การนำเอาของที่เจ้าของไม่ให้มาเป็นของตนเป็นอาบัติปาราชิก
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตามความเป็นจริงแล้ว เพศบรรพชิตไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินทองโดยประการทั้งปวง รับเงินรับทองไม่ได้ การดูแลในเรื่องเหล่านี้ ควรเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ ไม่ใช่หน้าที่ของพระภิกษุ
จากกรณีดังกล่าว ก็สำคัญที่เจตนาว่ามีเจตนาที่จะลักขโมยมาเป็นของของตนหรือไม่ ถ้ามีเจตนาที่จะขโมยมาเป็นของของตนอย่างนี้ แม้ภายหลังจะบอกว่าจะโอนกลับเข้าบัญชีเดิมให้ ก็ต้องอาบัติหนักตั้งแต่แรกแล้ว แต่ถ้าไม่มีเจตนาที่จะขโมยก็ไม่เป็นอาบัติปาราชิก แต่เรื่องของจิตใจเป็นสิ่งที่ระวังยากจริงๆ กลับกลอก ถ้าบริสุทธิ์ใจจริงๆ ก็ควรที่จะมีพยานรับรู้ด้วยว่าตนเองมีความประสงค์ที่จะนำเงินส่วนนี้ไปทำอะไร ไม่ใช่ทำแต่เพียงลำพังตนเอง นี้กล่าวถึงเฉพาะอาบัติปาราชิกเท่านั้น เพราะอาบัติที่เกี่ยวเนื่องกับเงินทองนี้ ก็มีมากทีเดียว ถ้าเป็นผู้ที่น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัยจริงๆ เรื่องความเดือดร้อนใจในภายหลังก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
กราบขอบพระคุณอาจารย์ประเชิญ ที่ให้ความเข้าใจในประเด็นนี้ ด้วยครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การพิจารณาว่า จะต้องอาบัติปาราชิกนั้น จะต้องพิจารณาหลายๆ ประการ ครับ
ประการแรก คือ มีไถยจิต มีจิตคิดลักขโมยหรือไม่
ประการที่สอง มูลค่าที่ขโมย มีค่าเกิน ๕ มาสก หรือไม่ ซึ่งถ้ามีมูลค่าเกิน ๕ มาสก ก็ต้องอาบัติปาราชิก ครับ ซึ่ง ๕ มาสก ในปัจจุบัน ในอรรถกถาและฎีกา ท่านก็มีหลักเทียบดังนี้ ๕ มาสก มีมูลค่า=ทองคำน้ำหนัก เท่ากับ ๒๐ เมล็ดข้าวเปลือก ซึ่งมูลค่าของทองคำ ในแต่ละยุค ย่อมเปลี่ยนไปตามราคาตลาดที่เขาซื้อขายกัน ณ ปัจจุบันทองคำราคากรัมละประมาณ ๑,๖๕๐ บาท ข้าวเปลือก ๒๐ เมล็ด มีน้ำหนัก ๐.๕๖ กรัม ทองคำ ๐.๕๖ กรัม มีมูลค่า ๙๒๔ บาท
ดังนั้น มูลค่าเงิน ๕ มาสก ในยุคนี้ อันเป็นวัตถุแห่งอาบัติปาราชิก เป็นจำนวนเงิน ๙๒๔ บาท การตีความดังกล่าวนี้ อาศัยหลักของอรรถกถาและฎีกา ที่ท่านสืบทอดพระวินัยมาตั้งแต่สมัยครั้งพุทธกาล ครับ
เพราะฉะนั้น หากพระมีจิตคิดลักขโมย และเงินที่มีขโมยมีค่าเกิน ๙๒๔ บาท ก็ต้องอาบัติปาราชิก ครับ
ส่วนการทำคืน ขอคืน ก็เป็นการสำนึกภายหลัง แต่หากจิตแรกมีจิตคิดจะลักและมีมูลค่าเกินกว่า เก้าร้อยกว่าบาท ก็ชื่อว่าต้องอาบัติปาราชิก แก้ไขไม่ได้ ไม่ได้เป็นเพศบรรพชิตแล้ว ครับ
เพศบรรพชิต เป็นเพศที่สละทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว การเกี่ยวข้องหรือกระทำดังเช่นคฤหัสถ์ ย่อมไม่สมควรกับเพศพระภิกษุ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นผู้ที่ตรงย่อมรู้จักตนเองว่าตนเองยังมีความยินดีครองเรือน หรือประพฤติดังเช่นคฤหัสถ์หรือไม่ เพราะฉะนั้น เมื่ออยู่ในฐานะใด เพศใด ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ต่างก็มีข้อบัญญัติและข้อประพฤติที่เหมาะสม สมควร ตามฐานะ ตามเพศ อันมิควรก้าวก่ายกัน เพราะต่างอยู่ในฐานะที่ต่างกัน การประพฤติให้เหมาะสมกับฐานะเพศของตน ย่อมจะเกื้อกูลการเจริญขึ้นของกุศลธรรมและละซึ่งอกุศลธรรม ซึ่งจะมีการประพฤติที่ถูกต้องไม่ได้เลยหากไม่มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่ถูกต้อง เพราะอาศัยการศึกษาธรรมที่ถูกต้อง ย่อมเป็นเหตุให้เกิดปัญญา เกิดความเข้าใจถูก และปัญญาจะเป็นเครื่องนำทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง ครับ
พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้ามีคุณธรรม ก็ปฏิบัติดีแล้ว เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการเห็นสิ่งที่ไม่ดีของบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นโทษของบุคคล เป็นโทษของผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรมหรือศึกษาธรรมไม่ดี แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระศาสนา ไม่เกี่ยวข้องกับพระธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงดีแล้ว เพราะฉะนั้น สัจจะ พระธรรมของพระพุทธเจ้า ย่อมดี ประเสริฐสุดและไม่เสื่อมในตัวของพระธรรมเอง แต่สิ่งที่เสื่อม คือความเข้าใจของสัตว์โลก ในการที่ไม่เข้าใจพระธรรม ย่อมเสื่อมไปตามกิเลสที่เพิ่มมากขึ้นเพราะปัญญาน้อยลง เพราะฉะนั้น แทนที่จะนึกถึงคนอื่นให้มาก ก็ควรน้อมเข้ามาในตน ที่จะสละ ขัดเกลา กิเลสของตนเอง เห็นโทษของอกุศลที่น่ากลัว เพราะไม่ว่าใครก็มีอกุศล จึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาทที่จะอบรมเจริญขึ้นตามกําลังปัญญาในชีวิตที่เหลืออยู่ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา