เรื่องของการได้มาซึ่งวิบากต่างๆ
กราบสวัสดีท่านวิทยากรมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน
อยากจะเรียนถามว่า การที่เราจะได้รับวิบากต่างๆ ทั้งกุศลและอกุศล ก็ล้วนมีปัจจัยสำคัญ คือต้องมี เหตุ คือ "กรรม" ในอดีต ที่ได้กระทำแล้ว จึงจะมีผล คือวิบาก ที่ได้รับทางปัญจทวาร ในปัจจุบันและในอนาคตต่อๆ ไป
แต่อย่างใครหลายๆ ท่านในโลกนี้ เฉพาะในมนุษย์โลก ที่ต้องมีการกระทำกิจการงาน มีการแสวงหาต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ปรารถนา สิ่งที่ต้องการ หรืออีกนัยหนึ่ง คือต้องมีการดิ้นรน เพื่อให้ได้มาซึ่งอิฏฐารมณ์ต่างๆ ไม่เหมือนบนสวรรค์ ที่มีทุกอย่างพรั่งพร้อม บำรุงบำเรออยู่ตลอดเวลา
จึงมีการเข้าใจผิด คิดว่าการได้มาซึ่งอิฏฐารมณ์ต่างๆ นั้น หรือการจะให้ได้มาซึ่งความสุขทางเบญจกามคุณ จะต้องอาศัยความเพียรในการแสวงหา หรือก็คือ ต้องอาศัยโลภะนั่นเอง จึงได้มีการพร่ำสอนให้หวังไว้สูงๆ แล้วไปให้ถึง ให้ยึด ให้ติด ในเป้าหมายให้มากๆ แล้วก็เพียรพยายาม (ด้วยโลภะ) เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้นที่ปรารถนา
จึงสงสัยว่า โลภะ เป็นปัจจัยให้กุศลวิบาก อย่างนั้นๆ เกิดได้หรือไม่ คือไม่ใช่ปัจจัยหลัก เพราะปัจจัยหลักต้องเป็นกรรมแน่นอน เพราะถ้าไม่มีกรรมในอดีตที่สมควรแก่วิบากนั้น วิบากนั้นก็มีไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามอย่างไร แต่หลายๆ ท่านในมนุษย์โลกนี้ ก็เริ่มด้วยการที่มีโลภะมากๆ จึงขวนขวายมาก แล้วผลคือวิบากอย่างนั้นๆ ที่ปรารถนา เช่นความร่ำรวย ชื่อเสียงต่างๆ จึงปรากฏได้
เพราะถ้าเขาผู้นั้น ไม่พากเพียรด้วยโลภะ ไม่ติด ไม่ยึด เสียก่อน วิบากอย่างนั้น แม้มีเหตุ คือกรรมในอดีตอยู่แล้ว ก็อาจไม่สามารถถึงกาลที่จะให้ผลได้
จึงเรียนถามว่า โลภะ ถือว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิบากที่เป็นกุศลวิบาก เกิด ได้หรือไม่ อย่างไร
ขอบพระคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ทุกๆ ขณะนั้น ล้วนเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีสภาพธรรมแม้แต่อย่างเดียวที่จะเกิดขึ้นโดยปราศจากเหตุปัจจัย และถ้ากล่าวถึง "วิบาก" แล้ว ก็ต้องเข้าใจว่า วิบากเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว กล่าวคือ ถ้าเป็นผลของกรรมที่ดีก็เป็นกุศลวิบาก แต่ถ้าเป็นผลของกรรมที่ไม่ดีก็เป็นอกุศลวิบาก ขึ้นอยู่กับเหตุที่ได้กระทำแล้วเป็นสำคัญ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงว่าข้อที่วิบาก (ผล) อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แห่งกายทุจริต, วจีทุจริต, มโนทุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ แต่ข้อที่วิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ แห่งกายทุจริต, วจีทุจริต, มโนทุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้
