ปัญญากับสัมมาทิฏฐิ?

 
dets25226
วันที่  31 ต.ค. 2555
หมายเลข  21989
อ่าน  4,072

ขอสวัสดีและแสดงความเคารพท่านผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย

ผมมีข้อสงสัยดังนี้ครับ ใคร่ขอความอนุเคราะห์อาจารย์และผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย

๑. ทำไมปัญญากับสัมมาทิฏฐิ เป็นตัวเดียวกันหรือไม่ ทำไมถึงชื่อต่างกัน?

๒. ในไตรสิกขา ทำไม ปัญญาอยู่ข้างท้าย? แต่ในอริยมรรคนั้น สัมมาทิฏฐิ กลับขึ้น

ต้นก่อน เรื่องของลำดับมีความสำคัญหรือข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ?

๓. หลักปฏิบัติของทั้ง ไตรสิกขา กับ อริยมรรค เหมือนกัน หรือสอดคล้องกันหรือไม่

อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องปัญญากับสัมมาทิฏฐิ?

ด้วยผมมีปัญญาน้อย จึงขอได้โปรดอธิบายให้ผมได้กระจ่างหน่อยนะครับฯ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ทำไมปัญญากับสัมมาทิฏฐิ เป็นตัวเดียวกันหรือไม่ ทำไมถึงชื่อต่างกัน

- ปัญญา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ปัญญา คือ ความเห็นถูก ส่วน สัมมาทิฏฐิ ก็คือ ความเห็นชอบ ซึ่งก็เป็นความเห็นที่ถูกต้อง ความเห็นถูกนั่นเอง ซึ่งก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา เพราะฉะนั้น พยัญชนะแม้ต่างกันแต่อรรถก็ไม่ต่างกัน คือ เป็นความเห็นถูก เห็นชอบ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ครับ

ส่วนเหตุผลที่ใช้ชื่อต่างกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม โดยนัยเทศนาต่างๆ โดยนัยเทศนาวิลาส อันหมายถึง งดงามทั้งอรรถและพยัญชนะ และที่สำคัญ เหมาะกับอัธยาศัยของสัตว์โลกของแต่ละบุคคล ซึ่งสัตว์โลกสะสมอัธยาศัยมามากมาย ไม่เหมือนกันเลย เพราะฉะนั้น พระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ จึงไม่ใช้เพียงพยัญชนะเดียว แต่ใช้หลากหลายพยัญชนะ เพื่อให้เหมาะกับอัธยาศัยของสัตว์โลก ซึ่งชื่อของปัญญา ก็มีหลากหลาย ทั้งสัมมาทิฏฐิ ปัญญา อโมหะ สัมปชัญญะทัสสนะ ล้วนแล้วแต่เป็นชื่อของปัญญา แต่พระองค์ทรงพิจารณาแล้วว่า บทธรรมนี้ พยัญชนะนี้ ผู้ใดฟังเข้าใจในคำนี้ ก็ทรงแสดง บท พยัญชนะนี้เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น อาศัยอัธยาศัยของสัตว์โลกที่ต่างๆ กันไป พระองค์จึงทรงแสดงธรรมโดยหลากหลายนัย หลากหลายพยัญชนะ แม้ความหมายเดียวกันแต่ พยัญชนะต่างๆ กันเพื่อให้ผู้ฟังที่ต่างอัธยาศัยกันได้เข้าใจ ตามความเหมาะสม ครับ


๒. ในไตรสิกขา ทำไม ปัญญาอยู่ข้างท้าย? แต่ในอริยมรรคนั้น สัมมาทิฏฐิ กลับขึ้นต้นก่อน เรื่องของลำดับมีความสำคัญหรือข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ?

- พระพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมหลากหลายนัย ตามที่กล่าวมา ซึ่งไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา และ อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็มีอรรถเดียวกัน คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ มี ศีล สมาธิ และปัญญาด้วย ครับ เพียงแต่ว่า เมื่อกล่าวถึง การหลุดพ้นที่เป็นทางสายกลาง พระพุทธเจ้าทรงแสดงสิ่งที่สำคัญที่สุด เปรียบเหมือนว่าเมื่อพระอาทิตย์จะขึ้นย่อมมีแสงเงินแสงทองมาก่อนฉันใด การจะหลุดพ้น ดับกิเลสได้ จะต้องเริ่มจากมีความเข้าใจถูก คือ ปัญญาเป็นเบื้องต้นที่สำคัญก่อน เพราะฉะนั้น ในอริยมรรคมีองค์ ๘ สำคัญที่จะต้องมีความเห็นถูกเป็นสำคัญ คือ มีปัญญา เพราะ เมื่อมีความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิ) ย่อมเป็นปัจจัยให้คิดถูก (สัมมาสังกัปปะ) วาจาก็ถูก การกระทำทางกายก็ถูก การงานก็ถูกต้อง และ เพียรถูก มีความตั้งมั่นที่ถูกต้อง และ ระลึกเป็นไปในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะ อาศัยความเห็นถูก เป็นสำคัญ ในอริยมรรค จึงทรงแสดง สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ที่เป็นธรรมที่เป็นอุปการะมาก กับ ธรรมข้ออื่นๆ อีก ๗ ข้อ ครับ

