การอุทิศบุญ ไม่ขัดกับหลักการเรื่องกรรมเป็นของส่วนตัวหรือ?

 
Jesada
วันที่  2 ต.ค. 2555
หมายเลข  21820
อ่าน  2,626

สวัสดีครับ ขอถามเรื่องการอุทิศบุญเพิ่มอีกนิดหนึ่งครับ ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า สัตว์มีกรรมเป็นของตน (กมฺมสกตาสทฺธา) ซึ่งก็หมายถึงการทำกรรมเช่นไรก็ได้รับผลเช่นนั้นด้วยตนเอง จะให้ผู้ใดรับแทนก็ไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ไปขัดกับหลักการเรื่องอุทิศบุญ (ตามส่ง ... ทักขิณานุปาทาน/ปัตติทานมัย) ให้แก่ผู้ตาย หรือเปรตทั้งหลายหรือครับ?

ขอแบ่งคำถามง่ายๆ ใหม่ดังนี้ครับ

๑. การทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ไม่ขัดกับหลักกรรมเป็นของๆ ตนหรือ?

๒. ที่กล่าวกันว่าเปรตต้องอนุโมทนาเอาจึงจะได้บุญ เพราะกุศลจิตเป็นของผู้นั้น แต่ในพระไตรปิฎกเองบางที่ ก็ไม่ได้กล่าวถึงการอนุโมทนานะครับ เมื่อมีคนอุทิศให้ตนเอง (เปรต) ก็ได้รับสิ่งนั้นๆ เลย เช่นจาก สังสารโมจกเปตวัตถุ ข้อ ๙๘ ...

ว่า ... ท่านพระสารีบุตรเถระผู้มีใจอนุเคราะห์ รับคำของนางเปรตนั้นแล้ว จึงถวายข้าวคำหนึ่ง ผ้าประมาณเท่าฝ่ามือผืนหนึ่ง และน้ำดื่มขันหนึ่ง แก่ภิกษุรูปหนึ่งแล้วอุทิศส่วนบุญไปให้นางเปรตนั้น พอท่านพระสารีบุตรเถระอุทิศส่วนบุญให้ ข้าวน้ำและเครื่องนุ่งห่ม ก็บังเกิดขึ้นทันทีนี่เป็นผลแห่งทักษิณา ภายหลังนางเปรตนั้นมีร่างกายบริสุทธิ์ นุ่งห่มผ้าอันสะอาด มีค่ามากยิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี มีวัตถาภรณ์อันวิจิตรงดงามเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเถระ.

๓. ต้องการทราบว่า การถวายอะไรไปแล้วเปรตจะได้อันนั้นแบบตรงตัวจริงหรือครับ เช่นถวายน้ำก็จะได้น้ำ ถวายข้าวก็จะได้ข้าว ... เคยได้ฟังอาจารย์สอนอภิธรรมท่านบอกว่าไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับตัณหาของผู้ถวายและความเหมาะสมของเหตุปัจจัยในภพภูมินั้นฯ (แต่ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจครับ) อยากให้อธิบายเรื่องนี้ด้วย

๔. บางที่ (อาจารย์) กล่าวว่า เปรตทุกชนิดสามารถรับส่วนบุญได้หมด แต่บางที่กล่าวว่าเฉพาะ ปรทัตตูปชีวีเท่านั้น อยากทราบว่า การตั้งชื่อเช่นนี้ เรา (หมายถึงพระอภิธรรม) มาตั้งกันเองหรือป่าวครับ เพราะเปรตทั้งหลายอาจจัดเป็นผู้อดอยากทรมานและอยู่ด้วยส่วนบุญของผู้อื่นอยู่แล้ว ... เพราะที่พบในพระอภิธรรม ศัพท์นี้ก็ใช้เป็นชื่อเรียกพระสงฆ์ได้ เพราะท่านดำรงชีพ (ปัจจัย ๔) ด้วยอาศัยการสงเคราะห์ของชาวบ้าน สรุปคือเปรตทุกชนิดหรือบางชนิด (ได้แก่ชนิดใดบ้าง) ที่รับส่วนบุญกุศลได้ครับ

๕. กรณีที่เขารับทราบการทำความดีของผู้อื่น ... แต่มิใช่ญาติตนเอง เช่นเห็นพระสงฆ์เจริญวิปัสสนา เขาจะสามารถอนุโมทนาบุญนั้นได้หรือไม่ ... รู้สึกจะเคยฟัง อ.สุจินต์ ท่านพูดเรื่อง เหตุที่ต้องทำบุญอุทิศแบบเจาะจง (เหมือนชวนให้เขามาอนุโมทนา) ว่าเป็นเรื่องสำคัญ ... แต่ท่านก็ทิ้งประเด็นนี้ไว้ เพราะมีผู้ถามแทรกและไปตอบประเด็นอื่นฯ

๖. กรณีที่เราเชื่อว่าการอนุโมทนาบุญจะได้ผล เป็นปัตตานุโมทนามัย (ถือเป็นการลดกิเลสข้ออิจฉาริษยาได้) ฉะนั้นหากผู้รับเช่นพระสงฆ์ไม่บริสุทธิ์ ก็ไม่น่าจะมีผลกับการทำทานนะครับ เพราะมุ่งเน้นไปที่การชำระความตระหนี่ (บุญสำเร็จตั้งแต่ลดกิเลสได้แล้ว) ไม่ใช่การไปรอรับผมบุญใหญ่อะไรให้หล่นทับ? อยากให้ช่วยอธิบายเรื่องนี้ด้วยครับ

๗. เรื่องภูมิที่อยู่อาศัยครับ ... ชาวบ้านในหลายที่เชื่อว่าเปรตได้รับการปล่อยตัวให้มารับบุญในช่วงเดือนสารทครับ ตกลงคือเปรตมีภพภูมิอีกที่หนึ่งหรือ? ในช่วงเวลาอื่นไม่สามารถรับส่วนบุญกุศลได้หรือครับ?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 2 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. การทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ไม่ขัดกับหลักกรรมเป็นของๆ ตนหรือ?

- หลักกรรมที่เป็นของๆ ตน คือ บุญหรือบาป ของตนเอง ย่อมทำให้เกิดผลกับตนเอง บุญหรือบาปของผู้อื่น ไม่สามารถทำให้เกิดผลกับผู้อื่นได้ครับ นี่คือ หลักกรรมและผลของกรรมที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน

ดังนั้น เปรตที่ได้รับผลวิบาก มีการได้อาหาร ได้พ้นจากความเป็นเปรต ก็ด้วยเกิดกุศลจิตของตนเอง ที่เกิดจิตอนุโมทนาบุญในกุศลที่ญาติได้ทำ โดยอาศัยการที่ญาติบอกกล่าวอุทิศให้เป็นปัจจัยประกอบ ครับ แต่หลักๆ คือ กุศลจิตของเปรตเองที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดวิบาก ได้ ข้าว น้ำ หรือ พ้นจากความเป็นเปรต อันแสดงถึง บุญของเปรตเอง ทำให้ได้รับผลของกรรม คือ วิบากที่ดี ที่เป็นการแสดงว่า สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน ใครทำกรรมใด ก็ได้รับผลของกรรมนั้นเอง ซึ่งการอุทิศส่วนกุศลให้ จึงไม่ขัดกับหลักกรรมและผลของกรรม ที่สำคัญ พระธรรมของพระพุทธเจ้าย่อมไม่ขัดแย้งกันเอง และไม่ทรงแสดงผิด ไม่ถูกต้อง แม้เพียงปลายขนทราย คือ แม้เพียงเล็กน้อยเลย ครับ


๒. ที่กล่าวกันว่าเปรตต้องอนุโมทนาเอาจึงจะได้บุญ เพราะกุศลจิตเป็นของผู้นั้น แต่ในพระไตรปิฎกเองบางที่ ก็ไม่ได้กล่าวถึงการอนุโมทนานะครับ เมื่อมีคนอุทิศให้ ตนเอง (เปรต) ก็ได้รับสิ่งนั้นๆ เลย เช่นจาก สังสารโมจกเปตวัตถุ ข้อ ๙๘ ... ว่า ... ท่านพระสารีบุตรเถระผู้มีใจอนุเคราะห์ รับคำของนางเปรตนั้นแล้ว จึงถวายข้าวคำหนึ่ง ผ้าประมาณเท่าฝ่ามือผืนหนึ่ง และน้ำดื่มขันหนึ่ง แก่ภิกษุรูปหนึ่งแล้ว อุทิศส่วนบุญไปให้นางเปรตนั้น พอท่านพระสารีบุตรเถระอุทิศส่วนบุญให้ ข้าวน้ำและเครื่องนุ่งห่มก็บังเกิดขึ้นทันที นี่เป็นผลแห่งทักษิณา ภายหลังนางเปรตนั้นมีร่างกายบริสุทธิ์ นุ่งห่มผ้าอันสะอาด มีค่ามากยิ่งกว่าผ้าแคว้นกาสี มีวัตถาภรณ์อันวิจิตรงดงามเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรเถระ.

