ความเห็นเกี่ยวกับความเห็น

 
WS202398
วันที่  17 ต.ค. 2555
หมายเลข  21914
อ่าน  1,137

เมื่อเคยเข้าใจผิด เห็นผิดมาก่อน แล้วต่อมาได้ฟังพระธรรม เกิดความเห็นที่ตรงขึ้นทำให้เห็นว่าปัญหาใหญ่คือความเห็นผิด เข้าใจผิด เข้าใจไปเอง หรืออื่นๆ ทำนองนี้ ซึ่งไม่ตรงกับพระพุทธพจน์ ไม่ตรงกับธรรมะ และทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นลำดับ

เพราะผู้ที่สนใจธรรมะ ฟังมาน้อย ไม่ฟังด้วยดี รู้ไม่ทั่วถึง ๓ ปิฎก มุ่งหาเหตุมาสนับสนุนความชอบใจของตน แทนที่จะตั้งเป้าว่า มุ่งหาความจริง ความตรง ไม่ปักใจว่าความเห็นที่ยึดถือนั้นถูกแล้วตรงแล้ว

เช่น เดิมผมได้ยินคำว่า ใช้อกุศลละอกุศล ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมมากขึ้น ก็คิดไปเอง เข้าใจไปเองว่า เอ มันจะเป็นไปได้หรือ แต่ก็เทียบเคียงเอาเองว่า ก็อยากดี อยากได้บุญ อยากปฏิบัติธรรม อยากรักษาศีล อยาก ฯลฯ มันเป็นโลภะ แต่ก็ทำให้คนได้ทำสิ่งที่คนเห็นว่าเป็นบุญ ประกอบกับต่อมาก็ได้ยินคำว่ากุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลก็ได้ อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลก็ได้ ก็เหมาเอา อนุมานเอาว่า พ้องกับ ใช้อกุศลละอกุศล

ต่อมาได้ฟังพระธรรมเพิ่มขึ้นอีก ทำให้เข้าใจตรงขึ้นอีกว่า ที่ว่าใช้อกุศลละอกุศล หมายความว่า เมื่อเกิดอกุศลแล้ว จิตระลึกรู้ว่าเป็นอกุศลแล้วละเสีย ข่มไว้ หรือใช้เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน แล้วแต่ระดับของสติปัญญา ซึ่งไม่ใช่ความเห็นที่ทำนองว่า เออ อกุศลก็ดีนะ ทำให้ทำกุศล ซึ่งผิด เพราะขณะเป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ขณะเป็นกุศลก็เป็นกุศล อกุศลมิใช่ปัจจัยโดยตรงให้เกิดกุศล แต่เป็นอารมณ์ของกุศลจิตในขณะถัดไปต่างหาก

พอเขียนมาถึงตรงนี้ ผมก็เกิดความรู้ความเห็น อันเกิดจากการพิจารณาธรรมะเมื่อกี้นี้ว่า ที่ว่าอกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล หมายความว่าขณะจิตที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล จะเป็นกุศลในขณะเดียวกันไม่ได้ แต่เนื่องจากว่าจิตขณะต่อๆ มา มีอกุศลในขณะก่อนเป็นอารมณ์ และมีสติเกิดร่วมด้วย ดังนั้นคำว่า อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล ปัจจัยนี้คืออารัมณปัจจัยใช่หรือไม่ครับ? ถ้าใช่ ผมสงสัยว่า เมื่อจิตที่เป็นอกุศลจิตดวงก่อนดับไป อะไรของอกุศลจิตที่ดับไปแล้วมาเป็นอารมณ์ของกุศลจิตดวงถัดมา จิตที่เป็นกุศลดวงถัดมารู้ว่าจิตดวงก่อนเป็นอกุศลด้วยกลไกอย่างไรครับ ในเมื่อจิตดวงก่อนที่เป็นอกุศลก็ดับไปแล้ว คือผมยังไม่ชำนาญเรื่องปัจจัยและวิถีจิตครับ หรือเป็นอย่างอื่น

นอกเหนือจากความเข้าใจของผมข้างต้น ผู้รู้ช่วยแนะนำด้วยครับ

จากทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้รู้สึกว่า การจะบอกต่อ พระธรรมยากมาก เพราะผู้มีอุปนิสัย คือเงี่ยโสตลงฟังก็ยาก หากเงี่ยโสตลงฟัง ก็มาต่อที่มีความเห็นคลาดเคลื่อนอีก และยึดมั่นความเห็นของตัวไว้อีก ไม่ยอมสอบสวนเพิ่ม ต่อมาก็ฟังไม่มาก ศึกษาไม่มาก ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่มีโอกาสเทียบเคียง ในพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม อรรถกถาต่างๆ ต่อมาอีก ก็มีคำสอนที่คลาดเคลื่อนมากมาย แถมท้าย ผู้ศึกษามามาก ที่จะชี้แจงได้ถูกต้อง ก็หาได้ยาก

