สัทธรมปุณฑริกสูตร

 
Thanapolb
วันที่  6 ต.ค. 2555
หมายเลข  21847
อ่าน  3,702

สัทธรมปุณฑริกสูตร มีในพระไตรปิฎกที่เรานิยมศึกษากันอยู่ในเมืองไทยไหมครับ

และถ้ามีพระสูตรนี้มุ่งให้เข้าใจเรื่องอะไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 7 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัทธรมปุณฑริกสูตร เป็นคัมภีร์ในฝ่ายมหายาน ครับ ซึ่งไม่มีพระสูตรและคำสอนในพระสูตรนี้ ในพระไตรปิฎกในฝ่ายเถรวาท ครับ

ซึ่ง กระผมขอนำความมคิดเห็นที่คิดว่ามีประโยชน์ในเรื่องของคัมภีร์ สัทธรมปุณฑริกสูตร มาแสดงดังนี้ ครับ

เขียนโดย คุณ ผู้ร่วมเดินทาง เชิญอ่าน ครับ

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยนะครับในเรื่องนี้ เนื่องจากผมสนใจศึกษาแนวทางของศาสนาพุทธนิกายเซ็น (เซ็น) นี้มาก่อนหน้านี้จากหนังสือทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากเซ็นเป็นลัทธิที่ผสมผสานเอาคำสอนของศาสนาพุทธนิกายมหายานและปรัชญาของเต๋ามาหล่อหลอมรวมกันจึงมีคำสอนที่เกี่ยวข้องในหลักการบางเรื่องตามคำสอนของพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกอยู่ด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การยกเอาพระสูตรสัทธรมปุณฑริกสูตร ที่ว่าด้วยปัญหาที่ท้าวมหาพรหมทูลถามพระพุทธองค์ความว่า

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฎ ท้าวมหาพรหมได้มาถวายดอกไม้เป็นพุทธบูชา แล้วนั่งลงกราบทูลให้ทรงแสดงธรรม พระตถาคตจึงทรงแสดงโดยการชูดอกไม้ขึ้น ณ ท่ามกลางสันนิบาติ แล้วมิได้ตรัสอะไร ในขณะนั้นปวงเทพและมนุษย์ทั้งหลายต่างไม่เข้าใจในความหมายมีแต่พระมหากัสสปะยิ้มน้อยๆ อยู่ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า ตถาคตมีธรรมจักษุอันถูกตรงพระนิพพานและจิตที่เยี่ยมภาวะที่แท้จริงย่อมไม่มีลักษณะ มอบให้แก่มหากัสสปะแล้ว

จากข้อความที่ปรากฏในพระสูตรนี้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดของเซ็นในการเข้าถึงธรรมด้วยวิธีการที่การที่ไม่อาศัยคัมภีร์ ไม่อาศัยตัวหนังสือหรือคำพูด แต่มุ่งตรงไปยังแก่นแท้ในจิตของมนุษย์ทั้งหลาย โดยกล่าวว่าทุกคนมีจิตที่เป็นพุทธะอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่ถูกบิดบังด้วยกิเลส ตัณหา และอวิชชา เซ็นจึงสอนให้เข้าถึงการบรรลุธรรมหรือที่เรียกกันว่า "ซาโตริ" คือการรู้แจ้งความเป็นจริงในสรรพสิ่งอันเป็นหนึ่งเดียว คือ ความว่าง หรือ ควาามปล่อยวางจากความยึดถือในตัวตนและสิ่งต่างๆ ปล่อยวางจากกรอบของสมมติบัญญัติที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เป็นการหลุดพ้นจากพันธนาการต่างๆ และเข้าถึงซึ่งสภาวะแห่งพุทธะนั่นเอง ด้วยหลักการและแนวทางการสอนของเซ็นที่ไม่เน้นคัมภีร์และคำพูดแต่จะเน้นไปที่การทำลายกรอบแห่งความคิดของมนุษย์ที่ติดยึดอยู่ โดยการนิยมสร้างปริศนาธรรมขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ผู้ขบคิดหรือพิจารณาปริศนาธรรมนั้นๆ ไม่ยึดถือในความคิดเดิมๆ แต่ให้กลับมาอยู่กับสภาวะปัจจุบันโดยเห็นว่าสรรพสิ่งล้วนแต่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวและปราศจากการยึดถือใดๆ

ตัวอย่างปริศนาธรรม เช่น ศิษย์ถามว่า พระโพธิธรรม (สังฆปรินายกของเซ็น) เดินทางมาที่นี้ด้วยวัตถุประสงค์ใดอาจารย์ตอบว่า โอ้ ...

