ศีล 3 - กุศลศีล อกุศลศีล อัพยากตศีล

 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่  19 ต.ค. 2555
หมายเลข  21928
อ่าน  3,890

จากพระสูตรที่กล่าวถึงศีลมี ๓ ดังนี้

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 589

ศีล มีเท่าไร ศีลมี ๓ คือ กุศลศีล อกุศลศีล อัพยากตศีล

ในการแก้ปัญหาว่า กติ สีลานิ ศีลมีเท่าไร เพราะปกติของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นๆ ในโลก ท่านกล่าวว่า สีลํ ไว้ในบทนี้ว่า กุสลสีลํ - กุศลเป็นศีล อกุสลสีลํ - อกุศลเป็นศีล อพฺยากตสีลํ - อัพยากตเป็นศีล อาจารย์ทั้งหลายกล่าวหมายถึงศีลว่า นี้เป็น สุขศีล - ความสุขเป็นศีล นี้เป็น ทุกขศีล - ความทุกข์เป็นศีล นี้เป็นกลหศีล - การทะเลาะกันเป็นศีล นี้เป็น มัณฑนศีล - การตบแต่งเป็นศีล.

ฉะนั้น โดยปริยายนั้น แม้ อกุสลศีล ท่านก็กล่าวว่าเป็นศีล ด้วยการยกเอาความขึ้น แต่ศีลที่ท่านประสงค์เอาในที่นี้ไม่มีเพราะบาลีว่า สุตฺวาน สํวเร ปญฺญา - ปัญญาในการฟังแล้วสำรวม ดังนี้.

อนึ่ง เพราะ จิต ที่สัมปยุต เป็นสมุฏฐานของศีล อันเป็นประเภท มีเจตนา เป็นต้น ฉะนั้น พระสารีบุตรจึงกล่าวบทมีอาทิว่า กุสลจิตตสมุฏฺฐานํ กุสลสีลํ - กุศลศีลมีกุศลจิตเป็นสมุฏฐาน..

มีคำถามจากสหายธรรมชาวชาติต่างประเทศ สงสัยในรายละเอียดของศีล ๓ นี้ จึงขอความกรุณาท่านอาจารย์วิทยากร ขยายความโดยละเอียดถึงความหมายนัยของศีลทั้งสามแบบ โดยขอตัวอย่างด้วยนะครับ เพื่อความเข้าใจเพิ่มเติม เนื่องจากเข้าใจโดยทั่วไปว่า ศีลมีเพียง ๑ หรือ ๒ แบบ เท่านั้นครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ศีล มีหลากหลายนัย ครับ แล้วแต่ว่า พระพุทธเจ้าจะทรงแสดง ศีล โดยนัยใดเป็นสำคัญ ซึ่ง สำหรับ ศีล โดยนัย ศีล ๓ คือ กุศลศีล อกุศลศีล และ อัพยากตศีล ก็จะต้องเข้าใจครับว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงศีล โดยนัยนี้ มุ่งหมายถึง ศีล โดยอรรถ ความหมายว่าอะไร เพราะฉะนั้น การจะเข้าใจธรรมที่ถูกต้อง จะต้องเริ่มเข้าใจให้ถูกก่อนครับว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ฉลาดโดยเทศนา และโวหาร และแสดงธรรมได้ไพเราะงดงามที่เรียกว่า เทศนาวิลาส เพราะฉะนั้น ในคำๆ เดียว แม้แต่คำว่า ศีล ก็มีหลากหลายอรรถะ โดยผู้ศึกษา ไม่ควรที่จะไปมุ่งจำกัดความ เพียงความหมายเดียว ตามที่เราเข้าใจกัน เพราะ พระธรรมละเอียดลึกซึ้ง ครับ

โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเราทั้งหลายได้ยินคำว่า ศีล ก็จะนึกถึง สิ่งที่ดี คือ การงดเว้นจากบาป จากอกุศล ทางกาย วาจา เช่น งดเว้นจากการ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น นี่คือ โดยทั่วไป ที่เข้าใจคำว่า ศีล โดยความหมายงดเว้นจากบาป ก็เป็นกุศลศีล

แต่คำว่าศีล ยังมีความหมายอย่างอื่นอีกครับ ซึ่งในส่วนของศีล ๓ นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงศีล ๓ อย่าง ที่เป็น กุศลศีล อกุศลศีล อัพยากตศีล ด้วยอรรถของคำว่า ศีลในความหมายที่ว่า ปกติของสัตว์ทั้งหลาย อันหมายถึง ความประพฤติเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น

นี่แสดงให้เห็นแล้วใช่ไหมครับ ว่า ศีล โดยนัย ศีล ๓ คือ ความประพฤติเป็นไปของสัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นปกติในชีวิตประจำวันมีหลากหลายความประพฤติ เพราะแต่ละคน ก็แต่ละหนึ่ง และก็ไม่ใช่มีเพียงคนเดียว มีสัตว์ประเภทเดียวแต่ก็มีสัตว์มากมาย