ดังนั้น จึงพยายามเข้าใจผู้ที่เห็นผิด และเจริญเมตตาในผู้เห็นผิด เพราะเราก็ยังมีสิ่งที่ยังเห็นผิดอยู่เหมือนกัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
WS202398
วันที่ 17 ต.ค. 2555

บางครั้งเคยคิดครับว่า การกำจัดกิเลสนั้นยากที่สุดในไตรภพ แต่บางที บางคนก็อยากให้ง่ายๆ ทางลัดๆ

ส่วนตัวผม ผมเห็นว่าตัวผมเอง ฟังก็น้อยอยู่ พิจาณาก็น้อยอยู่ ลงแรงก็น้อยอยู่ ลงเวลาก็ยังน้อยอยู่ แล้วเอาอะไรมาเทียบว่าน้อย ก็เทียบกับพลังงานเวลาทุกๆ อย่างที่ใช้ไปกับการเรียน การทำงาน การแสวงหาสิ่งที่อยากได้ สิ่งที่ต้องการ มันมากกว่ามาก ผมเห็นว่าคนที่จะพอพูดได้ว่า ได้ทุ่มเทมาก เพียรมาก ต้องมีสัดส่วนเทียบเคียงที่เท่า หรือมากกว่า ซึ่งอย่างผม ปัญญาไม่มาก ก็ต้องเพียรมาก ลงเวลามาก แต่ก็น้อยครับ ถ้าเทียบกับที่ใช้ไปกับเรื่องทางโลกๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 18 ต.ค. 2555

เชิญสหายธรรมร่วมแสดงความคิดเห็น ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พิมพิชญา
วันที่ 18 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

ดิฉันเคยแนะนำให้มิตรสหายศึกษาพระธรรมจากพระไตรปิฎก แต่พอพวกเขาศึกษาไประยะหนึ่ง ก็จะเกิดข้อกังขาในพระธรรมคำสอนและในตัวอาจารย์ผู้เผยแพร่ เขาบอกว่า ไม่แน่ใจว่าที่ศึกษาอยู่ คือพระธรรมที่ถูกต้อง สำนักไหนๆ ก็บอกว่าตัวเองเห็นถูกทั้งนั้น เราจะรู้ได้ยังไงว่า ใครสอนถูก สอนผิด เพราะเป็นเรื่องความเห็น เขาก็เลยศึกษาไปทั่ว รับทุกอย่าง ทุกสำนัก ดิฉันก็โดนถามว่า รู้ได้ไงว่า ที่ศึกษาอยู่นั้นถูก รู้ได้ไงว่า คนสอนเห็นถูก รู้ได้ไงว่าที่อื่นเห็นผิด ดิฉันก็บอกให้เขาลองตั้งใจศึกษาดูก่อน แต่เขาก็บอกว่า ไม่เชื่อ ไม่แน่ใจ จะรู้ได้อย่างไรว่า พระไตรปิฎกสืบต่อกันมาถูกต้อง จะรู้ได้ยังไงว่า ผู้เผยแพร่ในยุคนี้สอนถูก และเห็นถูก แล้วเขาก็สรุปว่า เราควรทำกุศลเยอะๆ แล้วอธิษฐานขอไปเกิดในยุคพุทธกาลดีกว่า จะได้เจอคำสอนที่ถูกต้องแน่ๆ

ดิฉันเอง พอเจอคนแบบนี้ ก็เลยยิ่งเห็นโทษภัยและอันตรายของความเห็นผิดมากขึ้นค่ะ ยิ่งทำให้ดิฉันเกิดศรัทธาในการศึกษาพระธรรมมากขึ้น เพราะคนเราทำกุศลเท่าไหร่ ก็ยังไม่พอ หากยังไม่เข้าใจพระธรรม หลายคนทำกุศลมามากในอดีตชาติ จนได้เกิดมาเป็นผู้สนใจในการถือศีล ทำทาน เกิดในยุคที่มีคำสอนครบถ้วน เกิดในยุคที่ยังมีอาจารย์ที่ช่วยอธิบาย ขยายความพระธรรมให้ตื้นขึ้น ก็ยังมองไม่เห็นคุณค่า มองทองแท้เป็นทองเทียม มองทองเทียมเป็นทองแท้ นี่เป็นตัวอย่างชัดเจนว่า ต่อให้ทำกุศลมากมายจนได้เกิดในยุคพุทธกาล หรือนั่งต่อหน้าพระพุทธเจ้า ก็ไม่มีทางจะเข้าใจพระธรรม หากไม่ได้สะสมความเข้าใจถูก หรือความเห็นถูกมา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
songjea
วันที่ 19 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณสำหรับทุกความเห็นครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
อารทธวิริโย
วันที่ 24 ต.ค. 2555
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 21914 ความคิดเห็นที่ 3 โดย พิมพิชญา

