สติมีกี่ระดับ ปัญญามีกี่ระดับครับ

 
songjea
วันที่  25 ต.ค. 2555
หมายเลข  21955
อ่าน  11,184

๑. สติมีกี่ระดับ ปัญญามีกี่ระดับครับ

๒. เช่น สติหรือปัญญา ที่เป็นไปในศีล ในทาน ในภาวนาเป็นต้น นั้นมีลักษณะต่างกัน อย่างไร

๓. ปัญญา ศัพท์บัญญัติ เป็นสังขารธรรมประเภทหนึ่ง สังขารประเภทนี้เมื่อปรุงแต่งจิต แล้ว มีผลให้จิตเป็นอย่างไร ในแต่ละระดับของปัญญานั้นๆ

๔. เพราะเหตุใดกุศลจิต ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. สติมีกี่ระดับ ปัญญามีกี่ระดับครับ

- สติเจตสิก เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เกิดกับจิตที่ดีงามทุกประภท ส่วน ปัญญาเจตสิก เป็นเจตสิกที่ดีงาม เกิดกับจิตที่ดีงาม แต่ไม่เกิดกับจิตที่ดีงามทุกประเภท

สติมีหลายระดับ เพราะด้วยเหตุที่ว่า จิตที่ดีงามมีหลากหลายประเภท หลากหลายระดับ เพราะฉะนั้น สติเจตสิก ที่เป็นสภาพธรรม ที่ทำหน้าที่ระลึกรู้ ที่เกิดกับกุศลจิตนั้น ก็มีหลายระดับ ตามระดับของกุศลจิตด้วย กุศลจิต ก็มีทั้งที่เป็นไปในขั้น ทาน ศีล สมถภาวนา วิปัสสนา มรรคจิต เป็นต้น เพราะฉะนั้น สติเจตสิก ก็มีทั้งระดับ ที่เป็นขั้นทาน สติเจตสิกที่เป็นไปในขั้นศีล สติเจตสิกที่เป็นไปในขั้นสมถภาวนา และ สติเจตสิกที่เกิดในขั้น วิปัสสนา คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ขณะนั้นก็เป็นสติ ขั้นวิปัสสนา และ สติขั้น มรรคจิต ขณะที่มรรคจิตทำหน้าที่ดับกิเลส ก็มีสติด้วย

โดยนัยเดียวกัน ปัญญาก็มีหลายระดับ เช่นกัน มีดังนี้

ปัญญาที่เป็นการเชื่อกรรมและผลของกรรม คือ กัมมสกตาปัญญา

ปัญญาในขั้นทาน ที่เรียกว่า ทานมยปัญญา

ปัญญาในขั้นศีล ที่เรียกว่า ศีลมยปัญญา

ปัญญาในขั้นสมถภาวนา

ปัญญาในขั้นฌานจิต

ปัญญาในขั้นวิปัสสนา เช่น ขณะที่สติปัฏฐานเกิด

ปัญญาในขั้นมรรคจิต ปัญญาในขั้นผลจิต

๒. เช่น สติหรือปัญญา ที่เป็นไปในศีล ในทาน ในภาวนาเป็นต้น นั้นมีลักษณะต่างกัน อย่างไร

- สติทำหน้าที่ระลึก แต่จะระลึกไปในกุศลจิตขั้นใด เช่น สติขั้นทาน ก็ระลึกเป็นไปที่จะให้ สติขั้นศีล คือ ระลึกที่จะงดเว้นที่จะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น สติขั้นสมถภาวนา คือ ระลึกเป็นไป ในอารมณ์ของสมถะ มีพุทธานุสสติ ระลึกในพระคุณของพระพุทธเจ้า เป็นต้น สติขั้น วิปัสสนาภาวนา คือ สติทำหน้าที่ระลึก แต่ระลึกเป็นไปในสภาพธรรมที่มีจริง เช่น ระลึกเป็นไปในนาม หรือ รูป เป็นต้น

