เกี่ยวกับสุรา ของมึนเมา
กราบสวัสดีท่านวิทยากร และมิตรธรรมที่เคารพทุกท่าน
ขออนุญาตเรียนถามปัญหาเกี่ยวกับ สุรา เหล้า หรือของมึนเมา ดังนี้ครับ
๑. ข้อที่ว่า อานิสงส์ของการถือศีลข้อ ๕ คืองดเว้นสุราเมรัย ของมึนเมาที่ทำให้เกิดความประมาท มีหลายที่หลายแห่งแสดงไว้ว่า มีอานิสงส์คือทำให้เกิดภายภาคหน้าเป็นผู้มีสติ มีปัญญามาก คิดอะไรก็แตกฉาน ข้อนี้ ไม่จริงใช่ไหม เพราะการจะมีสติมีปัญญามาก ก็ต้องอาศัยอบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมปัญญา ไม่ใช่เพียงเป็นอานิสงส์ของการงดเว้นสุรา เช่นเดียวกับคิดอะไรแตกฉาน ก็เป็นผลมาจากการเคยคิดอย่างนั้นๆ มามาก จนสามารถที่จะคิดได้เร็ว ได้ไว หรือสามารถมีผลให้รูปที่ตั้ง เช่นหทยวัตถุ มีความเลิศกว่าหทยวัตถุอื่นๆ ส่งผลให้จิตเกิดดับเป็นไปได้คล่อง ง่ายกว่า
๒. พระโสดาบัน ตลอดจนถึงพระอรหันต์ หากท่านได้ดื่มสุรา ด้วยเหตุประการใดประการหนึ่ง ท่านยังจะมีอาการ เมา หรือไม่? แล้วมีปรากฏในพระไตรปิฎกบ้างไหม ว่ามีผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว ดื่มสุรา หรือเสพของมึนเมา แล้วมีผลเป็นอย่างไร? ต่างจากปุถุชนอย่างไร
๓. พระอริยบุคคล ยังจะสูบบุหรี่หรือไม่ เพราะเหตุใด
๔. ที่เหล้าทำให้เมา อาการเมา ในทางธรรมอธิบายไว้อย่างไรครับ ต่างจากขณะนี้ที่ไม่เมาอย่างไร เพราะเหตุใด เพราะที่ทราบก็ทราบแค่หยาบๆ ว่าเมา สติปัญญาหายแล้วจะทำให้ล่วงศีลอื่นๆ ง่าย ถ้าจะอธิบายให้แยบคายกว่านี้ คืออย่างไรครับ
๕. การเสพติดยาเสพติดหรือเหล้า อันนี้เป็นเพราะกิเลส คือเพราะโลภะ ใคร่จะได้อารมณ์อย่างนั้น หรือเป็นเพราะตัวยาเสพติด มีผลอย่างใดอย่างหนึ่งแบบที่ทางโลกบอกไว้ จึงได้ชื่อว่ายาเสพติด แล้วมันมีผลแรง ทำให้โลภะเกิดง่ายกว่า การกินข้าวกินปลาทั่วๆ ไป หรือครับ
กราบขอบพระคุณ และอนุโมทนาสาธุครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. ข้อที่ว่า อานิสงส์ของการถือศีลข้อ ๕ คือ งดเว้นสุราเมรัย ของมึนเมาที่ทำให้เกิดความประมาท มีหลายที่หลายแห่งแสดงไว้ว่า มีอานิสงส์คือทำให้เกิดภายภาคหน้าเป็นผู้มีสติ มีปัญญามาก คิดอะไรก็แตกฉาน ข้อนี้ ไม่จริงใช่ไหม เพราะการจะมีสติมีปัญญามาก ก็ต้องอาศัยอบรมเจริญสติปัฏฐาน อบรมปัญญา ไม่ใช่เพียงเป็นอานิสงส์ของการงดเว้นสุรา เช่นเดียวกับคิดอะไรแตกฉานก็เป็นผลมาจากการเคยคิดอย่างนั้นๆ มามาก จนสามารถที่จะคิดได้เร็ว ได้ไว
- สำหรับในพระไตรปิฎก อธิบายถึงผลของบุญจากการงดเว้นจากศีลข้อ ๕ มีการงดเว้นจากของมึนเมา ทำให้เป็นผู้มีปฏิภาณ มีปัญญา ฉลาดในกิจการงานต่างๆ ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงปัญญาในพระพุทธศาสนา ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเข้าใจถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมในเรื่องต่างๆ แต่หมายถึงปัญญาทางโลก ความฉลาดทางโลก ที่คิดมีเหตุผล สามารถเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขปัญหาทางโลกที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง เพราะอาศัยบุญที่งดเว้นจากการดื่มสุราของมึนเมา ตรงกันข้ามหากพิจารณาถึงผู้ที่ดื่มสุรา ของมึนเมา การตัดสินอะไรก็ไม่ถูกต้อง ไม่สมควร และทำให้ถึงความเป็นบ้าได้ ครับ เพราะฉะนั้น ผลบุญนี้จึงทำให้คิดอ่านตัดสินได้ถูกต้องในกิจการงานทางโลก ครับ
