มัจฉริยะ

 
gboy
วันที่  13 ธ.ค. 2555
หมายเลข  22169
อ่าน  19,272

มัจฉริยะ เป็นธรรมตรงกันข้ามกับธรรมใดครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 13 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มัจฉริยะ หรือ ความตระหนี่ หมายถึง ความเหนียวแน่น ความหวงแหน ในสมบัติของตน หรือ ปกปิดสมบัติของตนไม่ให้ผู้อื่นรู้ หรือ อยากให้สิ่งที่มีอยู่กับตน หรือสิ่งที่ดีๆ นั้นมีอยู่กับเราผู้เดียว ไม่อยากให้ผู้อื่นมี เป็นต้น นี่คือลักษณะของความตระหนี่ ครับ

มัจฉริยะ คือ ความตระหนี่ ๕ อย่าง ได้แก่

๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ ที่อยู่อาศัย

๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่ ตระกูล

๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ ลาภ

๔. วรรณมัจฉริยะ ตระหนี่ วรรณะ คือคำสรรเสริญ

๕. ธรรมมัจฉริยะ ตระหนี่ ธรรม รวมถึง ความรู้

ส่วนธรรมที่ตรงข้ามกับ มัจฉริยะ ความตระหนี่ คือ ปริจาคะ หรือ จาคะ ที่เป็นความเสียสละ องค์ธรรม คือ อโลภเจตสิก ความไม่ติดข้อง เพราะอาศัย โลภะ ความติดข้อง พอใจยินดีในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จึงไม่สามารถบริจาค สละได้ เกิดความตระหนี่ขึ้นมาในจิตใจ แต่เพราะอาศัย อโลภเจตสิกที่เกิดขึ้น ที่เป็น จาคะ การสละ ย่อมไม่หวงแหนในที่อยู่ ไม่หวงแหนตระหนี่ในตระกูล มีความหวงเพื่อน เป็นต้น ไม่ตระหนี่ลาภปัจจัยที่ตนมี เพราะสามารถ สละ บริจาคได้ ไม่ตระหนี่ในคำสรรเสริญ เพราะ เกิดจาคะ ความสละกิเลสที่มีในจิตใจ ไม่ตระหนี่ในความรู้ที่ตนมี เพราะมีใจที่คิดจะสละให้ความรู้เพื่อประโยชน์กับผู้อื่นเท่านั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น นี่คือธรรมที่ตรงกันข้ามกับความตระหนี่ คือจาคะ อันเป็นสภาพธรรมที่สละ คือ อโลภเจตสิกที่เกิดขึ้น

แต่เมื่อว่าโดยความละเอียดแล้ว จาคะ ความสละ ไม่ใช่เพียงสละวัตถุภายนอกเท่านั้น แต่มีสิ่งที่ควรสละ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ดี คือกิเลสที่มีในจิตใจ เพราะฉะนั้นขณะใดที่ปัญญาเกิดรู้ความจริง เป็นจาคะยิ่งกว่าจาคะ คือเป็นการสละที่ประเสริฐ เพราะ สละความไม่รู้ และสละกิเลส จนสามารถสละมัจฉริยะในจิตใจได้ในที่สุดเมื่อถึงความเป็นพระโสดาบัน ครับ

การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม จึงเป็นปัจจัยให้เกิดจาคะ ทั้งสละกิเลสที่มีในจิตใจ และเป็นปัจจัยให้เจริญขึ้นของกุศลทุกๆ ประการ มีการให้ทาน ที่เป็นการสละวัตถุ และความตระหนี่ที่มีในจิตใจได้จนหมดสิ้น ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ใฝ่รู้
วันที่ 13 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 13 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ย่อมไม่พ้นไปจากการฟังในสิ่งที่มีจริง ซึ่งสิ่งที่มีจริงๆ นั้น ก็มีจริงในชีวิตประจำวัน ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลสอะไรๆ ได้ กิเลสประเภทนั้นๆ ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามการสะสมของแต่ละบุคคล แสดงถึงความหลากหลายของสภาพธรรมที่มีจริง

ไม่ว่าจะกล่าวถึงสิ่งใด ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่จริงในขณะนี้เลย สิ่งที่มีจริงๆ นั่นแหละคือ ธรรม มีจริง เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริง มีจริงนั้น ตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทุกประการ รวมทั้งมัจฉริยะ ความตระหนี่ด้วย ความตระหนี่ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรมที่หวงแหนทรัพย์สมบัติสิ่งของของตน ไม่อยากให้ผู้อื่นมีส่วนในในสมบัติของตน ขณะที่เกิดขึ้นนั้น มีความไม่สบายใจอย่างแน่นอน ซึ่งจะแตกต่างไปจากขณะที่มีการให้ มีการสละ เพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่นอย่างสิ้นเชิง

ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับความตระหนี่ถึงความเป็นพระโสดาบันได้ ความตระหนี่ก็ย่อมจะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่สำหรับผู้ที่เห็นโทษ ก็ย่อมจะขัดเกลาละคลายความตระหนี่ของตนๆ ด้วยการให้ ด้วยการสละ เพราะถ้าไม่ขัดเกลาไปตามลำดับ ทีละเล็กทีละน้อย แล้วจะสามารถดับได้อย่างหมดสิ้นได้อย่างไร

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง กุศลก็เป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม สิ่งที่ไม่ใช่ทั้งกุศล และ ไม่ใช่ทั้งอกุศล ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เราเลยเป็นแต่เพียงธรรมที่เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นเลย เมื่อได้ศึกษาถึงส่วนที่เป็นอกุศลธรรม ก็จะเป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับผู้ที่ยังมีอกุศลอยู่ ที่จะได้เห็นโทษ และขัดเกลาด้วยกุศลธรรม เพราะกุศลธรรมเท่านั้นที่จะขัดเกลา กำจัดอกุศลได้ ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 13 ธ.ค. 2555

ธรรมที่ตรงข้ามกับมัจฉริยะ คือ ความไม่ตระหนี่ เช่น มีลาภก็แบ่งปัน ไม่หวงที่อยู่ ไม่ตระหนี่คำสรรเสริญ และให้ธรรม ให้ความรู้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
daris
วันที่ 13 ธ.ค. 2555

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
gboy
วันที่ 13 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
gboy
วันที่ 13 ธ.ค. 2555

ขอเรียนถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กรุณาเจตสิกครับว่า มีโทสะเป็นธรรมตรงกันข้าม ถูกต้องหรือไม่ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 13 ธ.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 7 ครับ

ธรรมที่ตรงกันข้ามกับ กรุณาเจตสิก คือ วิหิงสา ความคิดเบียดเบียน ซึ่งความคิดเบียดเบียนก็เพราะอาศัยโทสเจตสิกเป็นองค์ธรรมสำคัญ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
gboy
วันที่ 14 ธ.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 14 ธ.ค. 2555

ขออนุญาตเรียนสอบถามเพิ่มเติม เรื่อง มัจฉริยะ นะครับ

ที่อาจารย์กล่าวว่า "ธรรมที่ตรงข้าม กับ มัจฉริยะ ความตระหนี่ คือ ปริจาคะ หรือ จาคะ ที่เป็นความเสียสละ องค์ธรรม คือ อโลภเจตสิก ความไม่ติดข้อง เพราะอาศัย โลภะ ความติดข้อง พอใจ ยินดีในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จึงไม่สามารถบริจาค สละได้ เกิดความตระหนี่ขึ้นมาในจิตใจ" แต่เมื่อพิจารณาในฐานะที่เป็นเจตสิกแล้ว มัจฉริยเจตสิก กลับเกิดร่วมกับโทสมูลจิต ซึ่งมีโทสเจตสิตเป็นองค์ธรรมหลักประกอบ ไม่ได้เกิดร่วมกันโลภเจตสิก ซึ่งเป็นองค์ธรรมที่สอดคล้องกัน และตรงกันข้ามกับอโลภเจตสิกอีกด้วย ลักษณะของมัจฉริยเจตสิกในประเด็นนี้ มีสิ่งที่ควรจะพิจารณาเพื่อความเข้าใจอย่างไรครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
khampan.a
วันที่ 15 ธ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตร่วมสนทนาในประเด็นนี้ ด้วยครับ

ธรรม เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ความตระหนี่เป็นความตระหนี่ ความติดข้องเป็นความติดข้อง ความโกรธเป็นความโกรธ เป็นต้น

โลภะ เป็นความติดข้องยินดีพอใจ เกิดร่วมกับอกุศลจิตประเภทที่เป็นโลภมูลจิตเท่านั้น จะไม่เกิดร่วมกับจิตประเภทอื่น ส่วนมัจฉริยะ ซึ่งเป็นความตระหนี่นั้น จะเกิดร่วมกับจิตประเภทที่มีโทสะเป็นมูลเท่านั้น (แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกขณะที่โทสมูลจิตเกิดขึ้นจะมีมัจฉริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เพราะโทสมูลจิต เกิดขึ้นเป็นไปได้แม้ไม่มีมัจฉริยะ) ขณะที่มัจฉริยะเกิดขึ้น ขณะนั้นความรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งแตกต่างจากขณะที่ติดข้อง ที่มีความรู้สึกดีใจหรือเฉยๆ เกิดร่วมด้วย