เพราะฉะนั้น ความประพฤติเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นปกติ จึงมีมากมายตามอัธยาศัยของสัตว์ด้วย แต่ความประพฤติเป็นไปที่เป็นปกติในชีวิตประจำวันของสัตว์ทั้งหลาย จะมีไม่ได้เลยถ้าไม่มี จิตและเจตสิก เพราะฉะนั้น ศีล โดยนัย ศีล ๓ ก็ไม่พ้นจากการเกิดขึ้นของ จิต เจตสิก ซึ่ง จิตของแต่ละบุคคล หากศึกษาพระธรรมก็จะมีจิตอยู่ ๔ ชาติ คือ กุศลจิต อกุศลจิต กิริยาจิต วิบากจิต แต่ถ้าพูดถึงความประพฤติเป็นไปทางกาย วาจา ก็จะต้องเป็นทางชวนจิตที่เกิดการกระทำทางกายวาจา ออกมาก็เป็นเพียง จิต ๓ ชาติเท่านั้น คือ กุศลจิต อกุศลจิต และ กิริยาจิต (อัพยากต)

ดังนั้น เมื่อสัตว์มีมากมายหลากหลาย จิตที่เกิดขึ้นก็หลากหลาย ไม่ได้จำกัดเพียงกุศลจิตที่เกิดขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นศีลโดยนัยความประพฤติเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน จึงมีทั้งที่เป็นกุศลจิตเกิดขึ้น อกุศลจิตเกิดขึ้น

ดังนั้นขณะใดที่เกิดกุศลจิต โดยมีการกระทำทางกายวาจาอันอาศัยกุศลจิตเกิดขึ้น เป็นกุศลศีลแล้วในขณะนั้น คือโดยความหมาย เป็นความประพฤติเป็นไปของบุคคลนั้นด้วยกุศลจิต เป็นกุศลศีล และขณะใดที่เกิดอกุศลจิต มีการกระทำทางกาย วาจา อันอาศัยอกุศลจิตเป็นเหตุ ขณะนั้นก็เป็นการประพฤติเป็นไปของสัตว์ด้วยอกุศลจิต จึงเป็นอกุศลศีล นี่คือความประพฤติเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็จะมีกุศลศีล และ อกุศลศีล เกิดขึ้นเป็นไป แต่ไม่มีอัพยากตศีล ซึ่งอัพยากตศีล คือขณะที่เกิดการกระทำทางกาย วาจา ที่อาศัยกิริยาจิตของพระอรหันต์ เพราะสัตว์โลกไม่ได้มีเฉพาะผู้ที่มีกิเลสเท่านั้น ผู้ที่ไม่มีกิเลสก็มี การกระทำทางกาย วาจา เกิดจิต ๒ ชาติ คือ วิบากจิต และกิริยาจิต ขณะที่ทำสิ่งต่างๆ ก็ต้องอาศัยจิตเจตสิก แต่เป็นกิริยาจิต เช่น ขณะพระอรหันต์งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การกระทำกิจการงาน เช่น บิณฑบาต การดำเนินชีวิตประจำวัน ขณะนั้นก็เป็นความประพฤติเป็นไปของพระอรหันต์ด้วยความเป็นปกติ ด้วยกิริยาจิต ก็เป็นอัพยากตศีล ครับ

ดังนั้น ศีล ที่มี ๓ ที่มี กุศลศีล อกุศลศีล อัพยากตศีล จึงแสดงโดยนัยความหมายของศีลที่เป็นความประพฤติเป็นไป ของสัตว์ทั้งหลายทั้งหมดในโลก ว่าจะต้องมีทั้งกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง และกิริยาจิตบ้าง ครับ

ซึ่ง ตัวอย่างของ กุศลศีล อกุศลศีล และ อัพยากตศีล เป็นดังนี้ ครับ

กุศลศีล เช่น ขณะที่สัตว์โลกที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มีปุถุชน ถึง พระอนาคามี ทำกุศลมีการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น หรือ ขณะที่ทำความดีประการต่างๆ ให้ทาน เป็นต้น ขณะนั้นก็เป็นกุศลศีล เป็นความประพฤติเป็นไปของสัตว์ที่เป็นปกติในขณะนั้น ที่เป็นกุศล

อกุศลศีล ขณะที่สัตว์โลกที่ไม่ใช่พระอรหันต์ มี ปุถุชน ถึง พระอนาคามี ทำอกุศล เช่น ขณะที่ทำบาป มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น ขณะนั้นก็เป็นอกุศลศีลและแม้แต่การกระทำทางกาย วาจา อันอาศัย อกุศลจิต เป็นปัจจัย เช่น ทานข้าว แปรงฟัน หรือ การดำเนินชีวิตประจำวัน อันอาศัย อกุศลจิต เป็นเหตุ คือ ทำด้วยอกุศลจิต ก็เป็นอกุศลศีลในขณะนั้น ด้วยความหมายที่ว่า เป็นความประพฤติเป็นไปปกติในขณะนั้น ที่เป็น อกุศล เป็นอกุศลศีล

