สติเกิดระลึกรู้อายตนะกับสฬายตนะอย่างไร?

 
natre
วันที่  3 ธ.ค. 2555
หมายเลข  22121
อ่าน  6,776

อยากทราบรายละเอียดระหว่างอายตนะและสฬายตนะครับ

เมื่อฟังจนเข้าใจแล้ว สติจะเกิดระลึกรู้ในอายตนะกับสฬายตนะเป็นเช่นใดครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 3 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็จะต้องเข้าใจก่อนครับว่า อายตนะ และ สฬายตนะ คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร ซึ่งคำว่า อายตนะ และ สฬายตนะ โดยอรรถ เหมือนกัน หมายถึง ที่ต่อ, บ่อเกิด, ที่ประชุม, เหตุ แต่คำว่า สฬายตนะ หมายถึง อายตนะภายใน ๖ โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงอายตนะ มี ๑๒ คือ อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ ซึ่ง อายตนะภายใน ๖ และ อายตนะภายนอก ๖ มีดังนี้

อายตนะภายใน ๖

๑. จักขวายตนะ (จักขปสาทรูป)

๒. โสตายตนะ (โสตปสาทรูป)

๓. ฆานายตนะ (ฆานปสาทรูป)

๔. ชิวหายตนะ (ชิวหาปสาทรูป)

๕. กายายตนะ (กายปสาทรูป)

๖. มนายตนะ (จิต ๘๙)

อายตนะภายนอก ๖

๑. รูปายตนะ (รูป สี)

๒. สัททายตนะ (รูปเสียง)

๓. คันธายนะ (รูปกลิ่น)

๔. รสายตนะ (รูปรส)

๕. โผฏฐัพพายตนะ (ดิน ไฟ ลม)

๖. ธัมมายตนะ (สุขุมรูป ๑๖ เจตสิก ๕๒ นิพพาน)

เพราะฉะนั้น สฬายตนะ บางนัย มุ่งหมายถึง อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ส่วน อายตนะ จะรวมทั้ง อายตนะภายในและอายตนะภายนอก ครับ

ส่วนคำถามที่ว่า เมื่อฟังจนเข้าใจแล้ว สติจะเกิด ระลึกรู้ในอายตนะกับสฬายตนะ เป็นเช่นใด ครับ

การฟังพระธรรม จนเป็นสัญญาที่มั่นคง คือ ทรงจำ พร้อมดัวยปัญญา ความเข้าใจ จนเป็นปัจจัย ให้สติปัฏฐานเกิด ก็จะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม อย่างใดอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวัน ที่กำลังปรากฏ ซึ่งก็ไม่พ้นจาก อายตนะภายในและภายนอก รวมทั้งสติ ก็สามารถเกิดระลึกสฬายตนะได้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ แต่ก็แล้วแต่ว่า สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใด เพราะเป็นอนัตตา บังคับบัญชาสติไม่ได้

ที่สำคัญ ขณะที่สติเกิด ระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ซึ่งไม่พ้นจาก อายตนะ ขณะนั้น จะต้องมีการระลึกตรงลักษณะ คือมีลักษณะของสภาพธรรม กำลังปรากฏให้รู้ และมีปัญญารู้ว่า เป็นธรรมะไม่ใช่เรา โดยไม่ได้คิดชื่อเลยในขณะนั้นว่า เป็นอายตนะ หรือ สฬายตนะ ครับ เพราะสติและปัญญา กำลังรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมเท่านั้น ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
natre
วันที่ 4 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
nong
วันที่ 4 ธ.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
daris
วันที่ 4 ธ.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 4 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สำคัญที่ความเข้าใจตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงคำใด ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ แม้จะได้ยินคำว่า อายตนะ ก็ไม่พ้นไปจากขณะนี้ เพราะ แต่ละขณะ ที่จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ แต่ละขณะๆ นั้น มีสภาพธรรมประชุมกันอยู่ มีอยู่ ณ ขณะนั้น มากทีเดียว ยกตัวอย่าง ขณะที่เห็นขณะเดียว ขณะนั้น มีจิตเห็นเกิดขึ้น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีที่เกิดของจิตเห็น และ มีสีปรากฏ เป็นอารมณ์ของจิตเห็น ซึ่งแต่ละอย่างๆ ก็เป็นแต่ละอายตนะ แต่ละอายตนะล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริง

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจ ธรรมะ ที่กำลังมี กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ให้มีชื่อ หรือ มีพยัญชนะมาเป็นเครื่องกั้น ขอเพียงเข้าใจในคำนั้นๆ ให้ชัดเจน ไม่สับสน และ ที่สำคัญ ไม่ขาดการฟังพระธรรมในชีวิตประจำวัน จะฟังมาก ฟังน้อย ก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ทั้งนั้น เพราะประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ปัญญาเจริญขึ้น มั่นคงในความเป็นจริงของธรรมเพิ่มขึ้น ก็ย่อมจะเป็นเหตุ ให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริง ในขณะนั้นได้ ซึ่งสภาพธรรมที่กําลังมี กำลังปรากฏในขณะนั้น ก็ไม่พ้นไปจากความเป็นอายตนะแต่ละอายตนะ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 5 ธ.ค. 2555

สติเกิดระลึกรู้ทางตาที่เป็นลักษณะที่ปรากฏ ไม่ใช่ปรากฎทางหู ระลึกรู้ตรงลักษณะสภาพธรรมนั้น ไม่ปนกับอายตนะอื่น เพียงรู้ตรงลักษณะก็เป็นปัญญาระดับหนึ่ง ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
peem
วันที่ 26 เม.ย. 2561

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