อิสสามัจฉริยสัญโญชน์

 
gboy
วันที่  2 พ.ย. 2555
หมายเลข  21997
อ่าน  1,985

เรียนถามว่า อิสสา มัจฉริยะ สังโยชน์ ละได้โดยโสดาปัตติมรรค ถูกต้องหรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 2 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สังโยชน์ เป็นกิเลสอกุศลธรรม ที่ผูกมัดเหล่าสัตว์ไว้ในสังสารวัฏฏ์ไม่ให้พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ย่อมไม่พ้นไปจากการถูกผูกไว้ด้วยกิเลสประการนั้นๆ ไม่ปล่อยให้เป็นกุศล ไม่ปล่อยให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์

ไม่ว่าจะกล่าวถึงสิ่งใด ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้เลย สิ่งที่มีจริงๆ นั่นแหละ คือ ธรรม มีจริง เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีจริง นั้น ตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทุกประการ แม้แต่ความริษยาก็เป็นธรรม แต่เป็นธรรมฝ่ายที่เป็นอกุศล ไม่ดี ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เกิดขึ้นเมื่อใดจิตใจไม่สบายเมื่อนั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสประเภทนี้ได้อย่างหมดสิ้นถึงความเป็นพระโสดาบัน ความริษยาก็สามารถเกิดขึ้นได้ ในขณะที่เห็นคนอื่นได้ดี มีความสุขแล้วทนไม่ได้ แต่ละบุคคลย่อมมีตามการสะสม บางคนอาจจะมีมาก บางคนอาจจะมีน้อย ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากริษยา เมื่อผู้อื่นได้วัตถุสิ่งของ สักการะ สรรเสริญ เป็นต้น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

มัจฉริยะ ความตระหนี่ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม ที่หวงแหนทรัพย์สมบัติสิ่งของของตน ไม่อยากให้ผู้อื่นมีส่วนในสมบัติของตน

ทั้งความริษยาและความตระหนี่ ละได้ด้วยโสตาปัตติมรรค (ดังที่ผู้ถามได้เข้าใจถูกแล้ว)

ตามข้อความจาก [เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 330

... ถามว่า สังโยชน์ ๑๐ นั้นไม่เกิดต่อไป เพราะเหตุใด.

... ตอบว่า ก่อนอื่น สังโยชน์ ๕ คือ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส อิสสา (ริษยา) และ มัจฉริยะ (ความตระหนี่) ไม่เกิดต่อไป ด้วยโสดาปัตติมรรค.

สังโยชน์ ๒ คือ กามราคะ ปฏิฆะ อย่างหยาบ ไม่เกิดต่อไปด้วยสกทาคามิมรรค.

สังโยชน์ ๒ คือ กามราคะ ปฏิฆะ อย่างละเอียด ไม่เกิดต่อไปด้วยอนาคามิมรรค.

สังโยชน์ ๓ คือ มานะ ภวราคะ และ อวิชชา ไม่เกิดต่อไปด้วยอรหัตตมรรค


ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง กุศล ก็เป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม สิ่งที่ไม่ใช่ทั้งกุศลและไม่ใช่ทั้งอกุศล ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เราเลย เป็นแต่เพียงธรรม ที่เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นเลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 2 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง และพระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระธรรมด้วยเหตุและผล แม้แต่การที่พระโสดาบัน สามารถละ อิสสาหรือความริษยาและมัจฉริยะคือความตระหนี่ ก็ต้องมีเหตุผลตามความเป็นจริงด้วยครับ ว่าเพราะอะไร อันจะแสดงถึงความละเอียดของกิเลสและความละเอียดของปัญญา ว่าสามารถละได้เพราะอะไร ครับ

ลักษณะของความอิจฉาริษยาหรืออิสสานั้น คือขณะนั้นย่อมไม่ชอบใจ ไม่พอใจ ขุ่นใจ ในเมื่อบุคคลอื่นได้ลาภ ได้สักการะ ได้ความเคารพ ได้ความนับถือ ได้รับการไหว้และบูชา กล่าวได้ว่าเห็นบุคคลอื่นได้ดีแล้ว ทนไม่ได้ ไม่ต้องการให้ผู้อื่นได้ดี นี้เป็นลักษณะของความริษยา (ธรรมที่ตรงกันข้ามกับความริษยา คือ มุทิตา ความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี เมื่อผู้อื่นได้รับในสิ่งที่ดี) ความริษยาจึงมีความไม่พอใจ ไม่อยากให้ผู้อื่นได้ในสิ่งที่ดี เป็นลักษณะของความริษยา ครับ

