คำถามในการฝึกปฏิบัติ

 
gavajidham
วันที่  12 ต.ค. 2555
หมายเลข  21879
อ่าน  1,239

๑. ในขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถามว่า เวทนา สัญญา สังขาร (ความคิด) ทั้ง ๓ ตัวนี้เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะเดียวกันเลยหรือไม่เมื่อมีจิตเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์แล้ว.

๒. ตัวตัณหา, ตัวอุปาทาน ที่เกิดขึ้นในขณะใดนั้น-ยังเป็นเพียงแค่ความคิดเท่านั้นเอง ... ยังมิได้เกิดเป็นการกระทำใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่เมื่อหลุดไปจากอุปาทานแล้วจึงเกิดเป็นการกระทำทางวาจาขึ้นแม้แต่จะพูดกับตัวเอง จนถึงขั้นเป็นการกระทำทางกายขึ้น (องค์ภพ) ใช่หรือไม่

๓. ในเวทนานุปัสสนา-ในจิตตานุปัสสนา-สติระลึกรู้ในเวทนา-ในจิต-ระลึกรู้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็พอ-หรือนานแค่ไหน / ช่วยกรุณาชี้แนะด้วย และหลังจากนั้นให้ถือวางเป็นอุเบกขา แล้วก็ดำเนินชีวิตตามปกติต่อไป ใช่หรือไม่ ต่อจากนั้นหากมีผัสสะใดๆ เกิดขึ้นมาใหม่-ก็ให้มีสติระลึกรู้ใหม่ในลักษณะเดิมใช่หรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

- พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะแสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง และเป็นสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ด้วย สำคัญที่การค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ เพราะเวลาฟัง เวลาศึกษานั้น จะไม่พ้นไปจากคำหรือพยัญชนะต่างๆ เช่น ขันธ์ บ้าง สังขาร บ้าง ธาตุ บ้าง เป็นต้น ทั้งหมดก็แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่เคยรู้ว่าเป็นธรรม จากการที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็จะเข้าใจว่า สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ได้แก่ จิต กับ เจตสิก นั้น จะเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และ อาศัยที่เกิดที่เดียวกัน ดังนั้น ไม่ใช่ว่าจะเกิดเฉพาะจิต หรือ จะเกิดเฉพาะเจตสิกเท่านั้น ต้องเกิดพร้อมกัน และเจตสิกแต่ละประเภทๆ นั้น ก็เกิดตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่ว่า เจตสิกทั้ง ๕๒ จะเกิดพร้อมกันทีเดียวทั้งหมด ก็ต้องตามควรแก่จิตนั้นๆ จริงๆ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และ นามธรรมนี้ จะไม่ปะปนกับรูปธรรม แต่ก็เป็นปัจจัยให้นามธรรมเกิดได้ อย่างเช่น ขณะที่เห็น ขณะหนึ่งเกิดขึ้น ขณะนั้น มีขันธ์ ทั้ง ๕ ครบเลย (จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ความจริงเป็นเช่นนี้) ได้แก่ สีที่ปรากฏทางตา เป็นรูปธรรม อีกทั้งขณะที่จิตเห็นเกิดขึ้นนั้น ก็ต้องมีที่เกิดของจิตเห็น คือ จักขุปสาทะ (ก็เป็นรูปธรรม) เวทนา ก็เกิดร่วมกับจิตเห็น (เวทนาขันธ์) สัญญา ก็เกิดร่วมกับจิตเห็น (สัญญาขันธ์) และเจตสิกที่เหลือ คือ ผัสสะ เจตนา เอกัคคตา ชีวิตินทรียะ และ มนสิการะ ก็เป็นสังขารขันธ์ จิตเห็นคือจักขุวิญญาณ เป็น วิญญาณขันธ์

- การกระทำที่เป็นอกุศลกรรม เป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างแท้จริง มีความติดข้องเกิดขึ้นเป็นไป เมื่อสะสมมากขึ้นมีกำลังมากขึ้น ก็เป็นเหตุให้ประพฤติทุจริตกรรมประการต่างๆ เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้าได้

จะเห็นได้ว่า ที่เป็นผู้มีกิเลสที่มีกำลังก็เพราะมาจาก การสะสมทีละเล็กทีละน้อย นั่นเอง ซึ่งจะประมาทไม่ได้เลย เนื่องจากว่ากิเลสไม่ได้อยู่ในตำรา แต่อยู่ที่การสะสมของแต่ละบุคคล

- สภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริง นั้น ควรรู้ ควรศึกษาให้เข้าใจ และไม่ใช่เป็นการเจาะจงที่จะรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดโดยเฉพาะเท่านั้น ควรรู้ ควรศึกษาทั้งหมด ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย สิ่งที่มีจริงนั้นเป็นที่ตั้งให้สติปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ แต่ต้องมีเหตุ ก็คือ การสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงให้ขณะนี้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 13 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ในขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ถามว่า เวทนา สัญญา สังขาร (ความคิด) ทั้ง ๓ ตัวนี้เกิดขึ้น พร้อมกันในขณะเดียวกันเลยหรือไม่เมื่อมีจิตเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์แล้ว.

