ติดในรส

 
chaweewanksyt
วันที่  3 พ.ย. 2555
หมายเลข  22003
อ่าน  1,929

ขอเรียนถามเรื่อง ชาดกที่กล่าวเรื่อง การติดในรส ขออาจารย์ช่วยยกตัวอย่างด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 3 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมแสดงความคิดเห็น ครับ

ตราบใดที่ยังมีโลภะ โลภะก็ย่อมเกิดขึ้น ทำกิจหน้าที่ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และที่ตั้งของโลภะนั้นมีมากมาย เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ที่เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น เมื่อสะสมมากๆ ความติดข้องมากขึ้นๆ ก็อาจจะเป็นเหตุให้กระทำทุจริตกรรม เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ ก็เป็นได้ เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง ส่วนผู้ที่เป็นบรรพชิต ถ้ามีความติดข้องในรส ก็อาจจะทำให้ล่วงสิกขาบทต่างๆ ได้ มีการแสวงหาปัจจัยโดยไม่ชอบธรรม เช่น การออกปากขอ การทำการประจบ รับใช้คฤหัสถ์ เป็นหมอดู เป็นต้น ย่อมต้องอาบัติ ทำให้ห่างไกลจากพระสัทธรรม ไม่มีความเจริญในพระธรรมวินัย ซึ่งสืบเนื่องมาจากความติดในรส นี้เอง ขึ้นชื่อว่า อกุศลแล้ว ไม่นำมาซึ่งคุณประโยชน์เลยแม้แต่น้อย

รส เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป เพราะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แต่ผู้ที่ยังมีความติดข้อง ยังมีโลภะ ก็ติดข้องในรสเป็นธรรมดา (รวมถึงติดข้องในสภาพธรรมอื่นๆ ด้วย ยกเว้นโลกุตตรธรรม ๙) ที่ติดข้องนี้ไม่ใช่ความผิดของรส แต่เป็นเพราะการสะสมมาของแต่ละบุคคล เมื่อสะสมมากขึ้นๆ มีกำลังมากขึ้น ก็อาจเป็นเหตุให้กระทำทุจริตกรรม ซึ่งจะเป็นเครื่องนำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนในภายหลังได้ แต่ในทางตรงกันข้าม พระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีและพระอรหันต์ ถึงแม้ท่านจะได้ลิ้มรสเหมือนกัน แต่ท่านก็ไม่มีโลภะ ไม่มีความติดข้องในรสเลย เพราะท่านดับความติดข้องยินดีพอใจในกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) ได้หมดแล้ว

สำหรับชาดกที่แสดงถึงความติดข้องในรส

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความได้ที่นี่ ครับ

... ติดข้องในรส [วาตมิคชาดก]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับชาดกที่กล่าวเรื่อง การติดในรส ก็มีหลายชาดก ครับ แต่ขอยกชาดกเรื่องนี้ ที่เป็นความประทับใจส่วนตัว ในพระคาถาที่กล่าวไว้และเกี่ยวข้องกับโทษของการติดในรส ครับ ซึ่งหากสหายธรรมได้พิจารณาคาถา และเรื่องราวชาดกนี้ ก็คงได้รับความประทับใจที่เกิดจากุศลจิตเช่นกัน ครับ

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ และแสดงถึงความมีกำลังของการติดในรส จนถึงกับทำปาณาติบาตยอมสละราชสมบัติ เพราะความติดในรสเป็นเหตุ ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเคยได้ยินชื่อนะครับ ชื่อว่า มหาสุตโสมชาดก อันเป็นชาดกที่ยาวมาก และมีความไพเราะของพระคาถาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คคซึ่งจะขอเล่าโดยสังเขปดังนี้ ครับ

