การสรรเสริญเปล่า การตำหนิเปล่า
มีพุทธพจน์หนึ่งซึ่งผมจำรายละเอียดไม่ได้ครับ ที่แสดงประมาณว่า บัณฑิต/ผู้มีปัญญา/กุศล ... แม้ผู้อื่นจะตำหนิ ก็ตำหนิเปล่า ส่วนคนพาล/อกุศล แม้ผู้อื่นจะสรรเสริญ การสรรเสริญนั้น ก็สรรเสริญเปล่า ...
ไม่ทราบว่าอยู่ในส่วนใดของพระไตรปิฎกครับ เรียนท่านผู้รู้ครับ
ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ 89
สิริมาเถรคาถา
ว่าด้วยคาถาของพระสิริมาเถระ
[๒๗๗] ได้ยินว่า พระสิริมาเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า
ถ้าคนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถึงชนเหล่าอื่นจะสรรเสริญ ชนเหล่าอื่นก็สรรเสริญเปล่า เพราะตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถ้าตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ถึงชนเหล่าอื่นจะติเตียน ชนเหล่าอื่นก็ติเตียนเปล่า เพราะตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว.
ขอเล่า พระสูตรนี้ ที่แสดงถึงความเป็นมาของคาถาที่พระเถระได้กล่าวไว้ ครับ
เรื่องมีอยู่ว่า ในสมัยพุทธกาล มีเด็กสองคนเกิดขึ้น คนแรก ชื่อว่า สิริมา อีกคนเป็นน้องชาย ชื่อ สิริวัฒฆ์ เมื่อโตขึ้นได้มีโอกาสฟังพระธรรม มีศรัทธา จึงออกบวชทั้งคู่ พี่ชายชื่อ สิริมา เมื่อบวชแล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนน้องชาย ชื่อ สิริวัฒฆ์ ไม่ได้บรรลุธรรม แต่ได้เป็นผู้เลิศในลาภ สักการะ ส่วนพี่ชายท่านพระสิริมา ท่านบรรลุธรรม แต่ด้วยอกุศลกรรมตัดรอน ทำให้เป็นผู้มีลาภน้อย ครับ
ภิกษุ สามเณรผู้เป็นปุถุชน เมื่อจะชม ก็ชม สรรเสริญ พระสิริวัฒฆ์ แต่ไม่สรรเสริญท่านพระสิริมา ผู้เป็นพระอรหันต์ เพราะ ความเป็นผู้ที่มีลาภน้อย จะเห็นนะครับว่า เป็นธรรมดาของโลก สำหรับปุถุชน เมื่อจะยกย่องนับถือใคร ก็ดูที่ภายนอก ที่ความเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติ ปัจจัยมาก ความเป็นผู้มียศ ตำแหน่ง แต่ไม่ได้นับถือ ที่คุณธรรม ความดีเป็นสำคัญ เพราะ เมื่อตนไม่เป็นผู้มีความดี จึงยกย่องสิ่งที่ไม่ใช่ความดี และติเตียน ไม่ยกย่องสิ่งที่เป็นความดีท่านพระสิริมา ผู้เป็นพี่ชาย ที่เป็นพระอรหันต์ เห็นความจริง และ แสดงโทษของปุถุชน ที่ยกย่อง และ ติเตียนในสิ่งที่ไม่สมควร ท่านจึงได้กล่าวคาถาว่า
ถ้าคนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถึงชนเหล่าอื่นจะสรรเสริญ ชนเหล่าอื่นก็สรรเสริญเปล่า เพราะตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถ้าตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ถึงชนเหล่าอื่นจะติเตียน ชนเหล่าอื่นก็ติเตียนเปล่า เพราะตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว.
