สมาธิ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก ที่ทำกิจหน้าที่ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น ซึ่ง เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง ทุกประเภท เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตเกิดจะต้องมีความตั้งมั่นของจิต เพียงชั่วขณะจิตหนึ่งในขณะนั้น ซึ่ง ขณะที่ตั้งมั่นในขณะจิตนั้น ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นอกุศล ก็เป็นมิจฉาสมาธิ แต่ถ้าเกิดกับจิตที่เป็นกุศล ขณะนั้นเป็นความตั้งมั่นชอบ ก็เป็นสัมมาสมาธิ เมื่อว่าโดยละเอียดลงไป สัมมาสมาธิ หมายถึง นัย ทั้งที่เป็นสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนาด้วยครับ
การเจริญสมถภาวนา มีการได้ฌานต่างๆ ขณะนั้นก็มีความตั้งมั่นชอบ ที่เกิดพร้อมกับปัญญาในขณะนั้น เป็นสัมมาสมาธิ ที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่ทำให้เกิดกุศลติดต่อกันไป จนปรากฏในลักษณะของสมาธิ จนถึงได้ฌาน ก็เป็นสัมมาสมาธิในระดับสมถภาวนาที่ตั้งมั่นในอารมณ์นั้น มี ลมหายใจ เป็นต้น ครับ
ส่วนในขณะที่เจริญวิปัสสนาที่เป็นขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็มี สมาธิ แต่เป็นขณิกสมาธิที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ในขณะนั้น ก็มีสัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชั่วขณะในอารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น เช่น ขณะที่รู้ลักษณะของสีที่กำลังปรากฏ ขณะนั้น มีปัญญา และ มีสมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมด้วยที่ตั้งมั่นชั่วขณะ ในขณะที่มีรู้ความจริง จึงมีสัมมาสมาธิด้วยในขณะนั้น คือ มีทั้งสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ ครับ
รวมความได้ว่า ทั้ง การเจริญสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา ที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย มีสัมมาสมาธิ ทั้ง ๒ นัย เพียงแต่ว่า สัมมาสมาธิของสมถภาวนาที่เป็นไปในการเจริญฌาน ได้ฌานสูงสุดก็ตาม แต่สัมมาสมาธินั้น ไม่ใช่สัมมาสมาธิที่เลิศ เพราะ ไม่เป็นไปเพื่อดับกิเลส เพื่อดับทุกข์ แต่ยังเป็นไปเพื่ออยู่ในวัฏฏะ ส่วน สัมมาสมาธิในขณะที่เจริญวิปัสสนา เป็นสัมมาสมาธิที่เลิศกว่า ประเสริฐ เพราะเป็นไปเพื่อดับกิเลส ถึงการดับทุกข์ออกจากสังสารวัฏฏ์ได้แท้จริง ครับ
เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินคำว่า สัมมาสมาธิ ไม่ได้หมายถึงจะต้องไปเจริญฌาน เพียงอย่างเดียว และไม่เข้าใจผิดว่า การเจริญสัมมาสมาธิจะต้องไปเจริญฌานก่อน เพียงแต่ให้เข้าใจว่า แม้วิปัสสนาก็มีสมาธิ มีสัมมาสมาธิในขณะนั้นแล้ว ส่วนสัมมาสมาธิในสมถภาวนา ก็เป็นไปเพื่อความสุขในปัจจุบันเท่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อดับกิเลส ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นพระธรรมคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสจนกว่ากิเลสทั้งปวงจะดับหมดสิ้นไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เห็นคุณค่าของพระธรรม ตั้งจิตไว้ชอบในการศึกษา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก และน้อมประพฤติปฏิบัติตามด้วยความจริงใจ เท่านั้น และที่สำคัญประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา คือ เพื่อละกิเลส พ้นจากทุกข์ ไม่เกิดอีก ซึ่งเป็นการดับกิเลสทั้งหลาย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้นที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ใช่เพียงแค่ระงับเพียงชั่วคราว และข่มด้วยกำลังแห่งฌานเท่านั้น แล้วก็เป็นเรื่องยากมากที่จะได้ฌาน
