ขอความรู้เกี่ยวกับผลของการทำความดีความชั่วที่จะมีต่อผู้อื่น

 
krairach
วันที่  9 ต.ค. 2555
หมายเลข  21867
อ่าน  1,421

ปกติผมก็เข้าใจเองว่า เรามีกรรมเป็นของตนเอง เราทำกรรมใดไว้ไม่ว่ากรรมดีหรือกรรมชั่ว เราจักต้องเป็นผู้รับผลแห่งกรรมนั้น (อภิณหปัจจเวกขณ์)

แต่ในกรณีทำกรรมแล้วประสงค์จะอุทิศให้คนอื่น ผลจะเป็นเช่นใด

๑. ทำบุญแล้วอุทิศให้คนอื่นหรือสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็เข้าใจว่าผู้อื่นหรือสรรพสัตว์นั้นคงได้รับผลบุญที่เราอุทิศให้นั้น แม้คนอื่นหรือสรรพสัตว์นั้นจะไม่เคยทำบุญเลยก็ตาม

แต่ถ้าบุญที่ประสงค์อุทิศให้มี ๑๐๐% คนอื่นหรือสรรพสัตว์นั้นจะได้รับทั้ง ๑๐๐% หรือจะได้รับเท่าใด

๒. ในอีกทางหนึ่ง เป็นกรณีที่เราทำบาป และประสงค์จะโอนบาปให้คนอื่นช่วยแบ่งไปบ้างบางส่วนหรือทั้งหมด (คนอื่นนั้นไม่ได้ร่วมทำบาปกับเรา ทำแต่บุญ) เช่นนี้ก็คงแบ่งบาปไม่ได้ใช่ไหมครับ ตามหลักในอภิณหปัจจเวกขณ์หรือหลักคำสอนใดของพระพุทธองค์อีก

ช่วยให้ความกระจ่างหน่อยนะครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 10 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ทำบุญแล้วอุทิศให้คนอื่นหรือสรรพสัตว์ทั้งหลาย ก็เข้าใจว่าผู้อื่นหรือสรรพสัตว์นั้นคงได้รับผลบุญที่เราอุทิศให้นั้น แม้คนอื่นหรือสรรพสัตว์นั้นจะไม่เคยทำบุญเลยก็ตาม แต่ถ้าบุญที่ประสงค์อุทิศให้มี ๑๐๐% คนอื่นหรือสรรพสัตว์นั้นจะได้รับทั้ง ๑๐๐% หรือจะได้รับเท่าใด

- หลักกรรมที่เป็นของๆ ตน คือ บุญหรือบาป ของตนเอง ย่อมทำให้เกิดผลกับตนเอง บุญหรือบาปของผู้อื่น ไม่สามารถทำให้เกิดผลกับผู้อื่นได้ครับ นี่คือ หลักกรรมและผลของกรรมที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน

ดังนั้น เปรตที่ได้รับผลวิบาก มีการได้อาหาร ได้พ้นจากความเป็นเปรต ก็ด้วยเกิดกุศลจิตของตนเอง ที่เกิดจิตอนุโมทนาบุญในกุศลที่ญาติได้ทำ โดยอาศัยการที่ญาติบอกกล่าวอุทิศให้เป็นปัจจัยประกอบ ครับ แต่หลักๆ คือ กุศลจิตของเปรตเองที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดวิบาก ได้ข้าว น้ำ หรือ พ้นจากความเป็นเปรต อันแสดงถึง บุญของเปรตเอง ทำให้ได้รับผลของกรรม คือ วิบากที่ดี ที่เป็นการแสดงว่า สัตว์มีกรรมเป็นของๆ ตน ใครทำกรรมใด ก็ได้รับผลของกรรมนั้นเอง

ซึ่งการอุทิศส่วนกุศลให้ จึงไม่ขัดกับหลักกรรมและผลของกรรม ที่สำคัญ พระธรรมของพระพุทธเจ้าย่อมไม่ขัดแย้งกันเอง และไม่ทรงแสดงผิด ไม่ถูกต้อง แม้เพียงปลายขนทราย คือ แม้เพียงเล็กน้อยเลย ครับ

ส่วนเปรตจะได้รับผลของบุญเท่าไหร่นั้น ก็ตามแต่ความประณีตของกุศลของตัวเปรตเองที่เกิดด้วยครับ รวมทั้งประเภทของกุศลที่อนุโมทนา ไม่จำเป็นจะต้องได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ครับ

๒. ในอีกทางหนึ่ง เป็นกรณีที่เราทำบาป และประสงค์จะโอนบาปให้คนอื่นช่วยแบ่งไปบ้างบางส่วนหรือทั้งหมด (คนอื่นนั้นไม่ได้ร่วมทำบาปกับเรา ทำแต่บุญ) เช่นนี้ก็คงแบ่งบาปไม่ได้ใช่ไหมครับ ตามหลักในอภิณหปัจจเวกขณ์หรือหลักคำสอนใดของพระพุทธองค์อีก ช่วยให้ความกระจ่างหน่อยนะครับ

- ถูกต้องครับ จึงสรุปได้ว่า บุญหรือบาปของผู้อื่น ไม่สามารถทำให้เกิดผลกับผู้อื่นได้ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 10 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นความจริงที่ว่า สัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน จะกระทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ก็จักได้รับผลของกรรมนั้น เรื่องกรรมเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ของใครก็ของคนนั้น เวลาจะให้ผลก็ให้ผลโดยไม่ผิดตัวด้วย เป็นไปตามสมควรแก่เหตุจริงๆ การที่ได้พิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ ถึงความเป็นผู้มีกรรมเป็นของของตนนั้น ก็จะเป็นผู้มีความมั่นคงที่จะสะสมแต่กรรมที่ดีงามที่เป็นกุศลกรรม พร้อมทั้งหลีกเว้นจากอกุศลกรรมซึ่งจะเป็นเหตุให้ผลที่เดือดร้อนในภายหลัง