มหาสุตโสมชาดก

พระราชาเมืองพาราณสี คราวหนึ่ง ได้มีผู้ทำเนื้อมนุษย์ให้เสวย โดยที่พระองค์ไม่รู้ว่าเป็นเนื้อมนุษย์ เมื่อได้เสวย เกิดติดในรสเป็นอย่างมาก ไม่ทรงโปรดเสวยอาหารอื่น ทรงรับสั่งให้ทำแต่เนื้อมนุษย์มาให้พระองค์เสวยเท่านั้น จึงทรงได้พระนามว่าพระยาโปริสาท เพราะเสวยแต่เนื้อมนุษย์ ชาวบ้านและข้าราชการต่างก็เดือดร้อน เพราะพระราชาเอาแต่สั่งฆ่ามนุษย์ เพราะพระองค์ติดในรสอาหาร คือเนื้อมนุษย์ เพราะฉะนั้น อำมาตย์ เสนาบดีทั้งหลายต่างก็ทูลพระราชา หากพระองค์ทรงต้องการพระราชสมบัติ ก็ทรงงดเว้นจากการเสวยเนื้อมนุษย์เสีย ความหมาย คือ ถ้าพระองค์ยังเสวยเนื้อมนุษย์อยู่ ก็ไม่สามารถจะเป็นพระราชาได้ ทุกคนก็จะต่อต้าน พระราชากลับตรัสว่า แม้เราจะสละราชสมบัติ ก็จะไม่ยอมเลิกเสวยเนื้อมนุษย์ นี่แสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลส คือการติดในรสอาหารที่ไม่ยอมสละ มีความติดข้องมหาศาล ไม่ได้นึกถึงอาณาประชาราษฎร์ แต่เมื่อกิเลสมีกำลังแล้ว ย่อมยอมทิ้งทุกอย่างได้ เพราะอาศัยกำลังกิเลสคือการติดในรสอาหาร

เสนาบดี อำมาตย์และประชาชนต่างก็ขับไล่พระราชาไป พระราชาจึงหนีไปอาศัยที่ต้นไทร คอยจับมนุษย์ฆ่าทิ้งเพื่อเสวยเนื้อมนุษย์ จะเห็นนะครับว่า กิเลสที่มีการติดในรสมีกำลัง เมื่อถึงที่สุดของกำลังกิเลสแล้วย่อมถึงการทำบาป มีการทำปาณาติบาตได้ นี่คือโทษของการติดในรส เริ่มจากทีละน้อยจนมากขึ้น จนสามารถทำบาปเพราะอาศัยการติดในรสอาหาร ครับ

ผู้คนทั้งหลายต่างกลัว มีอยู่คราวหนึ่ง พระยาโปริสาทผู้ฆ่าคน วิ่งหนีการจับของบุรุษผู้กล้าหาญสมบูรณ์ด้วยกำลังคนหนึ่ง ก็เหยียบตอไม้ เท้าเป็นแผล จึงบวงสรวงเทวดาที่ต้นไทรที่ตนอาศัยอยู่ว่า ถ้าหากแผลหายก็จะเอาเลือดในลำคอของพระราชา ๑๐๑ พระองค์ในชมพูทวีปมาล้างที่ต้นไทร ปรากฎว่าแผลหาย เพราะพระยาโปริสาทอดอาหาร แผลหายเอง ไม่ใช่อานุภาพของเทวดา แต่พระยาโปริสาทสำคัญว่าเป็นเพราะอานุภาพของเทวดา จึงได้ทำตามคำที่บวงสรวง ไปจับพระราชาด้วยกำลังความสามารถของตน ๑๐๐ พระองค์ แขวนไว้ที่ต้นไทร เทวดาที่สิงอยู่ที่นั้น ไม่อยากให้พระยาโปริสาททำบาป จึงได้เนรมิตตนเองให้เห็นและกล่าวว่า ท่านจับแต่พระราชากระจอก เราต้องการพระเจ้าสุตโสมผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งก็เป็นพระโพธิสัตว์นั่นเองที่เป็นพระเจ้าสุตโสม ผู้มีความสามารถและมีคุณธรรม

