คิดแบบมีใจเป็นใหญ่เป็นกุศลอย่างนี้ได้หรือไม่???
เรียน ถามครับ
ผมมีความเข้าใจว่าธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ หากผมประกอบกุศลกรรมและก็มีอกุศลกรรมด้วย เช่นฆ่าสัตว์ (ฆ่ามด) หากผมมีความคิดว่าอกุศลที่ทำจริงๆ แล้วไม่ได้ทำ มดมันตายเพราะกรรมของตัวเอง ผมทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้และไม่คิดถึงการฆ่านี้อีกเลย หรือจะฆ่าสัตว์ใหญ่ เช่น ปลา หมู หมา ก็ไม่คิดและจะคิดว่าสิ่งที่ทำไม่ได้ทำ
อยากถามท่านกัลยาณมิตรว่า
๑. อกุศลที่ทำไปแล้วผมจะต้องได้รับผลกรรมหรือไม่ เพราะผมไม่คิดถึงมันเลย และอาจจะหลอกตัวเองด้วยซ้ำโดยไม่ให้ใจไปคิด
๒. หลักการของกรรม ใจบันทึกการกระทำที่เราทำหรือไม่ หรืออะไรเป็นตัวบันทึกว่าเราทำอะไรไว้แล้ว ต้องไปได้รับผลอันนั้นหรือรับเป็นอย่างอื่นไม่ได้เหรอ? หากบอกว่าเป็นใจผม สามารถทำโมเมว่าไม่เคยทำชั่วได้หรือไม่ คิดแต่ว่าทำแต่ความดีมาตลอดชีวิต และทำใจให้ลืมๆ จนลืมจริงๆ ว่าทำชั่วอะไรไว้
๓. หากเราทำชั่วไว้ ตอนหลังทำดีและลืมความชั่วที่ทำไว้ทั้งหมด นึกไม่ออกเลยว่าเคยทำชั่ว ผมจะต้องได้รับผลของกรรมชั่วที่เคยทำหรือไม่
ขอบคุณล่วงหน้ากับทุกท่านที่ให้แสดงความเห็นล่วงหน้าครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. อกุศลที่ทำไปแล้วผมจะต้องได้รับผลกรรมหรือไม่ เพราะผมไม่คิดถึงมันเลยและอาจจะหลอกตัวเองด้วยซ้ำ โดยไม่ให้ใจไปคิด
- เจตนาเป็นกรรม เมื่อทำกรรมสำเร็จแล้ว ในขณะจิตนั้น มีการฆ่าสัตว์ เป็นต้น ชื่อว่ากรรมสำเร็จแล้ว ส่วนขณะจิตต่อไปก็ไม่เกี่ยวกับกรรมที่ได้ทำไปแล้ว จะทำดีหรือไม่ดีในขณะต่อไป หรือจะคิด หรือไม่คิดในเรื่องที่ทำไปแล้ว แต่กรรมสำเร็จไปแล้วในขณะก่อนก็ย่อมมีเหตุปัจจัยที่จะได้รับกรรมที่ได้ทำไปแล้วได้ หากเหตุปัจจัยพร้อม เพราะฉะนั้น การไม่คิดถึงเรื่องนั้น หรือจะคิดหลอกตนเองอย่างไร ก็ไม่เป็นปัจจัยให้กรรมที่ทำไปแล้วหายไป เพราะจิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม เป็นที่เก็บอกุศลกรรมและกุศลกรรมไว้เป็นอย่างดี ปลอดภัย ไม่มีโจร หรือใครที่จะเอาไปได้ ครับ
ส่วนอกุศลกรรมที่ทำจะให้ผลหรือไม่ ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยอื่นๆ อีก หากบรรลุเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานไม่เกิดอีก ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องได้รับผลของกรรมนั้นได้ เป็นต้น ครับ แต่ตราบใดที่ยังวนเวียนในสังสารวัฏฏ์ เมื่อกรรมสำเร็จไปแล้ว ก็มีโอกาสที่กรรมนั้นจะให้ผลได้ ครับ
๒. หลักการของกรรม ใจบันทึกการกระทำที่เราทำหรือไม่ หรืออะไรเป็นตัวบันทึกว่าเราทำอะไรไว้แล้ว ต้องไปได้รับผลอันนั้น หรือรับเป็นอย่างอื่นไม่ได้เหรอ? หากบอกว่าเป็นใจ ผมสามารถทำโมเมว่าไม่เคยทำชั่วได้หรือไม่ คิดแต่ว่าทำแต่ความดีมาตลอดชีวิตและทำใจให้ลืมๆ จนลืมจริงๆ ว่าทำชั่วอะไรไว้
- ก็ต้องเข้าใจคำว่า ใจ ให้ถูกต้องก่อนครับ ใจหรือจิต เป็นสภาพธรรมที่สะสม แต่จิตนั้นเกิดขึ้นและดับไป เพราะฉะนั้น กรรมที่บุคคลทำไป จะกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม กรรมนั้นเมื่อสำเร็จไปแล้ว ก็ถูกบันทึก คือสะสมแล้ว และเมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็เกิดจิตขณะต่อๆ ไปที่เป็นวิบากจิตที่เป็นผลของกรรมได้ แม้ว่าจะพยายามลืม ทำโมเม แต่ก็กรรมสำเร็จไปแล้ว ขณะที่พยายามลืม โมเม ก็เป็นจิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่ได้มีผลต่อจิตดวงเก่าที่ดับไปแล้วครับ คือจิตดวงเก่าที่ทำอกุศลกรรมนั่นเอง ครับ
๓. หากเราทำชั่วไว้ ตอนหลังทำดีและลืมความชั่วที่ทำไว้ทั้งหมด นึกไม่ออกเลยว่าเคยทำชั่ว ผมจะต้องได้รับผลของกรรมชั่วที่เคยทำหรือไม่
