สัมมาสมาธิ

 
songjea
วันที่  24 ต.ค. 2555
หมายเลข  21953
อ่าน  1,849

จากที่ได้ฟังธรรมบรรยาย ผมเข้าใจดังนี้ถูกหรือไม่อย่างไรครับ

เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง สมาธิ คือ สภาพที่จิตรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งต่อเนื่องกัน ต่อเนื่องมากก็มีความเป็นสมาธิมาก มิจฉาสมาธิ คือ สภาพที่จิตรู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งซึ่งมี โลภะ หรือ โทสะ หรือ โมหเจตสิก เกิดร่วมด้วยต่อเนื่องกัน สัมมาสมาธิ คือ นัยตรงข้ามกับ มิจฉาสมาธิ

๐๑. จิตคือสภาพรู้ ย่อมรู้ได้ทั้งนามและรูป ทุกนาม รูปหรือไม่ ที่จะเป็นอารมณ์ของสมาธิได้ มีรูปใดนามใดหรือไม่ ที่ไม่สามารถเป็นอารมณ์ของสมาธิจิต?

๐๒. สติเจตสิก ต้องเกิดร่วมกับ ปัญญาเจตสิก เสมอหรือไม่?

๐๓. รูปที่ปรากฏทางตา หรือสัมผัส ที่ปรากฏทางกาย เนื่องจากเป็น วิบากจิต เมื่อรูปที่ปรากฏ เป็นอารมณ์ของสมาธิ จะเป็นสัมมาสมาธิหรือไม่ เช่น การเพ่งกสิน หรือ อานาปานสติ?

๐๔. รูปที่ปรากฏของวิบากจิต ที่รูปนั้น เป็นอารมณ์ของสมาธิ มี สติเจตสิก หรือปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้หรือไม่?

๐๕. ถ้าว่าโดยปรมัตถ์ อานาปานสติสมาธิ จิตมีรูปเป็นอารมณ์ แต่เนื่องจาก รูปที่ปรากฏเป็นวิบากจิต แสดงว่า หากเกิด อานาปานสติสมาธิขึ้น แปลว่า มีวิบากจิต ที่มีรูปเป็นอารมณ์อย่างต่อเนื่องใช่หรือไม่?

๐๖. ถ้าว่าโดยปรมัตถ์ ฌาน อันเกิดจากอานาปานสติสมาธิ มีรูปเป็นอารมณ์ หมายความว่า จิตมีรูปเป็นอารมณ์ ไม่รู้อารมณ์อื่นเลยคั่นกลาง นอกจากภวังคจิตใช่หรือไม่?

๐๗. อานาปานสติสมาธิ เมื่อเกิดอุคหนิมิต อุคหนิมิตนี้ เป็นรูปหรือนาม?

๐๘. จิตที่มีรูปเป็นอารมณ์โดยตลอด โดยไม่เป็นอุคหนิมิต จะไปสู่สมาธิระดับ ฌานจิตได้หรือไม่?

๐๙. ที่ว่าหากสมาธิจิตไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็คือ มิจฉาสมาธิ ถูกหรือไม่?

๑๐. คำว่าโลกียฌาน เป็นสัมมาสมาธิ หรือมิจฉาสมาธิ?

๑๑. ปัญญา มีหลายขั้น ดังนั้น ปัญญาที่เกิดกับสมาธิจิต ซึ่งเป็นปัญญาในระดับที่รู้ว่านี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล ถือว่าเป็นสัมมาสมาธิหรือไม่?

๑๒. ที่ว่ามิจฉาสมาธิไม่อาจสำเร็จฤทธิ์ได้ ถูกหรือผิด?

๑๓. อุทกดาบส และ อาฬารดาบส บำเพ็ญฌาน ฌานของท่าน เป็น สัมมาสมาธิ หรือมิจฉาสมาธิ?

๑๔. ขณะที่ฤทธิ์ของพระเทวทัตยังไม่เสื่อมนั้น ฤทธิ์ที่ว่านั้นเกิดจาก สัมมาสมาธิหรือไม่?

๑๕. อาการเพ่งในอารมณ์ เช่น กสิน ต่างๆ อาการเพ่งนี้ คือเจตสิกอะไร และอะไรเป็นปัจจัยให้จิตเกิดการเพ่งในอารมณ์ หรือจดจ่อในอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียว?