ส่วนปัญญา สัมมาทิฏฐิในพระพุทธศาสนา จะต้องเกิดจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ เพราะปัญญาไม่สามารถเกิดเองได้ แต่จะต้องอาศัยการฟัง ศึกษาจากผู้ที่มีความเห็นถูก มีปัญญาเข้าใจความจริง จึงจะสามารถเกิดปัญญาได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ก็ต้องอาศัยการอบรม ศึกษา ตามที่ผู้ถามได้เข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ
๒. พระโสดาบัน ตลอดจนถึงพระอรหันต์ หากท่านได้ดื่มสุรา ด้วยเหตุประการใดประการหนึ่ง ท่านยังจะมีอาการเมา หรือไม่ แล้วมีปรากฏในพระไตรปิฎกบ้างไหมว่ามีผู้ที่เป็นพระโสดาบันแล้ว ดื่มสุราหรือเสพของมึนเมา แล้วมีผลเป็นอย่างไร ต่างจากปุถุชนอย่างไร
โดยทั่วไปในพระไตรปิฎกแสดงว่า หากพระอริยบุคคล ดื่มของเมาโดยไม่รู้ เพราะท่านไม่มีเจตนาดื่มแน่นอน น้ำเมานั้นย่อมเปลี่ยนรสเป็นของที่ไม่ใช่ของมึนเมาได้ ครับ
๓. พระอริยบุคคล ยังจะสูบบุหรี่หรือไม่ เพราะเหตุใด
พระอริยบุคคลประจักษ์พระนิพพานและกิเลสขั้นหยาบได้แล้ว และแม้พระโสดาบัน พระสกทาคามี ยังมีโลภะที่ยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่กิเลสที่ท่านละได้แล้วบางส่วน แม้โลภะหยาบๆ ก็ละได้บ้างแล้ว ดังนั้น ท่านจึงไม่ติดข้องในสิ่งที่หยาบ มี บุหรี่ เป็นต้น ครับ
๔. ที่เหล้าทำให้เมา อาการเมา ในทางธรรมอธิบายไว้อย่างไรครับ ต่างจากขณะนี้ที่ไม่เมาอย่างไร เพราะเหตุใด เพราะที่ทราบก็ทราบแค่หยาบๆ ว่าเมา สติปัญญาหายแล้วจะทำให้ล่วงศีลอื่นๆ ง่าย ถ้าจะอธิบายให้แยบคายกว่านี้ คืออย่างไรครับ
- เหล้า ย่อมมีผลกระทบกับรูป และเป็นปัจจัยให้เกิดความมึนเมาได้ ซึ่งรูปก็มีผลกับจิต เพราะฉะนั้น เมื่อมีผลกับรูปก็มีผลกับจิต ทำให้การคิดพิจารณาได้ไม่ดี เพราะรูปไม่ดีนั่นเอง มีเหล้า เป็นปัจจัย ก็ทำให้มีโอกาสที่จะล่วงศีลข้ออื่นๆ ได้ เพราะขาดการคิดพิจารณา ครับ
๕. การเสพติดยาเสพติดหรือเหล้า อันนี้เป็นเพราะกิเลส คือเพราะโลภะใคร่จะได้อารมณ์อย่างนั้น หรือเป็นเพราะตัวยาเสพติด มีผลอย่างใดอย่างหนึ่งแบบที่ทางโลกบอกไว้ จึงได้ชื่อว่ายาเสพติด แล้วมันมีผลแรง ทำให้โลภะเกิดง่ายกว่าการกินข้าวกินปลาทั่วๆ ไป หรือครับ
- การเสพยาเสพติด ก็เพราะ มีความยินดีพอใจในสิ่งนั้น ที่มีโลภะเป็นปัจจัย เพราะติดในเวทนาความสุขที่เคยเสพแล้ว มีความสุข จึงติดข้องและต้องการเสพด้วยโลภะในสิ่งที่สมมติว่ายาเสพติด
ส่วนยาเสพติด ตามที่กล่าวแล้ว มีผลกับรูป ทำให้รูปมีปัญหา ก็ย่อมทำให้จิตมีปัญหา เพราะรูปไม่ดีเป็นปัจจัยด้วย จึงทำให้เกิดอกุศลตามมาได้ง่าย เพราะการคิดไตร่ตรองไม่ดี เพราะ มีรูป เป็นปัจจัย เพราะฉะนั้น ธรรมของพระพุทธเจ้า จึงละเอียดลึกซึ้ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยมากมาย แม้รูปก็เป็นปัจจัยหนึ่งด้วยเช่นกัน ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