ที่มีความตระหนี่หวงแหนเกิดขึ้น ก็เพราะยังมีความติดข้องต้องการ จึงไม่ยอมสละ ธรรม เกี่ยวเนื่องกัน แต่โลภะกับมัจฉริยะจะไม่เกิดร่วมกัน ขณะที่ไม่อยากให้คนอื่นมีส่วนในสมบัติที่เรามีนั้น ความรู้สึกจะเป็นเฉพาะความรู้สึกไม่สบายใจ เท่านั้น

เมื่อกล่าวถึงธรรมที่ตรงกันข้ามกับความตระหนี่แล้ว เป็นความเสียสละ เป็นการสละเป็นการให้ ซึ่งในขณะนั้นกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไป ทุกขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปนั้นจะไม่ปราศจาก อโลภะ เลย

ซึ่งถ้ากล่าวถึง อโลภะ แล้ว กว้างขวางมาก สามารถกล่าวเป็นขั้นๆ ก็ได้ว่า อโลภะในขั้นทาน ที่เป็นความเสียสละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น อโลภะในขั้นศีลที่นึกถึงประโยชน์สุขของผู้อื่น จึงมีการวิรัติงดเว้นทุจริตกรรมประการต่างๆ ที่เป็นเหตุให้คนอื่นเดือดร้อน อโลภะที่เป็นไปกับด้วยการอบรมเจริญความสงบของจิต เห็นโทษของอกุศล เพราะขณะที่อกุศลเกิดขึ้นเป็นไปนั้น ไม่สงบด้วยอกุศล และอโลภะในขั้นที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกจนกว่าจะสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขึ้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านผู้ร่วมเดินทาง และ ทุกๆ ท่านด้วยครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
paderm
วันที่ 15 ธ.ค. 2555

เรียน ความเห็นที่ 10 ครับ

จากประเด็นที่ถามนั้น ผู้ถาม กำลังกล่าวว่า โลภเจตสิก เป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับอโลภเจตสิก (จาคะ) แต่ มัจฉริยเจตสิก เกิดร่วมกับ โทสเจตสิก และ โทสมูลจิต เพราะฉะนั้น ควรจะตรงข้ามกับ อโทสเจตสิก ไม่ควรจะเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับอโลภเจตสิก คือ ธรรมที่เกิดร่วมกับโทสะ ไม่ควรจะเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับอโลภเจตสิก

ซึ่งในประเด็นนี้ จากที่กระผมได้กล่าวไว้ว่า มัจฉริยะ ตรงกันข้ามกับ จาคะ ที่เป็นอโลภเจตสิก ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า เหตุให้เกิด มัจฉริยะ คือโลภะนั่นเองที่ยังติดข้อง ซึ่งหากไม่มีเหตุ คือความติดข้อง มัจฉริยะก็เกิดไม่ได้ ดังนั้นธรรมที่ตรงกันข้ามกับการหวงแหน ตระหนี่ คือสภาพธรรมที่สละ อันเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับมัจฉริยะ เนื่องด้วยตรงข้ามกับเหตุให้เกิดมัจฉริยเจตสิกนั่นเอง คือตรงข้ามกับโลภเจตสิกเป็นสำคัญ ครับ

สิ่งที่ควรพิจารณาในมัจฉริยเจตสิก ในประเด็นธรรมที่ตรงกันข้าม จึงมุ่งหมายถึงเหตุให้เกิดมัจฉริยเจตสิกเป็นสำคัญ ครับ คือความติดข้อง การสละได้ ไม่หวงแหนคืออโลภะ จึงเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกับความตระหนี่ ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมา ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 16 ธ.ค. 2555

ขอบพระคุณอาจารย์คำปั่นและอาจารย์ผเดิมมากครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
somjad
วันที่ 17 ธ.ค. 2555

ผมเองได้ฟังธรรมะมานาน ภายหลังจึงได้ทราบว่า ตัวเองมีมัจฉริยะอย่างมาก ตามธรรมดาแล้ว ผมจะไม่หวงของกินอะไรๆ เท่าไหร่นัก พร้อมที่จะให้ได้เสมอ เลยเข้าใจว่าตัวเองเป็นคนมีมัจฉริยะน้อย ไม่มาก แต่แล้วเริ่มสังเกตตัวเอง ถ้าเป็นที่อยู่อาศัย จะเหนียวแน่นอย่างมาก หลานๆ จะขอมาอยู่ที่บ้านก็โกรธ (หลานไม่เป็นที่รัก) หรือตอนขึ้นรถเมล์ มองจ้องไว้ที่นั่งอันนี้ ปรากฏว่ามีคนมานั่งก่อนก็โกรธ หรือบนรถเมล์มีที่ยืนสบายๆ มีคนมายืนใกล้ๆ ก็โกรธ ดูเหมือนปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นอยู่ และเป็นอยู่ประจำ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