กอไผ่ต้นนี้ช่างสูงตระหง่านเสียจริงๆ เห็นได้ว่าคำตอบของอาจารย์ไม่สัมพันธ์กับคำถามเลย แต่อาจอธิบายว่าเป็นการกระตุ้นให้ศิษย์ออกไปจากความคิดที่จะเป็นเหตุเป็นผลตามความรู้เดิมๆ และพยายามให้ย้อนกลับมาพิจารณาถึงความที่สรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียวกันและเชื่อมโยงกันในสภาวะปัจจุบันว่าพระโพธิธรรมเดินทางมาก็เพื่อสอนให้รู้ถึงความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่งทั้งหลาย แม้แต่กอไผ่ที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าก็เช่นกัน เป็นต้น

เซ็นในสาขารินไซ นิยมยกปริศนาธรรมหรือที่เรียกกันว่า "โกอาน" ให้ลูกศิษย์พิจารณาขบคิด ตัวอย่างปริศนาธรรม เช่น

จงแสดงใบหน้าที่แท้จริงของท่านก่อน ท่านจะเกิดอะไรคือเสียงของการตบมือข้างเดียว การไขปริศนาธรรมนี้ก็เพื่อที่จะให้ศิษย์ได้หลุดพ้นไปจากกรอบความคิดและเหตุผลธรรมดาซึ่งเป็นความคิดที่ถูกล้อมกรอบด้วยอวิชชา ซึ่งหากผู้ใดเข้าใจกระจ่างแจ้งในปริศนาธรรมนั้นแล้วก็จะเข้าสู่สภาวะ "ซาโตริ" ซึ่งเป็นบรรลุธรรมโดยฉับพลัน

จะเห็นได้ว่า แนวทางของเซ็นนอกกรอบเหตุและผลของความคิดมนุษย์ในสังคมต่างๆ การสอนจึงไร้รูปแบบ และเน้นวิธีการที่ถึงลูกถึงคน บางทีอาจารย์ถึงกับลงไม้ลงมือทุบตีศิษย์เพื่อให้กลับมาอยู่กับสภาวะปัจจุบันและให้ทิ้งความคิดต่างๆ ไปเสีย

มีถ้อยคำสนทนาต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้พิจารณาได้แง่คิดที่น่าสนใจมากมาย ตัวอย่างเช่น มีลูกศิษย์ ๒ คน เถียงกันขณะที่มองไปยังธงที่โบกสะบัดอยู่หน้าวัด ศิษย์คนหนึ่งกล่าวว่า เธอเห็นธงที่สะบัดไปมาไหม ศิษย์อีกคน บอกว่าธงไม่ได้สะบัด แต่ลมต่างหากสะบัดพัดไปมา อาจารย์ได้ยินจึงเอ่ยขึ้นว่า ธงไม่ได้สะบัด ลมไม่ได้พัด แต่ใจเธอต่างหากที่สะบัดไปมา

เนื่องจากแนวคิดและคำสอนของเซ็นนั้นมีลักษณะที่โดดเด่นและแฝงไปด้วยปรัชญาจึงเป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษาที่มีความรู้และนักปรัชญามาก จึงอาจทำให้เห็นไปได้ดังที่คุณบ้านดอยกล่าวว่า คำสอนเซ็นเปรียบเสมือนคำสอนระดับด็อกเตอร์ของพุทธศาสนา แต่ก่อนที่ผมยังไม่ได้มาศึกษาที่มูลนิธิฯ ผมก็คิดเช่นเดียวกับคุณบ้านดอยว่าแนวทางของเซ็นนี้ น่าจะเป็นคำสอนของพุทธศาสนาระดับสูงทีเดียวเนื่องจากมีแนวทางปฏิบัติที่ปล่อยวางอย่างอุกฤษฏ์ ไม่เน้นไปที่พิธีรีตองอะไร มุ่งตรงไปแนวคิดของการปล่อยวางเพียงเรื่องเดียวเพื่อให้บรรลุสัจจธรรมเข้าสู่จิตเดิมแท้ของเราที่มีอยู่

