พิธีสงฆ์

 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่  30 พ.ย. 2555
หมายเลข  22107
อ่าน  3,797

ขอเรียนถามเรื่องพิธีสงฆ์ดังนี้

๑. การทำบุญในปัจจุบัน จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระปริตร ซึ่งจะเริ่มจากประธานในพิธี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งการจุดเทียน คือการบูชาธรรมและวินัยเข้าใจถูกต้อง หรือไม่ และการจุดธูป คือการบูชาพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ เข้าใจถูกต้องหรือไม่ และที่กล่าวว่า จุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัยเป็นคํากล่าวที่ถูกต้องหรือไม่ และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ขอความรู้ด้วยครับ

๒. ก่อนที่พระสงฆ์จะสวดพระปริตร จะมีฆราวาสกล่าวอาราธนาพระปริตร ที่ขึ้นต้นด้วย วิปัตติฯ ซึ่งจำเป็นหรือไม่ และควรหรือไม่ที่ฆราวาสต้องกล่าวอาราธนาพระปริตร ก่อนที่พระสงฆ์จะสวดพระปริตร และถ้าฆราวาส ไม่กล่าวอาราธนาพระปริตรก่อน พระสงฆ์จะสวดพระปริตรได้หรือไม่ และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร

๓. พระปริตรที่พระสงฆ์สวดในปัจจุบัน มีการสวดกี่บท และบทอะไรบ้าง และมีบทสวดใดบ้างที่เหมือนกับบทสวดในสมัยพุทธกาล

๔. เมื่อพระสงฆ์สวดพระปริตรเสร็จแล้ว ก็จะมีการถวายไทยทานหรือไทยธรรม จึงขอเรียนถามว่า ไทยทานกับไทยธรรม ต่างกันอย่างไร และควรใช้คำว่าอะไร

ขอขอบคุณและอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่ง ที่อาจารย์และวิทยากรทุกท่าน ที่ให้ความรู้ ความเข้าใจในธรรมะที่ถูกต้อง

อนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 1 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. การทำบุญในปัจจุบัน จะมีการนิมนต์พระสงฆ์ มาสวดพระปริตร ซึ่งจะเริ่มจาก ประธานในพิธี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งการจุดเทียน คือการบูชาธรรมและวินัย เข้าใจถูกต้องหรือไม่ และการจุดธูป คือการบูชาพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณและหรือพระมหากรุณาคุณ เข้าใจถูกต้องหรือไม่ และที่กล่าวว่า จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องหรือไม่ และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ขอความรู้ด้วยครับ

- บุญ เป็นสภาพธรรมที่ชำระจิตให้สะอาด (เพราะโดยปกติแล้ว จิตสกปรกด้วยอำนาจของ อกุศลธรรม) จากที่เป็นอกุศล ก็ค่อยๆ เป็นกุศลขึ้นในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากขณะนี้ ขณะที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในการอบรมเจริญความสงบของจิต และเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา โดยที่ไม่มีตัวตนที่จะไปทำบุญ เพราะบุญอยู่ที่สภาพจิต จิตเป็นกุศลก็เป็นบุญ ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตเป็นอกุศลก็ไม่ใช่บุญ

เรื่องพิธีกรรม ก็เป็นเรื่องของพิธีกรรม สำคัญที่สภาพจิตในขณะนั้นน้อมไปเพื่อที่จะบูชาในสิ่งที่เลิศ ที่ประเสริฐที่สุดหรือไม่ ด้วยจิตที่เป็นกุศล ประโยชน์อยู่ตรงนี้ สำหรับความมุ่งหมายในเครื่องสักการะบูชา ที่เป็นเทียนกับธูป ขึ้นอยู่กับการสื่อ เพื่อประโยชน์แก่การน้อมระลึกถึงสิ่งที่มีค่าสูงสุด เทียน ๒ เล่ม มุ่งหมายถึงพระธรรม พระวินัย ธูป ๓ ดอก จะสื่อความหมายถึงพระรัตนตรัย ก็ได้ มุ่งหมายถึง พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ พระมหากรุณาคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้ ทั้งหมดนั้น ก็เพื่อน้อมบูชาสิ่งที่ควรบูชา ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

