ผู้ไม่มีตัณหา ผู้ไม่เศร้าโศก

 
pirmsombat
วันที่  2 พ.ย. 2555
หมายเลข  21999
อ่าน  1,172

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความบางตอน จาก

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 16

ว่าด้วยผู้ไม่มีตัณหา

[๓๙๑] คำว่า บุคคลผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในอนาคต

ความว่า ตัณหา เรียกว่า ตัณหา เครื่องเกี่ยวข้อง ได้แก่ความกำหนัด

ความกำหนัดนัก ฯลฯ อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล ตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องนั้น

อันบุคคลใดละ. ตัดขาด สงบ ระงับแล้ว ทำไม่ให้ควรเกิดขึ้น

เผาเสียแล้วด้วยไฟคือญาณ แม้เพราะเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า

ผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในอนาคต.

อีกอย่างหนึ่ง บุคคลผู้ไม่เป็นไปตามความเพลินในรูปว่า

ในอนาคตกาล เราพึงมีรูปอย่างนี้ ไม่เป็นไปตามความเพลินในนามว่า

ในอนาคตกาล เราพึงมีเวทนาอย่างนี้ มีสัญญาอย่างนี้ มีสังขารอย่างนี้

มีวิญญาณอย่างนี้ แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า

ผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในอนาคต.

อีกอย่างหนึ่ง บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อได้จักษุและรูปที่ยังไม่ได้ว่า

ในอนาคตกาล เราพึงมีจักษุดังนี้ มีรูปดังนี้ เพราะเหตุที่ไม่ตั้งจิตไว้

จึงไม่เพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อไม่เพลินจักษุและรูปนั้น ก็เป็นผู้ไม่มีตัณหา

เครื่องเกี่ยวข้องในอนาคต แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ ไม่ตั้งจิตเพื่อ

ได้หูและเสียงที่ยังไม่ได้ว่า ในอนาคตกาล เราพึงมีหูดังนี้ มีเสียงดังนี้ ...

ในอนาคตกาล เราพึงมีจมูกดังนี้ มีกลิ่นดังนี้ ... ในอนาคตกาล เราพึง

มีลิ้นดังนี้ มีรสดังนี้... ในอนาคตกาล เราพึงมีกายดังนี้ มีโผฏฐัพพะ

ดังนี้ ... ในอนาคตกาล เราพึงมีใจดังนี้ มีธรรมารมณ์ดังนี้ เพราะเหตุ

ที่ไม่ดั้งจิตไว้ จึงไม่เพลินซึ่งใจและธรรมารมณ์นั้น

เมื่อไม่เพลิน ซึ่งใจและธรรมารมณ์นั้น

ก็เป็นผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในอนาคต

แม้ด้วยเหตุอย่างนี้.

อีกอย่างหนึ่ง บุคคลไม่ตั้งจิตเพื่อจะได้ภพที่ยังไม่ได้ว่า เราจักเป็น

เทพหรือเทวดาตนใดตนหนึ่ง ด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้

เพราะเหตุที่ไม่ตั้งจิตไว้ จึงไม่เพลินภพนั้น เมื่อไม่เพลินภพนั้น

ก็เป็นผู้ไม่มีตัณหาเครื่องเกี่ยวข้องในอนาคต แม้ด้วยเหตุอย่างนี้.

ว่าด้วยผู้ไม่เศร้าโศก

[๓๙๒] คำว่า ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ความว่า ไม่

เศร้าโศกถึงวัตถุที่แปรปรวน หรือเมื่อวัตถุแปรปรวนไปแล้ว ก็ไม่เศร้าโศกถึง

คือ ไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่รำพันถึง ไม่ทุบอกคร่ำครวญ

ไม่ถึงความหลงใหลว่า

จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย ของเรา

แปรปรวนไปแล้ว

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ของเรา

แปรปรวนไปแล้ว

สกุล หมู่ คณะ อาวาส ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ของเรา

แปรปรวนไปแล้ว

จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของเรา

แปรปรวนไปแล้ว

มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่หญิง น้องหญิง

บุตร ธิดา มิตร พวกพ้อง ญาติสาโลหิต ของเรา

แปรปรวนไปแล้ว

เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า

ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pirmsombat
วันที่ 2 พ.ย. 2555

เป็นธรรมที่มีประโยชน์มากที่สุดข้อหนึ่งนะครับ คือ

เป็นผู้ที่ไม่มีตัณหา โดย

ไม่เพลิดเพลินจักษุและรูปนั้น เมื่อไม่เพลิเพลินจักษุและรูปนั้น ก็

เป็นผู้ไม่มีตัณหา

และ

เป็นผู้ไม่เศร้าโศก โดย

ไม่หลงไหลว่า จักษุุ โสตะ....แปรปรวนไปแล้ว ก็

ไม่เศร้าโศก

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา

ขออนุโมทนาทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
nong
วันที่ 3 พ.ย. 2555

พึงอยู่กับปัจจุบันเสมอ ด้วยสติและปัญญา เตือนใจได้ดีมากจริงๆ ค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
kinder
วันที่ 3 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
rrebs10576
วันที่ 6 พ.ย. 2555

มีประโยชน์มากค่ะ เป็นธรรมเตือนสติได้ดี

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