ส่วนปัญญา ทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริง ซึ่งก็รู้ตามความเป็นจริง ในกุศลขั้นทาน ศีล ภาวนา ซึ่ง กุศลขั้นทาน ก็มีปัญญาด้วยในขณะนั้น และ ปัญญาในการเชื่อกรรมและผลของกรรม ในขณะที่ให้ทาน ปัญญาในขั้นศีล ที่เป็นผู้สำรวมกาย วาจาด้วยปัญญา ด้วยความเห็นถูก จึงสำรวมกาย วาจา ส่วนปัญญาความเห็นถูกในสมถภาวนา คือ เห็นถูกว่า ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล จึงมีความเห็นถูก ที่รู้ว่า จะระลึกอย่างไร จึงเกิดกุศลจิตต่อเนื่อง และปัญญาความเห็นถูกในขั้นวิปัสสนา คือ การที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม สติทำหน้าที่ระลึก ปัญญาทำหน้าที่รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้น สภาพธรรม มีสี เป็นต้น ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ

๓. ปัญญา ศัพท์บัญญัติ เป็นสังขารธรรมประเภทหนึ่ง สังขารประเภทนี้ เมื่อปรุงแต่งจิตแล้ว มีผลให้จิตเป็นอย่างไร ในแต่ระดับของปัญญานั้นๆ

- จิตเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ในการรู้ จิต เป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส ไม่มีกิเลส แต่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาเกิดร่วมด้วย ที่เป็นอโมหเจตสิก ขณะนั้น ทำให้จิตนั้นเป็นเจตสิกที่ดีงามตามเจตสิกที่ดีไปด้วย เพราะ อาศัยปัญญาที่เป็นเจตสิกที่ดี เกิดร่วมด้วยนั่นเองครับ

ซึ่งไม่ว่าจิตจะระดับใด หากปัญญาเกิดร่วมด้วย ย่อมมีเจตสิกที่ดีเกิดตามไปด้วย ทั้งศรัทธา สติ เป็นต้น และ จิตที่มีเจตสิกที่ดีเกิดร่วมด้วย ก็ทำให้จิตนั้นป็นจิตที่ดีงามตามไปด้วย ครับ

๔. เพราะเหตุใดกุศลจิต ต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ

- กุศลจิตเป็นจิตที่ดีงาม ซึ่ง สติเจตสิก เกิดกับจิตที่ดีงามเสมอ เพราะฉะนั้น สติเจตสิกจึงต้องเกิดกับกุศลจิตเสมอ ครับ

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
songjea
วันที่ 25 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณสำหรับคำตอบครับ

แล้ว ที่ชื่อว่า "จิตที่ดีงาม" นั้น ดีงามอย่างไรครับ

คือ จิตที่ดีงามในขั้น ทาน ศีล แต่มิใช่สติปัฏฐาน ก็ไม่อาจบรรลุเป็น พระอริยบุคคลได้ ดังนั้นจะสรุปว่า สติและปัญญา สามารถแบ่งออกเป็น ๒ คือ สติและปัญญา ระดับที่ไม่ถึง กับเป็นปัจจัยทำให้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้หนึ่ง กับ สติและปัญญาระดับที่เป็นปัจจัย ทำให้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้อีกหนึ่ง ถูกหรือไม่อย่างไรครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 25 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง สำคัญที่การตั้งต้นก่อนว่า สิ่งนั้น คือ อะไร? รวมถึง สติ และ ปัญญา ด้วย

ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความเข้าใจถูก เห็นถูก ปัญญา เกิดขึ้น ก็ทำกิจหน้าที่ของปัญญา จะไม่ทำหน้าที่อื่นเลย เกิดเมื่อใดก็ทำกิจหน้าที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง

ปัญญา มีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับ เบื้องต้น จนกระทั่งสูงสุด คือ สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสถึงความเป็น พระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ซึ่ง ตามการศึกษาก็พอที่จะเข้าใจถึง ปัญญาที่เป็นระดับต่างๆ จนกระทั่งถึง วิปัสสนาญาณ ขั้นต่างๆ ตามระดับขั้นของปัญญา

สติ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็น สภาพธรรม ที่ระลึกเป็นไปในกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ขณะที่กุศลจิตเกิดย่อมไม่ปราศจากสติและสภาพธรรมฝ่ายดีอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่น ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น แต่สภาพธรรมเหล่านี้จะเกิดร่วมกับอกุศลจิตไม่ได้ เพราะเป็นธรรมคนละประเภทกัน ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