แต่ละคนมีการสะสมมาที่แตกต่างกัน ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง สำหรับผู้ที่เห็นคุณของความดี ก็จะเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในทางที่ดีอยู่เสมอ มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา และไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ เมื่อได้เจริญกุศลประการต่างๆ แล้ว ก็มีจิตที่เป็นกุศลเกิดต่อได้อีก ด้วยการอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นรับรู้และอนุโมทนา ไม่ใช่เป็นการยกเอาบุญกุศลของตนเองไปมอบให้คนอื่น

ถ้าผู้อื่นได้รับรู้ เกิดกุศลจิตอนุโมทนา ก็เป็นกุศลของผู้นั้น เป็นการสะสมเหตุที่ดีให้กับตนเอง และก็ขึ้นอยู่กับผู้นั้นด้วยว่าอยู่ในฐานะที่จะรับรู้ได้หรือไม่ บุคคลบางคนแม้ไม่มีคนอุทิศให้ ไม่ได้บอกกล่าวให้รู้ แต่ทราบหรือเห็นความดีประการนั้นๆ เขาก็เกิดกุศลจิตอนุโมทนาได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่สะสมมาไม่ดี แม้จะรู้ว่าคนอื่นเขากระทำดี ก็ไม่เกิดกุศลจิตอนุโมทนาก็ได้ ขณะที่ไม่อนุโมทนาไม่ใช่กุศล แต่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นแต่ละคน ไม่เหมือนกันจริงๆ มีความประพฤติเป็นไปตามการสะสมอย่างสิ้นเชิง

ส่วนประเด็นในเรื่องของบาปหรืออกุศลกรรม ที่ตนเองทำ จะไปยกให้คนอื่นก็ไม่ได้ จะไปอุทิศบาปของตนเองให้คนอื่นก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่า สภาพธรรมที่เป็นบาป เป็นอกุศลกรรม นั้น เป็นสภาพธรรมฝ่ายดำ เป็นธรรมที่ไม่ดี ไม่ควรค่าแก่การชื่นชมสรรเสริญ แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม ซึ่งจะตรงกันข้ามกับกุศลอย่างสิ้นเชิง

กุศล เป็นธรรมฝ่ายดี เป็นธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด แม้จะเป็นกุศลเพียงเล็กน้อยก็ควรค่าแก่การชื่นชมสรรเสริญ ส่วนบุคคลผู้ที่นิยมในความชั่ว มีจิตน้อมไปในทางฝ่ายที่เป็นอกุศลอยู่เสมอ ไม่เห็นคุณของความดี คนเหล่านี้ก็จะมีฉันทะความพอใจที่เกิดขึ้น เป็นไปในอกุศลเป็นส่วนมาก ชอบกระทำอกุศลกรรม เวลาที่เห็นใครกระทำไม่ดี ก็จะพลอยเห็นดีเห็นงามไปกับเขาด้วย โดยไม่เห็นโทษของอกุศลเลย นอกจากจะเป็นคนทำไม่ดีแล้ว ก็อาจจะชักชวนผู้อื่นในทางไม่ดีด้วย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไปนั่นเอง

ในส่วนละเอียดแล้ว พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรมมากมายทีเดียว แม้อย่างอกุศลที่เกี่ยวกับการฆ่าสัตว์ ทรงจำแนกว่า ตนเองฆ่าสัตว์ ด้วย ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าด้วย อีกทั้งยังพอใจในการฆ่าสัตว์ และ สรรเสริญในการฆ่าสัตว์ ด้วย ในอกุศลประการอื่นๆ ก็โดยนัยเดียวกัน

ที่พระองค์ทรงแสดงจำแนกไว้อย่างนี้ ก็เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา ได้เห็นความล้ำลึกของอกุศลว่ามีมากมายทีเดียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการที่จะทำให้รู้จักตนเองมากยิ่งขึ้น และขัดเกลากุศลธรรมทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียด ให้เบาบางยิ่งขึ้นอีกด้วย เพราะกุศลธรรม น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง ไม่นำประโยชน์อะไรๆ มาให้เลย นำมาให้แต่ทุกข์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 10 ต.ค. 2555

ถ้าทำดีคนอื่นติเตียนก็ติเตียนเปล่า ตรงข้ามถ้าทำชั่วคนอื่นสรรเสริญก็สรรสริญเปล่า ความชั่วและความดีไกลกันเปรียบเหมือนฟ้ากับดิน ความชั่วและความดีไม่ปนกัน ของใครก็ของคนนั้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 11 ต.ค. 2555

... เพราะอกุศลธรรม น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง ไม่นำประโยชน์อะไรๆ มาให้เลย นำมาให้แต่ทุกข์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ...

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 12 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

"เรื่องกรรมเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ของใครก็ของคนนั้น

เวลาจะให้ผลก็ให้ผลโดยไม่ผิดตัวด้วย"

"บุญหรือบาปของผู้อื่น ไม่สามารถทำให้เกิดผลกับผู้อื่นได้ครับ"

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของอ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
krairach
วันที่ 14 ต.ค. 2555

กราบขอบพระคุณต่ออาจารย์ผเดิมและอาจารย์คำปั่นเป็นอย่างยิ่งนะครับที่ได้กรุณาให้ความกระจ่างในหลักธรรม เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันโดยแท้ครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