ย่อมถึงความเป็นผู้มากมูนไพบูลย์ในกุศลธรรมไม่นานเลย

 
พิมพิชญา
วันที่  16 ต.ค. 2555
หมายเลข  21899
อ่าน  1,355

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

ปาปณิกสูตรที่ ๒

[๔๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการ ย่อมถึงความมีโภคทรัพย์มากมายเหลือเฟือไม่นานเลย องค์ ๓ ประการเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าในโลกนี้ เป็นคนที่มีตาดี ๑ มีธุระดี ๑ ถึงพร้อมด้วยบุคคลที่จะเป็นที่พึ่งได้ ๑ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่าเป็นคนมีตาดีอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าในโลกนี้ย่อมรู้สิ่งที่จะพึงซื้อขายว่า สิ่งที่พึงขายนี้ ซื้อมาเท่านี้ ขายไปเท่านี้ จักได้ทุนเท่านี้ มีกำไรเท่านี้ ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่าเป็นคนมีตาดี ด้วยอาการอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่ามีธุระดีอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าในโลกนี้ เป็นคนฉลาดที่จะซื้อและขายสิ่งที่ตนจะพึงซื้อขาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่าเป็นคนมีธุระดี ด้วยอาการอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคนซึ่งจะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าในโลกนี้ อันคฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีผู้มั่งคั่ง ผู้มีทรัพย์มากมีโภคะมาก ทราบได้เช่นนี้ว่า ท่านพ่อค้าผู้นี้แล เป็นคนมีตาดี มีธุระดี สามารถที่จะเลี้ยงบุตรภรรยา และใช้คืนให้แก่เราตามเวลาได้ เขาต่างก็เชื้อเชิญพ่อค้านั้นด้วยโภคะว่า แน่ะท่านพ่อค้าผู้สหาย แต่นี้ไปท่านจงนำเอาโภคะไปเลี้ยงดูบุตรภรรยา และใช้คืนให้แก่เราตามเวลา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยบุคคลซึ่งเป็นที่พึ่งได้ ด้วยอาการอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๓ ประการนี้แล ย่อมจะถึงความมีโภคะมากมายเหลือเฟือไม่นานเลย ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมถึงความเป็นผู้มากมูนไพบูลย์ในกุศลธรรมไม่นานเลย

ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีจักษุ ๑ มีธุระดี ๑ ถึงพร้อมด้วยภิกษุพอจะเป็นที่พึ่งได้ ๑ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีจักษุอย่างไร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ... นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีจักษุอย่างนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีธุระดีอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่น ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีธุระดีอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยภิกษุพอจะเป็นที่พึ่งได้อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอเข้าไปหาภิกษุ ผู้เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ตามเวลา แล้วไต่ถาม สอบสวนว่า ท่านผู้เจริญ พระพุทธพจน์นี้อย่างไร ความแห่งพระพุทธพจน์นี้อย่างไร ท่านเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยธรรมที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำธรรมที่ยังมิได้ทำให้ตื้นแล้วให้ตื้น และย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมิใช่น้อยแก่ภิกษุนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยภิกษุพอจะเป็นที่พึ่งได้อย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมถึงความเป็นผู้มากมูนไพบูลย์ในกุศลธรรมทั้งหลายไม่นานเลย ฯ

จบรถการวรรคที่ ๒


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พิมพิชญา
วันที่ 16 ต.ค. 2555

กราบเรียนขอคำอธิบายขยายความ จากการอ่านพระสูตรนี้

1. รู้ชัดตามความเป็นจริง - ข้อความนี้หมายถึงปัญญาขั้นไหนคะ เป็น จิต เจตสิก อะไร

2. ปรารภความเพียร - การปรารภความเพียร สิ่งนี้เจริญมาจากอะไร อะไรเป็นเหตุให้การปรารภความเพียรเกิดขึ้น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 16 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. รู้ชัดตามความเป็นจริง - ข้อความนี้ หมายถึงปัญญาขั้นไหนคะ เป็น จิต เจตสิก อะไร

