โทสะ กับ ปฏิฆะ
โทสะ กับ ปฏิฆะ ต่างกันอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปฏิฆะ เมื่อกล่าวโดยศัพท์แล้ว
ปฏิ (เฉพาะ) + หน ธาตุ แปลงเป็น ฆ (เบียดเบียน กระทบ, ฆ่า, ตี) กระทบเฉพาะ, กระทบกระทั่ง หมายถึง โทสเจตสิกซึ่งมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับโลภเจตสิก โทสะเป็นสภาพที่ขุ่นเคือง ไม่พอใจและประทุษร้ายอารมณ์ซึ่งปฏิฆะนั้นมีหลายระดับ ทั้งที่เป็นเพียงอนุสัยกิเลสที่เป็นปฏิฆานุสัยรวมทั้งสภาพธรรมที่กระทบกระทั่งที่เป็นโทสะแล้วที่มีกำลัง ก็จัดเป็นปฏิฆะ
ส่วน โทสะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง อันอาศัย ปฏิฆานุาสัย จึงเกิดโทสะขึ้น ที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี คือ ความโกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ครับ ซึ่งถ้าพูดถึงความแตกต่างในลักษณะระดับของจิตที่เกิดขึ้นแล้ว ของโทสะ กับปฏิฆะ แตกต่างกันดังนี้
โทสะ คือ สภาพธรรมที่โกรธ ที่เกิดขึ้นขณะแรก แต่ยังไม่มีกำลังมากเช่น เห็นรูปที่ไม่ดี อารมณ์ที่ไม่ดี ก็เกิดโทสะแล้ว แม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งยังไม่มีกำลังมาก ชื่อว่า โทสะเกิดแล้ว ยังไม่ถึงกับกิเลสที่มีกำลังที่จะใช้อาวุธ ทุบตี เป็นต้น
ส่วน ปฏิฆะ คือ ความโกรธที่มีกำลังมากๆ คือ เกิดติดต่อกันไปบ่อยๆ และจนมีกำลังที่สามารถจะทุบ ตี หรือ ทำร้ายได้ ชื่อว่า ปฏิฆะ ครับ
นี่คือ ความต่างกัน โดยนัยที่เป็นสภาพจิต ระหว่าง โทสะ กับ ปฏิฆะ แต่โดยละเอียด แล้ว ปฏิฆะ ก็เป็นเชื้อของโทสะที่เป็นอนุสัยกิเลส ที่นอนเนื่องอยู่ในจิตจะดับได้เมื่อเป็นพระอนาคามี ครับ
เชิญอ่านความแตกต่างของปฏิฆะ และ โทสะในระดับจิตดังข้อความในพระไตรปิฎก
[เล่มที่ 28] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 488
ตัณหาที่มีกำลังอ่อนแรกเกิด ชื่อว่า ฉันทะ ฉันทะนั้นไม่สามารถเพื่อให้กำหนัดได้. แต่ตัณหาที่มีกำลัง เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ จึงชื่อว่า ราคะ ราคะนั้นสามารถทำให้กำหนัดยินดีได้.
ความโกรธที่มีกำลังน้อย แรกเกิดไม่สามารถเพื่อจะถือท่อนไม้เป็นต้นได้ชื่อว่า โทสะ.
ส่วนความโกรธที่มีกำลังมาก เกิดขึ้นติดต่อกันมา สามารถจะทำการเหล่านั้นได้ ชื่อว่าปฏิฆะ.
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
โทสะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ดุร้าย เปรียบเหมือนกับอสรพิษพร้อมทั้งมีลักษณะเผานิสัยของตนดุจไฟไหม้ป่า
โทสะมีหลายระดับ โทสะอย่างอ่อนๆ ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ความหงุดหงิด ความขุ่นเคืองใจ ความรำคาญใจ หรือ แม้กระทั่งการหมั่นไส้ผู้อื่น ถ้าหากมีโทสะ รุนแรงมากก็อาจถึงขั้นประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น หรือฆ่าผู้อื่นก็ได้ เมื่อเหตุไม่ดี ผลก็ย่อมจะไม่ดีอย่างแน่นอน คือ นำความทุกข์มาให้
ขณะที่เกิดโทสะนั้น กาย วาจา จะหยาบกระด้าง และย่อมแสดงกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมต่างๆ มากมาย เช่น กระแทกกระทั้น มีสีหน้าบึ้งตึง กล่าววาจาที่หยาบคาย เป็นต้น
การที่จะค่อยๆ ละคลายโทสะได้ ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ แล้วกุศลทั้งหลาย ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะค่อยๆ ละคลายอกุศล และเมื่ออบรมเจริญปัญญาความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงขึ้น โทสะ ความโกรธ หรือ ความขุ่นเคืองใจก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง แต่ว่ายังไม่ได้ดับอย่างเด็ดขาด จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล
เพราะพระอนาคามีบุคคลดับโทสะได้อย่างเด็ดขาด ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
อ่านแล้วเข้าใจขึ้นและได้ประโยชน์มากครับ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
โทสะ คือ ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเกิดกับใคร แต่ไม่มีทางจะละได้ ถ้าไม่มีปัญญา และจะต้องละกิเลส คือ ความเห็นผิดก่อน ค่ะ