๑๘. ในอริยมรรคมีองค์แปด สัมมาสมาธิ หมายความว่าอย่างไร อริยมรรคมีองค์แปด ถ้ามีเกิดขึ้น จะเกิดพร้อมกันทั้งแปดองค์ในขณะจิตหนึ่งหรือไม่?

๑๙. คำว่า สัมมาสมาธิ จำเป็นหรือไม่ ที่ต้องมีอารมณ์หนึ่ง อารมณ์ใดติดต่อต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะไม่จำเป็น เพราะ ผู้บรรลุพระโสดาบัน ก็ไม่จำเป็นต้องได้ฌานจิต ถูกต้องหรือไม่อย่างไร?

๒๐. การเจริญ สติปัฏฐาน ไม่สามารถบังคับขู่เข็ญเอาได้ ด้วยความเป็นตัวตน เป็นไปตามเหตุ ปัจจัย ท่านอาจารย์ใช้คำว่า น้อมระลึกไป หรือสะสมเหตุปัจจัย เพื่อการที่จิตจะน้อมระลึกไปในนามและรูปที่กำลังปรากฏ ดังนั้น การเจริญสมถกรรมฐาน ก็น่าจะนัยเดียวกันใช่หรือไม่ คือ น้อมไป สะสมเหตุปัจจัย เพื่อให้เกิด สมถกรรมฐาน ใช่หรือไม่ หรือต่างกันอย่างไร?

๒๑. ที่ว่า ภิกษุนั้นตั้งกายตรงดำรงสติมั่น หายใจเข้า ... ฯ นั่นหมายความว่า การเจริญสมถกรรมฐาน ต้องมีสติเกิดร่วมด้วยใช่หรือไม่?


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๐๑. จิตคือสภาพรู้ ย่อมรู้ได้ทั้ง นามและรูป ทุกนามรูปหรือไม่ ที่จะเป็นอารมณ์ของสมาธิได้ มีรูปใดนามใดหรือไม่ ที่ไม่สามารถเป็นอารมณ์ของสมาธิจิต?

► สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกประเภท ซึ่งจิตรู้อารมณ์ได้ทุกประเภท เพราะฉะนั้น เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดกับจิตทุกประเภท จึงรู้ได้ทุกๆ อารมณ์ ครับ

๐๒. สติเจตสิก ต้องเกิดร่วมกับ ปัญญาเจตสิก เสมอหรือไม่?

► สติเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายดี คือ เกิดกับจิตที่ดีงามทุกประเภท ส่วนปัญญาเกิดกับจิตที่ดีงามบางประเภท ไม่เกิดกับจิตที่ดีงามบางประเภท เช่น กุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี ไม่ประกอบด้วยปัญญาก็มี แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิด มีสติเจตสิกเสมอ เพราะฉะนั้น กล่าวได้ว่า เมื่อปัญญาเกิดจะต้องมีสติเสมอ แต่ สติเกิดไม่จำเป็นจะต้องมีปัญญา ครับ

๐๓. รูปที่ปรากฏทางตา หรือสัมผัสที่ปรากฏทางกาย เนื่องจากเป็น วิบากจิต เมื่อรูปที่ปรากฏเป็นอารมณ์ของสมาธิ จะเป็นสัมมาสมาธิหรือไม่ เช่น การเพ่งกสิน หรือ อานาปานสติ?

► รูปเป็นรูป ไม่ใช่วิบากจิต แต่ วิบากจิตมี จิตเห็น มีรูปเป็นอารมณ์ได้ เช่น สี ซึ่งขณะที่เห็น สี ไม่สามารถเป็นสัมมาสมาธิได้ เพราะ สัมมาสมาธิ หมายถึง ขณะที่เป็นกุศลจิต แต่ขณะที่เห็น สี เป็นเพียงวิบากจิต เพราะฉะนั้น การเพ่งกสิณ คือ ขณะที่เป็นกุศลจิต อันมีรูป (คือ สี) นั้นเป็นอารมณ์ได้ เป็นสัมมาสมาธิได้ ครับ

๐๔. รูป ที่ปรากฏของวิบากจิต ที่รูปนั้น เป็นอารมณ์ของสมาธิ มีสติเจตสิก หรือปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้หรือไม่?

