การทนอยู่กับสิ่งเดิม ๆ ไม่ไหว และการเสพติดกับสิ่งเดิม ๆ

 
พิมพิชญา
วันที่  1 ธ.ค. 2555
หมายเลข  22109
อ่าน  1,411

กราบเรียนถามดังนี้ค่ะ

การทนอยู่กับสิ่งเดิมๆ ไม่ไหว (เบื่อหน่ายด้วยโทสะ) เกิดจากการที่มีโทสะต่อสิ่งนั้นบ่อยๆ เนืองๆ ใช่มั้ยคะ การเสพติดกับสิ่งเดิมๆ (หลงใหลด้วยโลภะ) เกิดจากการที่มีโลภะ โสมนัสเวทนาต่อสิ่งนั้นบ่อยๆ เนืองๆ ใช่มั้ยคะ

ขอคำอธิบายอย่างละเอียดทีค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 1 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เป็นชีวิตปกติธรรมดา เพราะธรรม ไม่พ้นไปจากขณะนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นโทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ เบื่อ ไม่ชอบ รวมถึง โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ ซึ่งเป็นธรรม ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ที่มีความโกรธ เกิดความไม่พอใจขึ้น ก็เพราะเคยสะสมความโกรธมาแล้ว เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็เกิดขึ้น ทำกิจหน้าที่ เป็นธรรม ไม่ใช่เรา โลภะ ความติดข้องต้องการ ก็เป็นธรรมประการหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เคยสะสมความชอบในสิ่งนั้นมา เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย โลภะความติดข้องต้องการก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

จะเห็นได้ว่า ทุกขณะไม่ได้ปราศจากธรรมเลย แต่ธรรมก็หลากหลายมาก ในแต่ละวัน ไม่ได้มีเฉพาะโทสะเกิดตลอด ไม่ได้มีเฉพาะโลภะเกิดตลอด แต่มีสภาพธรรมอื่นๆ ด้วย มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีถูกต้องกระทบสัมผัส บางครั้งจิตก็เป็นกุศล เป็นไปในการให้ทานบ้าง เป็นไปในการฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาบ้าง เป็นต้น ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งถ้าไม่เริ่มศึกษา จะไม่เข้าใจเลยว่า เป็นธรรม

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ซึ่งสิ่งที่จะต้องศึกษานั้น ก็ไม่พ้นไปจากขณะนี้เลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากคำถามที่ว่า

การทนอยู่กับสิ่งเดิมๆ ไม่ไหว (เบื่อหน่ายด้วยโทสะ) เกิดจากการที่ มีโทสะต่อสิ่งนั้นบ่อยๆ เนืองๆ ใช่มั้ยคะ

ในความเป็นจริงของสภาพธรรมที่จะเกิดขึ้น ย่อมอาศัย เหตุ ปัจจัย จึงเกิดขึ้นได้แม้แต่การเกิดความทนไม่ได้ บ่อยๆ หรือเป็นสภาพธรรมที่เป็นโทสะเกิดขึ้นในสภาพธรรมใดสภาพธรรมหนึ่งบ่อยๆ ก็เพราะอาศัยปัจจัยอีกเช่นกัน เพราะฉะนั้น ในความละเอียดของสภาพธรรมที่เกิดขึ้น ปัจจัยหนึ่ง คือ อุปนิสสยปัจจัย คือสภาพธรรมที่เกิดขึ้น อันเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง เพราะฉะนั้น การทนไม่ได้ คือเกิดโทสะบ่อยๆ นั้นก็เพราะ อาศัยสภาพธรรมที่เป็นโทสะเกิดขึ้นในสภาพธรรมที่เป็นอารมณ์นั้นบ่อยๆ นั่นเอง จนมีกำลังมาก จนเป็นอุปนิสสยปัจจัย ตัวอย่างเช่น การเห็นงู บางคนเห็นแล้วเกิดกลัวมาก โทสะเกิด มีกำลังมาก เพราะเหตุใด คือ ต้องมีเหตุ ก็เพราะอาศัยการเสพคุ้น สะสมมาในอดีตมามากมายที่เคยไม่พอใจ ในลักษณะ รูปร่าง สี ในลักษณะแบบนี้ เมื่อเพียงเห็นสีนี้และคิดนึกเป็นเรื่องราว ที่ทรงจำว่า เป็นงูที่เคยไม่ชอบในขณะจิตดวงก่อนๆ มามากเป็นอุปนิสสยปัจจัย ที่เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ทำให้เกิดความกลัว เกิดโทสะในอารมณ์ที่บัญญัติว่าเป็นงู จนทนไม่ได้ ต้องหนี เป็นต้น

แม้แต่การทนอยู่กับสิ่งเดิมๆ ไม่ได้ ก็โดยนัยเดียวกัน ถ้าสิ่งเดิมๆ ทำให้เกิดความสุขตลอดเวลา ก็คงอยากอยู่กับสิ่งนั้น แต่เพราะสิ่งนั้น อารมณ์นั้น ทำให้เกิดอกุศลจิต มีโทสะ เป็นต้น ขณะที่โทสะเกิด ไม่ใช่จะมีเพียงเจตสิกเดียว เจตสิกอื่นๆ ก็เกิดขึ้น โดยเฉพาะ สัญญาความจำ ที่จำในอารมณ์นั้นแล้ว ที่ไม่พอใจในอารมณ์นั้น เมื่อเสพคุ้นสะสมและเกิดโทสะบ่อยๆ ในอารมณ์นั้น เพียงเห็นแวบเดียว ขณะเดียว ก็เกิดโทสะที่มีกำลังได้ทันที ครับ


จากคำถามที่ว่า

การเสพติดกับสิ่งเดิมๆ (หลงใหลด้วยโลภะ) เกิดจากการที่มีโลภะโสมนัสเวทนาต่อสิ่งนั้นบ่อยๆ เนืองๆ ใช่มั้ยคะ

ความติดข้องที่มีกำลัง ที่เป็นโลภะ มีความหลงใหล ความกำหนัด พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เพราะอาศัยการเกิดขึ้นของโลภะบ่อยๆ จนมีกำลัง ก็เรียกว่าความกำหนัด ราคะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น โลภะที่มีกำลัง เกิดขึ้นได้ก็เพราะมีโลภะเกิดขึ้นในขณะจิตก่อนๆ เกิดขึ้น จนสะสมมีกำลัง ซึ่งก็ไม่พ้นจากปัจจัยที่เป็นอุปนิสสยปัจจัยเลย ที่เป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเกิดจากโลภะที่เป็นโสมนัสเวทนา แต่เพราะอาศัยโลภะที่เกิดกับอุเบกขาเวทนา แต่เกิดบ่อยๆ ยาวนาน ก็ทำให้โลภะนั้น มีกำลัง ติดข้องมากได้ ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nopwong
วันที่ 1 ธ.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 2 ธ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พิมพิชญา
วันที่ 2 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
kinder
วันที่ 5 ธ.ค. 2555

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