- จากเรื่องที่ยกมานั้น เป็นการละไว้โดยฐานะที่เข้าใจว่า จะต้องเกิดกุศลจิตอนุโมทนาบุญที่ญาติอุทิศให้ ครับ เพียงแต่ในเรื่องของพระสารีบุตรไม่ได้แสดงไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดกุศลจิต ครับ เพราะ พระพุทธเจ้าทรงแสดง องค์ประกอบของการที่ญาติจะได้รับผลวิบากของบุญ ไว้ ๓ ประการอย่างชัดเจน ใน พระสูตรที่เกี่ยวกับเรื่องเปรตโดยตรง คือ ติโรกุฑฑสูตร ในขุททกปาฐะ

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 291

จริงอยู่ ทักษิณา ย่อมสำเร็จผล คือ ให้เกิดผลในขณะนั้นได้ ก็ด้วยองค์ ๓ คือ ด้วยการอนุโมทนาด้วยตนเองของเปรตทั้งหลาย ๑ ด้วยการอุทิศของทายกทั้งหลาย ๑ ด้วยการถึงพร้อมแห่งทักขิไณยบุคคล ๑.

จะเห็นนะครับว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงเช่นนี้ ว่าเปรตจะต้องเกิดจิตอนุโมทนาบุญของญาติด้วย ทักษิณา คือ ผลบุญยอมสำเร็จเกิดกับเปรต ก็เป็นอันว่า แม้ในเรื่องพระสารีบุตรที่แม่ท่านเป็นเปรตก็ต้องเกิดจิตอนุโมทนาด้วย จึงจะได้รับผลของบุญ แต่ไม่ได้แสดงเพราะ ละไว้ในฐานะที่เข้าใจกัน ครับ เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมไม่ขัดกัน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 ต.ค. 2555

๓. ต้องการทราบว่า การถวายอะไรไปแล้วเปรตจะได้อันนั้นแบบตรงตัวจริงหรือครับ เช่น ถวายน้ำก็จะได้น้ำ ถวายข้าวก็จะได้ข้าว ... เคยได้ฟังอาจารย์สอนอภิธรรม ท่านบอกว่าไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับตัณหาของผู้ถวายและความเหมาะสมของเหตุปัจจัยในภพภูมินั้นฯ (แต่ก็ ยังไม่ค่อยเข้าใจครับ) อยากให้อธิบายเรื่องนี้ด้วย

- คงไม่ใช่ได้โดยตรงเหมือนกันทั้งหมด ครับ เช่น ถวายอาหารประเภทนี้ก็ได้อย่างนี้ ก็ตามความเหมาะสมของภพภูมิด้วย และ ก็ตามความวิจิตรของกรรม ครับ


๔. บางที่ (อาจารย์) กล่าวว่า เปรตทุกชนิดสามารถรับส่วนบุญได้หมด แต่บางที่กล่าวว่าเฉพาะ ปรทัตตูปชีวีเท่านั้น อยากทราบว่า การตั้งชื่อเช่นนี้ เรา (หมายถึงพระอภิธรรม) มาตั้งกันเองหรือป่าวครับ เพราะเปรตทั้งหลายอาจจัดเป็นผู้อดอยากทรมานและอยู่ด้วยส่วนบุญของผู้อื่น อยู่แล้ว ... เพราะที่พบในพระอภิธรรม ศัพท์นี้ก็ใช้เป็นชื่อเรียกพระสงฆ์ได้ เพราะท่านดำรงชีพ (ปัจจัย ๔) ด้วยอาศัยการสงเคราะห์ของชาวบ้าน. สรุปคือ เปรตทุกชนิดหรือบางชนิด (ได้แก่ชนิดใดบ้าง) ที่รับส่วนบุญกุศลได้ครับ

