ไม่ควรเป็นผู้ประมาทแม้กุศลเพียงเล็กน้อย

 
natural
วันที่  30 ต.ค. 2555
หมายเลข  21985
อ่าน  2,598

กุศลและอกุศลมีลักษณะอย่างไร ทราบว่าขณะอกุศลเกิดกุศลไม่เกิด แต่ยังไม่เข้าใจสภาพธรรม บางอย่างว่าเป็นอกุศลหรือกุศล และลักษณะของผู้ประมาทเป็นอย่างไร

จึงขอความกรุณาช่วยอธิบายเพิ่มเติมในข้อความที่ว่า

"ไม่ควรเป็นผู้ประมาทแม้กุศลเพียงเล็กน้อย"

ขอบพระคุณและอนุโมทนาที่ช่วยให้เข้าใจเพิ่มขึ้นค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กุศลและอกุศลมีลักษณะอย่างไร

- กุศลเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม คือเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษ คำว่าไม่มีโทษ คือไม่มีโลภะ โทสะและโมหะ หรือไม่มีกิเลสเกิดขึ้น แต่มีสิ่งดีๆ ที่เรียกว่าธรรมฝ่ายดี มีสติ ศรัทธา เป็นต้นในขณะจิตนั้น จิตนั้นจึงเรียกว่ากุศลจิต เช่น ขณะที่ให้ทาน ก็เป็นกุศลจิต เพราะเป็นจิตที่ดี คิดจะให้เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ส่วนขณะที่เป็นอกุศลจิต คือขณะที่มีจิตที่ไม่ดีและมีสภาพธรรมที่ไม่ดีเกิดร่วมด้วย มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ในขณะจิตนั้น เช่นขณะที่ไม่ยอมให้ เพราะเสียดายของ มีความตระหนี่เกิดจิตที่ไม่ดีในขณะนั้น

กุศลจิตจึงเป็นในขณะจิตที่ดีเกิดขึ้น มีการให้ทาน รักษาศีล มีเมตตา อบรมปัญญา

ขณะที่เป็นอกุศลจิต คือ ขณะที่จิตไม่ดีเกิดขึ้น เช่น ขณะที่มีความต้องการ ขณะที่โกรธ ขณะที่ไม่เข้าใจ ขณะที่อิจฉา ริษยา เป็นต้น ครับ

ส่วนคำถามที่ว่า ลักษณะของผู้ประมาทเป็นอย่างไร

- ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่า ประมาทและไม่ประมาทให้ถูกต้อง ว่าคืออะไรก่อน ครับ

การประมาท คือขณะที่ไม่มีสติ ซึ่งสติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ขณะที่ไม่มีสติ ที่ชื่อว่าความประมาท หมายถึงขณะที่เป็นอกุศล ดังนั้นขณะใดก็ตามที่เป็นอกุศลจิต ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ชื่อว่าประมาทแล้วในขณะนั้นครับ

ความไม่ประมาท หมายถึงขณะที่มีสติ เป็นกุศลจิต ดังนั้นขณะใดที่เป็นกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตขั้นใด ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้น ทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นชื่อว่าไม่ประมาท เพราะมีสติ อยู่โดยไม่ปราศจากสติในขณะนั้น ดังนั้นความประมาท จึงไม่ใช่ความหมายทางโลกที่ทำอะไรด้วยความประมาท เช่น ข้ามถนน ไม่ดู ก็กล่าวว่าประมาท นั่นไม่ใช่ความหมายของความประมาทในพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง ครับ

แต่ความไม่ประมาทที่เป็นกุศลธรรม ก็ยังแบ่งระดับ ความไม่ประมาทที่เป็นยอด คือความไม่ประมาทที่เป็นไปในการเจริญสติปัฏฐานและการอบรมอริยมรรค ที่เป็นไปในการดับกิเลส ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

...ความไม่ประมาทและความประมาท

บรรเทาความประมาทด้วยความไม่ประมาท


ส่วนคำว่า "ไม่ควรเป็นผู้ประมาทแม้กุศลเพียงเล็กน้อย" หมายถึงอย่างไรนั้น

- หมายความว่า ผู้ที่มีปัญญา ย่อมเห็นถึงคุณงามความดีของกุศล ว่า สภาพธรรมที่เป็นกุศล นำสุขมาให้ และไม่มีโทษกับจิตของตนเอง และไม่มีโทษกับใครเลย และที่สำคัญ ในชีวิตประจำวันของปุถุชน เป็นไปด้วยกับอกุศลเป็นส่วนมาก เพราะฉะนั้นขณะใดที่กุศลไม่เกิด โดยมากก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นผู้ที่มีปัญญา จึงเห็นถึงคุณของกุศล ที่เห็นว่า หากกุศลไม่เกิดก็เป็นโอกาสของอกุศล จึงควรให้เกิดกุศลในขั้นต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เป็นการจะไปทำแต่กุศลใหญ่ๆ มีการเจริญวิปัสสนาหรือสติปัฏฐาน เป็นต้น แต่กุศลมีมากมาย มี บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ มี ทาน ศีล การช่วยเหลือ การอนุโมทนาบุญ การอุทิศส่วนกุศล เป็นต้น ก็เป็นผู้ไม่ประมาทแม้ในกุศลเล็กน้อย คือ ไม่เห็นว่า กุศลเล็กน้อยไม่สำคัญ แต่เห็นว่าเป็นความสำคัญ เพราะแทนที่จะมากไปด้วยอกุศลในชีวิตประจำวัน ก็เกิดกุศลประการต่างๆ เกิดขึ้นได้ และที่สำคัญกุศลเพียงเล็กน้อยเหล่านี้ ก็ค่อยๆ สะสม ก็จะสะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีงาม เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศล ไพบูลย์มากขึ้น เช่น เมื่อให้ทานแม้เพียงเล็กน้อยก็สะสมอุปนิสัยที่ดี ก็จะทำให้เป็นผู้ให้ทานได้ง่ายขึ้นบ่อยขึ้นจากการให้ครั้งแรก ค่อยๆ สะสมไป บุญก็ย่อมเจริญเพราะอาศัยบุญที่ทำเล็กน้อย สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ครับว่า

บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมา (ทีละหยาดๆ ) ได้ฉันใด

ธีรชน (ชนผู้มี ปัญญา) สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญได้ฉันนั้น.

