กุศลกรรมทำให้มาก อาจตัดรอนอกุศลกรรมได้

 
mon-pat
วันที่  10 ต.ค. 2555
หมายเลข  21872
อ่าน  1,997

กุศลกรรมทำให้มาก อาจตัดรอนกุศลกรรมได้

การทำกรรมดี หรือกุศลกรรมให้มาก ย่อมอาจให้ผลตัดรอนอกุศลกรรมได้ อกุศลกรรมที่หนักที่แรง จำเป็นต้องมีกุศลกรรมที่หนักกว่า แรงกว่ามากๆ จึงจะสามารถตัดกันได้ทันท่วงที นั่นคือ แม้มีอกุศลกรรมที่ทำไว้แล้วมาส่งผล ทำให้ตกอยู่ในที่ร้อนที่คับขัน กุศลกรรมที่ทำอยู่แม้แรงกว่า หนักกว่า ย่อมจะสามารถตัดผลของอกุศลกรรมให้ขาดได้ในพริบตา มีตัวอย่างปรากฏให้รู้ให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ จึงไม่ควรลังเลที่จะทำความดีคือ กุศลกรรมให้มาก ให้สม่ำเสมอ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เรื่อง "อำนาจอันยิ่งใหญ่แห่งกรรม"

สงสัยว่า ในพระไตรปิฎกได้ทรงแสดงเรื่องนี้รึเปล่าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 11 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องกรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งมากครับ ในพระไตรปิฎกแสดงว่า กรรมมีมากมายหลากหลายนัย และอาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ ประการ เพราะ กรรมบางอย่างก็ไม่สามารถที่จะตัดรอนกรรมบางย่างได้ แต่เพียงบรรเทา ก็มี และกรรมบางอย่างจะให้ผล ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยอื่นๆ อีก ไม่ใช่เพียงกุศลกรรม อกุศลกรรมที่ทำเท่านั้น แต่ต้องอาศัยคติ คือ ภพภูมิที่เกิด อุปธิ รูปร่างหน้าตา กาล คือช่วงเวลาสมัยที่เกิดมีชีวิตอยู่ และปโยคะ ความเพียรที่เป็นไปในกุศล อกุศลด้วย จะเห็นนะครับว่า อาศัยเหตุปัจจัยหลากหลายนัย ซึ่งกรรมบางอย่างที่ทำแล้ว ต้องให้ผล ไม่สามารถที่จะห้ามได้ เช่น การทำกรรมหนัก มีอนันตริยกรรม มีการฆ่าบิดา มารดา เป็นต้น แม้จะทำกุศลมากมายเท่าไหร่ แต่ต้องเป็นไปตามกรรมหนักนั้น คือ เมื่อตายจากชาตินี้ไป ก็ต้องไปนรก ไม่สามารถจะไปสู่สุคติภูมิได้ ครับ

และแม้เป็นผู้ที่ทำกรรมดีมากมายเท่าไหร่ก็ตาม หากยังเป็นปุถุชน ก็ยังมีโอกาสที่จะไปนรกได้อีกเช่นกัน ซึ่งกรรมบางอย่างที่เป็นอกุศลกรรมในอดีตแสนโกฏิกัปป์ ก็สามารถมาให้ผลได้ โดยที่ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้เลย

นี่แสดงถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม และ ไม่ใช่สูตรเฉพาะตายตัวว่า เมื่อทำกุศลกรรมมากๆ ก็จะทำให้ตัดรอนได้ นั่นก็เท่ากับว่า เป็นการทำความดีเพื่อหวังผลให้ชีวิตที่ดี แต่การทำความดี ทำกุศล เพราะเป็นกุศล เป็นสิ่งที่ดีและทำเพื่อเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส สันดานของตน เพราะชื่อว่า บุญ หมายถึง สภาพธรรมที่ชำระล้างสันดาน ครับ

ดังนั้น ที่กล่าวมา มิได้หมายความว่า ทำกรรมดี แล้วจะมาตัดรอน หรือ สมัยนี้ก็อาจจะเอาความเข้าใจนี้ไปสงเคราะห์ว่า ไปตัดกรรม ซึ่ง ไม่มีใครไปทำอะไรกรรมได้ เพราะในสังสารวัฏฏ์ ทำกรรมมามากมายนับไม่ถ้วน ไม่ใช่เพียงชาติก่อน ชาตินี้เท่านั้น จึงไม่มีใครห้าม หรือ รู้ได้เลยว่ากรรมใดจะให้ผล และจะมาตัดรอนได้ นอกเสียจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น และกรรมบางอย่างก็มีกำลังมาก จนไม่สามารถตัดรอนได้ ยังจะต้องให้ผล ดังที่กล่าวมาในอนันตริยกรรม ครับ

