ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๐๖๔

 
khampan.a
วันที่  11 พ.ย. 2555
หมายเลข  22033
อ่าน  1,486

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจสั้นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย เพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่สั้น แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

[ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๔]

ประโยชน์ที่จะได้จากพระธรรม คือ พิจารณาทุกพยัญชนะ แล้วก็ถือ

เอาสิ่งที่เป็นประโยชน์

ถ้าเป็นโลภะแล้วเดือดร้อนวุ่นวายมากมายใหญ่โต คนโน้นก็รัก คนนี้ก็รัก วุ่นวาย

แล้ว เดี๋ยวคนโน้นก็รักน้อย คนนี้ก็รักมาก หรือว่าคนโน้นรัก แล้วก็ไม่ได้ทำตามใจที่

คนโน้นรัก คนนี้ไม่รัก สารพัดอย่างที่จะวุ่นวาย แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องเมตตาแล้ว

เป็นเรื่องที่สบายใจมากทีเดียว ไม่มีการที่จะต้องเดือดร้อนประการใดๆ เลย

ถ้าไม่มีจิต ไม่มีบาป ไม่มีบุญ ต้นไม้ไม่มีบาป มีบุญ ต้นไม้คิดไม่ได้ ต้นไม้

ทำอะไรไม่ได้ ต้นไม้ฆ่าสัตว์ ต้นไม้ลักทรัพย์ หรือว่าต้นไม้จะถวายทาน ไม่ได้ จึงไม่มี

บุญ ไม่มีบาป

ถ้าผู้ใดยังคงมีความโกรธในบุคคลใด ขณะนั้นเป็นอกุศล จะคลายเกลียวออก

คือ ละคลายความโกรธแล้วให้อภัย หรือว่าจะหมุนเกลียวของโทสะ ให้เพิ่มขึ้นมาก

ขึ้นไปอีก?

พระธรรมแสดงให้เห็นถึงชีวิตประจำวัน ซึ่งทุกท่านพิจารณาชีวิตของท่านในวัน

หนึ่งๆ ได้ว่า การอยู่ร่วมกันในครอบครัว ในระหว่างมิตรสหายเป็นไปในลักษณะของ

คลุกคลีหรือไม่ ตรงตามที่ทรงแสดงไหม? เพราะว่าย่อมเป็นไปด้วยโลภะบ้าง

ด้วยโทสะบ้าง ซึ่งหนทางที่จะทำให้เป็นกุศล มี คือ อยู่ด้วยเมตตา

ชีวิตทั้งชีวิตสำคัญที่ไหน สุขหรือทุกข์อยู่ที่ไหน อยู่ที่ความคิดนั่นเอง ถ้าคิดดี

เป็นกุศลวิตก ไม่มีทุกข์ แต่ขณะใดที่มีทุกข์ ให้ทราบว่าขณะที่เป็นทุกข์นั้น ขณะนั้น

เองเป็นอกุศลวิตก

พระธรรมเกื้อกูลมากทีเดียว สำหรับผู้ที่เป็นสาวก คือ ฟังแล้วพิจารณาแล้วน้อม

ประพฤติปฏิบัติตามด้วย เพราะเหตุว่าถ้าผู้ใดฟังแล้ว ก็จงใจที่จะไม่ประพฤติปฏิบัติ

ตาม หรือว่าจงใจที่จะหลีกเลี่ยง ผู้นั้นไม่ใช่สาวก คือ ไม่ใช่ผู้ที่ฟังแล้วน้อมประพฤติ

ปฏิบัติตาม

จะต้องเป็นผู้ที่เที่ยงตรง ในการที่จะรู้ลักษณะของอกุศลวิตก ในวันหนึ่งๆ เกิด

ขึ้น โดยเฉพาะอกุศลวิตกของตนเอง ไม่ใช่ของคนอื่น เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วมักจะ

คิดถึงอกุศลของคนอื่น

กิเลสไม่ได้อยู่ภายนอก ไม่ได้อยู่ที่สัตว์ บุคคลอื่น สิ่งอื่น ไม่ได้อยู่ที่ รูป เสียง

กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่อยู่ในภายในของแต่ละบุคคลตามการสะสม

สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็เป็นผู้ที่ควรจะพิจารณาเพื่อที่จะขัดเกลากิเลสของ

ตนเอง ถ้ารู้สึกตัวว่าจิตเน่า ก็น่ารังเกียจมากทีเดียว แต่ก็จะต้องใช้ยารักษา มิฉะนั้น

แล้ว ก็ไม่สามารถที่จะทำให้จิตเน่ากลับคืนสู่สภาพปกติได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้

ที่ฟังพระธรรม แล้วก็อบรมเจริญกุศลทุกประการให้ถึงพร้อม ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สามารถ

รักษาจิตเน่าได้

เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ยังมีอกุศลอยู่ ก็เป็นของธรรมดา ที่ชีวิตแต่ละชีวิต ก็ยังมี

อกุศลเจตสิก ซึ่งจะดับได้ด้วยโลกุตตรมรรคเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดก็

ตาม ถ้าไม่ใช่โลกุตตรมรรคแล้ว ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้

ปัญญา จะไม่ทำให้เกิดความโศกเศร้าใดๆ เลย แต่ว่าปัญญา จะทำให้รู้จัก

สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็เจริญกุศลเพิ่มขึ้นด้วย

วันหนึ่งๆ จะเห็นได้ถึงความต่างกัน ของขณะที่อวิชชาเกิด กับขณะที่ปัญญา

เกิด ถ้าเป็นอวิชชา เป็นสภาพที่มืด ทำให้ไม่รู้ความจริง ไม่เห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล

และก็ไม่เห็นหนทางที่ถูก ที่ชอบ ที่ควรจะกระทำ เพราะฉะนั้น ก็ทำให้คิดก็คิดผิด ทำ

ก็ทำผิด พูดก็พูดผิด แต่ว่าถ้าในขณะใดที่ปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นเห็นอกุศล แล้วก็

ยังเห็นความน่ารังเกียจของอกุศล เห็นโทษของอกุศลตามความเป็นจริง ในขณะนั้น

ก็เป็นผู้ที่คิดถูก ทำถูก พูดถูก

อนัตตาไม่ใช่อยู่ในหนังสือ หรือไม่ใช่อยู่ที่อื่น แต่ทุกขณะ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นดับ

ไปให้พิสูจน์ได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

วันหนึ่งๆ นั้น กุศลจิต เกิดมากไหม ถ้ากุศลจิต เกิดน้อยกว่า อกุศลจิต ก็ต้อง

พิจารณาอีกว่า เป็นอกุศลกรรมหรือไม่ เพราะเหตุว่าเพียงความยินดี พอใจในรูป ใน

เสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นสมโลภะ (โลภะโดยปกติสม่ำเสมอ) เป็นความ

ยินดีพอใจ ที่ไม่ถึงกับให้เกิดกระทำทุจริตกรรม เพราะฉะนั้นแม้ว่ายังเป็นผู้ที่ยังมีโลภะ

อยู่ ก็จะต้องระวัง ที่จะไม่ทำอกุศลกรรม เพราะเหตุว่า ถ้ากระทำอกุศลกรรมแล้ว ก็ไม่

แน่ว่าจะเกิดในกำเนิดใด

ในขณะนี้ที่ทุกคนมีโอกาสได้ฟังพระธรรม จะเข้าใจมากน้อยเท่าไร ก็ต้องฟัง

ต่อไปอีกเรื่อยๆ ชาตินี้ยังไม่ถึงการรู้แจ้งเป็น พระอริยบุคคล ชาติหน้าต้องฟังอีก

ถ้ามีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม เกิดในประเทศที่สมควร ก็ขอจงฟังพระธรรมต่อไป

จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

การที่ใครจะมีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรม ก็เป็นสิ่งซึ่งต้องอาศัยกุศลกรรมใน

อดีตที่ได้สะสม ผันมาให้พบ ได้รับฟังพระธรรมอีก

การฟังพระธรรม เป็นการฟังพระธรรมจริงๆ โดยที่ไม่คำนึงถึงว่า บุคคลผู้พูดเป็น

ใคร ถ้าคำพูดนั้นไม่มีเหตุผลก็ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย แต่ถ้าคำพูดนั้นเป็นประโยชน์

