ปโยควิบัติ ปโยคสมบัติ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. ปโยคสมบัติ เป็นความเพียรประกอบทั้งทางกุศลและอกุศลใช่มั้ยคะ หากเพียรทางกุศลก็จะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งให้กุศลกรรมจากอดีตส่งผลในชาติปัจจุบัน หากเพียรทางอกุศลแบบคนที่ทำงานทั่วไป (อกุศลจิต) ก็จะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งให้กุศลกรรมและอกุศลกรรมจากอดีตส่งผลในชาติปัจจุบัน ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกมั้ยคะ
- ในพระอภิธรรมปิฎก แสดงปโยคสมบัติ คือเป็นผู้ปรารภความเพียรในทางกุศลธรรม คือการทำความดีประการต่างๆ มีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น ส่วนปโยควิบัติ คือความเพียรที่เป็นไปในทางการทำอกุศลกรรม มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้นดังนั้น โดยนัยพระสูตร แสดงถึงการทำความเพียรทางโลก เมื่อเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน แต่ประกอบในอาชีพที่สุจริต ก็ย่อมจะได้ผลที่ดีมากกว่าคนที่เกียจคร้าน แต่ถ้าพิจารณาให้ละเอียด การที่จะได้สิ่งใดมานั้น หากไม่มีผลของกุศลกรรมที่ทำไว้ ก็ย่อมไม่ได้ ดังนั้น จึงมีกรรมเป็นปัจจัยสำคัญ แม้จะเพียรในปัจจุบัน แต่อกุศลกรรมที่ทำในปัจจุบัน คือเพียรในการทำอกุศล ก็จะทำให้อกุศลกรรมในอดีตมาให้ผล เพราะปโยควิบัต คือความเพียรในอกุศลกรรมเป็นปัจจัย ครับ โดยนัยตรงกันข้าม ผู้ที่เพียรในทางกุศลกรรมในปัจจุบัน ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้กุศลกรรมในอดีตให้ผลมากขึ้น ครับ
แต่เราจะต้องเข้าใจ ความเพียร มุ่งหมายถึงจะต้องเป็นไปในกุศลกรรมและอกุศลกรรม คือไม่ใช่เพียงอกุศลจิตเท่านั้น ครับ เพราะอกุศลจิตในการทำงาน สะสมเป็นอุปนิสัย ไม่ได้ให้ผลเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น มุ่งหมายถึงความเพียรในการทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่ครบกรรมบถ เช่น การฆ่าสัตว์ หรือ ทางกุศล เช่น การให้ทาน รักษาศีล ย่อมจะเป็นปัจจัยให้กุศลกรรม อกุศลกรรมในอดีตมาให้ผลได้ ครับ
๒. คนที่เพียรประกอบในทางอกุศล แต่เป็นอกุศลจิต เช่น เพียรด้วยโลภะ โทสะ ในการงานทางโลกต่างๆ เพื่อให้การงานสำเร็จ เป็นปโยคสมบัติใช่มั้ยคะ
- ในความเป็นจริง ก็ต้องพิจารณาสภาพจิตเป็นสำคัญ เพียรด้วยอกุศลจิตจะเป็นปัจจัยให้วิบาก คือกุศลกรรมให้ผลได้หรือไม่ เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันก็มีกุศล อกุศล สลับกันไปเป็นปกติ โดยมีอกุศลมากกว่า แต่ขณะใด ที่เพียรไปในทางการทำความดีที่เป็นกุศลกรรม ย่อมเป็นปโยคสมบัติ แต่ถ้าเพียรไปในทางอกุศลกรรม ย่อมเป็นปโยควิบัติ
แต่เมื่อกล่าวโดยนัยพระสูตร ซึ่งเป็นนัยโดยการยกตัวอย่าง ผู้ทำความเพียร ประกอบการงาน ย่อมจะได้รับสิ่งที่ดีกว่าคนที่เกียจคร้านไม่ทำอะไรเลย ก็เป็นปโยคสมบัติ ตามนัยพระสูตร แต่เมื่อพิจารณาละเอียด ย่อมจะรู้ตามความเป็นจริงว่า การจะได้สิ่งที่ดีย่อมเกิดจากปัจจัย คือกุศลกรรมในปัจจุบัน (ปโยคสมบัติ) โดยนัยสภาพจิตที่เป็นพระอภิธรรม จึงมุ่งหมายถึงความเพียรในการทำกุศลกรรม ครับ
๓. คนที่เพียรประกอบในทางอกุศลที่เป็นอกุศลกรรม เช่น พูดคำหยาบอยู่เนืองๆ พูดส่อเสียดอยู่เนืองๆ พูดโกหกอยู่เนืองๆ ฯลฯ เป็นปโยคสมบัติหรือปโยควิบัติคะ
- แน่นอนครับว่า จะต้องเป็นความเพียรที่เป็นไปในทางอกุศลกรรม จึงเป็นปโยควิบัติ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ปโยคสมบัติ หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยการประกอบ คือความเพียรในการเจริญกุศล ทำความดีประการต่างๆ แต่ถ้าเป็น ปโยควิบัติ แล้ว ตรงกันข้ามกับปโยคสมบัติเพราะเป็นความเพียรที่ไม่ดี เป็นความเพียรที่เป็นไปในการประกอบอกุศลกรรมประการต่างๆ เมื่อศึกษาพระธรรม ก็จะเข้าใจว่า ความเพียร เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดร่วมกับกุศลก็ได้ เกิดร่วมกับอกุศลก็ได้ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งจะเห็นได้ว่า เพียรทำดีก็มี เพียรทำชั่วก็มี เป็นธรรมที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ถ้ามีความเพียรในการกระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ อยู่เสมอ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็ย่อมจะเอื้ออำนวยต่อการที่อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต มีโอกาสให้ผลได้ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับผู้ที่มีความเพียรในการเจริญกุศลประการต่างๆ ไม่ประมาทในชีวิต ก็ย่อมจะเอื้ออำนวย ต่อการที่กุศลกรรมที่กระทำแล้วในอดีตให้ผลได้ ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยทั้งสิ้น
เรื่องกรรม ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เราไม่สามารถรู้ได้ว่า กรรมใดจะให้ผลเมื่อใด ที่ดีที่สุดแล้วคือ เป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ประมาททั้งกำลังของอกุศลและไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะกุศลธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง อกุศลธรรมเป็นที่พึ่งไม่ได้ มีแต่จะนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนโดยส่วนเดียว เท่านั้น ครับ
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...