พระยาโปริสาท จึงไปจับพระเจ้าสุตโสมผู้เป็นพระโพธิสัตว์ แต่ก่อนถูกจับนั้น พราหมณ์ผู้หนึ่งได้เข้าไปหาพระเจ้าสุตโสมเพื่อที่จะได้กล่าวคาถาให้พระโพธิสัตว์ได้ฟัง พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เมื่อเรากลับมาจากการอาบน้ำที่พระราชอุทยาน จะกลับมาฟัง คราวนั้น พระเจ้าโปริสาทจับพระโพธิสัตว์ที่พระราชอุทยาน อุ้มไป ในขณะที่อุ้มไปนั้น หยาดน้ำบนศีรษะพระโพธิสัตว์ไหลลงไปโดนพระยาโปริสาท พระยาโปริสาทสำคัญว่าเป็นน้ำตา จึงกล่าวว่า พระเจ้าสุตโสมผู้มีความกล้า ยังร้องไห้กลัวเราหรือ พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เราไม่กลัวและไม่ร้องไห้เลย แต่เราไม่ได้รักษาสัจจะคำสัตย์เอาไว้ประการหนึ่ง คือการจะไปฟังพระคาถาที่พราหมณ์ท่านหนึ่งจะกล่าวไว้ หากเราได้ฟังจากพราหมณ์ จะกลับมาหาท่านอีก พระยาโปริสาทยอมปล่อยไปเพราะรู้ว่าตนเองมีกำลังจะจับมาได้อีก และรู้ว่าพระโพธิสัตว์มีคุณธรรม จะรักษาสัจจะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ย. 2555

พระโพธิสัตว์ คือ พระเจ้าสุตโสม รีบกลับไปหาพราหมณ์ ให้พราหมณ์นั่งบนที่สูงตนเองนั่งที่ต่ำ พราหมณ์กล่าวว่า ขอให้พระองค์ตั้งใจฟังให้ดี พราหมณ์ได้กล่าวคาถาไพเราะดังนี้ว่า

- ข้าแต่พระเจ้าสุตโสม การสมาคมกับสัตบุรุษแม้คราวเดียวเท่านั้น การสมาคมนั้น ย่อมรักษาผู้นั้น การสมาคมมากกับอสัตบุรุษ ย่อมรักษาไม่ได้

- ควรสมาคมกับสัตบุรุษเท่านั้น ไม่ควรทำความคุ้นเคยกับอสัตบุรุษ รู้สัทธรรมของสัตบุรุษประเสริฐกว่า ไม่ลามกเลย.

- ราชรถวิจิตร งดงามยังคร่ำคร่าได้ อนึ่งแม้ร่างกายก็เข้าถึงความคร่ำคร่า แต่ธรรมของสัตบุรุษ ไม่ถึงความคร่ำคร่า

- สัตบุรุษแล ย่อมประกาศด้วยสัตบุรุษ ข้าแต่ราชา ฟ้าและแผ่นดินไกลกัน ฝั่งข้างโน้นของมหาสมุทร เขาก็ว่าไกลกัน ธรรมของสัตบุรุษและธรรมของอสัตบุรุษ บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวว่า ไกลกว่านั้น.


พระโพธิสัตว์ได้ฟังพระคาถานี้ เกิดปิติโสมนัส รู้ได้ทันทีว่า คาถานี้ไม่ได้มาจากคนธรรมดากล่าว หรือฤาษีกล่าว แต่ต้องเป็นคำของพระพุทธเจ้าเป็นแน่ จึงคิดในใจว่า แม้เราจะยกราชสมบัติทั้งหมด ก็ไม่สามารถที่จะบูชาคาถานี้ได้ แต่พราหมณ์ผู้นี้ไม่สามารถจะรักษาราชสมบัติได้ พระโพธิสัว์จึงให้ ๔๐๐๐ กหาปนะ ให้คาถาละพัน และก็ไปทูลบอกพระราชบิดา มารดา และทุกๆ คน เพื่อกลับไปหาพระยาโปริสาท แม้จะรู้ว่าตนเองจะต้องตาย ถูกฆ่า แต่เพราะต้องการรักษาสัจจะ แม้ผู้อื่นจะร้องไห้ขอร้อง พระองค์ก็ไม่ยอม พระโพธิสัตว์จึงเดินไปหาพระยาโปริสาท พระยาโปริสาทเห็นหน้าของพระโพธิสัตว์ อิ่มเอิบ มีความสุข ไม่เกิดความเกรงกลัวเลย จึงคิดได้ว่า คงเป็นเพราะคงได้ฟังพระธรรมมาเป็นแน่ แม้เราก็ควรจะได้ฟังบ้าง

