้ห้เห็นโทษ

ของกิเลส ของบาป โดยเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้นก็

จะค่อยๆ เห็นโทษของกิเลส และ รู้จักตัวกิเลาสตามความเป็นจริง ย่อมถึงการเบื่อหน่าย

ละคลายกิเลสได้ในที่สุด ครับ

ขออนุโมทนาคุณหมอ และ ทุกท่าน มา ณ ที่นี้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 2 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอ อาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 2 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้โดยละเอียดนั้น เป็นเครื่องเตือน

ชี้ให้เห็นอกุศล พร้อมทั้งทรงแสดงให้เห็นถึงคุณของกุศล ตามความเป็นจริง ซึ่งจะ

เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา

ประโยชน์สูงสุดของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ซึ่งเป็นการศึกษาเรื่องของ

สภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวันก็เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพ

ธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองให้เบาบางลง

เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว น้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม จะเห็นได้ว่า ธรรมมีทั้ง

ฝ่ายที่เป็นกุศลธรรม และฝ่ายอกุศลธรรม แล้วก็เริ่มเห็นโทษของอกุศลธรรม ปัญญาที่

เห็นโทษก็จะทำให้ค่อยๆ เว้นจากอกุศลธรรมแล้วเจริญกุศลธรรมเพิ่มขึ้น จากที่เคย

กระทำผิด กระทำไม่ถูกต้องเหมาะสม ก็เริ่มใหม่ ที่จะน้อมประพฤติในสิ่งทีดีงาม

ต่อไป ครับ

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอ และ ทุกๆ ท่านด้วยครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 3 ต.ค. 2555

ยากค่ะ แต่ดีมากๆ ต้องเพียรสะสมเหตุ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kinder
วันที่ 3 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นิรา
วันที่ 9 มิ.ย. 2561

กราบขอบพระคุณ

อนุโมทนานะคะ.

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