แต่หากพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ แล้วเราจะเห็นความแตกต่างระหว่างแนวทางการสอนของเซ็นและคำสอนของพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกเป็นอย่างมากทีเดียวครับ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือพระพุทธศาสนาเน้นเหตุและผลอธิบายได้ตามความเป็นจริง ถามอะไรขึ้นมาก็ย่อมต้องตอบได้ด้วยเหตุและผลจนเข้าใจตามความเป็นจริง ไม่มีปริศนาธรรมที่ให้ไปนึกคิดพิจารณาเองโดยให้ละทิ้งเหตุและผลเพื่อไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น แต่ใช้เหตุและผลทำให้ละความยึดมั่นถือมั่น ศาสนาพุทธสอนให้เราทำความเข้าใจไปเป็นลำดับไม่มีการก้าวกระโดดข้ามขั้น การศึกษาต้องเป็นไปตามขั้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ดังนั้น การบรรลุธรรมโดยฉับพลันย่อมไม่มีตัวอย่างที่ปรากฏว่ามีท่านผู้บรรลุธรรมด้วยการฟังพระธรรมเพียงครั้งเดียวนั้นหากไม่ศึกษาให้ดีแล้ว จะเข้าใจไปได้ว่าเป็นการบรรลุธรรมโดยฉับพลันได้แต่จริงๆ แล้วทุกท่านที่จะบรรลุธรรมได้ย่อมต้องสะสมปัญญามาก่อนทั้งนั้นเพียงแต่เรามายึดเอาเฉพาะตอนที่ผลจะเกิดเท่านั้นไม่ได้ย้อนไปดูว่าแต่ละท่านนั้นสะสมเหตุอะไรมานานเท่าไหร่แล้ว พุทธศาสนาเน้นที่ปัญญาและต้องเป็นปัญญาที่มั่นคงในสัจจธรรมตามลำดับ

ดังนั้น การพิจารณาปริศนาธรรมเพื่อจะให้ปล่อยวาง หรือ ให้เชื่อว่าไม่มีตัวตนโดยยังไม่มีปัญญาที่แท้จริงแล้ว ย่อมไม่ส่งผลใดๆ แน่ นอกจากจะไม่เข้าใจธรรมะจริงๆ แล้ว คงไม่ต้องกล่าวว่าจะบรรลุเห็นสัจจธรรมใดๆ ได้เลย การที่จะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยยังไม่เข้าใจอะไรเลยนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้อยคำในพุทธศาสนาในแต่ละคำมีการอธิบายไว้อย่างละเอียดชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นคำว่า พุทธะ ธรรมะ จิต ความสงบ การปล่อยวาง ความว่าง ความไม่มีตัวตน กิเลส ตัณหา อวิชชา ฯลฯ การเข้าใจถ้อยคำความหมายต่างๆ ก็เป็นขั้นตอนแรกที่จะนำไปสู่ความเข้าใจสภาพที่เกิดขึ้นปรากฏอย่างแท้จริง

ดังนั้น หากไม่มีการอธิบายให้เข้าใจถูกต้องตั้งแต่ต้นแล้ว ย่อมทำให้เกิดความนึกคิดของตนเองได้ และย่อมเสี่ยงต่อการเข้าใจไปเองว่าได้รู้แจ้งความจริงแล้ว ดังนั้น พุทธศาสนาจึงเน้นที่คำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเป็นเวลาถึง ๔๕ พรรษา ซึ่งในภายหลังได้รวบรวมเป็นพระไตรปิฎกและอรรถกถาให้ผู้ศึกษาได้ทำความเข้าใจโดยละเอียดเป็นลำดับ ซึ่งเมื่อเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วย่อมรู้จักสภาวะอันแท้จริงตามคำสอนของพระพุทธองค์ ปัญญาที่เกิดจากความเข้าใจดังกล่าวจึงจะเริ่มทำหน้าที่ขัดเกลาความเห็นผิดต่างๆ และเพิ่มความรู้แจ้งแทงตลอดในสัจจธรรม อันนำมาสู่ความหลุดพ้นจากกิเลสอย่างแท้จริง

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Thanapolb
วันที่ 7 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณครับ

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 10 ต.ค. 2555

ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า ในอนาคตคนจะสนใจฟังคำที่เป็นทุภาษิต ฟังแล้วก็ติดอยู่ในวัฏฏะ ไม่ทำให้ออกจากสังสารวัฏฏ์ ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