อธิบายว่า ผู้ที่ยังมากไปด้วยกิเลส เต็มไปด้วยกิเลส ไม่บรรลุธรรม เป็นผุู้มีจิตไม่ตั้งมั่น แม้จะสรรเสริญว่า เป็นผู้มีคุณธรรม อย่างไรก็ตาม ก็ชื่อว่า เป็นการสรรเสริญเปล่า เพราะเป็นสิ่งที่ไม่จริง ส่วนผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว บรรลุธรรม แม้จะมีผู้อื่นติเตียน การติเตียนนั้นก็เปล่า เพราะไม่จริง เพราะบุคคลนั้นมีจิตตั้งมั่นในคุณธรรมแล้ว ครับ
อีกนัยหนึ่ง
ผู้ที่เป็นปุถุชน ขณะที่มีจิตไม่ตั้งมั่น คือ เป็นอกุศลจิตในขณะนั้น เมื่ออาศัย อกุศล มีโลภะ ความลำเอียงเพราะ รัก เป็นต้น จึงสรรเสริญผู้นั้น เพราะอำนาจ อกุศล การสรรเสริญนั้น ก็เป็นการสรรเสริญเปล่า เพราะ ด้วยจิตเป็นอกุศล และ เพราะบุคคลที่สรรเสริญไม่เป็นเช่นนั้น เพราะว่า สรรเสริญด้วยจิตที่ไม่ตั้งมั่นด้วยอกุศลจิต ส่วนหากติเตียนคนอื่นด้วยอกุศลจิต ด้วยความไม่ชอบในคนนั้น ด้วยสิ่งที่ไม่จริงในคนนั้น การติเตียนนั้นก็เปล่า เพราะตนมีจิตไม่ตั้งมั่น คือ เป็นอกุศลจิตในขณะนั้น และ ผู้ที่ถูกติเตียนก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ครับ
ดังนั้น การติเตียน และการยกย่องสรรเสริญของคนพาล ไม่เป็นประมาณ เพราะไม่ได้มองที่คุณธรรม แต่มองที่ลาภสักการะ ยศ ชื่อเสียง แต่การติเตียนของผู้มีปัญญา เป็นบัณฑิต เป็นประมาณ คือ ควรเคารพเชื่อถือ เพราะ พิจารณาที่ตัวธรรม ความไม่ดี ความดี เป็นสำคัญ จึงติเตียน และ สรรเสริญ
สมดังที่พระมหากัจจายานะ กล่าวว่า บุคคลไม่เป็นโจรเพราะคำพูดของคนอื่น และไม่เป็นบัณฑิต เพราะคำพูดของคนอื่น ตนเองและเทวดา ผู้รู้จิต และผู้มีปัญญาย่อมรู้บุคคลนั้นดี
ที่สำคัญ ในชีวิตประจำวัน ก็มีการสรรเสริญ นินทา ติเตียนอันเป็นธรรมดาของโลก ซึ่งในความเป็นจริง ผู้ที่เป็นปุถุชนก็ยังไม่พ้นจากความเป็นพาล
ประโยชน์ที่สำคัญ คือ การพิจารณา อกุศลจิตของตนเอง เป็นสำคัญ อนุโมทนาในความดีของผู้อื่น และ เห็นอกุศลของคนอื่น เพื่อพิจารณา น้อมมาขัดเกลา กิเลสของตนเอง ดังนั้น เมื่อได้ยินคำที่ติเตียน ก็ไม่ใช่พิจารณาคนอื่น ว่าเขาเป็นพาล หรือบัณฑิตที่ว่าเรา แต่พิจารณาว่า เป็นจริงหรือไม่ ตามคำที่เขากล่าว เมื่อเป็นจริง ก็น้อมรับด้วยใจ คือ เป็นผู้เห็นโทษของกิเลสของตน ด้วยการที่จะขัดเกลากิเลส ด้วยหนทางเดียว คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมมากขึ้น แต่หากไม่เป็นจริง ตามคำคนอื่นพูด ก็พิจารณาตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมดาของการได้ยินคำเหล่านี้ ไม่มีใครทำให้ กรรมของตนเองเท่านั้นที่ทำ และ ไม่ประมาทที่จะพิจารณาว่า กิเลสก็สามารถเกิดได้ ตามที่ผู้อื่นติเตียน ก็ไม่ประมาทในการอบรมปัญญา ศึกษาพระธรรม
ส่วนผู้ใดสรรเสริญ ก็พิจารณาว่า เป็นจริงตามที่กล่าวหรือไม่ โดยไม่มุ่งพิจารณาคนอื่นพูดเป็นสำคัญ และ ระลึกเสมอว่า คำสรรเสริญ ไม่สามารถทำให้กิเลส ละได้ แต่ปัญญาทำหน้าที่ละกิเลส ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แต่ละคนก็มีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ ซึ่ง ทั้งหมด ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของ ธรรม ที่เป็นกุศลธรรมบ้าง อกุศลธรรมบ้าง
สำหรับ ผู้ที่ดับกิเลสทั้งปวง ได้อย่างหมดสิ้นแล้ว ถึงความเป็นพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ไม่ว่าจะประสบกับอารมณ์ประเภทใด น่าปรารถนา หรือ ไม่น่าปรารถนา ก็ไม่เป็นเหตุให้กิเลสเกิดขึ้นอีกเลย ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคำนินทา หรือสรรเสริญ ตลอดจนถึง โลกธรรมประการต่างๆ ก็ไม่เป็นเหตุให้พระอรหันต์เป็นผู้ที่หวั่นไหวไปได้เลย
พระอรหันต์ เป็นผู้ที่ดับกิเลสทั้งปวง ได้อย่างหมดสิ้นแล้ว แต่เรา ยังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคลขั้นใดๆ เลย ยังเต็มไปด้วยกิเลส ถ้ายังประมาทมัวเมา ก็นับวัน แต่จะพอกพูนกิเลสให้หนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป ดีหรือไม่ดีอย่างไร ตนเองเท่านั้นที่รู้ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำพูดของบุคคลอื่น สิ่งที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตจริงๆ คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งจะมีได้ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ค่อยๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"บุคคลไม่เป็นโจรเพราะคำพูดของคนอื่น และ ไม่เป็นบัณฑิตเพราะคำพูดของคนอื่น ตนเองและเทวดาผู้รู้จิตและผู้มีปัญญาย่อมรู้บุคคลนั้นดี"
"ดีหรือไม่ดีอย่างไรตนเองเท่านั้นที่่รู้ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำพูดของบุคคลอื่น"
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.ผเดิม, อ.คำปั่นและทุกๆ ท่านครับ