ปฏิจจสมุปบาท

 
gavajidham
วันที่  4 ต.ค. 2555
หมายเลข  21832
อ่าน  3,467

๑) ถ้าพูดถึงในขณะชาติปัจจุบัน ... องค์สังขารในปฏิจจสมุปบาท ความหมายก็คือ องค์ภพนั่นเองในอดีตชาติ ... ใช่หรือไม่ครับ

๒) ทางตา ... ผัสสะ เป็นปัจจัยเกิด เวทนา ... ผมไม่เข้าใจ ... จักขุวิญญาณ เป็นปัจจัยเกิดเวทนา ... มิได้หรือ

๓) ผัสสะ แปลว่า การรับรู้ ใช่หรือไม่

ขอขอบคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑) ถ้าพูดถึงในขณะชาติปัจจุบัน ... องค์สังขารในปฏิจจสมุปบาท ความหมายก็คือองค์ภพนั่นเองในอดีตชาติ ... ใช่หรือไม่ครับ

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่า สังขาร ในปฏิจจสมุปบาท หมายถึงอะไร

สังขาร ในปฏิจจสมุปบาท ไม่ใช่หมายถึง ร่างกาย ไม่ได้หมายถึง สังขารธรรม คือ สภาพธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งทั้งหมด ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม และไม่ได้หมายถึง สังขารขันธ์ ในขันธ์ ๕ ที่เป็นเจตสิก ๕๐ ประเภท แต่คำว่า สังขาร ในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง อภิสังขาร คือ เจตนาเจตสิก ที่เป็นกรรมครับ

ดังนั้น อภิสังขาร จึงเป็นกุศลเจตนา คือ กุศลกรรมระดับต่างๆ และอภิสังขารยังหมายรวมถึง อกุศลเจตนา คือ อกุศลกรรมทั้งหมดด้วยครับ ดังนั้น สังขาร ที่เป็นอภิสังขารจึงเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้เกิดวิบาก จึงมี ๓ ดังนี้ครับ

๑. เจตนาที่เป็นไปในกุศลขั้นกามาวจรและกุศลขั้นรูปาวจรกุศล

๒. เจตนาที่เป็นไปในอกุศลกรรม

๓. เจตนาที่เป็นในกุศลขั้นอรูปาวจรกุศล

ส่วนภพในปฏฺิจจสมุปบาท มี ๒ อย่าง คือ

กรรมภพ แปลว่า ภพคือกรรม ได้แก่ เจตนาและธรรมที่สัมปยุตด้วยเจตนา มีอภิชฌา (ความละโมบ) เป็นต้น อันได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร หรือจะกล่าวให้ง่ายก็คือ กรรมภพนั้น ได้แก่ กุศลกรรม และอกุศลกรรม อันจะนำไปสู่ กามภพ รูปภพ อรูปภพ

อุปปัตติภพ แปลว่า ภพคือภาวะที่เกิดขึ้น ปรากฏขึ้น ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ซึ่งก็หมายถึง ภพทั้ง ๓ นั้นเอง มีกามภพ มนุษย์ เป็นต้น รูปภพ อรูปภพ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 5 ต.ค. 2555

ซึ่งจากคำถามที่ว่า

ถ้าพูดถึงในขณะชาติปัจจุบัน ... องค์สังขารในปฏิจจสมุปบาท ความหมายก็คือองค์ภพนั่นเองในอดีตชาติ ... ใช่หรือไม่ครับ

สังขาร ในปฏิจจสมุปบาท หมายถึง กุศลกรรม และ อกุศลกรรม ในอดีตชาติ ส่วน ภพ เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรมในปัจจุบันชาตินี้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวว่า สังขาร ในปฏิจจสมุปบาท เป็น กรรมภพในอดีตชาติก็ได้ครับ เพียงแต่ว่าไม่ได้มุ่งหมายอย่างนั้น เพราะสังขาร มุ่งหมายถึงกรรมในอดีต และ ภพ ที่เป็นกรรมภพ มุ่งหมายถึงกรรมที่ทำในปัจจุบันชาตินี้ ครับ