และเป็นพระธรรมจากพระไตรปิฎก สามารถทำให้บุคคลอื่นได้พิจารณาแล้วมีความ

เห็นถูกขึ้น อันนั้นก็ควรที่จะรับพิจารณาจากท่านผู้พูด

การฟังพระธรรมนั้นไม่ใช่การฟังบุคคล ไม่ใช่การเลื่อมใสในตัวบุคคล แต่ต้อง

เป็นผู้เลื่อมใสในพระธรรม

การฟังพระธรรม ประโยชน์ คือ เห็นประโยชน์ของธรรมฝ่ายดี และก็อบรมเจริญ

จนกระทั่งถึงที่สุด คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งต้องเป็นผู้ละเอียดที่จะต้อง

พิจารณาตนเอง.

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ ๖๓ ได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๖๓...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่งและขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
panasda
วันที่ 11 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 11 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมปันธรรม ด้วยครับ

- การที่เรารู้ว่าตัวเอง เป็นคนไม่ดี มีความไม่รู้มาก ย่อมเป็น ความเข้าใจถูกระดับ

หนึ่ง แต่เมื่อรู้อย่างนั้นแล้ว จึงควรเห็นประโยชน์ว่า เมื่อเป็นคนไม่ดี สิ่งที่ทำให้ดี

ขึ้นคืออะไร นั่นคือการได้เข้าใจถูกในพระธรรมในแนวทางถูกต้อง โดยการเข้าไปหา

เข้าไปใกล้ เสพคุ้นกับความเห็นถูก

- สมัยเริ่มเรียนธรรมะใหม่ ส่วนมากจะเป็นผู้ที่เรียกว่าไฟแรงกิจกรรมทางโลกดูน่าเบื่อ

ไปหมด พอศึกษาไปนานๆ เข้า จึงรู้ว่า กิเลสเบื่อ ไม่ใช่ปัญญาเบื่อ คือเบื่อเพราะกิเลส

ไม่ใช่เบื่อเพราะปัญญาเห็นแจ้ง

- ทุกคนอยากเป็นคนดี เพราะเรารู้ว่าคนดีใครๆ ก็ไม่รังเกียจ คนดีย่อมเป็นที่รัก แต่

เราจะอดทนที่จะกระทำความดีได้มาก ได้นานแค่ไหน ในเมื่อเรายังมีจิตที่เต็มไปด้วย

อกุศล (กิเลส) คือ มีความรักตน เห็นแก่ตัว ความอิจฉา ความริษยา ความแข่งดี ที่เรา

สะสมมาช้านาน และยังนอนเนื่องอยู่ในจิตทุกขณะ ผู้ที่อบรมจิตมาดี ก็จะมีจิตเมตตา

เห็นแก่ประโยชน์สุขของคนอื่นบ้าง ตามกำลังของความเห็นแก่ตน หรือความรักตน ถ้า

รักตนเองมาก ย่อมเห็นประโยชน์ผู้อื่นน้อย ถ้ารักตนเองน้อยลง ก็จะเห็นแก่ประโยชน์

ส่วนรวมได้มาก

- สังคมคงจะสงบร่มเย็นขึ้น ถ้าทุกคนรู้จักคำว่า “พอ” แต่มนุษย์ปุถุชน ใครเลยจะละ

กิเลสได้ เพราะคำว่า ปุถุชน แปลว่า ผู้หนาแน่นด้วยกิเลส ในเมื่อยังละกิเลสไม่ได้ เรา

ควรที่จะศึกษาพระธรรม เพื่อรู้จักลักษณะของกิเลสต่างๆ จะได้หมั่นคอยสำรวจจิตตน

เอง เมื่อกิเลสเกิดขึ้น จะทำให้รู้จักตนเองตามที่เป็นจริง ว่ามีกิเลสมากแค่ไหน เมื่อใด