จากพระพุทธพจน์แสดงให้เห็นว่า ธีรชนผู้มีปัญญา ย่อมเห็นคุณของกุศลแม้เพียงเล็กน้อย แต่ค่อยๆ สะสมไป ก็มากมายไพบูลย์ได้ ดังเช่นน้ำทีละหยดย่อมเต็มหม้อน้ำได้ การสะสมบุญทีละน้อย ย่อมมีกำลัง และทำให้เป็นผู้มีอุปนิสัยที่ดีงาม และเจริญขึ้นของกุศลในชีวิตประจำวัน แทนที่จะมากไปด้วยอกุศลล้วนๆ ก็เกิดกุศลในขั้นต่างๆ สลับในชีวิตประจำวัน และกุศลในขั้นต่างๆ มีทาน ศีล เป็นต้น ก็เกื้อหนุนต่อการสละ ละคลายกิเลสและอบรมปัญญาด้วยครับ ผู้มีปัญญาจึงไม่ประมาทในการทำกุศลทุกๆ ประการ นี่คือความหมายของ ไม่ควรเป็นผู้ประมาทแม้กุศลเพียงเล็กน้อย ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 30 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การขัดเกลา กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิตใจ) ไม่เหมือนกับการทำความสะอาดวัตถุสิ่งของ เพราะเหตุว่า การขัดเกลากิเลส ที่แต่ละบุคคลได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ต้องอาศัยการเจริญกุศลทีละเล็กทีละน้อย บ่อยๆ เนืองๆ สำหรับบุคคลผู้ที่ยังไม่มีปัญญาคมกล้าจนถึงขั้นที่จะสามารถบรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้ได้นั้น โอกาสใดที่จะเจริญกุศลได้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านใดๆ ก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะละเลยโอกาสนั้นไป เพราะโอกาสของการที่ได้ทำความดีในชีวิตประจำวันนั้นเป็นโอกาสที่หายาก เทียบส่วนกันไม่ได้เลยกับขณะที่เป็นกุศล

ซึ่งในวันหนึ่งๆ กุศลจิตเกิดบ่อยมากเป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าไม่มีโอกาสของกุศลจิตได้เกิดขึ้นบ้างเลย นับวันกุศลก็จะสะสมพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไปอีกอย่างไม่มีวันจบสิ้น ขณะที่อกุศลเกิดนี่แหละ คือประมาท แต่ถ้าเป็นความไม่ประมาทแล้ว ต้องเป็นกุศลธรรม มีธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นเป็นไป

จึงไม่ควรปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่ควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ และไม่ประมาทในการเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 30 ต.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 30 ต.ค. 2555

ถ้าขึ้นรถเมล์เห็นเด็กเล็กหรือคนสูงอายุ เราลุกให้เขานั่ง หรือช่วยคนอื่นถือของ ก็เป็นกุศลแม้ว่าจะเล็กน้อย ถ้าเป็นความดีก็เป็นนาทีทองของกุศลจิต ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 31 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nopwong
วันที่ 31 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สิริพรรณ
วันที่ 5 มิ.ย. 2567

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 404

๑๑. ทสุตตรสูตร ว่าด้วยหมวดธรรมอันยิ่งขึ้นไปจนถึงสิบ

เรื่อง พระสารีบุตรเถระ

ธรรมหมวด ๑

[๓๖๔] ข้าพเจ้า สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วย ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ประทับอยู่ที่ฝังสระโปกขรณี ชื่อคัดครา ใกล้เมืองจําปา. ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตร เรียกภิกษุทั้งหลายมา ภิกษุเหล่านั้น รับคําของท่านพระสารีบุตรแล้ว. ท่านพระสารีบุตร กล่าวว่า

[๓๖๕] เราจักกล่าวทสุตตรสูตร อันเป็นธรรมเพื่อปลดเปลื้องกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง เพื่อบรรลุถึงพระนิพพาน เพื่อทําที่สุดทุกข์.

[๓๖๖] ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่ง มีอุปการะมาก ธรรมอย่างหนึ่ง ควรเจริญ ธรรมอย่างหนึ่ง ควรกําหนดรู้ ธรรมอย่างหนึ่ง ควรละ ธรรมอย่างหนึ่ง เป็นไปในส่วนเสื่อม ธรรมอย่างหนึ่ง เป็นไปในส่วนวิเศษ ธรรมอย่างหนึ่ง แทงตลอดได้ยาก ธรรมอย่างหนึ่ง ควรให้เกิดขึ้น ควรรู้ยิ่ง ธรรมอย่างหนึ่ง ควรทําให้แจ้ง.

[๓๖๗] ธรรมอย่างหนึ่ง มีอุปการะมาก เป็นไฉน? คือความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย. นี้ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ที่มีอุปการะมาก.

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่ง
กราบขอบพระคุณธรรมทานจากทุกท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 5 มิ.ย. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