เพราะฉะนั้น พระธรรมคำสอนทั้งหมด เป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญาโดยตลอด ประโยชน์สูงสุด คือ การดับกิเลส พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง หนทางแห่งการดับกิเลสนั้น มีอยู่แล้ว คือ การอบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการอบรมมรรคมีองค์ ๘ อันเริ่มต้นด้วยความเห็นถูก แต่การที่จะดำเนินไปตามทางดังกล่าวหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับบุคคลแต่ละคนจริงๆ ถ้าดำเนินตามหนทางที่ถูกต้อง โอกาสแห่งการพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ก็ย่อมจะมีได้ ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญาต่อไป โดยเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ไม่ขาดการฟังพระธรรม
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า สมาธิ เป็นการไปนั่ง ซึ่งไม่ใช่การอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูก แต่เป็นเรื่องของวิธีทำ ซึ่งไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่า พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเข้าใจได้ง่าย พระองค์ทรงแสดงพระธรรม โดยใช้พยัญชนะมากมายหลากหลาย ทั้งหมดทั้งปวงเพื่อให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ครับ
...ขอบพระคุณ อ. ผเดิมและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
สัมมาสมาธิ คือ ความตั้งมั่นถูก เป็นเจตสิกที่ประกอบด้วยปัญญา เกิดร่วมกับสมถภาวนาก็ได้ วิปัสสนาก็ได้ ต้องมีความเข้าใจถูก และอบรมเจริญนานมาก ค่ะ
เรียนถาม
ทำไมการเจริญสมถภาวนา จึงต้องมีวิธีการ ๔๐ อย่าง และไม่เข้าใจว่า จิตจะตั้งมั่นในอารมณ์ที่เป็นกุศลให้ต่อเนื่องติดต่อกันได้อย่างไร ดิฉันไม่ได้เรียนถามถึงวิธีปฏิบัตินะคะ แต่ดิฉันไม่เข้าใจว่า การอบรมจิตให้เป็นกุศลให้ต่อเนื่องแนบแน่นด้วยวิธี ๔๐ อย่างนั้น ซึ่งบางอย่างก็ไม่น่าจะเป็นกุศลได้เลยเช่น พิจารณาซากศพ หรือแม้แต่การเพ่งกสิณ เป็นต้น จะกระทำได้อย่างไร
เรียนความเห็นที่ 4 ครับ
การเจริญสมถภาวนา คือ การอบรมความสงบ ที่ทำให้เกิดกุศลจิตเกิดต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น จะต้องมีปัญญา ซึ่งการจะทำให้เกิดกุศลจิตต่อเนื่อง จะต้องมีอารมณ์ให้นึกถึงแล้วเกิดความสงบ คือ เกิดกุศลจิต ซึ่งอารมณ์ให้นึกถึง ทำให้เกิดกุศลจิต มีอารมณ์ทั้งหมด ๔๐ อย่าง ครับ ยกตัวอย่างเช่น พุทธานุสสติ การระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เป็นต้น ก็เป็น ๑ ใน ๔๐ ประการ ของอารมณ์สมถภาวนา
ซึ่งวิธีปฏิบัติ ก็ต้องมีปัญญาเป็นสำคัญ ครับ คือ มีปัญญาที่จะรู้ว่า จะอบรมอย่างไรที่จะทำให้เกิดกุศลจิตบ่อยๆ ต่อเนื่อง จนปรากฏลักษณะของสมาธิและได้ฌาน ซึ่งก็ต้องรู้ลักษณะของกุศลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และ จึงนึกถึงลักษณะของกุศลนั้นบ่อยๆ มีการระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าบ่อยๆ เป็นต้น ครับ
