เหตุที่ฟังสัทธรรมแล้วไม่เข้าถึง

 
พิมพิชญา
วันที่  18 ต.ค. 2555
หมายเลข  21924
อ่าน  2,905

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 322

. ตติยสัทธัมมนิยามสูตร

ว่าด้วยธรรมของผู้เข้าถึงและไม่เข้าถึงกุศล

[๑๕๓]  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วย ธรรม ๕ ประการ แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควรเพื่อหยั่งลงสู่นิยาม คือ ความถูกในกุศลธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลเป็นผู้ลบหลู่คุณท่าน ฟังธรรม ๑ เป็นผู้อันความลบหลู่ครอบงำ มีจิตแข่งดีฟังธรรม ๑ เป็นผู้แสวงโทษ มีจิตกระทบในผู้แสดงธรรม มีจิตกระด้าง ๑ เป็นผู้มีปัญญาทราม โง่เง่า ๑ เป็นผู้มีความถือตัวว่าเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล แม้ฟังสัทธรรมอยู่ ก็เป็นผู้ไม่ควร เพื่อหยั่งลงสู่นิยาม คือ ความถูกในกุศลธรรม.

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ฟังสัทธรรมอยู่ เป็นผู้ควร เพื่อหยั่งลงสู่นิยาม คือ ความถูกในกุศลธรรม ธรรม ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมไม่เป็นผู้ลบหลู่คุณท่าน ฟังธรรม ๑ เป็นผู้อันความลบหลู่ไม่ครอบงำ ไม่มีจิตแข่งดีฟังธรรม ๑ เป็นผู้ไม่แสวงโทษ ไม่มีจิตกระทบในผู้แสดงธรรม ไม่มีจิตกระด้าง ๑ เป็นผู้มีปัญญา ไม่โง่เง่า ๑ ไม่เป็นผู้มีความถือตัว ว่าเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคล ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล ฟังสัทธรรมอยู่ เป็นผู้ควร เพื่อหยั่งลงสู่นิยาม คือ ความถูกในกุศลธรรม.

จบตติยสัทธัมมนิยามสูตรที่ ๓

อรรถกถาตติยสัทธัมมนิยามสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในตติยสัทธัมมนิยามสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า มกฺขี ธมฺม สุณาติ ได้แก่ เป็นผู้มักลบหลู่ ฟังธรรม ด้วยจิตลบหลู่คุณท่าน.

บทว่า สอุปารมฺภจิตฺโต คือ มีจิตยกขึ้นเพื่อข่ม.

บทว่า รนฺธคเวสี คือ หาช่องจับผิด.

จบอรรถกถาตติยสัทธัมมนิยามสูตรที่ ๓


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ในความเข้าใจถูกมากขึ้น ครับ

ผู้ไม่ควรเพื่อหยั่งลงสู่นิยาม คือ ความถูกในกุศลธรรม หมายถึง ไม่สามารถที่จะเข้าใจถูก เกิดปัญญา ความเข้าใจพระธรรม ในหนทางการดับกิเลส เป็นต้น ครับ

ซึ่งจากพระสูตรที่กล่าวมานั้น มีธรรม ๕ ประการ ที่ทำให้ไม่สามารถ ทำให้เกิดปัญญา ไม่สามารถทำให้เกิดความเข้าใจในขณะที่ฟังธรรม

๑. บุคคลเป็นผู้ลบหลู่คุณท่าน ฟังธรรม

ในความละเอียดนั้น ผู้ที่ลบหลู่คุณท่าน หมายถึง เพราะมีความไม่ชอบด้วยโทสะ จึงลบหลู่คุณของผู้ที่กล่าวธรรม ลบหลู่ ในที่นี้หมายถึงมีจิตที่ลบหลู่คุณธรรมของผู้ที่กล่าวธรรม ว่าไม่มีคุณธรรม เป็นต้น และอีกนัยหนึ่ง การลบหลู่คุณเป็นการปกปิดคุณความดีของผู้อื่นตามความเป็นจริง เพราะอาศัยความไม่ชอบ มีโทสะเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นเมื่อกำลังฟังธรรมอยู่ จิตในขณะนั้นก็มุ่งไปที่ผู้กล่าวสอนด้วยการอคติ ไม่ชอบ กำลังมีจิตที่คิดว่า (อคติ) ในคุณธรรมของผู้ที่กล่าวสอน ทำให้เกิดการไม่เชื่อถือ