ขออนุโมทนาค่ะ

ดิฉันเคยแนะนำให้มิตรสหายศึกษาพระธรรมจากพระไตรปิฎก แต่พอพวกเขาศึกษาไประยะหนึ่งก็จะเกิดข้อกังขาในพระธรรมคำสอนและในตัวอาจารย์ผู้เผยแพร่ เขาบอกว่า ไม่แน่ใจว่าที่ศึกษาอยู่คือพระธรรมที่ถูกต้อง สำนักไหนๆ ก็บอกว่าตัวเองเห็นถูกทั้งนั้น เราจะรู้ได้ยังไงว่าใครสอนถูกสอนผิด เพราะเป็นเรื่องความเห็น เขาก็เลยศึกษาไปทั่ว รับทุกอย่างทุกสำนัก ดิฉันก็โดนถามว่า รู้ได้ไงว่าที่ศึกษาอยู่นั้นถูก รู้ได้ไงว่าคนสอนเห็นถูก รู้ได้ไงว่าที่อื่นเห็นผิด ดิฉันก็บอกให้เขาลองตั้งใจศึกษาดูก่อน แต่เขาก็บอกว่าไม่เชื่อ ไม่แน่ใจ จะรู้ได้อย่างไรว่าพระไตรปิฎกสืบต่อกันมาถูกต้อง จะรู้ได้ยังไงว่าผู้เผยแพร่ในยุคนี้สอนถูกและเห็นถูก แล้วเขาก็สรุปว่าเราควรทำกุศลเยอะๆ แล้วอธิืษฐานไปเกิดในยุคพุทธกาลดีกว่าจะได้เจอคำสอนที่ถูกต้องแน่ๆ ดิฉันเองพอเจอคนแบบนี้ก็เลยยิ่งเห็นโทษภัยและอันตรายของความเห็นผิดมากขึ้นค่ะ ยิ่งทำให้ดิฉันเกิดศรัทธาในการศึกษาพระธรรมมากขึ้น เพราะคนเราทำกุศลเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ หากยังไม่เข้าใจพระธรรม หลายคนทำกุศลมามากในอดีตชาติ จนได้เกิดมาเป็นผู้สนใจในการถือศีลทำทาน เกิดในยุคที่มีคำสอนครบถ้วน เกิดในยุคที่ยังมีอาจารย์ที่ช่วยอธิบายขยายความพระธรรมให้ตื้นขึ้น ก็ยังมองไม่เห็นคุณค่า มองทองแท้เป็นทองเทียม มองทองเทียมเป็นทองแท้ นี่เป็นตัวอย่างชัดเจนว่า ต่อให้ทำกุศลมากมายจนได้เกิดในยุคพุทธกาล หรือนั่งต่อหน้าพระพุทธเจ้า ก็ไม่มีทางจะเข้าใจพระธรรมหากไม่ได้สะสมความเข้าใจถูกหรือความเห็นถูกมา

ถึงเขาได้ไปเกิดในสมัยพุทธกาลก็คงยากที่จะเชื่ออยู่ดี เพราะเขาอาจจะย้อนถามพระพุทธเจ้าก็ได้ว่า ท่านรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่ท่านตรัสรู้มานั้นถูกต้อง แต่เขาคงไม่ได้ใคร่ครวญ ให้มากพอว่า คำสอนไม่ใช่ คำ หรือชื่อ หรืออยู่ที่พระพุทธองค์ แต่หมายเอา สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ ทั้งๆ ที่ปรากฏให้สติระลึก ให้ปัญญารู้ได้ ดังนั้น เขาจึงไม่เชื่อ เพราะไม่เข้าใจความเป็นเหตุและผลของสภาพธรรม และก็จะสั่งสมความไม่เชื่อเรื่อยไป อันตรายจริงๆ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