เรียนถามเรื่อง วิญญาณาหาร เพิ่มเติมครับ

 
guy
วันที่  12 พ.ย. 2555
หมายเลข  22040
อ่าน  1,428

๑. ที่พระองค์อุปมาไว้ โจร หมายถึงใคร ประหารด้วยหอก หมายความว่าอย่างไรครับพิจารณาอย่างไรให้เป็นอาหาร ผลที่เกิดเป็น นาม รูป ด้วยครับ

๒. โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิตทำไมถึงนำเกิดไม่ได้ครับ

๓. วิริยะในทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ไม่มี เพราะเป็นอุปัตติเหตุใช่ไหมครับ แล้วในสันตีรณ วิบาก ทั้ง ๓ ดวง ไม่มี เพราะอะไรครับ ช่วยอธิบายทั้ง ๔ กิจ และ ๕ กิจด้วยครับ

๔. ทำไมถึงมีวิริยะในมหาวิบาก ๘ ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ที่พระองค์อุปมาไว้ โจร หมายถึงใคร ประหารด้วยหอก หมายความว่าอย่างไร ครับ พิจารณาอย่างไรให้เป็นอาหาร ผลที่เกิดเป็น นาม รูป ด้วยครับ

- จากคำถามที่ถามนั้น กล่าวถึงการอุปมาในเรื่องของอาหาร ๔ ครับ ก่อนอื่นควรเข้าใจคําว่า อาหาร และอาหารมีอะไรบ้าง ครับ

อาหาร โดยศัพท์ หมายถึง นำมา คือ เป็นปัจจัย หรือ นำมาซึ่งผล เพราะฉะนั้น สภาพธรรมอะไรก็ตามซึ่งนำมาซึ่งผล หมายถึง อาหาร อาหารจึงไม่ได้หมายถึงอาหารที่เราบริโภคกันเท่านั้น แต่ อาหารมีความละอียด หลากหลายนัยดังนี้ ครับ

อาหาร มี ๔ ประเภท ดังนี้

๑. กวฬิงการาหาร หมายถึง รูปอาหารที่เป็นคำๆ ที่เราบริโภคเข้าไป ส่วนที่จะเป็นประโยชน์หล่อเลี้ยงร่างกาย อาหารที่เป็นคำๆ นำมาซึ่ง โอชารูป

๒. ผัสสาหาร หมายถึง ผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นปัจจัยให้สัมปยุตธรรมเกิดขึ้น นำมาซึ่งเวทนา

๓. มโนสัญเจตนาหาร หมายถึง กรรม ทั้งกุศลกรรม และ อกุศลกรรม ย่อมนำมาซึ่งปฏิสนธิวิญญาณ (การเกิด)

๔. วิญญาณาหาร หมายถึง ปฏิสนธิวิญญาณ ย่อมนำมาซึ่ง นาม รูป

จะเห็นนะครับว่า อาหารทั้ง ๔ นำมาซึ่งสภาพธรรมต่างๆ จึงเรียกว่าเป็นอาหาร ครับ

ส่วนคำถามที่ว่า โจร คือใคร หอก หมายถึงอะไร สำหรับคำอุปมา เรื่องโจรกับหอกจะมาในส่วนของ วิญญาณาหาร ครับ

- วิญญาณาหาร (อาหารคือวิญญาณ) เปรียบเหมือนนักโทษ ที่ถูกประหารด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม เมื่ออริยสาวกกำหนดรู้วิญญาณาหารด้วยอาการอย่างนี้ ก็เป็นอันกำหนดรู้นามรูปได้ และเมื่อกำหนดรู้ นามรูปได้แล้ว อริยสาวกก็ย่อมจะไม่มีกิจ ที่จะพึงกระทำยิ่งไปกว่านี้

ซึ่งจากคำอุปมา จะขออธิบายตามนัย อรรถกถาดังนี้ ครับ

วิญญาณาหาร คือ ปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะที่เกิด นำมาซึ่ง นาม รูป คือ จิต เจตสิก และกัมมชรูป เป็นต้น