ข้อที่วิบากอันไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ แห่งกายสุจริต, วจีสุจริต, มโนสุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้นมิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ แต่ข้อที่วิบากอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แห่งกายสุจริต, วจีสุจริต, มโนสุจริต จะพึงเกิดขึ้นนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้
(สรุปจาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต)
นี่ก็แสดงถึง ความเป็นเหตุเป็นผลของธรรม ขณะที่วิบากจิตเกิดขึ้นนั้น ต้องเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แม้จะมีโลภะเกิดขึ้นเป็นไป อยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แล้วเกิดได้ขึ้นมา นั่นก็ต้องเป็นเพราะ ผลของอดีตกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ใช่เพราะความอยาก ไม่ใช่เพราะต้องการ ถ้าพิจารณาอีกนัยหนึ่ง แม้บางคนก็หวัง ก็อยากได้ มีความเพียร แต่ก็ไม่ได้ นั่นก็ต้องเป็นเพราะเหตุว่า ไม่ได้เป็นเพราะหวังนั่นเอง แต่ขึ้นอยู่กับ "กรรม" ที่ได้กระทําแล้วในอดีต เป็นสำคัญ
โลภะ เป็นอกุศลธรรม เมื่อสะสมมากขึ้นๆ แล้ว เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ นี้แหละที่จะเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นในภายหน้า ตามสมควรแก่เหตุ แต่เป็นผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เพราะ "เหตุ" เป็นเหตุที่ไม่ดี เป็นอกุศลกรรม นั่นเอง
ดังนั้น จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า เป็นไปไม่ได้ ที่โลภะ จะให้ผลที่ดี เพราะเหตุว่า ผลที่ดีนั้น ต้องมาจากเหตุที่ดี
ขอยกคำบรรยายบางตอนของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มาให้ทุกๆ ท่านได้พิจารณาร่วมกัน ดังนี้ :-
"เหตุกับผล ต้องตรงกัน วิบาก ขณะเห็น เป็นผลของเหตุในอดีต แต่กุศลหรืออกุศลในปัจจุบันเป็นเหตุของวิบากข้างหน้า
อย่าคิดว่า เวลาที่ปรารถนาสิ่งใดด้วยอกุศลแล้วได้สิ่งนั้น อย่าเข้าใจว่าเป็นผลของการหวัง เพราะขณะที่หวังเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น กุศลวิบากที่ได้รับหลังจากหวัง ไม่ใช่ผลของอกุศลที่หวัง แต่เป็นผลของเหตุในอดีต แต่เพราะการเกิดดับสืบต่อกันจนกระทั่งไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงเวลาที่วิบากเกิดขึ้น ถ้าเป็นผลของกุศลวิบากแล้ว ต้องเป็นผลของกุศลกรรมในอดีต ไม่ใช่เป็นผลเพราะความหวังหรือความต้องการเมื่อสักครู่นี้ หรือว่าเมื่อวันก่อน เพราะว่าเหตุกับผลต้องตรงกัน"
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จากคำถามที่ผู้ถาม ถามนั้น กระผมขอสรุปคำถาม เพื่อความเข้าใจสำหรับผู้ที่อ่าน ดังนี้ ความเพียรด้วยโลภะ เป็นเหตุปัจจัยรองลงมาจากกรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดกุศลวิบาก ได้หรือไม่
- ซึ่งผู้ถาม มีความเข้าใจถูกอยู่แล้วว่า การจะได้รับสิ่งที่ดีหรือไม่ดี มาจากผลของกรรม คือ มาจากกรรมเป็นหลัก แต่ความเพียรด้วยโลภะ จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ได้รับผลของกรรมที่ดีเพิ่มขึ้นหรือไม่
