อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เคยฝึก กสิณ เพื่อกำลังสมาธิ จริงไหม

 
เชียงคำ
วันที่  4 พ.ย. 2555
หมายเลข  22010
อ่าน  2,223

ผมฟังทาง วิทยุ คลื่น AM ช่วงเย็นๆ เคยได้ยินว่า ท่านอาจารย์ ฝึกกสิณ โดยการดูสีภาพ ท่านบอกว่าทำให้มีสมาธิดีขึ้น จริงไหมครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 4 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากที่ได้ฟังคำบรรยาย ของท่านอาจารย์สุจินต์มา โดยเฉพาะในหัวข้อ เรื่องสมถภาวนา นั้น ท่านอาจารย์สุจินต์ไม่ได้บรรยายว่า ตัวท่านเองฝึกกสิณ โดยการดูสีภาพ และทำให้สมาธิดีขึ้น แต่ท่านอาจารย์สุจินต์ บรรยายธรรมในเรื่องการเจริญสมถภาวนาว่า สำคัญที่จะต้องมีปัญญา ความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้นว่า สมถ คืออะไร ภาวนา คืออะไร และ การเจริญสมถภาวนาที่ถูกต้อง คืออย่างไร ไม่ใช่เพียงการไปทำตามๆ กัน แม้แต่เรื่องกสิณ ก็ไม่ใช่เรื่องของการที่จะเพ่งสี แต่ปัญญาไม่รู้อะไรเลยในขณะนั้น ก็เป็นเพียงทำให้มีสมาธิ แต่เป็นสมาธิที่เกิดกับอกุศลจิต เป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ได้ทำให้เกิดความสงบ ที่เป็นความสงบจากกิเลสที่เป็นกุศลในขณะนั้นครับ

เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงคำว่า สมาธิ ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีสมาธิแล้วจะดี เพราะ สมาธิ มี ๒ อย่าง คือ สัมมาสมาธิ และ มิจฉาสมาธิ คือ สมาธิที่ถูกกับสมาธิที่ผิด สมาธิที่เกิดกับกุศลและปัญญาเป็นสัมมาสมาธิ ส่วนสมาธิที่เกิดกับอกุศลเป็นมิจฉาสมาธิ และถ้ามีสมาธิดีขึ้นแต่มีสมาธิที่มากในทางกุศล คือทำไปแล้วก็ไม่รู้อะไร ได้แต่ความนิ่ง ก็เป็นอกุศลในขณะนั้น เรียกว่ามากไปด้วยสมาธิที่เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ควรมีสมาธิอย่างนั้นหรือไม่ เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านสอนเน้นให้มีความเข้าใจพระธรรมเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะศึกษาเรื่องใด จะต้องเข้าใจคำนั้น เรื่องนั้น ให้ดีเสียก่อน ไม่เช่นนั้น ก็เป็นผู้ที่ปฏิบัติในสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ครับ แม้แต่การได้ฟังเรื่องกสิณ ไม่ใช่การจะทำกสิณ แต่จะต้องมีความเข้าใจพระธรรมเป็นสำคัญ ก่อนครับ

ความเข้าใจพระธรรมเบื้องต้น เปรียบเหมือนแสงสว่าง ส่องทางให้ผู้ที่กำลังจะเดินทางในความมืด ที่ถูกอวิชชาปกคลุมไว้ ได้เดินทางที่ถูก และหลีกหนีออกจากทางที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง และพ้นจากอันตรายในทางเดินข้างหน้า เช่นเดียวกับการอาศัยการเข้าใจพระธรรมเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ย่อมทำให้เข้าใจ ไม่หลงทางไปปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงควรเริ่มจากการฟังให้เข้าใจ มากกว่าที่จะทำอย่างไรให้เข้าใจหรือ จะทำอย่างไรให้ได้สิ่งนั้น โดยหลงลืมความเข้าใจขั้นการฟัง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 4 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เป็นผู้ศึกษาพระธรรมและเผยแพร่พระธรรมด้วยความละเอียด รอบคอบ ตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มุ่งให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษามีความเข้าใจถูก เห็นถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เพื่อให้เป็นผู้ไม่ประมาทในพระธรรมแต่ละคำ และไม่ให้ลืมจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมว่า ศึกษาเพื่ออะไร ไม่ใช่ เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ แต่เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นไปเพื่อ "ละ" โดยตลอด ซึ่งท่านอาจารย์จะกล่าวเตือนอยู่เสมอว่า เมื่อกล่าวถึงคำอะไร ก็ต้องมีความเข้าใจในคำนั้นๆ ด้วย ไม่ใช่เป็นการพูดคำที่ไม่รู้จัก ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร พูดไปทั้งวัน ก็จะไม่รู้อะไรเลย ซึ่งจะต้องตั้งต้นว่า สิ่งนั้น คืออะไร? ทั้งหมดนั้นก็เพื่อประโยชน์ คือความเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง นั่นเอง

ท่านอาจารย์ ไม่ได้มีการแนะนำให้ใครไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความจดจ้องต้องการ ด้วยความเป็นตัวตน แต่จะแนะนำให้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ โดยไม่ต้องไปทำอะไรที่ผิดปกติ แม้แต่ตัวท่านอาจารย์เอง ก็เป็นผู้มีชีวิตปกติ แต่ไม่ขาดการศึกษาพระธรรม และน้อมประพฤติตามพระธรรมในชีวิตประจำวัน สำหรับในเรื่องของการอบรมเจริญสมถภาวนานั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ท่านอาจารย์ก็กล่าวตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง โดยที่ท่านไม่ได้กระทำอะไรที่ผิดปกติและไม่ได้มีการแนะนำให้ใครไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ เพราะถ้าไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้ให้มีมากขึ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 4 พ.ย. 2555

กสิณ สำหรับผู้ที่ฝึกสมถภาวนา เป็นสมาธิที่ตั้งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งใน ๑๐ อย่าง ต้องมีปัญญาประกอบด้วย แต่เป็นปัญญาที่ไม่สามารถออกจากวัฏฏะ และถ้าเป็นปัญญาที่ออกจากวัฏฏะต้องเป็นสติปัฏฐาน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เชียงคำ
วันที่ 5 พ.ย. 2555

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jaturong
วันที่ 8 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Graabphra
วันที่ 8 พ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ประสาน
วันที่ 9 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ส.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
lokiya
วันที่ 2 ม.ค. 2566

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