อัพยากตศีล คือ ขณะที่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ท่านก็งดเว้นจากบาป เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ จิตท่านไม่เป็นกุศล อกุศล แล้ว แต่ก็มีจิตที่ดีงาม แต่เป็นกิริยาจิต เป็นอัพยากต และแม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวันของพระอรหันต์ ที่ไม่ใช่ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส แต่เป็นขณะที่ทำกิจต่างๆ ขณะนั้นก็อาศัย กิริยาจิต ไม่เป็น กุศล อกุศล ความประพฤติเป็นไปในชีวิตประจำวันของท่าน จึงเป็นไปด้วยกิริยาจิต เป็นอัพยากตศีล ด้วยความประพฤติเป็นไปของท่านเป็นปกติ คือ อัพยากตศีล ครับ

เชิญคลิกอ่านความหมายของศีล โดยนัยต่างๆ ดังนี้ ครับ

ศีล

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 20 ต.ค. 2555

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 20 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่กำลังดำรงอยู่ และดำเนินไปในแต่ละวันนั้น คือ ศีล เพราะเหตุว่า ศีล เป็นความประพฤติที่เป็นไป ทางกาย ทางวาจา ถ้ากาย วาจา เป็นไปในทางอกุศล ขณะนั้น เป็นอกุศลศีล แต่ขณะใดที่ กาย วาจา เป็นไปทางฝ่ายกุศล ขณะนั้น ก็เป็นกุศลศีล (พระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวง ได้อย่างหมดสิ้น ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ไม่มีทั้งกุศล และ ไม่มีทั้งอกุศล ความประพฤติเป็นไปในชีวิตของท่านจึงเป็นอัพยากตศีล)

ศีลจึงมีความหมายที่หลากหลายนัย แต่ที่เข้าใจกันโดยปกติทั่วไป คือ เป็นความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา ที่ดีงาม เป็นการรักษากาย วาจา ให้เป็นปกติเรียบร้อย ผู้ที่มีศีล คือ ผู้ที่มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกายทางวาจา เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เป็นต้น นี้ก็เป็นเพียงความหมายของศีล เท่านั้น ในชีวิตประจำวัน โดยปกติของปุถุชน จะเห็นได้ว่า มีทั้งความติดข้อง ยินดีพอใจ มีทั้งความโกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เป็นปกติธรรมดา แต่ถ้าถึงขั้นที่จะล่วงศีลเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลส ว่ามีมาก ศีล จึงเป็นเครื่องวัดกำลังของกิเลส เพราะฉะนั้น จะประมาทกำลังของกิเลสไม่ได้เลย คงจะไม่มีผู้ใด รับประกันได้ว่าแม้ศีล ๕ ของตนสมบูรณ์ไม่บกพร่องเลย เพราะเหตุว่า ผู้ที่จะสมบูรณ์ ในศีล ๕ ได้ คือ พระอริยบุคคล ที่เป็นพระโสดาบัน เนื่องจากว่าดับกิเลสอย่างหยาบที่เป็นเหตุให้ล่วงศีลได้หมดแล้ว ด้วยปัญญา

ดังนั้น พระธรรมที่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดง จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล ให้พุทธบริษัท เป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงาม เกิดกุศลจิต ทุกระดับขั้น เริ่มตั้งแต่ความดีขั้นต้น ในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งถึงการดับกิเลสได้ทั้งหมด เมื่อดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ไม่มีทั้งกุศล ไม่มีทั้งอกุศล จิตของท่านมีเพียงชาติวิบาก กับ ชาติกิริยาเท่านั้น ความประพฤติเป็นไปของพระอรหันต์ จึงเป็น อัพยากตศีล ซึ่งจะแตกต่างไปจากผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างสิ้นเชิง ครับ

...ขอบพระคุณ อ. ผเดิม และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 20 ต.ค. 2555

ศีล คือ ความประพฤติที่เป็นปกติในชีวิตทุกๆ วัน เช่น ปกติ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มสุรา นี่คือเป็นปกติ เป็น กุศลศีล แต่ตรงกันข้ามการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ ดื่มสุรา นี้เป็นปกติ ที่เป็น อกุศลศีล คนที่รักษา (กุศล) ศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ก็ไม่ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน จากโลกนี้ไป ก็ไปเกิดในสุคติภูมิ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 20 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิม, อาจารย์คำปั่น และอาจารย์วรรณี มากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
มกร
วันที่ 11 ต.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เฉลิมพร
วันที่ 4 ก.พ. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