สีลวึมังสชาดก

 
pirmsombat
วันที่  23 ต.ค. 2555
หมายเลข  21950
อ่าน  1,489

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 316

๑๐. สีลวึมังสชาดก

ว่าด้วยอานิสงส์ของศีล

[๔๖๙] ได้ทราบมาว่า ศีลเป็นความงาม

ศีลเป็นเยี่ยมในโลก ท่านจงดูซี งูใหญ่มีพิษ

อันร้ายแรงย่อมไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วย

รู้สึกตัวว่า เป็นผู้มีศีล.

[๔๗๐] เราจักสมาทานศีลที่บัณฑิตรับรองแล้ว

ว่าเป็นความปลอดภัยในโลก เป็นคุณชาติ

เครื่องให้บัณฑิตเรียกบุคคลผู้ประพฤติตาม

ข้อปฏิบัติของพระอริยะ ว่าเป็นผู้มีศีล.

[๔๗๑] อนึ่ง บุคคลผู้มีศีลย่อมเป็นที่รักของ

ญาติทั้งหลาย และรุ่งเรืองในหมู่มิตร

เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติ.

จบสีลวีมังสชาดกที่๑๐

อรรถกถาสีลวีมังสชาดกที่ ๑๐

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภ

พราหมณ์ผู้ทดลองศีลคนหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า

สีลํ กิเรวกลฺยาณํ ดังนี้.

ก็เรื่องทั้งที่เป็นปัจจุบันและเป็นอดีต ได้ให้พิสดารแล้วใน

สีลวีมังสชาดก เอกนิบาต ในหนหลัง. แต่ในที่นี้ มีเรื่องว่า เมื่อ

พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในพระนครพาราณสี ปุโรหิตของ

พระองค์คิดว่า จักทดลองศีลของตน จึงหยิบเอากหาปณะหนึ่งๆ ไป

๒ วัน จากแผ่นกระดานสำหรับนับเงิน ครั้นในวันที่สาม พวก

ราชบุรุษจับพราหมณ์นั้น โดยหาว่าเป็นโจร นำไปยังสำนักของพระ-

พระราชา. ในระหว่างทางได้เห็นหมองูกำลังเล่นงูอยู่. ลำดับนั้น

พระราชาตรัสถามพราหมณ์นั้นว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงได้กระทำอย่างนี้?

พราหมณ์กราบทูลว่า ขอเดชะ เพราะข้าพระพุทธเจ้าประสงค์จะ

ทดลองศีลของตน พระเจ้าข้า แล้วจึงกล่าวคาถานี้ว่า :-

ได้ทราบว่า ศีลเท่านั้นงดงาม

ศีลยอดเยี่ยมในโลก ท่านจงดูซี งูใหญ่มีพิษอันร้ายแรง

ยังไม่เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยรู้สึกตัว

ว่าเป็นผู้มีศีล.

เราจักสมาทานศีลที่บัณฑิตรับรองแล้ว

ว่า เป็นความปลอดภัยในโลก เป็นคุณชาติ

เครื่องให้บัณฑิตเรียกบุคคลผู้ประพฤติ

ตามข้อปฏิบัติของพระอริยะ ว่าเป็นผู้มีศีล.

อนึ่ง บุคคลผู้มีศีล ย่อมเป็นที่รักของญาติทั้งหลาย

ทั้งย่อมรุ่งเรื่องในหมู่มิตร

เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลํ ได้แก่ อาจารมารยาท.

ศัพท์ว่า กิร เป็นนิบาตลงในอรรถว่าได้ยินได้ฟัง. บทว่า กลฺยาณํ

แปลว่า งาม. อธิบายว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า

ศีลเท่านั้นงดงาม. พราหมณ์กล่าวถึงตนเอง ด้วยบทว่า ปสฺส

เอาเถิด. บทว่า น หญฺญติ ความว่า ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

ด้วยตนเอง ทั้งไม่ใช่ให้คนอื่นเบียดเบียน. บทว่า สมาทิสฺสํ แปลว่า

จักสมาทาน. บทว่า อนุมตํ สิวํ ความว่า อันบัณฑิตทั้งหลายรับรอง

แล้วว่าเป็นแดนเกษม คือ ปลอดภัย. บทว่า เยน วุจฺจติ ความว่า

เราจักสมาทานศีลอันเป็นเหตุให้บุคคลผู้มีศีลผู้ประพฤติโดยเอื้อเฟื้อต่อ

ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ซึ่งได้รับการ

ขนานนามว่า อริยวุตติสมาจาร ผู้มีสมาจารอันเป็นเครื่องประพฤติ

อย่างประเสริฐ. บทว่า วิโรจติ ความว่า ย่อมรุ่งโรจน์

ประดุจกองไฟบนยอดเขา.

พระโพธิสัตว์เมื่อประกาศคุณของศีลด้วยคาถา ๓ คาถา

อย่างนี้แล้ว จึงแสดงธรรมแก่พระราชา แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้า

ในเรือนของข้าพระพุทธเจ้า มีทรัพย์จำนวนมาก ทั้งที่เป็นของบิดา มารดา

ทำให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง และทั้งที่พระองค์พระราชทาน

ที่สุดรอบคือความเสร็จสิ้นไม่ปรากฏ ก็ข้าพระพุทธเจ้าเมื่อจะทดลองศีล

จึงหยิบเอากหาปณะจากแผ่นกระดานสำหรับนับเงินไป บัดนี้

ข้าพระพุทธเจ้าทราบเกล้าแล้วว่า ในโลกนี้ ชาติ โคตร ตระกูล และประเทศ

เป็นภาวะต่ำทราม และศีลเท่านั้นประเสริฐ ข้าพระพุทธเจ้าจักบวช

ขอจงอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด แล้วทูลขอให้ทรงอนุญาตการบวช

แม้พระราชาจะทรงขอร้องแล้วๆ เล่าๆ ก็ออกจากเรือนเข้าป่าหิมพานต์

บวชเป็นฤๅษี ยังอภิญญาและสมาบัติให้บังเกิดแล้ว

ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

พราหมณ์ปุโรหิตผู้ทดลองศีลในครั้งนั้น คือเราตถาคต

ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาสีลวีมังสชาดกที่๑๐


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
kinder
วันที่ 25 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nong
วันที่ 25 ต.ค. 2555

.....และศีลเท่านั้นประเสริฐ......

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 26 ต.ค. 2555

* * * ------------------------- * * *

ขอบคุณสำหรับข้อมูลคำสอนฯ และ

อนุโมทนาในกุศลที่ท่านได้เจริญแล้ว

* * * ------------------------------------ * * *

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
jaturong
วันที่ 14 มี.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 16 มี.ค. 2556

ศีลเป็นเกราะคุ้มภัยอันประเสริฐ

เป็นเครื่องปิดประตูอบาย

เป็นอาภรณ์คือเครื่องประดับอันยิ่ง

แม้กลิ่นของศีลก็ยังขจรไกลไปถึงเทวโลก

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