พระธรรมมีความละเอียดลึกซึ้งมาก จะต้องสอดคล้องกัน ทั้ง ๓ ปิฎก ซึ่งจะขออธิบายตามนัยของพระสูตรและพระอภิธรรมดังนี้ ครับ
สำหรับพื้นฐานนั้น มีความเข้าใจตรงกันแล้ว สำหรับผู้ถามที่ว่า การจะได้รับกรรมดีหรือไม่ดี ด้วยอำนาจของกรรมเป็นสำคัญ เรียกว่า เพราะอาศัยเหตุปัจจัยที่เรียกว่า กัมมปัจจัย แต่ในความละเอียดของพระธรรมนั้น การจะเกิดขึ้นของสภาพธรรมอะไร แม้แต่สภาพธรรมที่เป็นวิบาก ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย แต่ไม่ใช่ว่า ธรรม จะมีเพียงเหตุปัจจัยเดียว คือกัมมปัจจัย ผู้ศึกษาพระธรรมจึงควรเข้าใจความละเอียดว่า ปัจจัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น มีทั้งหมด ๒๔ ปัจจัย เพราะฉะนั้น สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น อย่างเช่น วิบากจิต ที่เป็นผลของกรรม เช่น การเห็น การได้ยิน ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เพราะอาศัยปัจจัยเดียวจึงทำให้เกิดขึ้น แต่อาศัยปัจจัยหลายๆ อย่าง จึงทำให้เกิดขึ้น จึงจะมาสู่คำตอบของคำถามนี้ ที่ว่า ความเพียรด้วยโลภะเป็นปัจจัยรองลงมาจากกรรมหรือกัมมปัจจัยที่จะทำให้เกิดวิบาก หรือผลของกรรมได้หรือไม่
หากพูดโดยนัยของปัจจัยอื่น นั่นคือ ปกตูปนิสสยปัจจัย ซึ่งความหมายของปัจจัยนี้ คือเป็นสภาพธรรมที่มีกำลังจนสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดสภาพธรรมอื่น ที่เป็นจิต เจตสิก ครับ ซึ่ง ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่กว้างขวางมากครับ ซึ่งสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมอื่นๆ เกิดนั้น ปัจจัยที่เป็น ปกตูปนิสสยปัจจัย คือ จิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ เป็นต้น
ซึ่ง ปกตูปนิสสยปัจจัย มีหลายนัย ถึง ๗ นัย ยกตัวอย่างเช่น กุศล เป็นปัจจัยให้เกิดกุศล อกุศล เป็นปัจจัยให้เกิดกุศล และประการสำคัญอีกประการหนึ่งก็มีโดยนัยที่ว่า อกุศล เป็นปัจจัยให้เกิด อัพยากตะ คือเกิดวิบากจิต เป็นต้น ได้ด้วย เพราะฉะนั้น อาศัยอกุศล เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิต คือเกิดผลของกรรมที่ดี และเกิดผลของกรรมที่ไม่ดีก็ได้ แต่อันนี้จะต้องเข้าใจตรงกันครับว่า ด้วยอำนาจปัจจัยที่เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย เพราะฉะนั้น จากคำถามที่ว่า อาศัยความเพียรด้วยโลภะ เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากได้ไหม คำตอบ คือ ได้ ครับ แต่ได้เพราะ ไม่ใช่ด้วยโลภะเป็นเหตุ เพราะอกุศล จะให้ผลเป็นกุศลวิบากไม่ได้ ด้วยอำนาจกัมมปัจจัย แต่อกุศล มี โลภะ เป็นต้น เป็นปัจจัยให้เกิด กุศลวิบากได้ ด้วยอำนาจปกตูปนิสสยปัจจัย คือเป็นสภาพธรรมที่มีกำลังที่ทำให้เกิดวิบากได้ แต่ในความละเอียดแล้ว สำหรับความเพียรด้วยโลภะ โดยความละเอียดแล้วด้วยอำนาจปกตูปนิสสยปัจจัย ทำให้เกิดวิบาก สามารถทำให้เกิดวิบาก คืออกุศลวิบากก็ได้ อันกล่าวได้ว่าเป็นเหตุใกล้ที่มีกำลัง ทำให้เกิดอกุศลวิบาก โดยมีกัมมปัจจัยเป็นหลัก เป็นประธานเป็นสำคัญ แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันด้วย ซึ่งจะขอยกคำอธิบายของท่านอาจารย์สุจินต์ ในประเด็นเรื่องอกุศล เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากดังนี้
