มงคลสูตร.. พรรณนาคาถาว่าขนตีจ

 
pirmsombat
วันที่  21 ต.ค. 2555
หมายเลข  21938
อ่าน  2,470

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ 204

พรรณนาคาถาว่าขนตี

บัดนี้ จะพรรณนาในคาถาว่า ขนฺตีนี้

ความอดทนชื่อว่า ขันติ ชื่อว่า สุวจะ เพราะมีความว่าง่าย เพราะเป็นผู้ถือเอาโดยเบื้องขวา กรรมของ

ผู้ว่าง่าย ชื่อว่า โสวจัสสะ ความเป็นแห่งกรรมของผู้ว่าง่าย ชื่อว่า โสวจัสสตา ชื่อว่าสมณะเพราะระงับกิเลสทั้งหลายได้

บทว่า ทสฺสนํ ได้แก่ การเพ่งดู. การสนทนาธรรม ชื่อว่า ธรรมสากัจฉา คำที่เหลือมีนัยที่กล่าวมาแล้วทั้งนั้นแล นี้เป็นการพรรณนาบท

ส่วนการพรรณนาความ พึงทราบดังนี้

อธิวาสนขันติชื่อว่าขันติที่ภิกษุผู้ประกอบด้วยขันตินั้น แล้วย่อมไม่มีอาการผิดปกติเป็นผู้เหมือนไม่ได้ยินบุคคลที่ด่าด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ และเหมือนไม่เห็นบุคคลผู้เบียดเบียนด้วยการฆ่าและการจองจำเป็นต้น เหมือนขันติวาทีดาบสฉะนั้น. เหมือนอย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

อหุอตีตมทฺธานํสมโณขนฺติทีปโน ตํขนฺติยาเยวิตํกาสิราชาอเฉทยิ

สมณะผู้แสดงขันติได้มีมาแล้วในอดีตกาล พระเจ้ากาสีได้ทรงทำลายสมณะผู้ตั้งอยู่ในขันตินั่นแล

หรือย่อมใส่ใจว่าเขาทำดีแล้ว เพราะไม่มีความผิดยิ่งไปกว่านั้น เหมือน ท่านปุณณเถระ ฉะนั้น อย่างที่ท่านกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญถ้าผู้คนชาวสุนาปรันตกะ จักด่าจักบริภาษข้าพระองค์ไซร้ในข้อนั้นข้าพระองค์ จักใส่ใจว่า. ผู้คนชาวสุนาปรันตกะเหล่านี้เป็นผู้เจริญหนอผู้คนชาวสุนาปรันตกะเหล่านี้เป็นผู้เจริญ ดีหนอผู้คนเหล่านี้ไม่ตีข้าพระองค์ด้วยมือดังนี้เป็นต้น

และที่ภิกษุประกอบด้วยขันตินั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่แม้แต่ฤษีทั้งหลายก็พึงสรรเสริญ. อย่าง ท่านสรภังคฤษี กล่าวไว้ว่า โกธํวธิตฺวากทาจิโสจติ มกฺขปฺปทานํอิสฺโขวณฺณยนฺติ สพฺเพสํวุตฺตํผรุสํขเมถ เอตํขนฺตึอุตฺตมมาหุสนฺโต

คนฆ่าความโกรธได้แล้วย่อมไม่เศร้าโศกในกาลไหนฤษีทั้งหลายย่อมสรรเสริญการละความลบหลู่ คนควรอดทนคำหยาบที่คนทั้งปวงกล่าวแล้วสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญขันตินั้นว่าสูงสุด ย่อมเป็นผู้ที่แม้แต่เทวดาทั้งหลายก็พึงสรรเสริญ อย่างที่ท้าวสักกะจอมทวยเทพตรัสไว้ว่า

โยหเวพลวาสนฺโตทุพฺพลสฺสติติกฺขติ ตนาหุปรมํขนฺตึนิจฺจํขมติทุพฺพโล

ผู้ใดเป็นคนแข็งแรงอดทนต่อคนอ่อนแอ สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญขันตินั้นของผู้นั้นว่าเป็นเยี่ยมคนอ่อนแอย่อมต้องอดทนอยู่เป็นประจำ ย่อมเป็นผู้ที่แม้แต่พระพุทธะทั้งหลายก็พึงสรรเสริญ. อย่างที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า อกฺโกสํวธพนฺธญฺจอทุฏฺโฐโยติติกฺขติ ขนฺตีพลํพลาณีกํตมหํพฺรูมิพฺราหฺมณํ ผู้ใดไม่โกรธอดกลั้นการด่าการฆ่าและการจองจำได้เราเรียกผู้นั้นซึ่งมีขันติเป็นกำลังมีกองกำลังว่า พราหมณ์