ซึ่งขณะนั้น จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นไม่ได้เข้าใจธรรม เพราะกำลังเป็นอกุศล เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อไม่ได้กำลังพิจารณาพระธรรมที่ผู้อื่นกล่าว ก็ไม่เกิดความเข้าใจพระธรรม แม้ฟังสัทธรรมอยู่ก็ไม่ก้าวลงสู่กุศลธธรรมคือไม่เกิดปัญญา ความเข้าใจพระธรรม ในขณะนั้น ครับ

๒. เป็นผู้อันความลบหลู่ครอบงำ มีจิตแข่งดีฟังธรรม

ความแข่งดี คือ สภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นอกุศลจิต เพราะ อาศัยความไม่ชอบ ในบุคคลอื่น และ ความปรารถนาการได้ลาภ สักการะ ย่อมถึงการเป็นผู้แข่งดีคือเมื่อเห็นบุคคลที่ไม่ชอบ ทำสิ่งใดก็ย่อมเป็นผู้ปรารถนาที่จะกระทำสิ่งนั้นบ้าง เพราะด้วยจิตที่ต้องการแข่งดีกับผู้นั้น เพราะฉะนั้นการแข่งดี ไม่จำเป็นต้องแข่ง เพราะขณะที่จิตคิดจะแข่งกับคนอื่น ขณะนั้นเป็นอกุศลธรรม เมื่อขณะที่ฟังธรรมแล้วเกิดจิตคิดแข่งดีย่อมทนไม่ได้ในบุคคลที่ไม่ชอบ กำลังกล่าวธรรม ย่อมเกิดความแข่งดีขึ้นในใจด้วยจิตที่กระด้างอยากจะเอาชนะ เป็นต้น ต้องการแข่งดีกับผู้ที่กล่าว หรือต้องการแสดงธรรมบ้าง เพราะอาศัยการแข่งดี ขณะที่จิตเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นอกุศลธรรม ขณะนั้นไม่ได้ฟังพระธรรมแต่กำลังคิดด้วยอกุศลกับผู้ที่แสดงพระธรรม เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรมด้วยความเคารพก็ไม่เกิดปัญญา ความเข้าใจถูก ขณะนั้นก็ไม่หยั่งลงในกุศลธรรม ในขณะนั้น ครับ

ไม่หยั่งลง คือไม่เกิดปัญญา ความเห็นถูกนั่นเอง ครับ

๓. เป็นผู้แสวงโทษ มีจิตกระทบ ในผู้แสดงธรรม มีจิตกระด้าง

เพราะอาศัยกิเลส มี โทสะ เป็นต้น ที่เกิดความลำเอียงเพราะไม่ชอบเป็นปัจจัยในผู้แสดงธรรม ย่อมเกิดจิตอกุศลในขณะที่ผู้กล่าวแสดงธรรม คือเกิดความไม่ชอบ เกิดโทสะ ในขณะนั้นมีจิตกระด้างด้วยมานะ ด้วยความเปรียบเทียบ ถือตัว ขณะนั้นเกิดจิตอกุศลย่อมไม่ได้ฟังธรรม อ่านพระธรรม พิจารณาธรรม ในขณะนั้นก็ทำให้ไม่ได้สาระจากการฟังพระธรรม ก็ไม่เกิดความเข้าใจ ในขณะนั้นจึงไม่หยั่งลงในกุศลธรรม คือไม่เกิดปัญญา ความเข้าใจถูก ครับ

๔. เป็นผู้มีปัญญาทราม โง่เง่า

เพราะอาศัยการไม่ได้อบรมปัญญามา สะสมปัญญามา แม้เมื่อได้ฟังพระธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งของพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจพระธรรมได้ คือไม่สามารถหยั่งลงสู่กุศลธรรมได้ ครับ