มีปัญญามากขึ้น เห็นโทษภัยของกิเลสอย่างแท้จริง ปัญญานั่นเอง จะทำหน้าที่ละกิ

เลส การรู้จักกิเลสของตนเองมีประโยชน์กว่า คอยจ้องจับผิดกิเลสของผู้อื่น เพราะ

จะเป็นเหตุให้สำรวม กาย วาจา ใจ ของตนให้เรียบร้อยดีงาม มีความประพฤติ หรือ

แสดงออกที่ดีเป็นกุศลกรรมต่อไป

- นอกจากเราเป็นมิตรกับอกุศล ประเภทโลภะแล้ว เรายังเป็นมิตรกับอกุศลอีกประ

เภทหนึ่ง คือ โมหะ ความไม่รู้ความจริง (สัจจธรรม) เราไม่มีความรู้ กระทั่งว่า เรา

ไม่รู้อะไร ไม่รู้ว่าชาติหน้า มีจริงหรือไม่ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นกุศลหรืออกุศลตามความเป็น

จริง ต่อเมื่อได้ศึกษาพระอภิธรรม และมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เราจึงจะ

เริ่มรู้ว่า พระธรรมที่ทรงตรัสรู้ และทรงแสดงนี้ เป็นคำสอนที่ประเสริฐสุด ยิ่งใหญ่

และน่าอัศจรรย์ เมื่อเรามีความเข้าใจพระธรรม มากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งรู้สึกซาบซึ้งใน

พระมหากรุณาคุณที่มีต่อชาวโลก และประจักษ์ในพระปัญญาคุณอันประเสริฐมากขึ้น

เท่านั้น

- อกุศลกรรมที่เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ ก็ไม่ควรจะเดือดร้อนใจ หรือทุกข์ใจ ไปกับ

สิ่งที่ล่วงผ่านไปแล้ว แต่ก็ไม่ควรจะยินดีพอใจที่จะกระทำต่อไปอีก ควรตระหนักเสมอ

ถึงโทษภัย ในอกุศลทุกประการ มีเจตนาที่จะงดเว้น โดยไม่คิดจะกระทำอย่างนั้นอีก

ในภายหลัง การสั่งสมความเป็นผู้ที่ตรงต่อกุศลและ อกุศล ที่เกิดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

- บาปไม่บาปนั้นก็อยู่ที่เจตนา และเป็นอกุศลหรือไม่ ถ้าทำสิ่งที่ถูกแล้ว แต่คนอื่น

เกิดอกุศล บาปย่อมไม่ตกกับบุคคลที่ทำถูก แต่เรื่องของ ใจ ของคนอื่น เป็นเรื่องที่

ห้ามกันไม่ได้ ที่สำคัญ ขอให้มีพระธรรมเป็นที่พึ่งพิจารณาสิ่งที่ผิด หรือ ถูก

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 11 พ.ย. 2555

พระธรรมแสดงให้เห็นถึง ชีวิตประจำวัน

ซึ่งทุกท่านพิจารณาชีวิตของท่าน ในวันหนึ่งๆ ได้ว่า

การอยู่ร่วมกันในครอบครัว ในระหว่างมิตรสหาย เป็นไปในลักษณะของคลุกคลีหรือไม่?

ตรงตามที่ทรงแสดงไหม? เพราะว่าย่อมเป็นไปด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง

ซึ่งหนทางที่จะทำให้เป็นกุศล มี

คือ

"...อยู่ด้วยเมตตา..."

.........

กราบท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณคำปั่น อักษรวิลัย

และ ทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pat_jesty
วันที่ 11 พ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เข้าใจ
วันที่ 12 พ.ย. 2555

เป็นพระธรรมที่เตือนใจที่ดี และมีประโยชน์มากครับ ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 12 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 12 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
bsomsuda
วันที่ 12 พ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 12 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
rrebs10576
วันที่ 12 พ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
kinder
วันที่ 12 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 13 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
หลานตาจอน
วันที่ 14 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
natural
วันที่ 14 พ.ย. 2555

การฟังพระธรรมนั้นไม่ใช่การฟังบุคคล ไม่ใช่การเลื่อมใสในตัวบุคคล

แต่ต้องเป็นผู้เลื่อมใสในพระธรรม

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
maxnakub2
วันที่ 17 พ.ย. 2555

ยินดีกับพระธรรมครับ :)

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
boonpoj
วันที่ 7 เม.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