ทำความดี เพราะ เป็นความดี ไม่ใช่เพื่อหวังผล และ ท่านอาจารย์สุจินต์ ได้กล่าวไว้ไพเราะที่ว่า ความดีทั้งหลาย ก็ไม่บริสุทธิ์ เพราะ เหตุว่า ขาดปัญญา เพราะฉะนั้น หากทำความดี เพราะปรารถนาให้มีความสุข ให้ตัดกรรม ตัดอกุศลกรรม ก็จะไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ไม่พ้นไปจากทุกข์ เพราะก็ต้องเป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิด และก็ต้องประสบทุกข์ไม่พ้นไปจากทุกข์ คือการทำอกุศลกรรมที่ได้ทำไว้ในอดีตมากมาย ครับ

ความดีที่บริสุทธิ์ คือ ความดีที่ประกอบด้วยปัญญา ที่เป็นหนทางดับทุกข์ คือการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ย่อมเป็นหนทางที่จะตัดรอน ตัดกรรมที่แท้จริง เพราะดับเหตุให้มีการทำกรรมคือ กิเลสทั้งหลายทั้งปวง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 11 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรื่องกรรมและการให้ผลของกรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก สำคัญที่ความเข้าใจว่าไม่พ้นไปจากธรรมที่มีจริง ไม่ว่าจะเป็นกรรม หรือ ผลของกรรม ก็เป็นธรรม ชีวิตประจำวัน ไม่พ้นไปจาก ๒ อย่างนี้เลย คือ อย่างหนึ่ง เป็นส่วนที่เป็นเหตุ คือ การสะสมเหตุที่เป็นกุศลกรรม กับ อกุศลกรรม สะสมสืบต่ออยู่ในจิต ไม่สูญหายไปไหน แต่ก็เป็นคนละส่วนกัน ไม่ปะปนกัน นี้คือ กล่าวถึงเฉพาะในชาตินี้ แต่ในชาติที่ผ่านๆ มา ก็กระทำกรรมมาไม่น้อยเลย ทั้งกุศลกรรม และ อกุศลกรรม โดยที่ไม่สามารถที่จะล่วงรู้ได้ว่า กรรมใดจะให้ผลเมื่อใด และอีกส่วนหนึ่ง เป็นการได้รับผลของกรรมที่เป็นวิบาก ไม่พ้นไปจากขณะที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายที่เกิดขึ้นเป็นไป เพราะมีกรรมเป็นปัจจัย โดยที่ไม่มีใครทำให้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

การรู้เรื่องกรรมและผลของกรรม ย่อมทำให้รู้ความจริงว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้าย หรือ เรื่องดีก็ตาม ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผู้อื่นเป็นผู้กระทำให้ แต่แท้ที่จริงแล้ว เกิดขึ้นเพราะตัวเราเอง เป็นผู้กระทำเหตุไว้แล้ว เหตุ ก็คือ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม อาจจะเป็นเหตุในชาตินี้ หรือเป็นเหตุในอดีตชาติที่ผ่านๆ มา ก็ได้ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะล่วงรู้ได้เลย

ความเป็นผู้มีปัญญาเข้าใจอย่างนี้ ย่อมจะทำให้เป็นผู้มีความมั่นคงในเรื่องกรรม และผลของกรรม อันจะเป็นเหตุทำให้กุศล (ความดี) ประการต่างๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวันได้ กล่าวได้ว่า เป็นการสะสมเหตุใหม่ที่ดี หลีกเลี่ยงจากเหตุที่จะทำให้จิตใจเดือดร้อนในภายหลัง ครับ

....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 11 ต.ค. 2555

ในพระไตรปิฎกมีแสดงไว้. มีโจรคนหนึ่งฆ่าคนมาตลอดเวลา ๕๕ ปี วันหนึ่งได้ทำบุญกับพระสารีบุตรและได้ฟังธรรม ท่านก็ไปเกิดในสวรรค์ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 12 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
mon-pat
วันที่ 12 ต.ค. 2555

กราบอนุโมทนา อ.paderm, อ.khampan และผู้ร่วมสนทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
bsomsuda
วันที่ 12 ต.ค. 2555

"แต่การทำความดี ทำกุศล เพราะเป็นกุศล

เป็นสิ่งที่ดีและทำเพื่อเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส สันดานของตน

เพราะชื่อว่า บุญ หมายถึง สภาพธรรมที่ชำระล้างสันดาน ครับ"

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.ผเดิม, อ.คำปั่น และทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