สติ เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท สติ จึงมีหลายระดับขั้น ทั้งที่เป็นไปใน ทาน การสละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น เป็นไปใน ศีล คือ การวิรัติ งดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ เมื่อสติเกิดขึ้นก็ทำให้งดเว้นจากอกุศลธรรม สติที่เป็นไปในการอบรมเจริญ สมถภาวนา อบรมความสงบของจิต และ สติที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาที่เข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน

สติ เกิดโดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ แต่ปัญญาเกิด ต้องมีสติเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ดังนั้น ที่จะเป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้นนั้น ต้องเป็นสติและปัญญา ที่เป็นไปในการระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง (วิปัสสนาภาวนา) เท่านั้น ซึ่งจะต้องอาศัยเหตุที่สำคัญ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ฟังในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 25 ต.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 2 ครับ

จากคำถามที่ว่า

แล้ว ที่ชื่อว่า "จิตที่ดีงาม" นั้น ดีงามอย่างไรครับ

- จิตที่ดีงาม หมายถึง จิตที่มี โสภณเจตสิก เกิดร่วมด้วย ตัวอย่างของ โสภณเจตสิก เช่น สัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น โสภณจิตมี ๕๙ ดวง อย่างเช่น ขณะที่เกิดกุศลจิต ในขั้นทาน ขณะนั้น เป็นจิตที่ดีงาม เพราะเหตุว่า มีเจตสิกที่ดี มี ศรัทธา สติ หิริโอตตัปปะ เป็นต้น เกิดร่วมด้วย เพราะ อาศัยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทำให้ จิตนั้นเป็นจิตที่ดีงาม ครับ

และจากคำถามที่ว่า

คือจิตที่ดีงามในขั้น ทาน ศีล แต่มิใช่สติปัฏฐาน ก็ไม่อาจบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้ ดังนั้นจะสรุปว่า สติและปัญญา สามารถแบ่งออกเป็น ๒ คือ สติและปัญญา ระดับที่ไม่ถึงกับเป็นปัจจัยทำให้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้ หนึ่ง กับ สติและปัญญาระดับที่เป็นปัจจัยทำให้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้อีกหนึ่ง ถูกหรือไม่อย่างไรครับ

- ถูกต้องครับ กุศลจิตและเจตสิกที่ดี มี สติเจตสิกและปัญญาเจตสิก ก็มีทั้งสองฝ่าย คือ กุศลจิตและสติเจตสิก ปัญญาเจตสิก ที่ไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากวัฏฏะ ไม่ใช่หนทางที่ดับกิเลส ไม่ให้ถึงความเป็นพระอริยบุคคล เช่น สติและปัญญาในขั้นทาน ขั้นศีล และ ขั้นสมถภาวนาจนได้ฌาน เป็นกุศลจิตที่มีสติและปัญญาที่ไม่สามารถดับกิเลส ไม่ทำให้ออกจากสังสารวัฏฏ์ เป็นกุศลที่ยังเป็นไปในวัฏฏะ แต่ ถ้าเป็นกุศลจิตที่มีสติและปัญญาเกิดร่วมด้วยที่เป็นขั้นวิปัสสนาหรือสติปัฏฐาน เป็นกุศล ที่เป็นไปในการออกจากวัฏฏะ เป็นหนทางการดับกิเลสถึงความเป็นพระอริยบุคคล จึงสามารถแบ่ง กุศลจิตและเจตสิก เป็น ๒ ประเภทได้ คือ กุศลจิตและเจตสิก ที่ยังทำให้อยู่ในวัฏฏะ ไม่สามารถดับกิเลสได้ และกุศลจิตและเจตสิกที่ดี มีสติและปัญญาเป็นต้นที่ทำให้ออกจากวัฏฏะ ดับกิเลสได้ถึงความเป็นพระอริยบุคคล

ดังที่ผู้ถามเข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 26 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
songjea
วันที่ 26 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณสำหรับคำตอบครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
bigcat001
วันที่ 4 พ.ค. 2564

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 4 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