จะเห็นนะครับว่าจะต้องมี ปัญญา จึงเป็นเรื่องยากมากๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ครับ
ส่วนการพิจารณาซากศพ ก็ต้องเป็นเรื่องปัญญา ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่ว่าใครจะไปดูแล้วจะสงบ โดยมากก็ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ก็เป็นอกุศลแล้ว แต่ถ้าผู้มีปัญญาย่อมเห็นพิจารณาโดยเป็นความที่ปฏิกูล ไม่น่ายินดีด้วยปัญญาจริงๆ จึงเกิดความสงบที่เบื่อหน่าย ไม่ติดข้องในขณะนั้นครับ ก็เป็นการเจริญสมถภาวนา
จะเห็นนะครับว่า ขาดปัญญาไม่ได้เลย จึงเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องง่ายในการเจริญสมถภาวนา ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
เรียนถาม
จากความเห็นที่ 5 ผู้ที่มีปัญญาเท่านั้น ที่สามารถอบรมสมถภาวนา ระลึกถึงจิตที่เป็นกุศลอย่างต่อเนื่อง แต่ปกติของมนุษย์ธรรมดาๆ จิตที่เกิดดับ จะเป็นอกุศลจิต มากกว่ากุศลจิต และถึงกุศลจิตจะเกิดขึ้นบ้าง ก็ไม่มีความต่อเนื่อง ประเด็นนี้หรือไม่ ที่ทำให้มีการเจริญสมาธิแบบผิดๆ
เรียนความเห็นที่ 6 ครับ
ถูกต้องครับ เพราะ อกุศลเกิดมากกว่ากุศลจิต และ ไม่รู้ลักษณะของกุศลจิตจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร จึงสำคัญว่าอกุศล เป็นกุศลได้ สำคัญว่าสงบ ทั้งๆ ที่ไม่สงบ จึงเจริญสมาธิแบบผิดๆ ครับ
เรียนถาม
ขอเรียนถามต่อว่า ผู้ที่มีฤทธิ์ มีหูทิพย์ ตาทิพย์ ล่วงรู้ใจผู้อื่นได้ เป็นผู้ที่เจริญสมาธิที่เป็นสมถภาวนาที่ถูกต้อง เท่านั้น ใช่หรือไม่คะ หรือต้องเจริญสมาธิที่เป็นนัยของวิปัสสนาควบคู่ไปด้วย
ขอเรียนถามเพื่อความรู้ความเข้าใจค่ะ
เรียนถาม
จากความเห็นที่ 7 อยากทราบว่า ลักษณะของกุศลจิตจริงๆ คือเป็นอย่างไรคะ ยกตัวอย่างเช่น มีการให้ทาน แล้วจิตผ่องใส ว่าได้ทำประโยชน์ให้แก่ผู้ที่ขาดแคลน รู้เพียงว่าจิตผ่องใส นั้นๆ ว่าเป็นกุศล เพียงเท่านี้ สามารถกล่าวได้ว่า รู้ลักษณะของกุศลจิตได้หรือไม่คะ
เรียนความเห็นที่ 8 ครับ
เจริญสมถภาวนา อย่างเดียวได้ ครับ
เรียนความเห็นที่ 9 ครับ
รู้ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล ต้องเป็นสติและปัญญาที่รู้ลักษณะในขณะนั้น ว่าลักษณะของกุศลเป็นอย่างไร ไม่ใช่เพียงตัดสินแต่ผ่องใส เพราะอาจเป็นลักษณะของโลภะได้ ครับ
ขออนุโมทนา
เรียนถาม
จากความเห็นที่ 11 แสดงว่า มีลักษณะของอกุศลจิตที่ละเอียดที่ไม่สามารถรู้ได้ จึงหลงคิดว่าเป็นกุศลจิต ถูกต้องหรือไม่คะ จึงควรเริ่มต้นด้วยการเจริญสติก่อน ก่อนที่คิดจะไปเจริญสมถะ เพราะสมถภาวนาที่ถูกต้อง ต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ดังที่ความเห็นที่ 3 ได้กรุณาอธิบายมา
เรียนถาม
ขอเรียนถามต่อค่ะว่า เอกัคคตาเจตสิก เป็นขณิกสมาธิหรือไม่คะ และอุปจารสมาธิ เกิดจากสมถภาวนา หรืออย่างไรคะ
เรียนความเห็นที่ 14 ครับ
เอกัคตตาเจตสิก เป็น เจตสิกที่เกิด กับจิตทุกประเภท แสดงถึงความตั้งมั่นชั่วขณะจิต ถูกต้องครับ
ส่วนอุปจารสมาธิ เกิดจากการเจริญสมถภาวนา ที่เริ่มใกล้ต่อความสงบแนบแน่นจึงเรียกว่า อุปจารสมาธิ แต่ต้องเป็นความตั้งมั่นที่ใกล้ต่อความแนบแน่นที่เป็นกุศลธรรม ครับ
ขออนุโมทนา
เรียนถาม
จากคำถามที่เป็นความเห็นที่ 8 และคำอธิบายที่เป็นความเห็นที่ 10