ซึ่ง โจร หรือ นักโทษ ท่านเปรียบสำหรับ สัตว์โลกที่ทำกรรมไม่ดี เป็นต้น พระราชา คือ กรรม พบโจร คือ สัตว์โลกผู้ที่ทำผิด จึงรับสั่งให้ประหารด้วยหอก ๓๐๐ เล่ม ทั้งตอนเช้า ตอนกลางวัน และ ตอนเย็น หอก เปรียบดัง ปฏิสนธิจิต คือ ขณะที่เกิด การได้รับทุกข์ทรมาน คือ ขณะที่เกิดบาดแผล เพราะอาศัยหอก เพราะฉะนั้น ทุกข์ที่เกิดไม่ได้เกิดขณะปฏิสนธิจิต คือ ไม่ได้เกิดที่ตัวหอก แต่เกิดที่บาดแผล ที่เกิดขึ้น คือ มีนาม รูป เกิดขึ้น ที่เป็นกายวิญญาณจิตที่เป็นอกุศลวิบาก เป็นต้น คือ รู้กระทบสัมผัสที่ไม่ดีทางกาย เพราะฉะนั้น อาศัยหอก ๓๐๐ เล่ม คือ ปฏิสนธิจิต เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือ เกิดบาดแผล คือ เกิดนามและรูป อันเป็นตัวทุกข์ ครับ

ดังนั้น โจร ก็ไม่พ้นจากเราๆ ท่านๆ ทั้งหลาย ที่กระทำกรรมไม่ดี จึงถูกพระราชา คือ กรรม ลงโทษให้เกิด คือ เกิดปฏิสนธิจิต (หอก ๓๐๐ เล่ม) ที่เป็น วิญญาณาหาร หรือวิญญาณ ในปฏิจจสมุปบาท เป็นปัจจัยให้เกิด นาม รูป (เกิดบาดแผล) ในปฏิจจสมุปบาทอันเป็นตัวทุกข์ สมดังที่เราเข้าใจว่า การเกิดนำมาซึ่งทุกข์ นั่นก็คือ วิญญาณ คือ ปฏิสนธิจิต ที่เป็นหอก นำมาซึ่งทุกข์ คือ บาดแผล ที่เป็น นามและรูป ที่เกิดขึ้น ในชีวิตประจำวัน จะมีได้เพราะการเกิด ครับ

ส่วนคำถามที่ว่า พิจารณาอย่างไร ให้เป็นอาหาร ผลที่เกิดเป็น นาม รูป ด้วยครับ

- ธรรมที่พิจารณา คือ ปัญญา ไม่ใช่เรา ซึ่ง การพิจารณาความเป็นอาหาร คือ ปัญญา ที่เห็นตามความเป็นจริง ว่า ปฏิสนธิวิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป และอีกประการหนึ่ง การพิจารณา วิญญาณ อีกนัยหนึ่ง คือ จิตประเภทต่างๆ ด้วยสติ ที่เกิดระลึกรู้ลักษณะ ของสภาพธรรมที่เป็นวิญญาณ หรือ จิต ในขณะนี้ แต่ละประเภท ที่กําลังเกิด ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่เรา การพิจารณาด้วย สติปัฏฐาน (สติเกิด) ย่อมเป็นหนทางที่จะ ละ คลาย หน่าย และดับกิเลส ครับ

๒. โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิตทำไมถึงนำเกิดไม่ได้ครับ

โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต ทํากิจปฏิสนธิไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า หากเป็นโสมนัสเวทนา แล้วเป็นเวทนาที่มีกำลัง ย่อมจะทำกิจปฏิสนธิในมหาวิบากที่เป็นกุศลวิบากที่เป็นโสมนัส ครับ เพราะโสมนัสเวทนามีกำลังกว่าอุเบกขาเวทนา ดังนั้น เมื่อโสมนัสเวทนาเป็นเวทนาที่มีกำลัง ย่อมไม่คู่ควรกับจิตที่มีกำลังอ่อน ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุเลย (ที่เป็นสันตีรณจิต) ที่จะทำกิจปฏิสนธิ แต่ย่อมคู่ควรกับมหาวิบากที่เป็นกุศลที่มีกำลัง ที่เป็นโสมนัส ที่จะทำกิจปฏิสนธิ ครับ ส่วนอุเบกขาเวทนาเป็นเวทนาที่มีกำลังอ่อนกว่าโสมนัส ย่อมคู่ควรกับจิตที่เป็นสันตีรณจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ จึงทำกิจปฏิสนธิได้ครับ

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ครับ

สัมปฏิจฉันนจิต - สันตีรณจิต กับ ปฏิสนธิกิจ

๓. วิริยะในทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ไม่มี เพราะเป็นอุปัตติเหตุใช่ไหมครับ แล้วในสันตีรณวิบากทั้ง ๓ ดวง ไม่มี เพราะอะไรครับ ช่วยอธิบายทั้ง ๔ กิจและ ๕ กิจด้วยครับ

