ข้อความนี้เป็นพระพุทธพจน์หรือไม่ อยู่ในพระไตรปิฎกส่วนไหน
กราบเรียนถามดังนี้ค่ะ
ดิฉันเห็นข้อความนี้พิมพ์เผยแพร่มาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว อยู่ในหนังสือ พุทธโอวาท ก่อนปรินิพพาน ดิฉันเห็นในหนังสือยกมา แล้วบอกว่าเป็นโอวาทของพระพุทธเจ้า ก็เลยเข้าใจว่าอยู่ในพระไตรปิฎกมาตลอด แต่พอลองค้นดูจริงๆ กลับไม่เจอเลยค่ะ ก็เลยสงสัยว่าอยู่ตรงไหนคะ เป็นพระพุทธพจน์จริงๆ หรือเปล่าคะ แต่อ่านแล้ว ก็ช่วยละคลายกำหนัดไปได้มาก เป็นไปได้ไหมว่า คนเผยแพร่เขานำมาจากพระพุทธพจน์ แล้วปรับสำนวนภาษาให้เข้าใจง่ายหรือเปล่าคะ
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความรักเป็นความร้าย ความรักเป็นสิ่งทารุณ และเป็นเครื่องทำลายความสุขของปวงชน ทุกคนต้องการความสมหวังในชีวิตรัก แต่ความรักไม่เคยให้ความสมหวังแก่ใครถึงครึ่งหนึ่งแห่งความต้องการ ยิ่งความรักที่ฉาบทาด้วยความเสน่หาด้วยแล้ว ก็เป็นพิษแก่จิตใจ ทำให้ทุรนทุรายดิ้นรนไม่รู้จักจบสิ้น ความสุขที่เกิดจากความรักนั้นเหมือนความสบายของคนป่วยที่ได้กินของแสลง เธอทั้งหลายอย่าพอใจในความรักเลย เมื่อหัวใจยึดไว้ด้วยความรัก หัวใจนั้นจะสร้างความหวังอย่างเจิดจ้า แต่ทุกครั้งที่เราหวัง ความผิดหวังก็จะรอเราอยู่"
เข้าใจว่าคนเผยแพร่ เขานำข้อความบางส่วน มาจากพระพุทธพจน์ แล้วปรับสำนวนภาษาแบบชาวบ้านทั่วไป
ที่ถูกต้อง ควรจะนำมาโดยอ้างที่มา และอธิบายเพิ่มเติม เป็นความเห็นส่วนตัวต่างหาก จึงจะควร มิฉะนั้น ผู้ศึกษาก็จะเข้าใจผิดว่า เป็นพระพุทธพจน์โดยตรง ครับ
พระธรรมเป็นเรื่องละอียด ลึกซึ้ง สำหรับข้อความที่ยกมานั้น ไม่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นเพียงเอาความคิดปรุงแต่งของปุถชนมาเป็นคำของพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุที่ว่า เหมือนกับว่าเมื่อได้อ่านแล้วคลายจากความรัก แต่ในความเป็นจริงไม่ได้คลายจากกิเลสคือโลภะเลย เพราะยังเป็น เรา เบื่อหน่าย เพราะแท้ที่จริง ยังไม่รู้จักตัวธรรมะเลย จะละคลายจากอกุศล มีโลภะ (หรือความรัก) ได้อย่างไร
ดังนั้น พระพุทธเจ้า ทรงแสดงหนทางการหน่าย คลายจากความรัก คือคลายจากความรัก ความติดข้อง และในความเห็นผิด ว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน ก่อน ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน เพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ นี่คือหนทางการหน่ายจากความรัก จากกิเลสเป็นลำดับขั้นที่ถูกต้อง ซึ่งข้อความเตือนใจ ไม่สามารถทําให้ละโลภะและกิเลสได้จริงๆ ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ทุกคำเกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง พระธรรมทุกๆ คำก็เกื้อกูล เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องมีความละเอียด ตรง และจริงใจ ในการฟัง ในการศึกษาด้วยว่า ศึกษาเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่นเลย แต่เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกเท่านั้นจริงๆ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงให้ผู้อื่นได้รู้ตาม ผู้ที่ทรงตรัสรู้ ก็จะมีคำจริง มีวาจาสัจจะเกื้อกูลแก่ผู้อื่นอย่างแท้จริง ซึ่งแตกต่างกับผู้ที่ไม่รู้อย่างสิ้นเชิง เพราะผู้ไม่รู้ ก็สอนให้ไม่รู้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะสอนให้รู้ เพราะเหตุว่า ตนเองไม่รู้ตามความเป็นจริงนั่นเอง ซึ่งก็คงจะเป็นเครื่องเตือนที่ดีเพื่อให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการศึกษาพระธรรม ซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คำสอนของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...