ข้อความบางตอนจากการบรรยายธรรม
โดยอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ณ ตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๕
"อกุศล" เป็น "ปกตูปนิสสยปัจจัย" ให้เกิด "อัพยากตธรรม" ก็โดยนัยเดียวกันกับ "กุศล" เป็น "ปกตูปนิสสยปัจจัย" ให้เกิด "อัพยากตธรรม" เพราะฉะนั้นเวลาที่อกุศลเกิดขึ้น มีความปรารถนา มีความอยากได้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม นั่งเฉยๆ จะได้ไหมคะ.? ... ไม่ได้.! เพราะฉะนั้น เวลาที่มีความโลภ มีความต้องการ มีความปรารถนา ในวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะต้องมีความขวนขวาย ซึ่งจะเป็น "เหตุ" ให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วแต่ว่าจะเป็น "อัพยากตธรรม" คือ "วิบากจิต" ประเภทใด .! อาจจะเป็น "กุศลวิบาก" หรือ "อกุศลวิบาก" ก็ได้. นี่เป็นชีวิตประจำวัน ตามความเป็นจริง ซึ่งเกิดขึ้น เพราะ "เหตุปัจจัย"
อีกนัยหนึ่ง ขออธิบายตามหลักของการจะทำให้เกิดวิบาก ที่เป็นผลของกรรมดีหรือไม่ดี สำคัญ อีก ๔ ประการ คือ คติ คือที่เกิด อุปธิ รูปร่างหน้าตา กาล คือเวลาที่เกิด เป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองดีหรือไม่ และปโยคะ คือความเพียร
ซึ่งตรงนี้จะต้องพิจารณาให้ละเอียด คือปโยคะ ความเพียร ที่จะเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก หรือกุศลวิบากนั้น สำหรับโดยนัยนี้ที่อธิบายในพระอภิธรรม ท่านแสดงไว้ครับ ว่า ปโยคะ ความเพียร ที่เป็นปโยคสมบัติ คือการกระทำความดีทางกาย วาจา ในปัจจุบัน ย่อมจะทำให้เกิดวิบากที่ดีให้ผลได้ ส่วน ปโยควิบัติ คือความเพียรที่ไม่ดี เช่น การกระทำความชั่ว ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก คืออกุศลวิบากเกิดขึ้นในปัจจุบันได้ เช่น คนที่ทำชั่วบ่อยๆ ก็มีโอกาสที่อกุศลกรรมในอดีตจะมาให้ผลได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้น ในที่นี้ ปโยคะ ก็มุ่งหมายไปที่ความเพียรที่เป็นไปในกุศลกรรม จะทำให้เกิดวิบากที่ดี ก็เป็นการกล่าวโดยนัยที่กุศลกรรม ที่ทำปัจจุบัน ซึ่งขณะที่ทำกรรมดีมีวิริยเจตสิกที่เป็นปโยคะเกิดร่วมด้วยเป็นปัจจัยที่มีกำลังที่จะทำให้เกิดกุศลวิบาก ครับ
ส่วนการทำความเพียรทางโลกนั้น การตั้งความหวังไว้ก่อนด้วยโลภะ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากได้ แต่ก็แล้วแต่ว่าจะเกิดวิบากประเภทใด เพียรทำงานแต่ได้รับอุบัติเหตุ ได้เห็นไม่ดีก็ได้ ตรงนี้ก็จะมีกัมมปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพียงแต่ว่าขณะที่หวังก็ขณะหนึ่ง ขณะที่ให้ผลของกรรม วิบากจิตก็อีกขณะหนึ่ง แต่เพราะอาศัยการมีโลภะก่อนหน้านี้ที่มีกำลัง ก็ทำให้เกิดวิบากจิตต่อมาได้ คือกุศลวิบากได้ แต่ด้วยอำนาจของปกตูปนิสสยปัจจัยที่เป็นปัจจัยกว้างขวาง แต่กรรมใดจะให้ผลนั้นก็ตามกัมมปัจจัย คือตามกรรมใดจะให้ผล ครับ