ส่วน ในไตรสิกขาที่แสดง ศีล สมาธิ และปัญญา ในที่นี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าปัญญาไม่สำคัญ แต่เป็นการเรียงลำดับสำหรับเพศพระภิกษุด้วย ที่จะต้องเป็นผู้มีศีลที่บริสุทธิ์ดี คือ รักษาพระวินัยบัญญัติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ศีลจะดีได้จะมีความตั้งมั่นที่ถูกต้อง (สมาธิ) ขาดปัญญาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดง ไตรสิกขา โดยนัย ให้ผู้ที่มีอัธยาศัยสะสมมาที่จะเข้าใจในเรื่องนี้ ก็เข้าใจได้ เพราะฉะนั้น แม้การเจริญไตรสิกขาหรืออริยมรรคมีองค์ ๘ มีปัญญาเป็นสำคัญ ครับ


๓. หลักปฏิบัติของทั้ง ไตรสิกขา กับอริยมรรค เหมือนกัน หรือสอดคล้องกันหรือไม่ อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องปัญญากับสัมมาทิฏฐิ?

- ทั้ง ไตรสิกขา และ อริยมรรคมีองค์ ๘ สอดคล้องกัน พระธรรมของพระพุทธเจ้าจะไม่ขัดกันเลย การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ขณะนั้น ก็มีศีลด้วยคือสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นองค์ของศีล มีสมาธิด้วย คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิเป็นองค์ของสมาธิ และมีปัญญาด้วย คือสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ เป็นองค์ของปัญญา ครับ เพราะฉะนั้น ขณะที่เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ชื่อว่า เจริญไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา ขณะที่เจริญไตรสิกขาก็ชื่อว่าเจริญอริยมรรค

เพราะฉะนั้นโดยพยัญชนะต่างกันแต่อรรถไม่ต่างกันเลย ครับ เพียงแต่ว่าสัตว์โลกอัธยาศัยต่างกัน พระองค์จึงทรงแสดงในคำต่างๆ กันให้เหมาะกับผู้ใดเข้าใจคำไหน แต่หากเมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะรู้ว่าไม่ต่างกันในความหมาย ครับ

ส่วนปัญญาในไตรสิกขาและปัญญาในอริยมรรค โดยความจริงก็เป็นปัญญาที่ทำหน้าที่ รู้ความจริงของสภาพธรรมที่ไม่ต่างกัน เพราะไตรสิกขา ก็มีทั้งระดับเบื้องต้นจนสูงสุด เช่นเดียวกับการเจริญอริยมรรค มีทั้งเบื้องต้นและสูงสุด แต่ทั้งสองขาดปัญญาไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญญาทั้งสองต่างก็รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา เป็นต้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
dets25226
วันที่ 1 พ.ย. 2555

สาธุครับ ...

ขอขอบคุณอาจารย์ที่ได้อนุเคราะห์นะครับ

ผมเข้าใจตามที่อาจารย์ได้อธิบายอย่างนี้นะครับว่าเรื่องของไตรสิกขานั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เพื่อเวไนย ผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นศึกษา และฝึกฝนตน ยังไม่อาจเข้าใจธรรมขั้นสูงได้ จึงต้องเรียนรู้เรื่องของศีล สมาธิ เป็นลำดับกันไป จนถึงขั้นของปัญญา ซึ่งจัดว่าสูงสุด เป็นการขัดเกลาจิตใจเพื่อขึ้นสู่ความเป็นพระอริยบุคคลนั่นเอง

ส่วนเรื่องของอริยมรรคนั้น พระพุทธเจ้า ทรงแสดงให้แก่ท่านผู้มีอุปนิสัยที่ได้สั่งสมมาแล้ว พร้อมที่จะรองรับพระธรรมคำสั่งสอนขั้นสูงได้แล้ว ดังเช่นทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ถึงกระนั้นแล้ว ก็มีเพียงพระอัญญาโกณฑัญญะเท่านั้น ที่ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุพระโสดาบันเข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคล

จะเห็นได้ว่า พระองค์ไม่ทรงลังเลพระหทัยเลย โดยทรงแสดงอริยมรรค ซึ่งเริ่มต้นด้วยสิ่งสำคัญที่สุดคือปัญญาหรือสัมมาทิฏฐิ อันเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งก่อนทีเดียว แสดงให้รู้ถึงสิ่งที่ไม่ควรทำและสิ่งที่ควรทำเป็นลำดับกันไป จนมีผู้ได้บรรลุตามธรรมที่ทรงแสดงฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 1 พ.ย. 2555

ชัดเจนค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 1 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเป็นจริงของธรรม เป็นอย่างไร ย่อมเป็นอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ปัญญา แม้จะมีหลายชื่อ ก็ไม่พ้นไปจากความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง [เมื่อเป็นธรรม ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน] เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ก็ทำกิจหน้าที่ของปัญญา คือ เข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อปัญญาเจริญขึ้น คมกล้าขึ้น ก็สามารถถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ได้ ดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น

อริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น เป็นหนทางในการนำไปสู่การดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงทำให้ประจักษ์แจ้งพระนิพพาน การที่จะไปถึงการดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ต้องดำเนินตามหนทางอันประเสริฐนี้เท่านั้น ซึ่งจะขาดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกไม่ได้เลยทีเดียว ถ้ามีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว ทุกอย่างก็คล้อยตามปัญญา และยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงของธรรมว่า จะเกิดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ มีปัญญาเกิดเดี่ยวๆ ไม่ได้ ต้องเกิดร่วมกับเจตสิกธรรมประการอื่นๆ ด้วย

ไตรสิกขากับมรรคมีองค์ ๘ ก็คือสภาพธรรมอย่างเดียวกัน ไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ก็เป็นการอบรมเจริญอริยมรรคหรือสติปัฏฐานอันเป็นหนทางในการดับกิเลส นั่นเอง ซึ่งจะต้องอาศัยเหตุที่สำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ และเมื่อเหตุ เมื่อปัจจัยพร้อม สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริง ขณะนั้นมีทั้งศีล สมาธิ และปัญญาและจะบริบูรณ์ในขณะที่มรรคจิตผลจิตเกิดขึ้น สิกขา ๓ หรือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ประชุมพร้อมกันในขณะนั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 1 พ.ย. 2555

เรียนความเห็นที่ 2 ครับ

ขออนุญาตเรียนเพิ่มเติม ในความเข้าใจ ในความเห็นที่ 2 ครับว่า ในความเป็นจริง ไตรสิกขา และอริยมรรค จะเหมือนกัน ต่างกัน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปทำศีล หรือว่าผู้มีปัญญาน้อยจะต้องเจริญไตรสิกขา ผู้มีปัญญามากจะต้องเจริญอริยมรรค ครับ ซึ่งขณะที่เจริญอริยมรรคชื่อว่าเจริญไตรสิกขา ผู้ที่เจริญไตรสิกขาชื่อว่าเจริญอริยมรรค ซึ่งหากกล่าวโดยนัยที่ละเอียดแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำศีลให้ดีละเอียดก่อนจึงจะเจริญสมาธิ ปัญญาได้ ซึ่งขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ความจริงในขณะนั้น มีทั้งศีล สมาธิ และปัญญาด้วยครับ คือ เกิดพร้อมกัน ไม่ได้เกิดตามลำดับ

ส่วนที่เจริญศีลให้ดี มุ่งหมายถึง เพศบรรพชิตที่รักษาพระวินัยให้ดี แต่ตามที่กล่าวแล้วก็ขาดปัญญาไม่ได้เลย ครับ

ดังนั้น ไตรสิกขาก็คือการเจริญอริยมรรค การเจริญอริยมรรคก็คือการเจริญไตรสิกขา ผู้ที่จะมีปัญญาน้อยหรือมาก ก็จะต้องเจริญไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา และผู้ที่จะมีปัญญาน้อยหรือมาก ก็จะต้องเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
dets25226
วันที่ 1 พ.ย. 2555

ขอบคุณมากครับ

สำหรับคำแนะนำที่อาจารย์แนะนำนะครับ

ขออนุโมทนา ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nopwong
วันที่ 2 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
wannee.s
วันที่ 2 พ.ย. 2555

ปัญญามีหลายขั้น ขั้นฟัง ขั้นพิจารณา ขั้นปฏิบัติ ความเห็นถูกก็เป็นปัญญาที่จะนำไปสู่การดับกิเลส อริยมรรคหรือไตรสิกขาก็เป็นอันเดียวกัน แล้วแต่ความเข้าใจ อริยมรรคต้องขึ้นต้นด้วยปัญญาเพราะปัญญาสำคัญ ส่วนไตรสิกขาต้องอบรมไปตามลำดับ คือ ขั้นศีล สมาธิ และ ปัญญา ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