- ความเป็นผู้สำรวมจากการดื่มน้ำเมา เป็นผู้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา ย่อมพ้นจากโทษประการต่างๆ อันเป็นผลมาจากความเมา เช่น ล่วงศีลข้ออื่นๆ ทำร้ายมารดาบิดา เป็นต้น เพราะบุคคลผู้เมาสุรา ย่อมไม่รู้อรรถ ย่อมไม่รู้ธรรม ทำในสิ่งที่ไม่สมควรได้หลายอย่าง ผู้ที่งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา ไม่ถูกติเตียนในปัจจุบัน ไม่เป็นบ้าในภพต่อๆ ไป เป็นความจริงที่ว่าเหตุปัจจัยแห่งความเจริญขึ้นของปัญญาต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ ยิ่งถ้าเป็นผู้ได้งดเว้นจากสิ่งที่จะทำให้เกิดความมึนเมามัวเมาแล้ว ก็ย่อมจะแตกต่างไปจากผู้ที่มากไปด้วยการดื่มสุรา ติดข้องยินดีพอใจในรสของสุรา หมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ปัญญาจะเจริญขึ้นได้อย่างไร สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ครบ หทยวัตถุเป็นที่เกิดของจิตประเภทต่างๆ ยกเว้นจิต ๑๐ ดวง คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ทั้งที่เป็นกุศลวิบากและอกุศลวิบาก จิตทุกประเภท ทุกขณะ มีอายุที่สั้นแสนสั้น เพียงแค่ เกิดขึ้น ดำรงอยู่และดับไปเท่านั้น ไม่มีความแตกต่างกัน
- พระอริยบุคคลทุกระดับขั้น ท่านเป็นผู้ไม่ดื่มสุราอย่างเด็ดขาด ส่วนผู้ที่เป็นปุถุชนยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรๆ เลย ยังเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ในศีล ๕ สะสมมาที่จะดื่มสุรา ก็ดื่ม ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมฝ่ายที่เป็นอกุศล ที่ติดข้องยินดีพอใจนั่นเอง
- พระอริยบุคคล เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลสตามลำดับขั้น ความประพฤติเป็นไปในชีวิตประจำวันของท่าน ก็คล้อยตามปัญญา ย่อมเว้นในสิ่งที่ไม่ควร และกระทำในสิ่งที่สมควร ถูกต้อง
- เพราะสะสมมาที่จะติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ย่อมจะติดข้องในสิ่งนั้น ความติดข้องเป็นความติดข้อง (โลภะ) ไม่ว่าจะเกิดกับใครหรือมีสิ่งใดเป็นอารมณ์ โลภะก็ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ สำหรับในเรื่องในการดื่มสุราก็เช่นเดียวกัน เพราะชอบหรือติดข้องในสุราจึงดื่ม และถ้าเป็นความติดข้องในสิ่งอื่นๆ ก็ไม่พ้นไปจากโลภะเหมือนกัน ซึ่งก็มีหลายระดับขั้น ตั้งแต่บางเบา จนกระทั่งถึงขั้นที่มีกำลังกล้า ล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดี คือเป็นอกุศลกรรม ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้าได้ การดื่มสุราผิดศีลข้อที่ ๕ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เมื่อเสพมากขึ้นถึงขั้นมึนเมาก็อาจจะกระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ได้มากทีเดียว (ซึ่งในขณะที่ไม่ดื่มสุรา ก็จะไม่กระทำอย่างนั้น) ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อกล่าวถึงโทษของสุราแล้ว มีมากทีเดียว เป็นเหตุให้เสียทรัพย์ เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดโรค บั่นทอนกำลังปัญญา ทำให้เป็นผู้ไม่รู้จักละอาย เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่หวังความเจริญในชีวิต ไม่ควรดื่มสุรา การงดเว้นจากการดื่มสุรา เป็นการให้ความปลอดภัยแก่ทุกสิ่งทุกอย่าง คือให้ความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น เป็นต้น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