- เปรตทั้งหลาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะเปรตปรทัตตูปชีวี หรือ บางชนิด แต่เปรตทั้งหลายสามารถรับส่วนบุญจากญาติได้ ครับ ซึ่งในข้อความพระไตรปิฎกในความเห็นที่ 1 ก็ใช้คำว่า เปรตทั้งหลาย ครับ

ส่วนปรทัตตูปชีวีเปรตมีจริง ไม่ได้มีการแต่งตั้ง และรวมทั้งเป็นชื่อของบรรพชิตด้วยครับ

ดังข้อความที่ว่า

[เล่มที่ 46] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้าที่ 530

บทว่า ปรทตฺตูปชีวี ได้แก่ บรรพชิต

จริงอยู่ บรรพชิตนั้น เว้นน้ำและไม้สีฟันแล้ว ย่อมเข้าไปอาศัยอาหารที่เหลืออันผู้อื่นให้เป็นอยู่ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ปรทัตตูปชีวี.


และข้อความที่แสดงว่า บุญย่อมสำเร็จได้เมื่อญาติอุทิศกับเปรตทั้งหลาย และ แสดงถึงปรทัตตูปชีวีเปรต มีจริง ครับ

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 299

ดูก่อนพราหมณ์ ทานนั้น ย่อมสำเร็จผลแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่ในปิตติวิสัยใด ปิตติวิสัยนั้นแล เป็นฐานะดังนี้. ทักษิณาที่สำเร็จผลในฐานะนั้น อันต่างโดยประเภทมีขุปปิปาสิกเปรต วันตาสาเปรต ปรทัตตูปชีวีเปรตและนิชฌามตัณหิกเปรต เป็นต้น ก็ตรัสว่า ย่อมสำเร็จผลโดยฐานะเหมือนผู้ให้กหาปณะ ในโลกเขาก็เรียกกันว่า ผู้นั้น ให้กหาปณะ ฉะนั้น.


๕. กรณีที่เขารับทราบการทำความดีของผู้อื่น ... แต่มิใช่ญาติตนเอง เช่นเห็นพระสงฆ์เจริญวิปัสสนา เขาจะสามารถอนุโมทนาบุญนั้นได้หรือไม่ ... รู้สึกจะเคยฟัง อ.สุจินต์ ท่านพูด เรื่อง เหตุที่ต้องทำบุญอุทิศแบบเจาะจง (เหมือนชวนให้เขามาอนุโมทนา) ว่าเป็นเรื่องสำคัญ ... แต่ท่านก็ทิ้งประเด็นนี้ไว้ เพราะมีผู้ถามแทรก และไปตอบประเด็นอื่นฯ

ดังข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ชัดเจนแล้วครับ จะต้องมีญาติอุทิศให้

[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 291

จริงอยู่ ทักษิณา ย่อมสำเร็จผล คือ ให้เกิดผลในขณะนั้นได้ ก็ด้วยองค์ ๓ คือ

ด้วยการอนุโมทนาด้วยตนเองของเปรตทั้งหลาย ๑

ด้วยการอุทิศของทายกทั้งหลาย ๑

ด้วยการถึงพร้อมแห่งทักขิไณยบุคคล ๑.


๖. กรณีที่เราเชื่อว่าการอนุโมทนาบุญจะได้ผล เป็นปัตตานุโมทนามัย (ถือเป็นการลดกิเลสข้ออิจฉาริษยาได้) ฉะนั้นหากผู้รับเช่นพระสงฆ์ไม่บริสุทธิ์ ก็ไม่น่าจะมีผลกับการทำทานนะครับ เพราะมุ่งเน้นไปที่การชำระความตระหนี่ (บุญสำเร็จตั้งแต่ลดกิเลสได้แล้ว) ไม่ใช่การไปรอรับผมบุญใหญ่อะไรให้หล่นทับ? อยากให้ช่วยอธิบายเรื่องนี้ด้วยครับ

- อาจทำให้เปรตไม่อนุโมทนาได้ ครับ ง่ายๆ เพียงเราเห็นพระภิกษุที่เดินบิณฑบาตไม่เรียบร้อยทุกวันนี้ เกิดจิตเลื่อมใสหรือเปล่า ครับ ดังนั้น โดยมาก ก็ไม่อนุโมทนากัน จะกล่าวไปไยถึงเปรต ก็ไม่เกิดจิตอนุโมทนาได้ ครับ เพราะทำบุญกับผู้ปฏิบัติตนไม่ดี

