ตบะ ๒

 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่  26 ต.ค. 2555
หมายเลข  21960
อ่าน  2,369

ผมได้อ่านพบกระทู้เดิมที่อาจารย์ผเดิมยกเรื่อง ตบะอื่นไม่อำนวยประโยชน์ ดังนี้

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 1

ข้อความบางตอนจาก...

ตโปกรรมสูตร

ตบะอื่นไม่อำนวยประโยชน์

[๔๑๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ต้นไม้อชปาลนิโครธ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลอุรุเวลา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับพักร้อนอยู่ในที่ส่วนพระองค์ ได้เกิดความตรึกแห่งพระทัย อย่างนี้ว่า สาธุ เราเป็นผู้พ้นจากทุกรกิริยานั้นแล้วหนอ สาธุ เราเป็นผู้พ้นแล้ว จากทุกรกิริยาอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์นั้นหนอ สาธุ เราเป็นสัตว์ที่บรรลุโพธิญาณแล้วหนอ.

[๔๑๗] ครั้งนั้น มารผู้มีบาปได้ทราบ ความตรึกแห่งพระทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยจิต จึงเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ แล้วได้ทูลด้วยคาถาว่า

มาณพทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วย การบำเพ็ญตบะใด ท่านหลีกจากตบะนั้นเสียแล้ว เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์ มาสำคัญตนว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ ท่านพลาดมรรคาแห่งความบริสุทธิ์เสียแล้ว.

[๔๑๘] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป จึงได้ตรัสกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า

เรารู้แล้วว่า ตบะอื่นๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ตบะทั้งหมด หาอำนวยประโยชน์ให้ไม่ ดุจถ่อเรือบนบก ฉะนั้น (เรา) เจริญมรรค คือ ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อตรัสรู้ เป็นผู้บรรลุความบริสุทธิ์อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ดูก่อนมารผู้กระทำซึ่งที่สุด ตัวท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียแล้ว.

ครั้งนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง.

ดังนั้น ตบะ มี ๒ คือ ตบะที่อำนวยประโยชน์ และไม่อำนวยประโยชน์

จึงขอความกรุณาท่านอาจารย์ขยายความเพื่อความเข้าใจ และสามารถแยกแยะให้สามารถพิจารณาลักษณะของตบะทั้งสองนี้ชัดเจนในชีวิตประจำวันด้วยนะครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ก็ขอเล่าพระสูตรนี้ก่อน ครับ ที่ชื่อ ตโปกรรมสูตร อันเป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และ ทรงปริวิตกถึง การกระทำในอดีตของพระองค์ ในการเพื่อที่จะถึง การตรัสรู้ นั่นคือ การบำเพ็ญทุกกรกิริยา ๖ ปี ด้วยสำคัญว่า การกระทำความเพียรนี้ จะเป็นทางที่จะให้ถึงการตรัสรู้

ซึ่ง คำว่า ตบะ หมายถึง ความเพียร เครื่องเผากิเลส ดังนั้น จึงมี ตบะ ที่ผิด ไม่อำนวยประโยชน์ คือ เป็นตบะที่ไม่สามารถเผากิเลสได้จริง เป็นการกระทำความเพียรที่ผิด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

เพราะ คำว่าประโยชน์ หมายถึง ประโยชน์ คือ การละกิเลส ดับกิเลสได้ เมื่อเป็น ตบะ ที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ จึงเป็น การทำความเพียรต่างๆ ที่ไม่สามารถ ทำให้กิเลสลดลงได้ ไม่สามารถทำให้ ดับกิเลสได้ แต่กลับเพิ่มกิเลส จึงเป็น ตบะ ที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

ส่วน ตบะที่ประกอบด้วยประโยชน์ หรือ การกระทำความเพียรที่ทำให้ สามารถละกิเลส ดับกิเลสได้ ก็ต้องเป็นความเพียรที่ประกอบด้วยปัญญา ความเห็นถูก อันเป็นสติปัฏฐาน หรือ อริยมรรค มีองค์ ๘ ที่รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ครับ

ดังนั้น ในชีวิตประจำวัน ตบะที่ไม่อำนวยประโยชน์ คือ การกระทำในชีวิตประจำวันที่สำคัญว่าจะทำให้ละกิเลสได้ หรือ กล่าวง่ายๆ ว่า เป็นการกระทำที่เกิดจากความเห็นผิด หากกล่าวอย่างหยาบๆ ในชีวิตประจำวัน ก็เช่น การทรมานตนต่างๆ เช่น การเดินบนตะปู การอดอาหาร การอาบน้ำล้างบาป เป็นต้น ที่สำคัญว่าเป็นทางละกิเลส แต่เมื่อกล่าวโดยละเอียด ในชีวิตประจำวัน ตบะที่ไม่เป็นประโยชน์ แม้แต่การสำคัญผิดในหนทางการดับกิเลส ที่จะต้องมีตัวตน ที่จะพยายาม ที่จะทำ การนั่งสมาธิ สำคัญว่าเป็นทางหลุดพ้น การพยายามจดจ้องในสภาพธรรม เหล่านี้ ก็เป็นหนทางที่ผิด ไม่อำนวยประโยชน์ แต่กลับเพิ่มกิเลสด้วย ครับ

ส่วน ตบะที่อำนวยประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ก็ไม่พ้นจากการรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา ที่เกิดในชีวิตประจำวัน และ แม้การเจริญกุศลประการต่างๆ มี ทาน เป็นต้น ที่ประกอบด้วยปัญญาที่เห็นถูก เพื่อเป็นไปในการละกิเลส ที่เป็น ทานบารมี เป็นต้น ก็ชื่อ ตบะที่อำนวยประโยชน์ เพราะย่อมถึงการดับกิเลส และ เกื้อกูลการละกิเลส ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 30 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 31 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 31 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาชั่วโมงการสนทนา "เรื่องปฏิบัติธรรม" ก็ได้มีการสนทนาธรรมในประเด็นนี้เหมือนกัน เพราะตบะ มี ๒ อย่าง ทั้งที่ เป็นกุศล กับ เป็นอกุศล

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้กล่าว โดยสรุปไว้ว่า

ถ้าเป็นกุศลแล้ว เป็นสิ่งที่สมควร แต่ถ้าเป็นอกุศลแล้ว ไม่สมควร

เพราะตบะ กว้างขวางมาก ถ้ากล่าว ตบะ ที่ควรประกอบแล้ว ต้องเป็นตบะฝ่ายดี ซึ่งได้แก่ กุศลธรรม ซึ่งจะเป็นไป เพื่อเผาผลาญบาปธรรม มี ความโลภ ความโกรธ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นตบะ ที่ไม่ควรประกอบ ก็เป็นเรื่องของ อกุศลธรรม ที่เห็นชัดๆ ก็เป็นความเพียรที่เป็นไป กับด้วยความเห็นผิด เป็นการไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความเป็นตัวตน จดจ้อง ต้องการ เป็นต้น ที่ไม่เป็นไป เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเลยแม้แต่น้อย

แม้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่เป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์ทรงเคยทดลองมาแล้วว่า ตบะในลัทธิภายนอกนั้น ไม่มีสาระ จึงทรงทิ้งตบะที่ไม่ควรประกอบ เหล่านั้น ครับ

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.ผเดิม, ท่านผู้ร่วมเดินทาง และทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 14 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Kalaya
วันที่ 27 ธ.ค. 2565

กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