อยากทราบว่า
ฤทธิ์ต่างๆ การมีหูทิพย์ ตาทิพย์ การล่วงรู้จิตใจของผู้อื่น ที่เกิดจากสมถภาวนา เป็นสิ่งเดียวกันกับ ฤทธิ์ หูทิพย์ ตาทิพย์ การล่วงรู้จิตใจของผู้อื่น การระลึกชาติ ที่มีคำว่าญาณ ต่อท้ายด้วยหรือไม่ เข้าใจว่า คำว่าญาณ ต้องเป็นวิปัสสนา
เรียนความเห็นที่ 16 ครับ
คำว่า ญาณ หมายถึง ปัญญา ซึ่ง ญาณ ก็ใช้ได้ทั้งนัยสมถภาวนาและวิปัสสนาด้วย ซึ่งการรู้จิตก็ใช้คำว่า เจโตปริยญาณ ครับ
เรียนถาม
ขอเรียนถามเพิ่มเติมค่ะ ฌาณขั้นสูงสุดที่เหนือขึ้นไป ที่เรียกว่าเป็นการดับสัญญาและเวทนานั้น เรียกว่า เป็นการดับกิเลสโดยสิ้นเชิงหรือยังคะ
เรียนความเห็นที่ 18 ครับ
คำว่า สัญญาเวทยิตนิโรธ หรือ นิโรธสมาบัติ หมายถึง การเข้าถึงการดับจิตและเจตสิก ซึ่งสมาบัตินี้ ผู้ที่จะเข้าได้ต้องเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ที่ได้ฌาน ๘ เท่านั้น
อนึ่ง ลำดับการเข้าถึง สัญญาเวทยิตนิโรธ ในวิสุทธิมรรคท่านอธิบายว่า ผู้ที่จะเข้าสมาบัติดังกล่าว ต้องอาศัยกำลังทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ซึ่ง ไม่ได้หมายถึงการดับกิเลสจนหมดสิ้น ครับ เพียงแต่ดับ จิต เจตสิกในขณะนั้น ผู้ที่เป็นพระอนาคามี ได้ฌานสูงสุด สามารถเข้า สัญญาเวทยิตนิโรธได้ แต่ยังมีอนุสัยกิเลสที่ไม่ได้ดับ ครับ
เรียนความเห็นที่ 19
จากความเห็นที่ 19 หมายความว่า ถ้าปุถุชนถึงจะเจริญฌาณอย่างไร ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีและพระอรหันต์ หรือแม้แต่เป็นพระโสดาบัน และพระสกทาคามี ก็ไม่สามารถเข้าถึงนิโรธสมาบัติได้ และต้องเป็นผู้ที่เจริญทั้งฌานและวิปัสสนาควบคู่กัน ดิฉันเข้าใจถูกต้องหรือไม่คะ และขอเรียนถามว่า อุภโตภาควิมุต คือเป็นอย่างไรคะ
เรียนความเห็นที่ 20 ครับ
ถ้าเป็นปุถุชน ไม่สามารถเจริญสัญญาเวทยิตนิโรธได้ พระโสดาบัน พระสกทาคามี ก็เจริญไม่ได้ พระอนาคามี หากไม่ได้ฌานสูงสุด ฌาน ๘ ก็เจริญไม่ได้ ครับ นอกเสียจาก พระอนาคามี และ พระอรหันต์ที่ได้ฌาน ๘ ถึงเจริญได้ครับ
อุภโตภาควิมุติ หมายถึง พระอริยบุคคลที่บรรลุทั้ง ๒ ฝ่าย คือมีฌานจิตเกิดพร้อมกับมรรคจิต ผลจิต (อรูปฌานเป็นการหลุดพ้นจากรูป โลกุตรธรรมเป็นการหลุดพ้นจากสังขาร)
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
เรียนถาม
สำหรับพระอนาคามี ถ้าท่านเจริญฌานขั้นสูงสุดที่เรียกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธ (ดังที่ได้กรุณาอธิบายมาในความเห็นที่ 19) แต่ว่ายังคงมีอนุสัยกิเลสหลงเหลืออยู่ อยากทราบว่า จิตของท่านจะดำเนิน เกิดขึ้นอย่างไรที่จะเรียกว่า ท่านหมดสิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์
เรียนความเห็นที่ 22 ครับ
สำหรับพระอนาคามี ก็อยู่เป็นสุขด้วยการเจริญสัญญาเวทยิตนิโรธ แต่ยังมีกิเลส แต่จะดับกิเลส ก็ด้วยการออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วเจริญอริยมรรค ย่อมถึงการดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ
เรียนถาม
๑. การเดินจงกรม มีอยู่ในวิธีเจริญสมาธิ ๔๐ อย่างหรือไม่
๒. อภิญญาลำดับที่ ๖ คือ ญาณที่ทำให้สิ้นกิเลส ใช่หรือไม่คะ ผู้ที่เจริญสมถภาวนา และเจริญวิปัสนาภาวนาด้วย ก็ต้องมาถึงอภิญญาลำดับที่ ๖ โดยการออกจากสมาบัติขั้นสูงสุด แล้วก็เจริญวิปัสสนาผ่านญาณขั้นต่างๆ ไปตามลำดับ เป็นเช่นนั้นหรือไม่คะ