จะเห็นนะครับว่า แม้คนดุร้าย แต่เพราะเคยสะสมปัญญามา ซึ่งพระยาโปริสาทคือพระองคุลิมาลนั่นเอง ก็ใคร่ที่อยากจะฟังพระธรรมด้วย

พระยาโปริสาท จึงกล่าวกับพระโพธิสัตว์ว่า ขอให้เราได้ฟังคาถาจากที่ได้ฟังบ้าง พระโพธิสัตว์แกล้งทำเป็นข่มว่า ประโยชน์อะไรกับท่าน ในคาถาที่ควรจะฟังเล่า กล่าวคาถาว่า สัจจะย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีธรรม ผู้หยาบคาย ผู้มีฝ่ามือเต็มไปด้วยเลือดเป็นนิจ ธรรมจะมีได้แต่ไหน. ท่านจะฟังไปทำไม.

เมื่อโปริสาทเกิดความตั้งใจจะฟังด้วยดี จึงตรัสว่า :-

ชนทั้งหลายฟังธรรมแล้ว ย่อมรู้ดีและชั่ว อนึ่ง ใจของเรายินดีในธรรม ก็เพราะฟังคาถาทั้งหลาย ดังนี้.

พระโพธิสัตว์จึงได้แสดงธรรม ดังเช่นที่พราหมณ์กล่าวไว้ อันเป็นถ้อยคำที่มาจากพระพุทธเจ้า เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวจบ พระยาโปริสาทเกิดปิติอย่างยิ่ง กล่าวกับพระโพธิสัตว์ว่า เราจะให้พรกับท่าน ๔ ข้อ พระโพธิสัตว์รุกรานว่า ท่านไม่รู้ประโยชน์ จะให้พรเราได้อย่างไร พระยาโปริสาทกล่าวว่า ท่านจงรับพรเถิด

พระโพธิสัตว์จึงรับพร กล่าวว่า ขอให้เราได้เห็นโปริสาท ไม่มีโรคตลอดกาลนาน พระยาโปริสาทดีใจ ซึ้งใจว่า แม้เราจะฆ่าเขา กลับมาให้เรามีอายุยืนนาน แท้ที่จริง เพราะพระโพธิสัตว์เป็นผู้ฉลาด จึงกล่าวขอชีวิตของพระองค์ คือขอให้ได้เห็นพระยาโปริสาทตลอดกาลนานนั่นเอง พรข้อที่ ๒ ขอให้ปล่อยพระราชา ๑๐๐ พระองค์ และ พรข้อที่ ๓ ขอให้ปล่อยพระราชากลับแว่นแคว้น และพรข้อสุดท้าย คือ ขอให้พระยาโปริสาทเลิกกินเนื้อมนุษย์ ซึ่งพร ๓ ข้อแรก พระยาโปริสาทก็ยอม แต่ข้อที่ ๔ ไม่ยอม เพราะความติดในรสมาก แต่สุดท้ายพระยาโปริสาทก็ยอม และพระโพธิสัตว์ก็สอนให้ไม่ทำบาป รักษาศีล ๕ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 3 พ.ย. 2555

จากเรื่องนี้แสดงให้เห็นโทษของการติดในรส ที่ทำให้กระทำปาณาติบาต ทำบาปได้ ยอมสละทุกอย่าง สละราชสมบัติ เพียงเพราะติดในรส นี่แสดงถึงกำลังของกิเลสที่สะสมมา แต่เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่สะสมปัญญามาว่า เป็นการสะสมมากันคนละส่วน แม้จะติดในรสอาหารมาก แต่ก็เป็นผู้ใคร่ที่จะได้ฟังพระธรรม เมื่อได้ฟังพระธรรม เกิดปัญญาแล้ว ก็ละกิเลสที่ไม่ดีได้ เพราะเกิดจากการฟังพระธรรมอันเป็นรสที่ประเสริฐที่สุด

สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสในคาถาธรรมบทไว้ครับว่า

"ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง, รสแห่งธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง, ความยินดีในธรรม ย่อมชนะความยินดีทั้งปวง, ความสิ้นไปแห่งตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง."