๕. ไม่เป็นผู้มีความถือตัวว่าเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ

พระธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง ดังนั้นย่อมเกิดความสำคัญผิดได้ว่า เข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ เพราะคิดเอาเอง ไม่ได้พิจารณา ไตร่ตรอง ด้วยปัญญาอย่างละเอียด รอบคอบ ขณะที่สำคัญผิดคิดว่าเข้าใจในสิ่งที่ไม่เข้าใจ ขณะนั้นเป็นอกุศล เป็นความไม่รู้ เป็นอวิชชา ขณะนั้นจึงไม่สามารถหยั่งลงสู่กุศลธรรม คือไม่เข้าใจธรรม ไม่เกิดปัญญาในขณะนั้นครับ ซึ่งหนทางที่ถูก คือการสอบถาม สนทนากับผู้ที่มีความเข้าใจ เพื่อความละเอียดและไม่หลงเข้าใจผิดเอง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 19 ต.ค. 2555

ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระสูตร ก่อนสูตรนี้ ที่ผู้ตั้งกระทู้ได้ยกมา ก็มีสูตรก่อนหน้า ที่แสดงว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ ย่อมฟังธรรมไม่เข้าใจ ขอยกเพิ่มเติมดังนี้ ครับ

๑. เป็นผู้พูดมาก คือ พูดในขณะที่ฟังธรรม

๒. พูดเรื่องผู้อื่นมาก คือ พูดถึงคนที่แสดง ด้วยอกุศล ด้วยการดูหมิ่น เป็นต้น ในขณะที่ฟังธรรม

๓. พูดปรารภตน คือ ขณะที่ฟังก็พูดเรื่องของตนเอง โดยดูหมิ่นตนว่าตนเองจะรู้ได้อย่างไร เพราะเป็นสิ่งที่ยาก ขณะที่ดูหมิ่นตนด้วยการปรารภตน ขณะนั้นก็ไม่เข้าใจพระธรรม

๔. มีจิตฟุ้งซ่านฟังธรรม คือคิดเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องที่กำลังฟัง ในขณะนั้นก็ไม่เกิดความเข้าใจในขณะที่ฟัง

๕. เป็นผู้มีจิตไม่แน่วแน่ ไม่มนสิการโดยแยบคาย คือไม่พิจารณาธรรมที่ถูกต้องในขณะที่ฟังในขณะนั้น

จะเห็นได้ว่า เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริง ถึงสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมแล้ว อะไรที่ไม่สามาถทำให้หยั่งลงสู่กุศลธรรม คือเกิดความเห็นถูก (ปัญญา) ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเลย แต่เกิดจากกิเลสและอกุศลที่เกิดขึ้นในจิตใจของตนเองเท่านั้น เพราะสภาพธรรมที่เป็น อกุศลเมื่อเกิดขึ้นมีอวิชชาหรือโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ปิดบังไม่ให้รู้ความจริง ทำให้ไม่ให้เกิดความเข้าใจถูก เกิดปัญญา ในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมให้เข้าใจก็ด้วยการเคารพทั้งผู้กล่าว และเคารพในพระธรรม ไม่ว่าใครจะกล่าว ก็พิจารณาที่เรื่องราวของธรรมที่กำลังแสดงเป็นสำคัญ ด้วยความเคารพในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโดยไม่ได้มุ่งไปที่ตัวบุคคล ก็จะทำให้ได้สาระจากพระธรรม สมดังที่เมื่อพระสาวกกล่าวพระธรรมอยู่ พระพุทธเจ้าก็ไม่ขัดจังหวะ กลับยืนฟังธรรม จนจบด้วยความเคารพพระธรรมเป็นสำคัญไม่ว่าใครจะกล่าว และประโยชน์คือไม่ใช่ความเป็นผู้ลบหลู่คุณหรือเพื่อความแข่งดี เพื่อเหตุอย่างอื่นแต่ประโยชน์คือการได้เข้าใจพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เพราะสาระของชีวิตคือปัญญา ความเห็นถูก ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด และมีค่ากว่าสิ่งอื่นใด