๒) ทางตา ... ผัสสะ เป็นปัจจัยเกิด เวทนา ... ผมไม่เข้าใจ

เพราะอาศัยการประชุมกันของสภาพธรรมที่เป็น จักขุ คือ ตา, สี, รูปารมณ์ และอาศัยผัสสะ การกระทบ เป็นปัจจัยให้เกิด จักขุวิญญาณจิต ซึ่ง เมื่อจิตไม่ว่าประเภทใดเกิดขึ้น ก็ต้องมีผัสสเจตสิก รวมทั้ง เวทนาเจตสิกด้วย เพราะฉะนั้น อาศัย ผัสสะ ทำหน้าที่กระทบ เป็นปัจจัยให้เกิดจักขุวิญญาณ การเห็นทางตา ก็ทำให้มีความรู้สึก เวทนา เกิดขึ้น โดยการเกิดพร้อมกันในขณะนั้น ที่เป็นอุเบกขาเวทนา

เพราะฉะนั้น ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาทางตา โดยการเกิดพร้อมกันในขณะนั้น คือ ผัสสะเกิดพร้อมกับ เวทนา ครับ

๓) ผัสสะ แปลว่า การรับรู้ ใช่หรือไม่

ผัสสะ ทำหน้าที่กระทบ แต่ผัสสะ ก็เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ รู้อารมณ์นั้น รู้อารมณ์เดียวกับจิตที่เกิด ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 5 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก คำว่าสังขารในปฏิจจสมุปบาท นั้น ต้องเข้าใจให้ถูกว่าเป็นเจตนาเจตสิกที่เป็นตัวกรรม ที่เป็นกุศลกรรม บ้าง เป็นอกุศลกรรมบ้าง ซึ่งตามชื่อแล้วก็เป็น อปุญญาภิสังขาร (เจตนาที่เป็นอกุศล เป็นอกุศลกรรม) ปุญญาภิสังขาร (เจตนาที่เป็นบุญ มุ่งหมายถึงเจตนาเกิดร่วมกับกามาวจรกุศล ที่จะเป็นเหตุให้เกิดในสุคติภูมิ และรูปาวจรกุศลที่จะเป็นเหตุทำให้เกิดในรูปพรหมภูมิ และ อาเนญชาภิสังขาร เป็นเจตนาที่เกิดร่วมกับอรูปาวจรกุศลที่จะเป็นเหตุให้เกิดในอรูปพรหมภูมิ) ทั้งสามนี้ ก็เป็นเหตุให้มีการวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ อย่างไม่มีวันจบสิ้น เพราะสังขาร (กรรม) ที่เกิดในอดีตเป็นปัจจัย จึงทำให้มีการเกิดในภพนี้ ถ้าจะกล่าวอย่างนี้ก็กล่าวได้ เพราะต้องมุ่งหมายถึงสังขารในอดีตชาติ จึงทำให้มีการเกิดในภพนี้ มีจิต เจตสิก และรูปต่างๆ เกิดขึ้นเป็นไป แต่ถ้าจะกล่าวถึงภพ ในปฏิจจสมุปบาท ก็ละเอียดลงไปอีก มุ่งหมายถึง กรรม ที่กระทำในปัจจุบันชาตินี้ ที่จะเป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้า กล่าวคือ ทำให้เกิดในภพภูมิต่างๆ นั่นเอง

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แม้ไม่ใส่ชื่อ ธรรม ก็มีจริง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น จึงสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก

- การที่สภาพธรรมเกิดขึ้นนั้น ไม่มีแม้แต่สภาพธรรมอย่างเดียวที่จะเกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุปัจจัย ล้วนเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น จิตก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องอาศัยปัจจ้ยต่างๆ หลายปัจจัย ต้องมีเจตสิกประการต่างๆ เกิดร่วมด้วย รวมถึงผัสสเจตสิก และเวทนาเจตสิก ด้วย ไม่ขาดเลย ผัสสเจตสิก ต้องเกิดร่วมกับจิตทุกขณะทุกประเภท ไม่มีเว้นเลย เป็นเจตสิกที่กระทบกับอารมณ์ที่จิตรู้ ผัสสะเป็นนามธรรม ที่ทำหน้าที่กระทบอารมณ์ เกิดร่วมกับจิต แต่ไม่เป็นใหญ่เป็นประธานเหมือนจิต เพียงเกิดขึ้นทำกิจของตนแล้วก็ด้บไปเท่านั้น และเวทนา ก็เป็นความรู้สึกเกิดร่วมกับจิตเห็นและรวมถึงจิตทุกประเภทด้วยเช่นเดียวกัน

ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปทั้งนามธรรมและรูปธรรม เป็นปัจจัยโดยนัยต่างๆ แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้เลยทีเดียว ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 5 ต.ค. 2555

๑. ถูกต้อง ค่ะ

๒. มีหลายปัจจัย ค่ะ

๓. ผัสสะ หมายถึง กระทบอารมณ์ที่จิตรู้

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 7 ส.ค. 2556

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 16 พ.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