เรียนถามความเข้าใจเกี่ยวกับอานิสงส์
ขอเรียนถามท่านผู้รู้เกี่ยวกับอานิสงส์
๑. คำว่า "อานิสงส์" ตามความเข้าใจเป็นผลจากการทำกุศล เช่น อานิสงส์ของทานมีผลให้เกิดความสุขใจ มีโภคทรัพย์ในภายหน้า ฯลฯ จึงอยากให้ช่วยขยายความเข้าใจในความหมายของคำนี้
๒. เมื่อได้ยินอานิสงส์ของทานบ้าง ศีลบ้าง บางครั้งทำให้รู้สึกถึงความอยากจะได้รับผลเมื่อกระทำเหตุนั้นๆ หรือความรู้สึกลักษณะนี้เกิดเฉพาะบุคคลที่มีการสะสมโลภะมากหรือเป็นธรรมดาของธรรมชาติที่ยังไม่ละคลายจากตัวตน จึงอยากทราบว่าการกล่าวถึงอานิสงส์ในพระไตรปิฎกมีความมุ่งหมายอย่างไร
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. คำว่า "อานิสงส์" ตามความเข้าใจเป็นผลจากการทำกุศล เช่น อานิสงส์ของทานมีผลให้เกิดความสุขใจ มีโภคทรัพย์ในภายหน้า ฯลฯ จึงอยากให้ช่วยขยายความเข้าใจในความหมายของคำนี้
- คำว่า อานิสงส์ ก็มีความหมายเหมือนกัน ที่เป็นเรื่องของผล ที่เกิดจากเหตุ มีวิบากที่เป็นผลของกรรม เป็นต้น เช่น อานิสงส์ของทาน ย่อมนำสุขมาให้ คือ เกิดผล คือความสุขใจ และ เกิดสุขกาย เกิดผลในภพภูมิที่ดี เป็นต้น ครับ อานิสงส์ จึงมีความหมายถึง ผล เป็นสำคัญ ครับ
๒. เมื่อได้ยินอานิสงส์ของทานบ้าง ศีลบ้าง บางครั้งทำให้รู้สึกถึงความอยากจะได้รับผลเมื่อกระทำเหตุนั้นๆ หรือความรู้สึกลักษณะนี้เกิดเฉพาะบุคคลที่มีการสะสมโลภะมาก หรือเป็นธรรมดาของธรรมชาติที่ยังไม่ละคลายจากตัวตน จึงอยากทราบว่าการกล่าวถึงอานิสงส์ในพระไตรปิฎกมีความมุ่งหมายอย่างไร
- พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล และเป็นไปเพื่อละคลายกิเลสไม่ใช่เพื่อเกิดกิเลสเลย เพราะฉะนั้น เหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องอานิสงส์ ผลของการทำกุศลด้วยเหตุผลที่ทรงแสดงตามความเป็นจริงที่ตรงสัจจะว่า เมื่อทำดี ผลก็ย่อมมี คือมีอานิสงส์ มีผล สมดังที่เป็นกิริยวาที คือมีการกระทำที่มีผล ไม่ปฏิเสธว่า การกระทำให้ไม่มีผล เพราะฉะนั้น ทรงแสดงเรื่องอานิสงส์เพื่อให้เห็นถึงความมีเหตุมีผล ที่จะให้สัตว์โลกเชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม ว่าการกระทำกรรมมีที่เป็นกรรมดี และผลของกรรมก็ย่อมมีเช่นกัน ให้สัตว์โลกมั่นคงในเรื่องกรรมและผลของกรรม ที่เป็นกัมมัสสกตาปัญญา คือปัญญาที่เชื่อกรรมและผลของกรรม นี่คือเหตุผลประการแรก
ประการที่สอง เหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอานิสงส์ของกุศลที่ทำ เพื่อให้สัตว์โลกเห็นประโยชน์ของการทำความดี ว่าความดีนำสุขมาให้ อันเป็นไปเพื่อไม่ทำความชั่ว เพราะเมื่อทำความดี ความชั่วก็ไม่เกิดขึ้นในขณะนั้น ก็เป็นการละความชั่วในขณะนั้นด้วย เพราะความดีเกิดขึ้น ครับ ซึ่งเราจะต้องเข้าใจว่า การเห็นประโยชน์ของคุณความดีด้วยปัญญา กับการทำความดีเพื่ออยากได้ผลนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะการเห็นประโยชน์ของคุณความดีและผลของคุณความดีด้วยปัญญาจึงทำกุศล เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่สมควรและไม่มีโทษนำมาซึ่งความสุข จึงทำความดีด้วยเข้าใจตามความเป็นจริงของลักษณะของกุศลที่นำมาซึ่งสิ่งที่ดีเว้นจากความชั่ว ส่วนการได้ยินอานิสงส์ผลบุญแล้วไม่ได้พิจารณาด้วยปัญญา ย่อมเกิดโลภะ ความติดข้อง ที่อยากจะได้ผลบุญจึงทำความดี จะเห็นว่า เหตุเกิดต่างกัน คือ
ประการแรก เพราะเข้าใจความจริงของกุศล จึงเกิดกุศล ที่เรียกกว่า กุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล
ส่วนประการที่สอง ที่ได้ยินอานิสงส์ก็อยากได้บุญ ก็เป็นอกุศลเป็นปัจจัยให้เกิดกุศล คืออาศัยโลภะ จึงเกิดการทำความดี เป็นต้น แต่ความดีที่ประเสริฐบริสุทธิ์ต้องมาจากปัญญา ความเข้าใจพระธรรมเป็นสำคัญ เพราะหากเริ่มจากโลภะ อยากได้ผล เมื่อไม่ได้รับผลตามที่อยากได้เร็วๆ ก็เลิกทำความดี เพราะไม่ได้ผลตามที่ต้องการ ต่างจากผู้ที่ทำความดีด้วยปัญญา ความเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ควรทำย่อมมั่นคงในคุณความดีและรู้ตามความเป็นจริงว่า กาลเวลาของการให้ผลของบุญย่อมมีตามสมควรกับกรรม คือกุศลที่ทำครับ
ส่วนโลภะที่เกิดขึ้นจากการได้ยินคำว่าอานิสงส์ ก็เกิดจากอกุศลที่สะสมมาเป็นสำคัญ ไม่ได้เกี่ยวกับพระธรรมคำสอน เพราะมีโลภะ ความติดข้อง แม้แต่เพียงได้ยินคำว่า นิพพาน ยังติดข้อง จะกล่าวไปไยถึงคำว่า อานิสงส์ผลบุญ ครับ
พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทรงแสดงเหตุและผลในเรื่องกรรมและผลของกรรม ซึ่งไม่มีโทษใดๆ เลยในแม้เพียงบทเดียว แต่โทษเกิดจากจิตใจของสัตว์โลกที่สะสมกิเลสและไม่ได้พิจารณาโดยแยบคายในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ แต่ก็ควรเข้าใจความจริงว่า โลภะติดข้องได้เกือบทุกอย่าง จึงเป็นธรรมดาเหลือเกินเมื่อได้ยินได้ฟัง อานิสงส์ผลของบุญที่จะนำสุขมาให้ ก็เกิดติดข้อง เป็นปกติของปุถุชน หนทางการอบรมปัญญาจึงไม่ใช่ไม่ให้เกิดอกุศล มีโลภะ เป็นต้นเลย แต่หนทางที่ถูกคือเข้าใจความจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แม้แต่โลภะที่เกิดขึ้น ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาให้สภาพธรรมเกิดขึ้นได้ เพราะธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น เหตุย่อมสมควรแก่ผล กรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรมย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้าตามเหตุปัจจัย ซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจะเป็นเมื่อใด ชาติใด กุศลกรรมให้ผลเป็นผลที่ดี น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ ส่วนอกุศลกรรมซึ่งเป็นกรรมชั่วนั้นก็ให้ผลเป็นผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ที่ยังมีการได้รับผลของกรรมและสะสมกรรมใหม่ ก็เพราะยังมีภพชาติอยู่ มีการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ สืบเนื่องมาจากเหตุคือยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงจนหมดสิ้นนั่นเอง
ความติดข้อง เป็นธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่งคือเป็นโลภะ ติดข้องแม้ในกุศลและผลของกุศล ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แต่เมื่อได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ จะรู้ถึงจุดประสงค์จริงๆ ของการฟังพระธรรมว่า เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น เป็นไปเพื่อละ เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสโดยตลอด แม้ในเรื่องของการเจริญกุศล (ทำความดี) ก็ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง, กุศลเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ควรที่จะอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นจะเบาสบาย ผ่องใส ซึ่งจะตรงกันข้ามกับขณะที่จิตเป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิง
การเจริญกุศลทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นในขั้นของทาน (การให้ สละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุขของบุคคลอื่น อันเป็นการสละซึ่งความตระหนี่)
ขั้นของศีล (งดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ และประพฤติในสิ่งทีดีงาม)
ขั้นของภาวนา (การอบรมเจริญความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง)
ย่อมเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...