การบวช เพื่อถวายพระราชา ผิดหลักการบวชใหม

 
พอแล้ว
วันที่  4 ธ.ค. 2555
หมายเลข  22129
อ่าน  1,855

ช่วงนี้ วัดแต่ละวัด จะมีโครงการบวชพระ เพื่อถวายแด่พระราชา และมีช่วงการบวชพระเพื่ออบรม ๑๐ - ๑๕ วันบ้าง ๑ เดือนบ้าง คล้ายๆ ประเพณี การบวชเพื่อตอบแทนพระคุณพ่อ-แม่ โปรดชี้แนะด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 5 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การบวช คือ การสละจาก เพศคฤหัสถ์ สู่เพศบรรพชิต ด้วยจุดประสงค์ในการบวชคือ การดับกิเลส ให้สิ้นทุกข์ เพราะฉะนั้น ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่มีศรัทธา ออกบวช ด้วยอุทิศต่อพระพุทธเจ้า ดังเช่น ท่านพระปุกกุสาติ ตนเองเป็นพระราชา แต่เพราะได้ยินได้ฟังข่าว พระรัตนตรัยบังเกิดขึ้นแล้ว จากพระสหาย คือพระเจ้าพิมพิสาร จึงมีศรัทธาออกบวช อุทิศ มุ่งตรงต่อพระพุทธเจ้า ไม่ใช่คนหนึ่งคนใด เพราะประโยชน์ จุดประสงค์ในการบวช ก็เพื่อดับกิเลส ซึ่งจะดับกิเลสได้ ก็ต้องอาศัยพระศาสดา คือผู้ที่กล่าวสอนธรรม ได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น การบวช เพื่ออุทิศถวายต่อพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ เป็นการบวชอุทิศต่อพระธรรมราชา ผู้ที่เป็นเจ้าของธรรม ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ครับ

และการที่ใครจะได้บุญ หรือเคารพใครนั้น ไม่ได้อยู่ที่จะบวชให้ แต่ขึ้นอยู่กับจิตของผู้นั้นเอง ว่าจะเกิดกุศลจิตหรือไม่ เพราะบุญกุศล อยู่ที่ใจแต่ละคน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ถูกต้อง คือการประพฤติตนเป็นคนดี ปฏิบัติหน้าที่ของตน ในสังคม ที่อยู่ในระเบียบแบบแผน การทำเช่นนี้ ก็ทำให้บ้านเมืองสงบสุข ก็ชื่อว่าเคารพในพระราชา ผู้ปกครอง เพราะพระราชา ผู้ปกครอง ก็ต้องการให้บ้านเมืองสงบสุข การเป็นคนดีและทำหน้าที่ของตนอย่างเหมาะสม ก็เป็นการแสดงความเคารพแล้วในขณะนั้น

ดังเช่น การบูชาพระพุทธเจ้า ก็บูชาพระพุทธองค์ ไม่ใช่ด้วยเพียงอามิสบูชา แต่สำคัญที่การศึกษา ฟังพระธรรม น้อมประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม ชื่อว่า บูชาเคารพสักการะพระพุทธเจ้า ครับ

ข้อความแสดงการบวชอุทิศพระพุทธเจ้า

[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 334

[๖๗๕]  ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปสู่โรงช่างหม้อแล้ว ทรงลาดสันถัดหญ้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติมั่นเฉพาะหน้า พระองค์ประทับนั่งล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมาก แม้ท่านปุกกุสาติก็นั่งล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมากเหมือนกัน. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระดำริดังนี้ว่า กุลบุตรนี้ ประพฤติน่าเลื่อมใสหนอ เราควรถามดูบ้าง. ต่อนั้น พระองค์จึงตรัสถามท่านปุกกุสาติดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุ ท่านบวชอุทิศใครเล่า หรือว่าใครเป็นศาสดาของท่าน หรือท่านชอบใจธรรมของใคร

[๖๗๖]  ท่านปุกกุสาติตอบว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ มีพระสมณโคดมผู้ศากยบุตร เสด็จออกจากศากยราชสกุลทรงผนวชแล้ว ก็พระโคดม ผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้นแล มีกิตติศัพท์งามฟุ้งไปอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นผู้ไกลจากกิเลส รู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึกอย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้ เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม ดังนี้ ข้าพเจ้าบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น และพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นศาสดาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Boonyavee
วันที่ 5 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 5 ธ.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 5 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่น ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า บวช คือ อะไร

บวช เป็นภาษาไทย มาจากภาษาบาลีว่า ปวช แปลว่า การเว้นโดยทั่ว กล่าวคือ เว้นจากอกุศล เว้นจากบาปธรรม เว้นจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง เป็นเรื่องของปัญญาที่เห็นโทษ เห็นภัยของอกุศล เห็นโทษของการอยู่ครองเรือนว่า เป็นที่หลั่งไหลมา แห่งอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง จึงสละเพศคฤหัสถ์ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง คือเพศบรรพชิต ด้วยความจริงใจ เพื่อประโยชน์ ในการขัดเกลากิเลสของตนเองให้ยิ่งขึ้น จุดประสงค์ของการบวชที่แท้จริง คือการขัดเกลากิเลส จนกระทั่งถึงสามารถดับกิเลสได้จนหมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ ขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง

พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต มีทั้งผู้ที่เป็นบรรพชิตและเป็นคฤหัสถ์ การศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง ไม่ได้จำกัดที่เพศหนึ่งเพศใดโดยเฉพาะ ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม มีศรัทธาที่จะฟัง ที่จะศึกษา ก็ย่อมได้ประโยชน์ ตามกำลังปัญญาของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ได้มีความสนใจ ที่จะฟังพระธรรมและไม่น้อมที่จะประพฤติตามพระธรรมไม่ว่าจะอยู่ในเพศใด ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรทั้งนั้น

การบวชเป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ บุคคลผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนา จึงควรเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีอัธยาศัยน้อมไปในความเป็นบรรพชิต เห็นประโยชน์ของการขัดเกลากิเลส ที่มีเป็นอย่างมากในเพศของบรรพชิต ซึ่งเป็นเพศที่สูงกว่าคฤหัสถ์ โดยเห็นว่าการอยู่ครองเรือนของคฤหัสถ์ เป็นที่หลั่งไหลมาของอกุศลธรรมทั้งหลาย แล้วจึงสละทุกสิ่งทุกอย่าง มุ่งสู่ความเป็นบรรพชิต ซึ่งเป็นอัธยาศัยของบุคคลนั้นจริงๆ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พอแล้ว
วันที่ 5 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 5 ธ.ค. 2555

การบวชต้องเป็นอุปนิสัยของตัวเองที่เห็นโทษของกิเลส และตั้งใจที่จะขัดเกลากิเลส เพื่อจุดมุ่งหมายให้ถึงฝั่ง คือพระนิพพาน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
นิรมิต
วันที่ 5 ธ.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
kinder
วันที่ 5 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jaturong
วันที่ 6 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ประสาน
วันที่ 9 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