รสของพระธรรม คือรสที่ทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญา สามารถเข้าถึงรสที่เกิดความซาบซึ้ง เกิดกุศลธรรม และละกิเลสได้ จึงเป็นเลิศกว่ารสทั้งหลายที่ไม่ได้นำประโยชน์ คือการละกิเลสได้เลย ครับ

และ สมดังคาถาที่กล่าวถึงรสพระธรรมที่เลิศกว่ารสทั้งหลายดังนี้

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ 429

[๒๒๘]  ได้ยินว่า พระปริปุณณกเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

"สุธาโภชน์ (ข้าวที่สะอาด) มีรสตั้งร้อยที่เราบริโภคในวันนี้ ก็ไม่เหมือน อมตธรรม ที่เราได้บริโภคพระธรรมอันพระพุทธเจ้า ผู้โคตมโคตรทรงเห็นซึ่งธรรม หาประมาณมิได้ ทรงแสดงไว้แล้ว"

เทียบกันไม่ได้เลยระหว่างรสอาหารกับรสพระธรรม โดยเฉพาะรสของอมตธรรม คือธรรมที่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) บุคคลผู้ที่เห็นรสพระธรรมว่าเลิศกว่ารสทั้งปวงนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่ฟังธรรมแล้วก็พิจารณา เข้าใจซาบซึ้ง ประพฤติปฏิบัติตามและรู้ตามว่า สภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเป็นความจริงอย่างนั้นๆ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 3 พ.ย. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่น, อาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 4 พ.ย. 2555

- ควรสมาคมกับสัตบุรุษเท่านั้น ไม่ควรทำความคุ้นเคยกับอสัตบุรุษ

รู้สัทธรรมของสัตบุรุษประเสริฐกว่า ไม่ลามก เลย.

... รสแห่งธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง ...

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
daris
วันที่ 5 พ.ย. 2555

ได้อ่านแล้วซาบซึ้งมากครับ

กราบขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chaweewanksyt
วันที่ 6 พ.ย. 2555

ขอบคุณค่ะ แท้จริงเป็นโลภะ ที่สะสมมานานหลายชาตินั่นเอง

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
asp
วันที่ 8 พ.ย. 2555

เมื่อคราวกิเลสมีกำลัง ย่อมครอบงำจิตนั้นให้เป็นไปเพื่ออกุศล แต่คราวที่สติหรือปัญญามีกำลัง ย่อมครอบงำจิตนั้นให้เป็นไปเพื่อกุศล ทั้งกุศลและอกุศล ต้องใช้เวลาในการสั่งสม ดังนั้นผู้มีปัญญาย่อมเสียสละเวลาที่เป็นไป เพื่ออกุศลที่ว่าต้องเสียสละ เพราะอกุศลก็มีรสชาติชวนให้ติด ชวนให้หลงใหลไม่อยากพรากไป และใช้เวลาที่เสียสละนั้นแหละ ที่มีเหลือน้อยนิดในชีวิต สั่งสมวิวัฏฏะกุศล ก็คือการฟังพระสัทธรรมและพิจารณาไตร่ตรองให้เข้าใจ เพื่อวันหนึ่งในอนาคตจะได้มีโอกาสฟังพระสัทธรรมบทสุดท้ายที่สามารถเข้าใจโดยแจ่มแจ้ง แทงตลอดในธรรมที่อยู่ในเงื้อมมือของกาลเวลา (กาลเวลามี เพราะธรรมที่แปรไปยังมี) และมีโอกาสได้ผัสสะกับธรรมอีกชนิดหนึ่ง ที่อยู่เหนือกาลเวลา จุดจบก็คือเพื่อไม่ต้องกลับมาใช้เวลาให้ต้องเสียเวลาอีกต่อไป (แม้กุศลที่เป็นไปเพื่อวัฏฏะ ก็ยังกล่าวได้ว่าเสียเวลา)

ขอบคุณ และขออนุโมทนากับทุกท่าน

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