► รูป เป็นอารมณ์ของสติและปัญญาได้ ครับ

๐๕. ถ้าว่าโดยปรมัตถ์ อานาปานสติสมาธิ จิตมีรูปเป็นอารมณ์ แต่เนื่องจากรูปที่ปรากฏเป็นวิบากจิต แสดงว่า หากเกิดอานาปานสติสมาธิขึ้น แปลว่า มีวิบากจิต ที่มีรูปเป็นอารมณ์อย่างต่อเนื่องใช่หรือไม่?

► อานาปานสติ โดยนัยวิปัสสนา มีรูปเป็นอารมณ์ได้ คือขณะที่ลมกระทบ ก็มีลักษณะตึง ไหว ที่เป็นธาตุลม หรือ เย็น ร้อน ที่เป็นธาตุไฟ ในขณะที่หายใจ ครับ

๐๖. ถ้าว่าโดยปรมัตถ์ ฌานอันเกิดจากอานาปานสติสมาธิ มีรูปเป็นอารมณ์ หมายความว่า จิตมีรูปเป็นอารมณ์ ไม่รู้อารมณ์อื่นเลยคั่นกลาง นอกจากภวังคจิตใช่หรือไม่?

► ขณะนั้นเป็นชวนจิต ที่เกิดต่อเนื่องเป็นกุศลจิต ครับ ไม่มี การเห็น การได้ยิน ที่เป็นวิบากจิตในขณะนั้น ครับ

๐๗. อานาปานสติสมาธิ เมื่อเกิดอุคหนิมิต อุคหนิมิตนี้ เป็นรูปหรือนาม?

► เป็นสภาพธรรมที่เปรียบเสมือนของจริงที่บัญญัติ

๐๘. จิตที่มีรูปเป็นอารมณ์โดยตลอด โดยไม่เป็นอุคหนิมิต จะไปสู่สมาธิระดับ ฌานจิตได้หรือไม่?

► ขึ้นอยู่กับว่า เจริญอารมณ์ประเภทไหนใน ๔๐ ประเภท ครับ แต่โดยมากก็ต้องผ่านอุคหนิมิตก่อน

๐๙. ที่ว่า หากสมาธิจิตไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ก็คือ มิจฉาสมาธิ ถูกหรือไม่?

► ถูกต้อง ครับ

๑๐. คำว่าโลกียฌาน เป็นสัมมาสมาธิ หรือมิจฉาสมาธิ?

► สัมมาสมาธิ ครับ เพราะ เกิดกับจิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา

๑๑. ปัญญา มีหลายขั้น ดังนั้น ปัญญาที่เกิดกับสมาธิจิต ซึ่งเป็นปัญญาในระดับที่รู้ว่า นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล ถือว่าเป็นสัมมาสมาธิหรือไม่?

► สัมมาสมาธิ โดยมากมุ่งหมายถึง การเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ครับ

๑๒. ที่ว่ามิจฉาสมาธิไม่อาจสำเร็จฤทธิ์ได้ ถูกหรือผิด?

► ถูกต้อง ครับ

๑๓. อุทกดาบส และ อาฬารดาบส บำเพ็ญฌาน ฌานของท่าน เป็น สัมมาสมาธิ หรือมิจฉาสมาธิ?

► สัมมาสมาธิ ดังเช่น ข้อที่ ๑๑ ที่ได้กล่าวไว้

๑๔. ขณะที่ฤทธิ์ของพระเทวทัตยังไม่เสื่อมนั้น ฤทธิ์ที่ว่านั้นเกิดจาก สัมมาสมาธิหรือไม่?

► ถูกต้อง ครับ

๑๕. อาการเพ่งในอารมณ์ เช่น กสินต่างๆ อาการเพ่งนี้ คือเจตสิกอะไร และอะไรเป็นปัจจัย ให้จิตเกิดการเพ่งในอารมณ์ หรือจดจ่อในอารมณ์หนึ่งอารมณ์เดียว?