- หากเรามองปัจจุบันชาตินี้ของแต่ละคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์ รู้กันหรือไม่ว่า ในอดีตชาติทำกรรมชั่วอะไรมาบ้าง ก็ไม่รู้ จำกันไม่ได้เลย แต่ก็ยังจะต้องเจ็บป่วย ประสบทุกข์ทางกายไม่มากก็น้อยกันทั้งนั้น อันเป็นอกุศลกรรมที่ให้ผลมาจากกรรมชั่วในอดีต ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นกรรมอะไร และแม้จะคิดที่จะลืมในขณะนี้ ก็เป็นเพียงจิตที่คิดนึก แต่ก็ไม่มีผลต่อวิบากจิตที่เป็นผลของกรรมที่ในอดีตที่ทำไว้เลย เพราะกรรมไม่ได้ลบล้างเพียงความคิดนึก แต่กรรมจะไม่ให้ผลก็เพราะ ไม่มีสถานที่ที่จะให้ผล คือ ไม่มีจิต เจตสิก รูป คือ ไม่มีการเกิดนั่นเอง แม้แต่พระพุทธเจ้าผู้มีปัญญามากที่สุด ก็ไม่สามารถลบล้างกรรมของพระองค์ได้ด้วยการคิดนึกของพระองค์ เพราะวิบากจิตก็จะต้องเกิด เพียงแต่พระองค์เมื่อเกิดวิบากที่ไม่ดี ก็มีความคิดที่ไม่เดือดร้อนเป็นทุกข์ด้วยกิเลสที่เป็นทุกข์ใจ แต่ทุกข์กายที่เป็นอกุศลกรรมในอดีตให้ผล ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ครับ
ดังนั้น จะนึกออกหรือไม่ออกก็ตาม ก็ยังจะต้องได้รับผลของกรรมทั้งที่ดีหรือไม่ดี เพราะฉะนั้น หนทางที่ถูกต้อง คือเข้าใจความจริงว่า เหตุที่ได้รับผลของกรรมคือการทำกรรม ผู้ที่รักสุขเกลียดทุกข์จึงไม่เป็นผู้ที่จะกระทำกรรมชั่ว แต่จะไม่ทำได้อย่างไร เพราะตราบใดที่ยังมีกิเลสก็ต้องทำชั่ว หนทางคือการละกิเลสที่เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด ด้วยการอบรมปัญญา การฟังพระธรรม อย่างยาวนาน ก็สามารถหมดทุกข์ทั้งหมดได้ และไม่ทำบาปอีกเมื่อเป็นพระอรหันต์ ครับ
สำคัญคือไม่ใช่การจะหลีกเลี่ยงบาปกรรมที่ทำไว้อย่างไร แต่จะต้องเข้าใจถึงเหตุของปัญหาทั้งปวง และละเหตุนั้นด้วยหนทางที่ถูกต้อง จะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกที่สุดและเป็นไปได้ด้วย ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กรรม คือ การกระทำ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นเจตนา ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม เก็บอยู่ที่จิตทุกๆ ขณะ ใครจะลักเอาไปไม่ได้เลย ลมไม่กระทบสัมผัส แดดก็ไม่แผดเผา ไม่มีที่ไหนที่จะปลอดภัยที่จะเก็บสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้เท่ากับที่เก็บของกรรม น่ากลัวอย่างมากถ้าเป็นอกุศลกรรม อกุศลกรรมทั้งหมดที่ได้กระทำแล้ว ไม่มีทางที่จะหายสูญไปได้ [และกุศลกรรมก็เช่นเดียวกัน] เก็บไว้อย่างปลอดภัยที่สุดในจิตทุกๆ ขณะ แต่ละขณะๆ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำกรรมอะไรมา กุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ก็จะสะสมอยู่ในจิต เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมก็จะส่งผลทันทีไม่ว่าจะหนีไปซ่อนที่ใดก็ตาม ในถ้ำ ใต้น้ำ หรือบนอากาศก็หนีไม่พ้นการได้รับผลของกรรมที่ได้กระทำมาแล้วได้
กรรม ยุติธรรมที่สุดในการให้ผล ให้ผลโดยไม่ผิดตัวด้วย ผู้ที่ประพฤติทุจริต กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ย่อมได้รับผลที่ไม่ดี ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ประพฤติสุจริต กระทำกุศลกรรม ทำความดีประการต่างๆ เมื่อความดีให้ผล ย่อมทำให้ได้รับสิ่งที่ดี น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ตามสมควรแก่เหตุ และที่สำคัญ ความดี ไม่ทำให้เดือดร้อนในภายหลังเลยแม้แต่นิดเดียว
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับทุกแง่มุมของชีวิต จึงควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะได้พิจารณาว่า เกิดมาแล้วทุกคนจะต้องตาย ก่อนตายควรสะสมอะไรไว้? ควรที่จะเห็นโทษของอกุศลที่เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม แล้วจะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดีข้างหน้า โดยไม่เพียงแค่กลัวผลของอกุศลกรรมเท่านั้น ต้องกลัวที่เหตุคืออกุศลกรรมด้วย ดังนั้น เมื่อจะสะสมกรรมที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า ก็พึงกระทำเฉพาะกรรมอันงามคือกุศลกรรม เท่านั้น ส่วนสิ่งที่ไม่ดีคืออกุศลทั้งหลายซึ่งไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่บุคคลอื่น ไม่ควรที่จะสะสมให้มีมากขึ้น เพราะเหตุว่าอกุสลกรรมเป็นที่พึ่งไม่ได้ แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ กุศล ความดีทั้งหลาย เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญญา ซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...