การดื่มสุรา ผิดศีล ๕ เป็นเหตุให้ทำอกุศลกรรมต่างๆ และทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ ภายหลังได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ทำให้เป็นบ้า แต่สำหรับผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแล้ว ถ้ามีคนเอาสุราผสมกับนมมาให้พระอริยบุคคลดื่ม พระอริยบุคคลก็ดื่มแต่นม สุราก็ไม่เข้าไปในลำคอ เพราะเป็นธรรมดาของพระอริยบุคคลที่มีศีล ๕ บริสุทธิ์ ค่ะ
ขออนุญาตเรียนถามเพิ่มเติมครับ อยากทราบว่าการที่รูปมีผลต่อจิตนั้นด้วยปัจจัยอะไรครับ (เช่นกรณีดื่มเหล้าแล้วมึนเมา)
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
เรียน ความเห็นที่ 8 ครับ
ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตและเจตสิกจะเกิดได้ ต้องอาศัยรูป ซึ่งได้แก่ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะและหทยะ กายปสาทนั้นซึบซาบอยู่ทั่วตัวทั้งอวัยวะน้อยใหญ่ เว้นไว้แต่เพียงผมกับปลายเล็บ ส่วนมโนทวารก็รับรู้อารมณ์ทุกอย่าง ทั้งทางใจและต่อจากทางทวารอื่นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตย่อมรับรู้อารมณ์ทุกอย่างที่มากระทบรูป การดื่มสุรา มีผลต่อรูปโดยตรง เช่น ระบบประสาท การทำงานของสมอง การเต้นของหัวใจและอวัยวะอื่นๆ ที่สมมติกันขึ้น ซึ่งรูปที่มีผลกับรูปโดยตรง เช่น สุรา มีผลกับจักขุปสาทรูป โสตปสาทรูป ซึ่งย่อมมีผลต่อการรับรู้ของจิตด้วย ครับ โดยปัจจัยหลายๆ ปัจจัย ครับ
อยากทราบข้อความที่ว่า พระอริยบุคคลดื่มไปแล้ว สุราก็เปลี่ยนรสไป มีในพระไตรปิฎกตรงไหนบ้างครับ อยากศึกษา ขอความกรุณาด้วยครับ
เรียน ความเห็นที่ 10 ครับ
ข้อความในพระไตรปิฎกแสดงไว้ครับว่า น้ำเมา คือ สุรา ย่อมไม่ไหลเข้าไปในลำคอของพระอริยสาวก ผู้ที่ไม่รู้ว่าเป็นสุราอยู่ ซึ่งในข้อความในพระไตรปิฎกส่วนอื่นก็แสดงว่า หากว่า ผสมน้ำนมกับสุราลงไป แล้วให้พระอริยสาวกดื่ม น้ำนมเท่านั้นที่ไหลลงไป สุราย่อมไม่ไหลลงไป ดังเช่นนกกะเรียน หากน้ำผสมกับนม นมเท่านั้นที่ไหลลงไปในคอนกกะเรียน น้ำไม่ไหลลงไป เพราะฉะนั้น สุรา ที่ย่อมจะมีส่วนของน้ำเจือปนอยู่ด้วยเป็นส่วนมาก ส่วนที่เป็นแอลกอฮอล์ที่เป็นสุรา ย่อมไม่ไหลลงไป ที่มีรสขม แต่น้ำที่เป็นส่วนประกอบย่อมไหลลงไป ซึ่งเป็นรสจืด เพราะฉะนั้น รสของสุราที่เป็นรสขมโดยมาก ก็เปลี่ยนเป็นรสจืด เพราะแยกน้ำลงไปในคอของอริยสาวก ไม่ใช่สุรา เพราะน้ำมีรสจืดนั่นเอง ครับ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ 453
ก็ภาวะที่สุราเมรัยมัชชปมาทัฏฐานนั้น มีโทษโดยส่วนเดียวเพราะเขาดื่มด้วยจิตเป็นอกุศลอย่างเดียว. แต่สุรานั้นไม่ไหลเข้าปากของพระอริยสาวกทั้งหลาย ทั้งๆ ที่ไม่รู้วัตถุ (ว่าเป็นน้ำเมา) จะป่วยกล่าวไปไยถึงที่รู้อยู่
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 88
เพราะพระอริยสาวกย่อมไม่ฆ่าสัตว์ แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ทั้งไม่ดื่มน้ำเมาด้วย. แม้ถ้าชนผสมสุราและน้ำนมแล้วเทเข้าไปในปากของพระอริยสาวกนั้น น้ำนมเท่านั้นเข้าไป สุราหาเข้าไปไม่. เหมือนอะไร. ได้ยินว่า เหมือนน้ำนมที่เจือด้วยน้ำ นมเท่านั้นเข้าไปในปากของนกกะเรียน น้ำหาเข้าไปไม่ ข้อนี้พึงทราบว่า สำเร็จตามกำเนิด และข้อนี้ก็พึงทราบว่า สำเร็จโดยธรรมดา
ขออนุโมทนา