ก็ขันตินั่นนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุประสบคุณเหล่านั้น และคุณอื่นๆ ที่ทรงสรรเสริญในที่นี้. เมื่อถูกเพื่อนสพรหมจารีว่ากล่าวโดยธรรม ก็ไม่ถึงความฟุ้งซ่าน ความนิ่งงันหรือคิดถึงคุณและโทษ วางความเอื้อเฟื้อ ความเคารพ และความมีใจตกลงต่ำเป็นเบื้องหน้าอย่างยิ่งแล้ว เปล่งถ้อยคำว่า ดีละขอรับ ดังนี้ ชื่อว่า โสวจัสสตาความว่าง่าย. โสวจัสสสตานั้น ตรัสว่า เป็นมงคล เพราะเป็นเหตุได้โอวาทและอนุศาสนี จากสำนักเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย และเพราะเป็นเหตุละโทษและบรรลุคุณ

การเข้าไปหาการบำรุงการระลึก การฟังและการเห็นนักบวชทั้งหลายผู้ระงับกิเลสแล้ว อบรมกายวาจาจิตและปัญญาแล้ว ประกอบด้วยความสงบอย่างสูง ชื่อว่า การเห็นสมณะทั้งหลาย การเห็นสมณะแม้ทั้งหมด ท่านกล่าวว่าทัสสนะ โดยเทศนาอย่างต่ำ การเห็นสมณะนั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะเหตุไร เพราะมีอุปการะมาก จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เป็นต้นว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่าการเห็นภิกษุเหล่านั้น มีอุปการะมาก เพราะบุญอันใด กุลบุตรผู้ต้องการประโยชน์ เห็นภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลมาถึงประตูเรือน ผิว่าไทยธรรมมีอยู่ ก็พึงนับถือด้วยไทยธรรมตามกำลัง ผิว่าไม่มี ก็พึงไหว้อย่างเบญจางคประดิษฐ์ เมื่อการไหว้อย่างเบญจางคประดิษฐ์ยังไม่พร้อม ก็พึงประคองอัญชลีนมัสการ เมื่อการนอบน้อม ยังไม่พร้อม ก็มีจิตผ่องใส แลดูด้วยจักษุที่น่ารัก ด้วยบุญที่มีการแลดูเป็นมูลอย่างนี้ โรคหรือโทษ ฝ้าหรือต่อมจะไม่มีในจักษุ ตลอดหลายพันชาติ จักษุทั้งสองก็จะผ่องใส มีสิริ มีวรรณะ ๕ เสมือนบานประตูแก้วมณีที่เปิดในรัตนวิมาน เขาจะได้สมบัติในเทวดาและมนุษย์ ประมาณแสนกัป ข้อที่เขาเกิดเป็นมนุษย์เป็นคนมีปัญญาพึงเสวยวิปากสมบัติเห็นปานนี้ ก็ด้วยบุญที่สำเร็จมาแต่การเห็นสมณะ ซึ่งเขาประพฤติมาโดยชอบ ไม่น่าอัศจรรย์เลย แม้สำหรับสัตว์เดียรัฐฉาน บัณฑิตทั้งหลาย ก็พรรณนาวิบากสมบัติของการเห็นสมณะ ที่เพียงทำศรัทธาให้เกิดแล้วอย่างเดียวไว้อย่างนี้ ในบาลีประเทศใด บาลีประเทศนั้นมีว่า

นกฮูกตากลมอาศัยอยู่ที่เวทิยกบรรพตมาตลอดกาลยาวนานนกฮูกตัวนี้สุขแท้หนอเห็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริญซึ่งลุกขึ้นแต่เช้า. มันทำจิตให้เลื่อมใสในตัวเราและภิกษุสงฆ์ผู้ยอดเยี่ยมไม่ต้องไปทุคติถึงแสนกัปมันจุติจากเทวโลก อันกุศลกรรมตักเตือนแลัวจักเป็นพระพุทธะผู้มีอนันตยาณปรากฏพระนามว่าโสมนัสสะ ดังนี้

ในเวลาพลบค่ำ หรือในเวลาย่ำรุ่ง ภิกษุฝ่ายพระสูตร ๒ รูป ย่อมสนทนาพระสูตรกัน ฝ่ายพระวินัยก็สนทนาพระวินัยกัน ฝ่ายพระอภิธรรมก็สนทนาพระอภิธรรมกัน ฝ่ายชาดกก็สนทนาชาดกกัน ฝ่ายอรรถกถาก็สนทนาอรรถกถากันหรือสนทนากันในกาลนั้นๆ เพื่อชำระจิตที่ถูกความหดหู ความฟุ้งซ่านและความสงสัยชักนำไป การสนทนาตามกาลนี้ ชื่อว่า การสนทนาธรรมตามกาล การสนทนาธรรมตามกาลนั้น ตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งคุณทั้งหลายมีความฉลาดในอาคมคือนิกายทั้ง ๕ เป็นต้นแล

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสมงคลแห่งคาถานี้ไว้ มงคล คือ ความอดทน ๑ ความเป็นผู้ว่าง่าย ๑ การเห็นสมณะ ๑ และการสนทนาธรรมตามกาล ๑ ด้วยประการฉะนี้. ก็ความที่มงคลเหล่านั้นเป็นมงคส ได้ชี้แจงไว้ในมงคลนั้นๆ แล้วทั้งนั้นแล

จบ พรรณนาความแห่งคาถาว่า ขนฺตึ จ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Noparat
วันที่ 21 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
kinder
วันที่ 23 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 6 มิ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