ซึ่งสามารถพิจารณาเหตุผลได้ครับว่า เหตุใด พระโสดาบันจึงละความอิสสา ริษยา ได้หมดสิ้นไม่เกิดอีกเลย

พระโสดาบัน มีปัญญาประจักษ์พระนิพพาน และที่สำคัญที่สุดท่านละความยึดถือว่า มีสัตว์ บุคคล ตัวตน หมดสิ้นแล้ว เพราะรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ซึ่งก่อนจะถึงความเป็นพระโสดาบัน ก็เจริญอบรมสติปัฏฐานระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมในสภาพธรรมแต่ละอย่าง อย่างคล่องชำนาญ ท่านจึงไม่สำคัญว่ามีสัตว์ บุคคล มีแต่เพียงธรรม ดังนั้น ความริษยา อิสสา คือการไม่ยินดีในสิ่งที่ผู้อื่นได้ ในบุคคลที่ไม่ชอบได้

ดังนั้น เมื่อท่านประจักษ์ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ท่านก็ย่อมไม่สำคัญผิดว่า มีเรา มีคนอื่น ที่ได้ลาภ สักการะ ไม่สำคัญผิดว่า มีลาภ สักการะจริงๆ เพราะมีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาที่ดี เสียงที่ดี และสักการะ ชื่อเสียงก็เป็นแต่เพียงความคิดนึก ซึ่งก็เป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้น ไม่ใช่เรา เมื่อถึงความเป็นพระโสดาบัน ท่านย่อมประจักษ์ความจริงจนหมดสิ้นแล้วว่ามีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา ไม่มีสัตว์ บุคคล ดังนั้น จะอิจฉาใครในเมื่อมีแต่ธรรม จะไปยินดีในคนอื่นที่ได้ลาภสักการะได้อย่างไร เพราะลาภสักการะก็เป็นแต่เพียงธรรมที่เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ที่เป็นแต่เพียงธรรมเท่านั้น

มัจฉริยะ หรือ ความตระหนี่ หมายถึง ความเหนียวแน่น ความหวงแหน ในสมบัติของตน หรือปกปิดสมบัติของตนไม่ให้ผู้อื่นรู้ หรืออยากให้สิ่งที่มีอยู่กับตน หรือสิ่งที่ดีๆ นั้นมีอยู่กับเราผู้เดียว ไม่อยากให้ผู้อื่นมี เป็นต้น นี่คือลักษณะของความตระหนี่ ครับ

พระโสดาบัน ท่านละความตระหนี่ได้ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่า เมื่อเราตระหนี่ก็ตระหนี่ ในสมบัติของตนเอง แล้วอะไรล่ะ ที่สำคัญว่าเป็นสมบัติ เป็นสิ่งของ เป็นสิ่งต่างๆ ก็เพราะ อาศัยความยึดถือว่า มีสัตว์ บุคคล มีสิ่งต่างๆ ด้วยความเห็นผิด ที่เป็นความเห็นผิด ดังนั้น พระโสดาบัน ละความเห็นผิดหมดสิ้น จึงไม่มีความตระหนี่ในสมบัติของตน เพราะสมบัติของท่านก็ไม่พ้นจากเพียงธรรมอย่างหนึ่ง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ตัวท่านก็ไม่เป็นเจ้าของธรรม ใครคนอื่นก็ไม่เป็นเจ้าของธรรม ไม่เป็นเจ้าของของทรัพย์สมบัติ จึงละความตระหนี่ได้หมดสิ้น ครับ

การอบรมปัญญา โดยเฉพาะการเจริญสติปัฏฐาน ที่ค่อยๆ เข้าใจว่าในแต่ละขณะเป็นธรรมไม่ใช่เรา จะเป็นหนทางที่ถูกต้องที่จะค่อยๆ ละความตระหนี่และความริษยาได้ เพราะไม่มีทรัพย์สมบัติให้อิจฉาริษยา และไม่มีทรัพย์สมบัติให้ตระหนี่ เพราะมีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 3 พ.ย. 2555

ดีมากๆ เลยค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
gboy
วันที่ 3 พ.ย. 2555

ขอบพระคุณครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