เพราะ บุญ ทักษิณาจะสำเร็จก็ต้องเกิดจิตอนุโมทนาของเปรตเอง ครับ ซึ่งในพระไตรปิฎกก็มีแสดงไว้ว่า เปรตไม่อนุโมทนากับผู้ที่ทำบุญกับพราหมณ์ผู้ทำตนเป็นนักบวชแต่ปฏิบัติตนไม่ดี แต่ เปรตอนุโมทนาบุญแม้กับผู้ทำบุญกับช่างกัลบก (ตัดผม) ผู้เป็นเพศคฤหัสถ์ ที่ปฏิบัติธรรม ครับ


๗. เรื่องภูมิที่อยู่อาศัยครับ ... ชาวบ้านในหลายที่เชื่อว่าเปรตได้รับการปล่อย ตัวให้มารับบุญในช่วงเดือนศารทครับ ตกลงคือเปรตมีภพภูมิอีกที่หนึ่งหรือ? ในช่วงเวลาอื่นไม่สามารถรับส่วนบุญกุศลได้หรือครับ?

- เปรตก็มีภพภูมิของเขา แต่คนละมิติ แต่ไม่มีเดือนที่เปรตถูกปล่อย ครับ


ซึ่งจากที่ได้อธิบายมา แสดงถึงความละเอียดทั้งหมด รวมทั้งข้อความในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว ซึ่งย่อมจะแจ่มแจ้งกับผู้ที่เข้าใจพระธรรมและพิจารณาพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 2 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 429

เมื่อบุคคลให้ทาน กระทำการบูชาด้วยของหอมเป็นต้น แล้วให้ส่วนบุญว่า ขอส่วนบุญ จงมีแก่บุคคลชื่อโน้น หรือว่า ขอส่วนบุญจงมีแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังนี้ พึงทราบว่า เป็นบุญกิริยาวัตถุอันเกิดแต่การให้ส่วนบุญ.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ทั้งหมดนั้นก็เป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญา เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริงโดยตลอด แม้แต่ในเรื่องการอุทิศส่วนกุศล และ การอนุโมทนา ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นกุศลจิตและเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย ซึ่งต่างก็เป็นธรรมฝ่ายดี ทั้ง ๒ ประการ ทั้งการอุทิศส่วนกุศล และ การอนุโมทนา จึงแสดงให้เห็นว่า กุศลจิตสามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ตามการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง

จุดประสงค์ของการอุทิศส่วนกุศลก็เพื่อให้บุคคลอื่นได้ร่วมอนุโมทนา ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลจิตของบุคคลอื่นเกิดได้ กุศลจิตที่อนุโมทนาย่อมเป็นกุศลของผู้อนุโมทนาเอง ซึ่งกุศลที่เกิดขึ้นด้วยการอนุโมทนานี้จะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี คือ กุศลวิบากจิตเกิดขึ้น ไม่ใช่เราหยิบยื่นกุศลของเราให้คนอื่น แต่การที่เราทำกุศล แล้วเป็นเหตุให้คนอื่นที่รู้อนุโมทนายินดีด้วย ขณะใดที่เขาอนุโมทนายินดีด้วย ขณะนั้นก็เป็นกุศลของเขา ซึ่งจะต้องเป็นกุศลจิตของผู้ที่อนุโมทนา ทั้งหมดทั้งปวงนั้น เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่รับรู้และมีจิตเป็นกุศล อนุโมทนาเท่านั้นจริงๆ ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jesada
วันที่ 2 ต.ค. 2555

ขอขอบพระคุณมากครับที่ให้คำตอบอย่างแจ่มแจ้ง

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 3 ต.ค. 2555

ต้องเป็นบุญของคนนั้นเองที่เกิดกุศลจิตยินดีในกุศลที่คนอื่นทำ.

ขออนุโมทนาที่ตอบละเอียด ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เซจาน้อย
วันที่ 3 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตวิริยะของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
one_someone
วันที่ 4 ต.ค. 2555

สาธุ

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
jaturong
วันที่ 4 ต.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 4 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
captpok
วันที่ 4 ต.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