จากข้อความที่ยกมานั้น แสดงถึง การรู้ชัดตามความเป็นจริงของ อริยสัจ ๔ ซึ่งคำว่า รู้ชัดตามความเป็นจริง เป็นชื่อของปัญญา ซึ่งปัญญามีหลายระดับ แต่ในที่นี้ มุ่งหมาถึง ปัญญาระดับสูง ที่รู้ชัดในอริยสัจ ๔ ที่รู้ในความจริงของทุกข์ คือ ความเกิดขึ้น และดับไป ประจักษ์ตัวสภาพธรรมที่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา และ เป็นผู้เจริญปัญญา ที่เป็นขั้น วิปัสสนาญาณ จนถึง มรรคจิตที่รู้ชัด นิโรธ คือ พระนิพพาน ตามความเป็นจริงด้วยปัญญา และ รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ที่ปรากฏ ทั้งที่เป็นสังขารธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา และ รู้ชัดในวิสังขารธรรม ในนิโรธ คือ พระนิพพาน ด้วยมรรคจิต และ รู้ชัดด้วยปัญญา คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ที่เจริญ เพราะฉะนั้น จึงมุ่งหมายถึงปัญญาระดับสูง ที่เป็นวิปัสสนาญาณ และมรรคจิต ผลจิต ที่ประจักษ์อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ครับ

ส่วนเจตสิก คือ มี อโมหเจตสิก หรือ ปัญญา เป็นประธาน ในการรู้ชัดตามความเป็นจริงพร้อมๆ กับ โสภณสาธารณะเจตสิก คือ เจตสิกที่ดีงาม ที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ที่ประกอบกัน จึงจะรู้ได้ คือ สติ หิริ ศรัทธา อโลภะ อโทสะ เป็นต้น ครับ

2. ปรารภความเพียร - การปรารภความเพียร สิ่งนี้เจริญมาจากอะไร อะไรเป็นเหตุให้การปรารภความเพียรเกิดขึ้น

ปรารภความเพียร คือ ขณะที่ ปัญญา เกิดรู้ความจริงในขณะนั้น มี วิริยเจตสิก เกิดร่วมด้วย ชื่อว่า กำลังปรารภความเพียร โดยไม่มีตัวเราที่เพียร ส่วน เหตุ ให้เกิดความเพียร ก็คือ การอบรมปัญญาขั้นการฟัง ขั้นการศึกษาพระธรรม ปัญญาที่เจริญขึ้น ก็จะทำให้เกิดปัญญา พร้อมๆ กับวิริยะในระดับต่างๆ จนถึงปัญญาที่เกิดพร้อมกับวิริยเจตสิก ที่รู้ชัดตามความเป็นจริงในสภาพธรรม ชื่อว่า ปรารภความเพียร ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 16 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เพราะ ได้อาศัยกัลยาณมิตร ซึ่งเป็นบุคคล ผู้มีปัญญา สูงสุด คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทำให้ ได้ฟังพระธรรมคำสอนที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญา เมื่อเห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ย่อมจะมีความเพียร ไม่ท้อถอยในการที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป ในขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไปนั้น ความเพียร ก็เป็นความเพียรที่ถูกต้อง เป็นความเพียรชอบที่เกิดพร้อมกับโสภณธรรมประการอื่นๆ มีศรัทธา หิริโอตตัปปะ เป็นต้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งเจริญสมบูรณ์พร้อม ก็เป็นเหตุให้รู้ชัดตามความเป็นจริง ประจักษ์แจ้งพระนิพพานดับกิเสลได้ตามลำดับขั้น

ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ต้องอาศัย เหตุ ที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริง ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 16 ต.ค. 2555

รู้ชัดตามความเป็นจริง ต้องเป็นปัญญาขั้น วิปัสสนาญาน จึงจะประจักษแจ้งธรรม และรู้ชัดว่านามธรรมรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ต้องเป็นปัญญาของคนนั้นเอง จึงจะรู้ความต่างกันของธรรมแต่ละอย่าง ที่เกิดแล้วดับ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พิมพิชญา
วันที่ 18 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณมากค่ะ ขออนุโมทนา สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