เทียน ธูป ดอกไม้ กี่ดอก บูชาอะไร

๒. ก่อนที่พระสงฆ์จะสวดพระปริตร จะมีฆราวาส กล่าวอาราธนาพระปริตร ที่ขึ้นต้นด้วยวิปัตติฯ ซึ่งจำเป็นหรือไม่ และควรหรือไม่ที่ฆราวาสต้องกล่าวอาราธนาพระปริตรก่อนที่พระสงฆ์จะสวดพระปริตร และถ้าฆราวาส ไม่กล่าวอาราธนาพระปริตรก่อน พระสงฆ์จะสวดพระปริตรได้หรือไม่ และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร

๓. พระปริตรที่พระสงฆ์สวดในปัจจุบัน มีการสวดกี่บท และบทอะไรบ้าง และมีบทสวดใดบ้าง ที่เหมือนกับบทสวดในสมัยพุทธกาล

- เป็นเรื่องของพิธีกรรม เป็นการบอกกล่าว หรือนิมนต์ เพื่อให้ท่าน กล่าวพระปริตร (ปริตร ก็คือ พระธรรมคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะเป็นเครื่องป้องกัน ต้านทาน หรือ กำจัด ความไม่รู้และอกุศลธรรมทั้งหลาย)

ที่ควรจะได้เข้าใจ ในสมัยพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมด้วยภาษาของชาวมคธ ที่คนส่วนใหญ่ในครั้งนั้นฟังรู้เรื่อง ตามที่ปรากฏในพระสูตรต่างๆ เช่น มงคลสูตร กรณียเมตตสูตร รัตนสูตร เป็นต้น เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง และมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน เพราะการที่จะเข้าใจธรรม ก็ย่อมจะเข้าใจได้ในภาษาของตนๆ พระธรรมจึงไม่ใช่สำหรับสวด แต่สำหรับศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ เรื่องของพิธีกรรมในยุคนี้สมัยนี้ก็เป็นเรื่องของพิธีกรรม แต่เราควรที่จะเป็นชาวพุทธที่ดี ด้วยการตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อได้ยินได้ฟังบทสวดในภาษาบาลี (ซึ่งส่วนใหญ่ฟังไม่รู้เรื่อง) แล้ว มีความฉุกคิด เกิดความสนใจที่จะได้เข้าใจในสิ่งนั้นให้ยิ่งขึ้น ด้วยการศึกษาเพิ่มเติม จากข้อความโดยตรงในพระไตรปิฎก พระธรรม เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ต้องค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ศึกษาจริงๆ นี้แหละคือ สิ่งที่จะเป็นประโยชน์จริงๆ

๔. เมื่อพระสงฆ์สวดพระปริตรเสร็จแล้ว ก็จะมีการถวายไทยทาน หรือไทยธรรม จึงขอเรียนถามว่าไทยทานกับไทยธรรม ต่างกันอย่างไร และควรใช้คำว่าอะไร

- ในภาษาบาลี จะใช้อยู่คำเดียว คือ เทยฺยธมฺม (ไทยธรรม) หมายถึง สิ่งที่จะพึงให้, สิ่งที่จะพึงถวาย, ของที่จะให้, ของที่จะถวาย แต่ในสังคมไทย มีปรากฏใช้ทั้งสองคำ คือ ทั้ง ไทยทาน และไทยธรรม ซึ่งโดยอรรถแล้ว มีความหมายตรงกันกับคำว่าไทยธรรม ดังนั้น ถ้าจะใช้คำให้ถูกต้อง ควรจะใช้คำว่า ไทยธรรม ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ว่าด้วยให้วัตถุที่เหมาะสมแก่ผู้มีความต้องการ [จริยาปิฎก]

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำหรับประเด็นในเรื่องการจุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัย

ในความเป็นจริง ก็แล้วแต่สภาพจิตเป็นสำคัญ ครับ เพียงแต่ในสมัยพุทธกาล การบูชาของอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย คือบูชาด้วยดอกไม้ ของหอม และธูป เทียน ที่เป็นอามิสบูชา จึงเป็นประเพณีสืบต่อกันมา คือเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ก่อนอื่น ก็ต้องไหว้พระรัตนตรัยอันเป็นรัตนะที่ประเสริฐเสียก่อน อันเป็นการแสดงถึงความเคารพ ก็ใช้ธูป เทียน เพื่อเป็นอุบายในการไหว้พระรัตนตรัยเพื่อให้มีจิตตั้งมั่นในขณะที่บูชา ด้วยการจุด ธูป เทียน และน้อมระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย ในขณะนั้น จึงไม่ได้ผิดแต่ประการใด แต่สำคัญที่สภาพจิตเป็นสำคัญในขณะนั้น ครับ ซึ่งจะเป็นการบูชา พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณได้ ก็จิตใจของตนเองที่ระลึกถึงพระคุณ เป็นเครื่องบูชา ในพระคุณทั้งสามในขณะนั้น เพียงแต่อาศัย ธูป เทียน ที่เป็นอุบายให้มีจิตตั้งมั่น ระลึกถึงพระคุณในขณะนั้น ครับ


สําหรับประเด็นเรื่องการที่พระ กล่าวคำใด คำหนึ่งก่อน จึงจะแสดงธรรมได้

ในความเป็นจริง คนไทยใช้ภาษาบาลี โดยบางครั้งไม่ข้าใจ เพราะภาษาบาลีหรือภาษามคธ เป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้พูดกันทั่วไปในสมัยพุทธกาล เพราะฉะนั้น ก็ใช้คำบาลีพูดกันไปเป็นปกติ ไม่ใช่คำที่ศักดิ์สิทธิ์อะไรตามที่คนไทยเข้าใจ เพราะฉะนั้น การแสดงธรรมของคนไทย ก็ไม่จำเป็นจะต้องมากล่าวคำบาลีอื่นอีก ก็สามารถกล่าวแสดงธรรมได้ โดยใช้ภาษาที่เราพูดกันเข้าใจในภาษาไทย แม้แต่การอาราธนาธรรมอุบาสก อุบาสิกา ก็กล่าวภาษาไทย ว่า ขอเชิญพระคุณเจ้าแสดงธรรม โดยที่ไม่ต้องกล่าวคำบาลี และแม้ผู้ที่แสดงธรรม ก็กล่าวว่า ขอให้ตั้งใจฟังโดยความเคารพ เป็นต้น โดยที่ไม่ต้องกล่าวคำบาลีที่เป็นประเพณี พิธีกรรมใดๆ ทั้งสิ้นก็ได้ ครับ


จากประเด็นเรื่องการสวดพระปริตร

พระปริตร ก็ไม่พ้นจากพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแสดง ซึ่งพระปริตรที่จะเป็นเครื่องป้องกันอันตรายได้นั้น อะไรที่จะป้องกันอันตรายได้จริงๆ นั่นก็คือจิตใจที่ดี ที่เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา อันเกิดจากการได้ฟัง การสาธยายธรรม บทใดบทหนึ่ง แล้วเกิดความเข้าใจ ป้องกันภัยอันตรายจากกิเลส ป้องกันภัยอันตรายจากสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดในจิตใจในขณะนั้นเป็นสำคัญ ครับ

ซึ่งเมื่อว่าโดยพระปริตร ก็มีบทสวดต่างๆ หลายบท ซึ่งปัจจุบัน พระภิกษุก็สวดบทพระปริตร ตามพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เหมือนๆ กัน แต่สำคัญ คือการสวดและการฟังพระปริตร สําคัญที่ความเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อป้องกันอันตรายอันเป็นการหวัง (ที่เป็นโลภะ) ในจิตใจของตนเอง ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nopwong
วันที่ 1 ธ.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 2 ธ.ค. 2555

ชัดเจนค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ที่พึ่งที่ระลึก
วันที่ 2 ธ.ค. 2555

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่วิทยากรทุกท่านเมตตาให้ความรู้เสมอมา

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
napat
วันที่ 4 ธ.ค. 2555

ขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนามา ณ ที่นี้ด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 4 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