เพราะฉะนั้น เมื่อจะกล่าวก็ต้องกล่าวว่า เราพูดถึงปัจจัยอะไร แต่อกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากได้ แต่โดยปกตูปนิสสยปัจจัย ไม่ใช่กัมมปัจจัย ครับ
พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้งมากและมีหลากหลายนัย เพราะมีความเป็นเหตุปัจจัยอย่างลึกซึ้ง และลงตัว มีคำตอบ มีเหตุผล เพราะสัจจะมีคำตอบเสมอ เพียงแต่จะต้องเข้าใจโดยครอบคลุม ก็จะไม่ขัดแย้งกันเอง เมื่อได้อ่านพระธรรมส่วนต่างๆ ที่สำคัญ การได้อ่านพระธรรม แม้แต่เรื่องความละเอียดของพระธรรม ประโยชน์คือไม่ได้อยู่ที่การจะต้องหาคำตอบให้ได้ เพราะบางอย่างก็เหลือวิสัย แต่สิ่งที่สำคัญของการศึกษาธรรมะ ลืมไมได้เลย คือการขัดเกลากิเลสและเพิ่มพูนกุศลธรรม มีศรัทธาและปัญญา เพราะฉะนั้นการได้ศึกษาพระธรรมส่วนละเอียด ก็สามารถเป็นไปที่จะน้อมระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าตามความเป็นจริง ในพระปัญญาของพระองค์ที่สูงสุดเหนือสัตว์โลกทั้งมวล ประกอบด้วยพระมหากรุณาคุณที่ทรงแสดงพระธรรมส่วนละเอียดให้สัตว์โลกได้เข้าใจตาม และการศึกษาพระธรรมก็จะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ก็จะค่อยๆ ละคลายความไม่รู้ไปทีละน้อย และค่อยๆ เข้าใจความจริงในเรื่องกรรม เรื่องวิบาก ซึ่งไม่ได้อยู่อื่นไกล ขณะนี้เอง ที่กำลังเกิด โดยเข้าใจถูกว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใชเรา นี่คือการเข้าใจกรรมและผลของกรรมจริงๆ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนา อ.คำปั่น และ อ.ผเดิม เป็นอย่างสูงครับ
พระธรรมละเอียดจริงๆ แสดงได้หลากหลายนัย มีความละเอียดลึกซึ้ง ไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ไม่ได้เลยจริงๆ
ขออนุโมทนาครับ
ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาท่านอาจารย์คำปั่นและท่านอาจารย์ผเดิม ด้วยครับ
การศึกษาเรื่อง ปัจจัย ๒๔ รวมถึง เรื่องของกรรมและการให้ผลของกรรมอย่างละเอียด เป็นสิ่งที่ช่วยคลายความสงสัยที่เคยมี ได้หลายประการ และเกื้อกูลให้ผู้ศึกษามีความมั่นคงยิ่งขึ้น ในการเจริญกุศลและละเว้นอกุศล ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุโมทนาค่ะ
โลภะ เป็นอกุศลธรรม เมื่อสะสมมากขึ้นๆ แล้ว เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ นี้แหละ ที่จะเป็นเหตุให้ผลเกิดขึ้นในภายหน้า ตามสมควรแก่เหตุ แต่เป็นผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ เพราะเหตุเป็นเหตุที่ไม่ดี เป็นอกุศลกรรม นั่นเอง
ดังนั้น จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า เป็นไปไม่ได้ ที่โลภะ จะให้ผลที่ดี เพราะเหตุว่า ผลที่ดีนั้น ต้องมาจากเหตุที่ดี
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์คำปั่น, อาจารย์ผเดิม และทุกๆ ท่านครับ
ขอบพระคุณและอนุโมทนาผู้ถาม, อาจารย์ และผู้ร่วมสนทนาทุกท่าน ที่ช่วยให้เข้าใจ
เพิ่มขึ้นค่ะ