- วิริยเจตสิก ไม่เกิดกับ อเหตุกจิต ๑๖ ดวง มี การเห็น การได้ยิน ได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้กระทบสัมผัส ที่เรียกว่า ทวิปัญจวิญญาณจิต ด้วยเหตุผลที่ว่า เพราะเป็นจิตที่เป็นเพียงวิบากที่ไม่มีกำลัง เพียงเห็นเท่านั้น เกิดรับผลของกรรมแล้วก็ดับไป ไม่ได้มีความเพียรอะไร ก็เกิดการเห็นได้เป็นปกติครับ ซึ่งเป็นอเหตุกจิตที่มีกำลังอ่อนและไม่ประกอบด้วยเหตุ ทั้ง ๑๖ ดวง จึงไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ครับ

๔. ทำไมถึงมีวิริยะในมหาวิบาก ๘ ครับ

- มหาวิบากจิต เป็นจิตที่เป็นผล ของกุศลกรรมที่ได้ทำมา ซึ่งมหาวิบากจิตทั้ง ๘ ดวง จะต้องมีเหตุที่ดีเกิดร่วมด้วย นั่นคือ อโลภะ อโทสะ และ อโมหะ ซึ่งมหาวิบากจิต ๔ ดวง ประกอบด้วยเหตุ ๒ และ อีก ๔ ดวงก็ประกอบด้วยเหตุ ๓ คือ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น จึงมีวิริยเจตสิก ก็เพราะมีกำลังกว่า คือมีเหตุเกิดร่วมด้วยเป็นปัจจัยประการหนึ่ง ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 13 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 13 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น แสดงถึงสภาพธรรมที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ เพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริง และสิ่งที่มีจริงนั้นก็มีจริงในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสําหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ มีศรัทธาที่จะฟัง ที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ยิ่งๆ ขึ้นไป

ที่ประสบกับทุกข์โทษภัยต่างๆ ก็สืบเนื่องมาจากการเกิด ถ้าไม่มีการเกิดแล้ว ไม่มีนามธรรม รูปธรรมเกิดเลย ก็ไม่ต้องประสบกับทุกข์โทษภัยใดๆ เลย เป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง พระธรรมที่อุปมา ปฏิสนธิจิตเหมือนกับนักโทษประหารนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างแท้จริง เตือนให้ไม่ลืมว่า ก็คือทุกคนในขณะนี้ ที่ได้เกิดมาแล้ว ซึ่งหนทางที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลา ละคลายกิเลสจนกว่าจะสามารถดับกิเลสได้ ไม่มีการเกิดอีก นั่นก็คือหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว เพราะต้นเหตุของการเกิดจริงๆ ก็คือ กิเลสนั่นเอง

โสมนัสสันตีรณกุศลวิบากจิต ไม่ทำกิจปฏิสนธิ เพราะอุเบกขาสันตีรณจิตและมหาวิบากจิต ทำกิจปฏิสนธิ กล่าวคือ ถ้ามีกำลังอ่อน ก็เป็นอุเบกขาสันตีรณจิต ถ้ามีกำลังมากขึ้น ก็เป็นมหาวิบาก ๘ ดวงใดดวงหนึ่ง ทำกิจปฏิสนธิ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้

วิบากจิต ๑๐ ประเภท คือ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ที่เป็นกุศลวิบากกับอกุศลวิบากนั้น เป็นจิตที่มีกำลังอ่อนมาก มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุดเพียง ๗ ประเภทเท่านั้น เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีวิริยะ ซึ่งจะแตกต่างจากจิตที่มีกำลังมากกว่า เช่น ที่เป็นมหาวิบาก เป็นต้น ที่จะต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ทั้งหมดทั้งปวงนั้นก็เป็นพระปัญญาตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสรู้ตามความเป็นจริงและทรงแสดงให้สัตว์โลกได้รู้ตาม ให้ได้เข้าใจว่า เป็นแต่เพียงธรรมแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 13 พ.ย. 2555

ที่เปรียบเหมือนหอกที่แทง ก็เปรียบเหมือนการเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ คนที่มีปัญญาก็แสวงหาทางที่จะไม่เกิด ไม่ต้องนำมาซึ่ง นาม รูป ก็ต้องเริ่มตั้งแต่การฟังพระธรรม เพราะว่าจะทำให้กุศลด้านต่างๆ และ ปัญญา เจริญขึ้นตามความเข้าใจ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
nong
วันที่ 14 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
napachant
วันที่ 14 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
guy
วันที่ 14 พ.ย. 2555

ขอบพระคุณอย่างสูง และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิรมิต
วันที่ 14 พ.ย. 2555

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 9 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