ที่พึ่งที่แท้จริงจึงเป็นปัญญา ความเข้าใจถูกของตนเองที่จะสะสมต่อไปในภพหน้า และถึงการดับทุกข์ได้ อันอาศัยการฟังธรรม ศึกษาพระธรรม ด้วยจิตที่ตั้งไว้ถูกคือตั้งในกุศล ความเคารพพระธรรม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้หยั่งลงสู่กุศลธรรม คือความเห็นถูก ครับ ดังข้อความในพระไตรปิฎกที่มีประโยชน์ดังนี้

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 286

๖. ปัจจนิกสูตร

ว่าด้วยคำอันเป็นสุภาษิต

[๗๐๑]  สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ในพระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้น พราหมณ์มีนามว่าปัจจนิกสาตะ อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี ปัจจนิกสาตพราหมณ์มีความดำริว่า อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมยังที่ประทับเถิด พระสมณโคดมจักตรัสคำใดๆ เราจักเป็นข้าศึกคำนั้นๆ ดังนี้.

[๗๐๒]  สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ลำดับนั้น ปัจจนิกสาตพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วเดินตามพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งกำลังเสด็จจงกรมอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอท่านพระสมณะจงตรัสธรรม.

[๗๐๓]  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า คำอันเป็นสุภาษิต อันบุคคลผู้ยินดีจะเป็นข้าศึก มีจิตเศร้าหมอง มากไปด้วยความแข่งดี จะรู้แจ้งด้วยดีไม่ได้ ส่วนว่าบุคคลใด กำจัดความแข่งดี และความไม่เลื่อมใสแห่งใจ ถอนความอาฆาตได้แล้ว ผู้นั้นแลพึงรู้คำอันเป็นสุภาษิต.

ขออนุโมทนาผู้ตั้งกระทู้และทุกท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 19 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
bsomsuda
วันที่ 19 ต.ค. 2555

"เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริง ถึง สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมแล้ว

อะไรที่ไม่สามารถทำให้หยั่งลงสู่กุศลธรรม คือ เกิดความเห็นถูก ปัญญา ไม่ใช่ใครคนใด คนหนึ่งเลยแต่เกิดจากกิเลสและอกุศลที่เกิดขึ้นในจิตใจของตนเองเท่านั้น

เพราะ สภาพธรรมที่เป็นอกุศลเมื่อเกิดขึ้น
มี อวิชชาหรือโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ ปิดปังไม่ให้รู้ความจริงทำให้ไม่ให้เกิดความเข้าใจถูก เกิดปัญญาในขณะนั้น"

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.ผเดิม และทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 19 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง แสดงถึงสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ และเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ แต่ก็ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ สะสมศรัทธา เคยได้ยิน ได้ฟังพระธรรมมาแล้ว จึงทำให้มีความสนใจ ใส่ใจที่จะฟัง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ แต่ถ้าไม่เห็นประโยชน์ หรือ ตั้งจิตไว้ผิดในการศึกษา กล่าวคือ ไม่ใช่ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก แต่ศึกษาเพื่ออย่างอื่น เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ เป็นต้น ย่อมไม่ได้ประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มีแต่จะพอกพูนกิเลสอกุศลให้มีมากขึ้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จากพระสูตรที่คุณพิมพิชฌา และ อ.ผเดิม ได้ยกมานั้น เป็นเครื่องเตือนใจที่ดี สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ว่าเป็นอย่างนั้นหรือไม่? พระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องเตือนที่ดี เป็นดุจกระจกสำหรับส่องให้เห็นจิตของตนเองตามความเป็นจริง ว่าเป็นอย่างไร ที่จะได้ขัดเกลาและสะสมกุศล ต่อไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พิมพิชญา
วันที่ 20 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณมากค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 20 ต.ค. 2555

ฟังด้วยความตั้งใจ ฟังด้วยความเคารพ ด้วยความศรัทธา เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อเรื่องเหตุ เรื่องผล เช่น ปัญญาเกิดจาการฟัง การพิจารณา การไตร่ตรอง เป็นต้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jaturong
วันที่ 27 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 23 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