เวทนา คือ ความรู้สึก เวทนาเจตสิกเกิดขึ้นกับจิตทุกประเภท ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น ก็ต้องมีเวทนาเกิดร่วมด้วย ครับ

สัญญา คือ ความจำ สัญญาเจตสิก เกิดกับจิตทุกประเภท ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น ก็ต้องมีสัญญาเกิดร่วมด้วย ครับ

ส่วนสังขาร ในขันธ์ ๕ ไม่ได้หมายถึง ความคิด ครับ แต่ หมายถึง สภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต เกิดร่วมกับจิต ที่เป็น เจตสิก ๕๐ ดวง มี โลภะ โทสะ ผัสสะ หิริ โอตัปปะ เป็นต้น ซึ่งสังขารขันธ์ ที่เป็นเจตสิก ๕๐ ดวงนั้น เจตสิกบางประเภทเกิดร่วมกับจิตทุกประเภท บางประเภทเกิดร่วมกับจิตบางประเภท เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตเกิดขึ้นไม่ว่าประเภทอะไร จะต้องรู้อารมณ์ จะต้องมีเจตสิเกิดร่วมด้วย อย่างน้อย ๗ ประเภท มี เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เกิดพร้อมกันในขณะนั้น และ ในสังขารขันธ์ ก็มีเจตสิกบางประเภทเกิดพร้อมกัน กับ เวทนา สัญญา มี ผัสสะ มนสิการ ชีวิตรินทริยเจตสิก เป็นต้น ครับ

๒. ตัวตัณหา, ตัวอุปาทาน ที่เกิดขึ้นในขณะใดนั้น-ยังเป็นเพียงแค่ความคิดเท่านั้นเอง ... ยังมิได้เกิดเป็นการกระทำใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่เมื่อหลุดไปจากอุปาทานแล้ว จีงเกิดเป็นการกระทำทางวาจาขึ้นแม้แต่จะพูดกับตัวเอง จนถึงขั้นเป็นการกระทำทางกายขึ้น (องค์ภพ) ใช่หรือไม่

- ตัณหา และ อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำทางกาย วาจาที่เป็นอกุศลได้ ซึ่งองค์ภพ คือ ขณะที่เป็นกัมมภพที่เป็นการกระทำกุศลกรรม อกุศลกรรม ซึ่งขณะที่ทำกรรมทางกาย วาจา ที่อาศัย ตัณหา และ ปุทาน จนมีกำลัง ถึงการฆ่าสัตว์ ที่ครบกรรมบถ ทางกาย วาจา เป็นกัมมภพ ครับ

๓. ในเวทนานุปัสสนา-ในจิตตานุปัสสนา-สติระลึกรู้ในเวทนา-ในจิต-ระลึกรู้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็พอ-หรือนานแค่ไหน / ช่วยกรณาชี้แนะด้วย และหลังจากนั้นให้ถือวางเป็นอุเบกขา แล้วก็ดำเนินชีวิตตามปกติต่อไป ใช่หรือไม่ ต่อจากนั้นหากมีผัสสะใดๆ เกิดขึ้นมาใหม่-ก็ให้มีสติระลึกรู้ใหม่ในลักษณะเดิมใช่หรือไม่

- ขอให้เริ่มจากความเข้าใจเบื้องต้นที่ถูกต้องครับว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แม้สติแลปัญญาก็เป็นธรรมและบังคับไม่ได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่มีเราที่จะเลือกที่จะให้สติเกิดที่รูป หรือ นามใด จะให้นานแค่ไหน เพราะขณะที่เลือกขณะนั้นเป็นเราด้วยโลภะ ที่สำคัญ ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะขณะนั้นเป็นเพียงการคิดถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว ไม่ได้รู้ลักษณะของเวทนา จิต หรือ สภาพธรรมนั้นจริงๆ ในขณะปัจจุบัน ครับ

ดังนั้น หนทางที่ถูก เริ่มจากากรฟังให้เข้าใจในสภาพธรรมไปเรื่อยๆ ในหนทางนี้ แล้วสติและปัญญาจะเกิดเอง จะเลือกรู้ธรรมโดยไม่รู้เลยว่าจะเลือกรู้ลักษณะสภาพธรรมอะไรก่อน เพราะเป็นหน้าที่ของธรรมไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
peem
วันที่ 13 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
daris
วันที่ 13 ต.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ประสาน
วันที่ 14 ต.ค. 2555

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 18 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
songjea
วันที่ 19 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนากับผู้ถามผู้ใคร่ต่อพระธรรม และผู้ตอบซึ่งกรุณาตอบอย่างละเอียดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Nataya
วันที่ 26 พ.ค. 2563

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