► ไม่พ้นจาก สภาพธรรม ฝ่ายดี ก็ต้องเป็นสติที่ระลึกในอารมณ์นั้น พร้อมกับปัญญาที่เกิด ครับ

๑๘. ในอริยมรรคมีองค์แปด สัมมาสมาธิ หมายความว่าอย่างไร อริยมรรคมีองค์แปด ถ้ามีเกิดขึ้น จะเกิดพร้อมกันทั้งแปดองค์ในขณะจิตหนึ่งหรือไม่?

► ถูกต้อง ครับ

๑๙. คำว่า สัมมาสมาธิ จำเป็นหรือไม่ ที่ต้องมีอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ติดต่อต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะไม่จำเป็น เพราะ ผู้บรรลุพระโสดาบัน ก็ไม่จำเป็นต้องได้ฌานจิต ถูกต้องหรือไม่อย่างไร?

► ถูกต้องครับ แม้แต่ขณะที่สติปัฏฐานเกิดชั่วขณะ ก็มีสัมมาสมาธิ ครับ

๒๐. การเจริญสติปัฏฐานไม่สามารถบังคับขู่เข็ญเอาได้ด้วยความเป็นตัวตน เป็นไปตามเหตุปัจจัย ท่านอาจารย์ใช้คำว่า น้อมระลึกไป หรือสะสมเหตุปัจจัย เพื่อการที่จิตจะน้อมระลึกไปในนามและรูปที่กำลังปรากฏ ดังนั้น การเจริญสมถกรรมฐาน ก็น่าจะนัยเดียวกันใช่หรือไม่ คือ น้อมไป สะสมเหตุปัจจัย เพื่อให้เกิด สมถกรรมฐานใช่หรือไม่ หรือต่างกันอย่างไร?

► ถูกต้องครับ

๒๑. ที่ว่า ภิกษุนั้นตั้งกายตรงดำรงสติมั่น หายใจเข้า ... ฯ นั่นหมายความว่า การเจริญสมถกรรมฐานต้องมีสติเกิดร่วมด้วยใช่หรือไม่?

► ถูกต้อง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 25 ต.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
songjea
วันที่ 25 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณสำหรับคำตอบครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 25 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรที่จะได้เข้าใจตั้งแต่ต้นว่า สมาธิ เป็นธรรมที่มีจริง สมาธิเป็นชื่อของเอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดร่วมกับจิตทุกดวง สมาธิแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ มิจฉาสมาธิ ๑ สัมมาสมาธิ ๑ มิจฉาสมาธิ คือเอกัคคตาที่เกิดร่วมกับอกุศลจิต สัมมาสมาธิเป็นเอกัคคตาที่เกิดร่วมกับจิตฝ่ายดี

สัมมาสมาธิมีหลายระดับ คือสมาธิที่เป็นไปในวัฏฏะ และสมาธิที่นำออกจากวัฏฏะ, สมาธิที่เป็น ฌาน ระดับขั้นต่างๆ มีปฐมฌาน เป็นต้น เพียงเพื่อเกิดในพรหมโลกเท่านั้น ไม่สามารถพ้นจากทุกข์ได้ พระพุทธองค์ทรงสอนให้สาวกทั้งหลาย เจริญสมาธิที่เกิดร่วมกับองค์มรรค เป็นสมาธิที่นำออกจากวัฏฏะ คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งมีสมาธิเกิดร่วมด้วยทุกขณะ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นจนมีกำลังย่อมเป็นการทำกิจร่วมกันในอริยมรรค

เพราะฉะนั้นแล้ว จึงสำคัญตั้งแต่เบื้องต้น คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ เพราะสิ่งที่ควรรู้ควรศึกษานั้นมีมาก ไม่ใช่เฉพาะสมาธิเท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 25 ต.ค. 2555

การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เป็นพุทธานุสติ เป็นสมถภาวนาได้ เป็นสัมมาสมาธิ ถ้าเป็นสติปัฏฐานก็ระลึกตรงลักษณะของ นามธรรม หรือ รูปธรรม ว่าเป็นธรรม เป็นธาตุ เป็นไตรลักษณ์ ทั้งหมดนี้ต้องประกอบด้วยปัญญา จึงเป็นหนทางออกจากวัฏฏะ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nopwong
วันที่ 25 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 27 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