อะไรคือสิ่งที่ควรให้ อะไรคือสิ่งที่ไม่ควรให้

 
นิรมิต
วันที่  26 พ.ย. 2555
หมายเลข  22098
อ่าน  4,037

กราบสวัสดีท่านวิทยากรและมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน

สืบเนื่องจากกระทู้เก่ากระทู้นี้

เรื่องของกุศล อกุศล อีกรอบครับ

ต้องขออภัย ที่ได้ตั้งกระทู้หลากหลายกระทู้ สอบถามในเรื่องเดิมๆ เนื่องจากยังมีหลายๆ จุด หลายๆ ประเด็น ที่เมื่อพิจารณายิ่งๆ ไปแล้ว ยังรู้สึกว่าตัวเองยังไม่ค่อยเข้าใจ หรือยังมีความเข้าใจผิดอยู่ จึงใคร่จะขออนุญาตกราบเรียนถามเพื่อความเข้าใจยิ่งๆ ขึ้นไปอีกสักครั้ง ครับ

จากที่ได้เคยเรียนถามไปในกระทู้ข้างต้น การให้ทาน ด้วยความเป็นวัตถุทาน เราจะทราบได้ด้วยหลักอะไร หรือจะพิจารณาอย่างไร ถึงจะทราบว่า สิ่งใดควรแก่ผู้ใด สิ่งใดไม่ควรแก่ผู้ใด จะพิจารณาให้เกิดโยนิโสมนสิการอย่างไร มีหลักอะไรหรือไม่ที่จะนํามาพิจารณาได้ว่า สิ่งของใดชื่อว่าควรให้เป็นทาน สิ่งของใดชื่อว่าไม่ควรให้เป็นทาน เพราะบางครั้ง บางกรณี สิ่งนี้ก็เหมือนจะควรแก่ผู้นี้ แต่บางกรณีก็เหมือนไม่ควร หรือบางครั้งสิ่งนั้นควร และของนั้น พิจารณาแล้วว่าไม่เป็นโทษ แต่พอให้ไปแล้วกลับเกิดโทษเสียแทน

ยกตัวอย่าง บิดา มารดา ส่งเสียลูกเรียนหนังสือ มีการสละทรัพย์ทั้งหลายที่หามาได้ เพื่อให้ลูกเรียนหนังสือ แต่ก็ให้ลูกเรียนหนักไป ลูกเครียด ถูกยัดเยียดวิชาการมากเกินไป กลายเป็นลูกไม่มีความสุขในสิ่งที่บิดามารดามอบให้ ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ควรและเป็นประโยชน์ เลยอยากทราบว่า ควรจะพิจารณาด้วยหลักอะไร อย่างไร เพราะเหตุใด ว่าสิ่งไหนควรแก่ผู้ใด สิ่งไหนไม่ควรแก่ผู้ใด

อีกหนึ่งคำถามในประเด็นใกล้เคียงกัน

ข้อที่ว่า ครูบาอาจารย์ทางโลกทั้งหลาย หรืออย่างเด่นๆ ที่พอจะยกมากล่าวให้เห็นชัด (ในความคิดของกระผม) อย่างวิชาวิทยาศาสตร์หรือจิตวิทยา ข้อนี้มีหลากหลายเรื่องที่บางครั้ง เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ถึงกับเป็นมิจฉาทิฏฐิร้ายแรง แต่ก็มีการกล่าวไปให้มีความเชื่อในทางที่ผิดได้ แม้ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเป็นทิฏฐิอย่างสัสตทิฏฐิ หรืออุเฉททิฏฐิ แต่ก็มีบางครั้งบางครา ที่ชักจูงสู่ความเห็นผิด หรือชักจูงให้ห่างปรมัตถธรรมไปไกลได้ อย่างนี้ชื่อว่า แสดงความเห็นผิดแก่ผู้อื่นหรือไม่ อย่างไร มีโทษหรือไม่ ควรหรือไม่ ประการใด

เฉกเช่นเดียวกับศาสตร์และศิลปะแขนงอื่นๆ ที่เด็กๆ ในยุคก่อนๆ และในยุคนี้ ต้องรํ่าเรียนกันเพื่อประกอบกิจการงาน วิชาชีพในอนาคตของตนๆ ก็ล้วนนับเนื่องเป็นดิรัจฉานวิชาทั้งสิ้น ข้อนี้ก็ชื่อว่า ควรหรือไม่ มีโทษหรือไม่ ประการใด แล้วอย่างไรจึงชื่อว่าถูก ว่าควร แล้วการพร่ำสอนวิชาการต่างๆ เหล่านี้ ของครูบาอาจารย์ทางโลก ชื่อว่ากล่าวสัมผัปปลาปะ หรือไม่ อย่างไร

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 27 พ.ย. 2555

ขอแรียนแยกเป็นเรื่องๆ ดังนี้ครับ

โดยหลักกว้างๆ ก็คือ สิ่งที่ดีและมีประโยชน์ ควรให้แก่ผู้อื่น แต่การให้แก่บางบุคคลเช่น บรรพชิต ต้องพิจารณาให้เป็นไปตามหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าจึงจะถูกต้องครับ อนึ่ง พ่อแม่ให้ลูกได้ศึกษาหาความรู้ทางโลกเพื่อการเลี้ยงชีพ ผู้ให้มีเจตนาดี ผู้รับไม่สามารถรับได้ทั้งหมด ผู้ให้ก็ไม่มีโทษ แม้ครูอาจารย์สอนวิชาการทางโลกในศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่มีโทษ ไม่ขัดกับศีลธรรม และให้ศิษย์สามารถเลี้ยงชีพได้ การสอนนั้นก็ไม่มีโทษ ไม่เป็นสัมผัปปลาปะ เพราะมีเจตนาดี สอนด้วยเมตตาจิตก็ได้ ต้องการให้ศิษย์ได้เรียนรู้ตามหลักสูตรจนจบ แต่ถ้าเทียบกับคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งมีประโยชน์สูงสุด ถามว่า วิชาการต่างๆ ทางโลกนั้น เป็นเดรัจฉานวิชชาหรือไม่ ตอบว่า เป็น แต่ก็จําเป็นสำหรับคฤหัสถ์ที่ต้องเลี้ยงชีพ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 27 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Noparat
วันที่ 27 พ.ย. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nopwong
วันที่ 28 พ.ย. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 28 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งที่ควรให้ ต้องเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับเพศ กับวัย ของผู้นั้น และสำคัญอยู่ที่การได้ใช้ประโยชน์จริงๆ ไม่ควรให้สิ่งที่มีโทษ เป็นโทษแก่ผู้รับ แม้วัตถุสิ่งของบางอย่าง ดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ถ้าให้กับบุคคลผู้เว้นจากการรับสิ่งเหล่านี้ ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เช่น การถวายเงินให้กับพระภิกษุ เป็นต้น ความเข้าใจพระธรรมจะค่อยๆ เกื้อกูล ให้ความประพฤติเป็นไปในชีวิตประจำวัน เป็นไปในทางที่ถูกที่ควรยิ่งขึ้น คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 28 พ.ย. 2555
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
bsomsuda
วันที่ 28 พ.ย. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
นิรมิต
วันที่ 29 พ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาสาธุครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